×

101 ปี Nikon แบรนด์ผู้ผลิตกล้องและเลนส์จากญี่ปุ่น สู่ตำนานบทใหม่ในตลาด Full Frame Mirrorless [Advertorial]

04.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MINS READ
  • หนึ่งในเคล็ดลับลำดับต้นๆ ที่ทำให้แบรนด์ Nikon แข็งแกร่งและอยู่ในใจผู้บริโภคมานานกว่า 101 ปี คือการเชื่อมโยงผู้ใช้ทุกรุ่นทุกวัยเข้าถึงกัน ผ่านตัวกล้องและเลนส์ที่สามารถใช้ข้ามซีรีส์กันได้อย่างอิสระ ตลอดจนมรดกด้านวิทยาการการผลิตเลนส์ที่สืบต่อจากรุ่นสู่รุ่นมาร่วมศตวรรษ
  • Nikon เปิดตัวกล้อง Full Frame Mirrorless ซีรีส์แรกในโปรดักต์ไลน์อย่างเป็นทางการภายใต้ชื่อรุ่น Nikon Z7 และ Z6 เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันที่หลากหลาย
  • ภาพรวมอุตสาหกรรมกล้องดิจิทัลในไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยคาดว่าภายในปีนี้เงินสะพัดทั้งอุตสาหกรรมน่าจะเพิ่มขึ้นอีก 8-10% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่กล้อง Mirrorless มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดที่ 60% รองลงมาเป็น DSLR และคอมแพ็กที่ประมาณ 33% และ 7% ตามลำดับ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ปี 1917 ที่ประเทศญี่ปุ่น ‘นิปปอน โคงะกุ โคเงียว (Nippon Kogaku K.K.)’ หรือบริษัทอุตสาหกรรมเลนส์ จำกัด เกิดขึ้นจากการรวมตัวของ 3 บริษัทที่เริ่มต้นดำเนินกิจการในฐานะผู้ผลิตเลนส์ และอุปกรณ์ด้านการมองเห็นชนิดต่างๆ ทั้งกล้องวัดระยะ Rangefinder และกล้องจุลทรรศน์ บนถนนเล็กๆ ในย่านฮารามาชิ กรุงโตเกียว (ปัจจุบันคือย่านบุงเกียว)

 

‘วิทยาการสำหรับอุตสาหกรรมเลนส์’ คือสิ่งที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญมากในช่วงเวลาดังกล่าว นิปปอน โคงะกุ จึงทุ่มเท มุ่งมั่นพัฒนาอุปกรณ์ของตัวเองให้ก้าวหน้า ก่อนจะค่อยๆ ผันตัวไปผลิตเลนส์กล้องถ่ายภาพในชื่อ ‘Nikkor’ และเริ่มเจนจัดขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถบุกตลาดกล้องคอมแพ็กในชื่อ ‘นิคอน (Nikon)’ ได้สำเร็จในปี 1946 หรือ 29 ปีหลังก่อตั้งบริษัท

 

เกร็ดที่น่าสนใจคือ ชื่อ Nikkor และ Nikon มาจากชื่อย่อของบริษัท Nikko การเติม R ห้อยท้าย เพราะตัว R คืออักษรย่อที่ใช้เรียกเลนส์ในอดีต เมื่อผันตัวมาผลิตกล้องก็ถือโอกาสรีแบรนด์ เตรียมจะเปลี่ยนชื่อเป็น ‘Nikorette’ แต่เพราะฟังแล้วไม่ติดหู ไม่ภูมิฐาน จึงเติมตัว N ที่ให้ความรู้สึกเท่และลงตัวกว่าลงไปแทน

 

จากผู้ผลิตเลนส์ด้านการมองเห็น Nippon ได้แตกหน่อขยายกิ่งก้านสาขาไปสู่ผู้ผลิตเลนส์ด้านการถ่ายภาพ Nikkor ก่อนจะออกดอกออกผลผลิบานสะพรั่งจนก้าวเข้ามาเป็นผู้ผลิตกล้องถ่ายรูป Nikon เต็มตัว มาวันนี้พวกเขาสามารถยืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่งจนเป็นผู้เล่นคนสำคัญของตลาดมาได้นานร่วมศตวรรษ

 

THE STANDARD ชวน เอก-วีระ เฉลียวปิยะสกุล ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายและการตลาดบริษัท นิคอน เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด มาเปิดเผยเรื่องราวเบื้องหลังความสำเร็จ 101 ปีของ Nikon การบุกตลาดกล้อง Full Frame Mirrorless แบบเต็มตัวครั้งแรก ภาพรวมตลาดกล้องดิจิทัลในปัจจุบัน พฤติกรรมของผู้บริโภค ตลอดจนกลยุทธ์ที่บริษัทกำลังจะขับเคลื่อนไปในอนาคต เพื่อเจาะลึกทุกแง่มุมของการเป็นผู้เล่นระดับตำนานที่อยู่ในใจผู้ใช้หลายล้านคนทั่วโลก

 

 

สูตรลับความสำเร็จ Nikon ทำอย่างไรถึงโลดแล่นในฐานะผู้นำตลาดมากว่า 101 ปีเต็ม

การจะเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจและครองใจผู้บริโภคจนเกิด Brand Loyalty ได้นาน 101 ปีเต็มขนาดนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่นอน หากแต่เบื้องหลังความสำเร็จที่เกิดขึ้นของ Nikon ที่อาจจะฟังดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ซับซ้อน กลับมีอะไรที่น่าค้นหามากกว่านั้น

 

วีระเชื่อว่าเหตุผลสำคัญ 3 ประการที่ทำให้แบรนด์ Nikon ยังคงโลดแล่นในฐานะผู้นำตลาดกล้องดิจิทัลได้ประกอบไปด้วย 1. วิทยาการ-ความชำนาญเรื่อง Optic ในการผลิตเลนส์คุณภาพสูง 2. การดูแลผู้ใช้กล้องทุกคนตั้งแต่รุ่นในอดีตจนถึงปัจจุบัน และ 3. การปรับตัวอยู่ตลอดเวลาแต่ยังคงคอนเซปต์การเป็นอุปกรณ์สำหรับคนรักการถ่ายภาพ

 

ข้อแรก เพราะเป็นบริษัทที่เริ่มต้นทำธุรกิจด้าน Optical จึงทำให้พวกเขามีต้นทุนด้านวิทยาการการผลิตเลนส์สำหรับอุปกรณ์ถ่ายรูปเป็นต่อค่อนข้างสูง

 

“100 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะตัวกล้องหรือเลนส์ Nikon สามารถพัฒนาขึ้นมาตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ได้ทุกด้าน เรามีมรดกตกทอดที่ช่วยให้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาได้ตลอดเวลา นี่คือจุดแข็งของเราที่มีเหนือคู่แข่ง นอกจากนี้เราก็ยังวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ”

 

ข้อถัดมา เพราะเป็นแบรนด์ที่อยู่มานานกว่า 100 ปี พวกเขาจึงมีลูกค้าในช่วงวัยที่หลากหลาย ตั้งแต่รุ่นปู่จนไปถึงรุ่นหลาน ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องไม่ทอดทิ้งลูกค้าทุกคน และเชื่อมโยงพวกเขาเข้าถึงกัน Nikon จึงเป็นผู้ผลิตรายแรกที่ทำให้เลนส์และกล้องในแต่ละรุ่นสามารถใช้ข้ามซีรีส์กันได้อิสระ ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย

 

“ทุกๆ การใช้งานมันต้องเกื้อหนุนกันครับ ตัวอย่างเช่น กล้อง Mirrorless ในปัจจุบันก็สามารถใช้งานกับเลนส์เก่าๆ ของ Nikon ได้ ทุกคนจะอยู่ใน Ecosystem ของเราเหมือนเดิม ไม่ได้หายไปไหน ผมดีใจมากที่ครั้งหนึ่งมีลูกค้าเดินเข้ามาหาเราเพื่อซื้อกล้อง Mirrorless แต่ขอไม่ซื้อเลนส์เพราะให้เหตุผลว่า คุณพ่อของเขาเป็นลูกค้าของ Nikon และมีเลนส์ในซีรีส์เก่าเป็นจำนวนมากที่สามารถใช้ร่วมกันได้”

 

ส่วนข้อสุดท้าย เราจะเห็นว่าเดิมทีภาพลักษณ์ของคนใช้กล้องถ่ายรูป Nikon จะดูเป็นผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ใช้กล้องถ่ายภาพเก่ง มีฝีมือมาก ปัญหาคือแม้คนส่วนใหญ่จะมีความรู้และทักษะด้านการถ่ายภาพสูง แต่ก็อาจจะเข้าสังคมไม่เก่ง ด้วยเหตุนี้ Nikon จึงปรับภาพลักษณ์แบรนด์ใหม่ให้เด็กลงผ่านทั้งการทำกิจกรรมและแคมเปญต่างๆ เพื่อต้อนรับผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นหนึ่งใน Nikon Family

 

“3 ปีที่ผมทำงานกับ Nikon เราได้เปลี่ยนภาพลักษณ์แบรนด์ด้วยกลยุทธ์ต่างๆ ที่ไม่ใช่แค่การพัฒนาสินค้า เรามีแคมเปญ Nikon Youth Team ชวนช่างภาพมืออาชีพกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ และเป็น ‘Real Nikon’ ใช้ผลิตภัณฑ์ของเราจริงๆ มาทำงานร่วมกัน เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เป็นวิทยากรบอกต่อความรู้ด้านการใช้กล้องตามงานต่างๆ เพราะเห็นว่าถ้าเด็กคุยกับเด็กด้วยกันจะสื่อสารได้ดีกว่า โดยเราจะสนับสนุนด้านอุปกรณ์และการต่อยอดองค์ความรู้

 

“เรายังมีโปรเจกต์ Nikon Girl Thailand ส่งเสริมการผลิตบุคลากรช่างภาพผู้หญิงรุ่นใหม่มาประดับวงการ เราไม่ได้ต้องการหาน้องผู้หญิงหน้าตาดีมาถ่ายโฆษณา แต่อยากช่วยส่งเสริมเด็กที่มีพื้นฐานการถ่ายรูปเพื่อต่อยอดให้ก้าวขึ้นมาเป็นช่างภาพมืออาชีพในวันข้างหน้า เพราะปัจจุบันช่างภาพผู้หญิงในไทยมีน้อยมาก สัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 15% เท่านั้น”

 

นอกจาก Nikon Youth Team และ Nikon Girl Thailand พวกเขาก็ยังทำงานร่วมกับสโมสรฟุตบอลชั้นนำในไทยอย่าง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, สโมสรฟุตบอลชลบุรี
บางกอกกล๊าส เพื่อเปิดโครงการอบรมช่างภาพที่สนใจให้เข้าไปถ่ายภาพเกมการแข่งขันของแต่ละทีมอีกในสนามฟุตบอลจริงๆ ด้วย

 

 

สู่ตำนานบทใหม่กับการบุกตลาด Full Frame Mirrorless เต็มตัว

23 สิงหาคมที่ผ่านมา Nikon ได้เปิดตัวกล้อง Full Frame Mirrorless ซีรีส์แรกในโปรดักต์ไลน์อย่างเป็นทางการภายใต้ชื่อรุ่น Nikon Z7 และ Z6 โดยวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในวันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายนนี้ ซึ่งผลตอบรับในช่วงแรกถือว่าดีเหนือความคาดหมาย จนสินค้าในหลายๆ ประเทศเริ่มขาดตลาดเป็นที่เรียบร้อย โดยเฉพาะที่ไทยซึ่งมียอดสั่งจองสินค้าสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 10 เท่า!

 

วีระบอกกับ THE STANDARD ว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ Nikon ตัดสินใจเปิดตลาด Full Frame Mirrorless เป็นครั้งแรก เนื่องจากเป็นเซกเมนต์ที่มีศักยภาพสูง มีอัตราการเติบโตที่ขยายตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ฉะนั้นพวกเขาจึงตั้งใจจะตอบสนองความต้องการใช้กล้องดิจิทัลแบบ Mirrorless พร้อมเซนเซอร์แบบฟูลเฟรมด้วย Nikon Z Series

 

“เราไม่ได้เป็นผู้ผลิตเจ้าแรกในท้องตลาดที่ผลิตกล้องแบบ Full Frame Mirrorless แต่เมื่อเราเข้ามาในตลาดนี้ Nikon ก็มีจุดแข็งอื่นๆ ภายใต้คอนเซปต์ ‘Mirrorless Reinvented’ เพื่อต่อยอดนวัตกรรมต่างๆ ให้สมบูรณ์แบบ เช่น ในอดีตเราจะใช้ Lens Mount เป็น F Mount มาตลอด มาวันนี้เราเปลี่ยนระบบเป็น Z Mount รองรับเลนส์และการเชื่อมต่อระบบใหม่ๆ เพื่อให้ภาพถ่ายมีคุณภาพที่ดีขึ้น มีลูกเล่นที่ใหม่กว่า และก้าวข้ามขีดจำกัดของการใช้งานในอดีต

 

“Nikon Z7 และ Z6 มีตัวกล้องและดีไซน์ที่เหมือนกัน ความต่างของทั้งคู่จึงอยู่ที่ฟีเจอร์ลูกเล่นต่างๆ ข้างใน เช่น ความละเอียดของ Resolution ในการถ่ายภาพที่ 45.7 ล้านพิกเซล และ 24.5 ล้านพิกเซลตามลำดับ Z7 สามารถถ่ายวิดีโอความละเอียด 8K ได้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นระดับความละเอียดที่สามารถนำไปใช้งานแบบมืออาชีพได้เลย หรือถ้าไม่ได้ซีเรียสมากก็อาจจะขยับมาเล่น Z6 ได้เพราะระบบประมวลผลจะทำได้เร็วกว่า เนื่องจากขนาดไฟล์ไม่ได้ใหญ่มาก สามารถใช้กับไลฟ์สไตล์ในทุกๆ วัน”

 

 

Nikon Z Series ทั้ง Z7 และ Z6 จึงถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่น่าจับตามากสำหรับ Nikon ในเวลานี้ (สนใจข้อมูลเพิ่มเติมศึกษาได้ที่นี่) และถึงจะยังไม่มีการเปิดยอดจำหน่ายออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ก็เชื่อกันว่ายอดสั่งจองในเวลานี้ของทั้ง 2 รุ่นสูงกว่ายอดจำหน่ายของกล้องบางรุ่นตลอดทั้งปีแล้วด้วยซ้ำ

 

เมื่อถามว่า Z Series จะแย่งสัดส่วนผู้ใช้ของสินค้าอื่นๆ ในบริษัทหรือไม่ วีระกลับไม่คิดเช่นนั้นเพราะมองว่ากลุ่มผู้ใช้กล้องแต่ละประเภทเป็นคนละกลุ่ม จึงเรียกว่าเป็นการเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคมากกว่า

 

‘Mirrorless และ DSLR ยังคึกคัก’ เปิดภาพรวมอุตสาหกรรมกล้องถ่ายรูป ณ ปัจจุบัน

ความเข้าใจของใครหลายคนที่อาจจะไม่ได้ชื่นชอบการถ่ายภาพเป็นชีวิตจิตใจ หรือชอบบันทึกความทรงจำต่างๆ ผ่านภาพถ่ายอาจจะเคยนึกไปว่า ตลาดกล้องถ่ายรูปกำลังอยู่ในช่วงขาลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในวันที่กล้องบนสมาร์ทโฟนถูกยกระดับศักยภาพให้ใกล้เคียงกับกล้องถ่ายรูปจริงๆ มากที่สุด

 

Market Research Future ผู้ให้บริการด้านข้อมูลทางการตลาดเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า อัตราการเติบโตของตลาดกล้องดิจิทัลในช่วงระหว่างปี 2016-2022 อยู่ที่ประมาณ 7.1% ต่อปี โดยมูลค่าทั้งตลาดจะพุ่งไปแตะหลัก 5.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 165,500 ล้านบาทภายในสิ้นปี 2022 สอดคล้องกับข้อมูลที่วีระบอกกับเราว่าอุตสาหกรรมกล้องถ่ายรูปกำลังขยายตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ วันโดยเฉพาะในประเทศไทย

 

ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายและการตลาด นิคอน ประเทศไทย บอกกับเราว่า ภาพรวมตลาดกล้องถ่ายรูปในอาเซียนตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาถือว่าค่อนข้างคงที่ แต่ถ้าเจาะเฉพาะประเทศไทยโดยแยกผลิตภัณฑ์ออกเป็น 3 เซกเมนต์คือ Mirrorless, DSLR และคอมแพ็ก จะพบว่า 2 ใน 3 ยังคงเติบโตอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะ Mirrorless ที่ถือเป็น Success Case ที่ทุกๆ แบรนด์ผู้ผลิตกล้องจะต้องเดินทางมาศึกษางาน

 

มีเพียงกล้องคอมแพ็กเท่านั้นที่เริ่มหดแคบลง เนื่องจากถูกแทนที่ด้วยกล้องสมาร์ทโฟนและกล้อง Mirrorless โดยคาดว่าภายในปีนี้เงินสะพัดทั้งอุตสาหกรรมน่าจะเพิ่มขึ้นอีก 8-10% จากจำนวน 8,600 ล้านบาทในปี 2017

 

“กระแสของ Mirrorless ในประเทศไทยช่วง 3 ปีที่ผ่านมาถือว่ามาแรงมาก ถ้าเปรียบเทียบกัน ทุกแบรนด์ส่วนแบ่งการตลาดของ Mirrorless จะอยู่ที่ราวๆ 60% ขณะที่ DSLR และคอมแพ็กจะอยู่ที่ประมาณ 33% และ 7% สาเหตุส่วนหนึ่งผมเชื่อว่ามาจากการที่มีกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ามาสู่วงการกล้องถ่ายรูปกันมากขึ้น แล้วด้วยขนาดที่กะทัดรัด การออกแบบ และดีไซน์ต่างๆ Mirrorless จึงตอบโจทย์พวกเขาได้ดีกว่า

 

“นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม UGC (User Generated Content) หรือบล็อกเกอร์ที่ทำคอนเทนต์ลงแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มขึ้นอีกด้วย เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ใช้ผู้หญิง กล้อง Mirrorless บางรุ่นอาจจะไม่ได้ให้คุณภาพของภาพถ่ายที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับ DSLR แต่ความสะดวกสบายในการใช้งานและการพกพาคือคุณสมบัติเด่นของมัน และเป็นปัจจัยในการตัดสินใจซื้อกล้องถ่ายรูปของคนรุ่นใหม่”

 

 

ถึง Mirrorless จะมาแรงแค่ไหน แต่ช่างภาพมืออาชีพจำนวนมากก็ยังคงชื่นชอบการใช้งานกล้อง DSLR อยู่ดี นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้มูลค่าตลาดกล้องชนิดนี้ในประเทศไทยช่วง 7 เดือนแรกของปี 2018 ยังเติบโตในทิศทางที่น่าพอใจ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วกว่า 29% ส่วนกล้องคอมแพ็กที่เคยขายได้ในช่วงพีกสุดที่ประมาณ 1 ล้านตัวต่อเดือนเมื่อสัก 5 ปีที่แล้ว ปัจจุบันลดลงมาเหลือแค่ราว 6,000 ตัวต่อเดือนเท่านั้น

 

ในมุมมองเชิงธุรกิจ วีระที่คร่ำหวอดในธุรกิจ Digital Imaging มานานกว่า 11 ปีเชื่อว่ากล้อง Mirrorless ยังไม่มีแนวโน้มเข้ามาทดแทนกล้อง DSLR ได้แบบเบ็ดเสร็จ 100% เนื่องจากความต่างในด้านการใช้งาน ดังนั้นทิศทางต่อจากนี้ของผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 เซกเมนต์จะดำเนินคู่ขนานกันต่อไปไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี เว้นแต่จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาทำให้เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญ

 

ขณะที่สมาร์ทโฟนที่ใครหลายคนเคยพูดกันว่าจะนำไปสู่การ Disrupted กล้องถ่ายรูปนั้น วีระไม่เห็นด้วย ตรงกันข้ามเขาเชื่อว่ายิ่งสมาร์ทโฟนมีกล้องถ่ายรูปที่ล้ำสมัยมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้อุตสาหกรรมการถ่ายภาพคึกคักตามไปด้วยเช่นกัน

 

“สาเหตุที่วัฒนธรรมการถ่ายรูปเติบโตมากขึ้นส่วนหนึ่งต้องขอบคุณเทคโนโลยีจากโทรศัพท์มือถือที่ช่วยให้คนถ่ายรูปกันมากขึ้น พอคนเริ่มชอบการถ่ายรูปเขาก็อยากจะศึกษารายละเอียดการถ่ายรูปแล้วก็เริ่มจริงจังขึ้นเรื่อยๆ ผมเลยมองสมาร์ทโฟนเป็นปัจจัยบวกให้อุตสาหกรรมมากกว่าทรีตเขาเป็นคู่แข่งนะครับ”

 

 

ก้าวต่อไป ‘Capture Tomorrow’ กับแนวทางของ Nikon ในอนาคต

8 ปีที่แล้ว Nikon เคยเปิดตัวแคมเปญการตลาด I AM Nikon ในกลุ่มประเทศยุโรปและประสบความสำเร็จมากๆ ในแง่การปลุก Awareness ของผู้ใช้งานทั่วโลกเพื่อระบุว่า พวกเขาคือสาวกและผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ของ Nikon และแคมเปญนี้ถูกนำไปใช้ทั่วโลก

 

มาปีนี้ Nikon จึงได้เปิดตัวแคมเปญใหม่อีกครั้งอย่าง Capture Tomorrow เพื่อเตรียมกรุยทางสู่เทคโนโลยีกล้องถ่ายรูปในโลกอนาคต เช่นเดียวกับชื่อซีรีส์ Z ที่เป็นพยัญชนะตัวสุดท้ายในภาษาอังกฤษ เปรียบได้กับสะพานก้าวข้ามไปนวัตกรรมใหม่ๆ ในวันข้างหน้า

 

ส่วนแนวทางของ Nikon ในการทำตลาดที่ประเทศไทยซึ่งถือเป็นตลาดหลักของบริษัท คือการช่วยให้ผลงานของช่างภาพไทยเป็นที่รู้จักมาขึ้นในเวทีระดับสากล เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้กับวงการภาพถ่ายไทย และยังจะให้ความสำคัญกับช่องทางอีคอมเมิร์ซมากขึ้น เนื่องจากพบว่าผู้บริโภคเริ่มหันมาซื้อขายกล้องดิจิทัลบนออนไลน์กันมากขึ้น จากเดิมในช่วงปี 2017 ที่มียอดการซื้อกล้องที่ 1.2% เพิ่มขึ้นเป็น 8% ในปีนี้ โดยล่าสุดพวกเขายังเปิดตัว Nikon Experience Hub สโตร์ขายสินค้าและให้บริการสำหรับลูกค้าแห่งแรกในไทย สาขาที่ 4 ในเอเชียที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 4 โซน Atrium เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้ที่สนใจสินค้าของ Nikon ได้เข้ามาลองใช้งานผลิตภัณฑ์และร่วมเวิร์กช็อปคลาสเรียนถ่ายภาพต่างๆ

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X