ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ชี้แจงความคืบหน้าการหักเงินเดือนของลูกหนี้ที่ทำงานในหน่วยงานต่างๆ ตาม พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้องค์กรนายจ้างทั้งภาครัฐและเอกชน มีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินของพนักงานหรือลูกจ้างที่เป็นผู้กู้ยืมเพื่อชำระเงินกู้ยืมคืน โดยขณะนี้ทาง กยศ. ได้ประสานกับหน่วยงานข้าราชการ เเละได้เริ่มนำร่องหักเงินเดือนผู้กู้ กยศ. ที่ทำงานในกรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานเเรกไปเเล้ว
ส่วนเดือนตุลาคมนี้ จะเริ่มหักเงินเดือนของผู้กู้ที่อยู่ในทุกหน่วยราชการที่ผ่านระบบจ่ายตรงของกรมบัญชีกลาง มีจำนวนกว่า 2 เเสนคน และต้นปี 2562 จะเริ่มหักเงินเดือนผู้กู้ที่อยู่ในหน่วยงานเอกชน 8-9 เเสนคน โดยจะหักกับบริษัทที่มีพนักงานมากที่สุด มีจำนวนหลักเเสนคน อย่างบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือ CP เเละข้าราชการท้องถิ่นกว่า 2 เเสนคน ส่วนลูกหนี้ที่ไม่ได้ทำงานในหน่วยรัฐเเละเอกชนที่มีกว่า 1 ล้านคน เเละมีจำนวนหนึ่งที่ยังตามตัวไม่เจอ กยศ. ก็ไม่ได้ละเว้น จะต้องฟ้องร้องบังคับคดีต่อไป
ภาพรวมการชำระหนี้คืนดีขึ้นมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กยศ. ไม่ได้ใช้เงินจากงบประมาณในการให้ทุนเด็กเลย ในช่วงปีที่ผ่านมามีผู้กู้เข้ามาติดต่อขอชำระหนี้ กยศ. เป็นจำนวนมากขึ้นจากเดิมถึง 2 เท่าตัว ทำให้ได้รับเงินคืนกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท เเละคาดว่าปีหน้าจะทะลุ 3 หมื่นล้าน ขณะเดียวกันก็ยังมีหนี้เสีย ซึ่งเป็นเงินต้นที่ผิดนัดชำระหนี้ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท จากที่ให้กู้ไปประมาณ 5 เเสนล้านบาท จากจำนวนลูกหนี้กว่า 5 ล้านคน โดยเเบ่งเป็นลูกหนี้ที่เสียชีวิต 5 หมื่นคน ปิดบัญชีไปแล้วราว 9 เเสนคน อยู่ระหว่างปลอดหนี้ 1 ล้านคน อยู่ระหว่างผ่อน 3 ล้านคน ในจำนวนนี้ผิดนัด 2 ล้านคน เเละได้มีการฟ้องไปแล้ว 1 ล้านคดี
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: