Disruption เป็นหนึ่งในคำคุ้นหูมากที่สุดสำหรับภาคธุรกิจในปัจจุบัน เพราะด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ถือกำเนิดขึ้น และเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับผู้บริโภคยุคใหม่ กลายเป็นโจทย์ใหญ่ให้ธุรกิจเดิมต้องกลับไปขบคิดว่าจะปรับตัวรับมือความเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้เท่าทันกับโจทย์ของโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก ธุรกิจไทยเองก็มีความเสี่ยงไม่น้อยที่ Disruption จะเข้ามากระทบในสักวัน
แต่นอกจากเทคโนโลยีแล้ว Disruption ยังเป็นปรากฏการณ์ที่มากกว่านั้น เพราะรวมถึงมุมอื่นๆ อีกมากมายที่ธุรกิจอาจไม่เคยรู้ตัวมาก่อนว่าจะต้องเตรียมตัวรับมือ คล้ายกับเป็นศัตรูที่มองไม่เห็น ซึ่งรอวันเข้าจู่โจมและท้าทายนักธุรกิจไทยแบบไม่ทันได้ตั้งตัว
เรามาลองสำรวจกันหน่อยดีกว่าว่าความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่จะมาในรูปแบบไหนได้อีกบ้าง
โรคระบาด ศัตรูร้ายทำลายอุตสาหกรรมส่งออกไก่ของไทย
ในวันที่กราฟตัวเลขยอดส่งออกไก่สดแช่แข็งของไทยกำลังทะยานขึ้นสูงเรื่อยๆ ไม่มีใครเคยคิดว่าจู่ๆ วันหนึ่งเส้นกราฟจะตกลงอย่างรวดเร็วจนแทบจะส่งออกไม่ได้อีกเลย
ปี 2547 เป็นปีที่เลวร้ายสำหรับผู้ประกอบการส่งออกไก่สดแช่แข็งของไทย เมื่อโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 เข้ามาจู่โจมและแพร่ระบาดในภูมิภาคเอเชีย ที่รวมถึงประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การแพร่ระบาดครั้งนั้นก่อให้เกิดกระแสความตื่นตระหนกที่แพร่กระจายไปทั่วโลก เพราะไข้หวัดนกสายพันธุ์มรณะนี้สามารถติดต่อมาสู่คนได้ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
การส่งออกไก่สดแช่แข็ง ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญของไทยในขณะนั้นได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากหลายประเทศมีมาตรการห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทย เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัย ทำให้มูลค่าการส่งออกแทบจะหายกลายเป็นศูนย์ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
ขณะที่ประตูบานหนึ่งปิด แต่อีกบานกลับเปิดกว้างจนกลายเป็นโอกาส เพราะธุรกิจที่ได้อานิสงส์จากเหตุการณ์ครั้งนี้กลับกลายเป็นผู้ส่งออกไก่แปรรูปที่มีความปลอดภัยมากกว่า ทำให้ตัวเลขการส่งออกไก่แปรรูปของไทยขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยอย่างสิ้นเชิง ซึ่งแน่นอนว่าผู้ผลิตและผู้ส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งหลายรายที่ไม่สามารถปรับตัวไปสู่การผลิตไก่แปรรูปได้ ย่อมได้รับผลกระทบรุนแรงจากเหตุการณ์โรคระบาดในครั้งนั้น
ภัยธรรมชาติ คาดเดายาก เกิดบ่อยขึ้น
พายุ แผ่นดินไหว ไฟป่า สึนามิ คือภัยพิบัติคุกคามโลกที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และมีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ที่สำคัญมันมักจะมาในแบบที่ไม่เผื่อเวลาให้ใครได้ตั้งตัว
ตัวอย่างของ Disruption ที่เกิดจากภัยธรรมชาติที่ชัดเจนที่สุดก็คือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่และคลื่นยักษ์สึนามิบริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของญี่ปุ่นในเดือนมีนาคม 2554 ที่นำไปสู่การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ
แม้คนญี่ปุ่นจะอยู่ร่วมกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาเนิ่นนาน แต่โศกนาฏกรรมครั้งนั้นทำให้ความหวาดกลัวแผ่ขยาย จนกลายเป็นกระแสต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น ที่สุดแล้วจึงทำให้ไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นเกือบทั้งหมดต้องปิดตัวลง
ปัจจุบันสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นลดลงเหลือเพียง 2% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด จากช่วงก่อนเกิดภัยพิบัติที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เคยเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่น ด้วยสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด
แม้ปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นจะเริ่มพิจารณาให้มีการเปิดดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์บางส่วน เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า เนื่องจากเป็นแหล่งไฟฟ้าราคาถูก แต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คงไม่ได้กลับไปมีบทบาทมากเช่นในอดีตอีกต่อไป
แต่ท่ามกลางกระแส Disruption ที่ทำให้พลังงานนิวเคลียร์กลายเป็นที่หวาดหวั่น กลับนำมาสู่โอกาสในธุรกิจโรงไฟฟ้าใหม่ๆ จากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นปรับเปลี่ยนนโยบายพลังงานครั้งใหญ่ โดยหันมาสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดยมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขึ้นเป็น 22-24% ในปี 2573 จากเดิมที่มีสัดส่วนเพียง 4% เท่านั้น
ทำให้นับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเติบโตอย่างรวดเร็วมากในญี่ปุ่น โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 10 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดภัยพิบัติ ซึ่งไทยก็ได้อานิสงส์จาก Disruption ดังกล่าวในญี่ปุ่น จากการที่ผู้ประกอบการไทยหลายรายประสบความสำเร็จในการออกไปลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นในปัจจุบัน
กฎหมายปรับ กฎระเบียบเปลี่ยน ธุรกิจต้องตามให้ทัน
อีกหนึ่งปัจจัย Disruption ที่ผู้ประกอบการต้องรู้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือ กฎหมาย และกฎระเบียบ ที่มีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงอยู่เสมอ เพื่อรองรับสภาพสังคมและเศรษฐกิจในยุคใหม่
ในกรณีของประเทศไทยเองก็เคยมีการเปลี่ยนกฎระเบียบที่ก่อให้เกิด Disruption ในภาคธุรกิจครั้งใหญ่ ตัวอย่างง่ายๆ ที่หลายคนรู้ดีคือ นโยบายการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2555 สำหรับเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อนจะบังคับใช้ทั่วประเทศในปี 2556
เมื่อค่าแรงขั้นต่ำขยับ อุตสาหกรรมจำนวนมากที่ต้องพึ่งพาแรงงานอย่างเข้มข้น เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องหนัง รองเท้า จึงได้รับผลกระทบไปเต็มๆ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่เวลาผ่านไปเพียง 5 ปีตั้งแต่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท มูลค่าส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยหายไปราว 1 ใน 3 เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่มีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าได้ ซึ่งแน่นอนว่าผู้ประกอบการเสื้อผ้าสำเร็จรูปบางส่วนที่ไม่สามารถปรับตัวได้จำเป็นต้องปิดกิจการลง ขณะที่ผู้ประกอบการบางส่วนย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่าง CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) ยังไม่นับรวมอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ต่างก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ไปตามๆ กัน
พฤติกรรมผู้บริโภค โจทย์ยากที่ต้องขบคิดใหม่แทบทุกวัน
ยิ่งนับวันความต้องการของผู้บริโภคก็มีแต่จะยิ่งซับซ้อนมากยิ่งขึ้น กลายเป็นเกมกลยุทธ์ของภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัวเพื่อรองรับความต้องการใหม่ๆ ซึ่งนำมาสู่พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยที่เปลี่ยนแปลงไป
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คือพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคยุคใหม่
จากข้อมูลของ Statista บริษัทผู้วิจัยด้านการตลาด พบว่ามูลค่าตลาด E-Commerce ทั่วโลกในช่วงปี 2557-2560 ขยายตัวเฉลี่ยกว่า 20% ต่อปี ขณะที่มูลค่าตลาดของธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมขยายตัวเฉลี่ยเพียงราว 3% ในช่วงเดียวกัน
จึงไม่น่าแปลกใจที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบเก่ากำลังเผชิญความเสี่ยงกับภาวะล้มละลาย โดยผู้ประกอบการค้าปลีกส่วนใหญ่ต่างต้องปรับกลยุทธ์โดยการปิดสาขาบางส่วนลงเพื่อความอยู่รอด หรือต้องปรับโมเดลธุรกิจโดยหันไปเน้นจำหน่ายสินค้าออนไลน์มากขึ้นอย่างไม่น่าแปลกใจในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
จากการจัดอันดับธุรกิจค้าปลีกที่มียอดจำหน่ายสูงสุดของ Forbes ซึ่งรวบรวมยอดจำหน่ายทั้งจากหน้าร้านและยอดจำหน่ายออนไลน์ พบว่าในปี 2560 ยอดจำหน่ายของบริษัท Amazon และ Alibaba ได้ก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับ 3 และอันดับ 6 ของโลก ตามลำดับ เทียบกับอันดับในปี 2559 หรือเพียง 1 ปีก่อนหน้า ที่บริษัท Amazon อยู่เพียงอันดับ 8 และ Alibaba ไม่ติด 10 อันดับแรกด้วยซ้ำ
เป็นภาพชัดที่สะท้อนให้เห็นรูปร่างของ Disruption ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีผลรุนแรงชนิดที่ใครเผลอ อาจต้องล้มหายไปจากกระดานการแข่งขันโดยไม่ทันได้รู้ตัว
มุมมองเกี่ยวกับ Disruption ที่ยกมาให้ดูเป็นตัวอย่างอาจดูเป็นภัยร้ายที่น่าหวาดกลัว แต่ถึงอย่างนั้น Disruption ก็ไม่ได้มีเพียงความหมายในเชิงลบอย่างเดียว เพราะระหว่างที่มันได้ทำลายธุรกิจไปมากมาย ขณะเดียวกันมันก็ให้โอกาสธุรกิจอีกเป็นจำนวนมหาศาลที่ถือกำเนิดขึ้น และประสบความสำเร็จได้ในเวลาอันรวดเร็ว
หัวใจสำคัญที่สุดของผู้ประกอบการยุคใหม่จึงอยู่ที่ ‘ความยืดหยุ่น’ และ ‘การปรับตัวที่รวดเร็ว’ เพื่อรับมือให้ได้อย่างทันท่วงทีกับปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
EXIM BANK พี่เลี้ยงของผู้ประกอบการไทย คู่คิดช่วยปรับตัวรองรับความเปลี่ยนแปลง
แม้กระแส Disruption ในโลกนี้จะถาโถมรุนแรง สร้างความเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน แต่สำหรับผู้ประกอบการไทยที่กำลังแข่งขันอยู่ในตลาดโลก Disruption อาจไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะคุณไม่ได้เดินอยู่เพียงลำพัง
EXIM BANK หรือธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ช่วยให้คนไทยแข่งขันได้มากขึ้นในเวทีการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมานานกว่า 2 ทศวรรษ นับตั้งแต่ประเทศไทยจัดตั้ง EXIM BANK ขึ้นเพื่อทำหน้าที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อสนับสนุนกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกและการลดการสูญเสียหรือสนับสนุนให้ได้มาซึ่งเงินตราต่างประเทศ นับตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา ในวันนี้ ยังมี EXIM BANK เป็นเพื่อนคู่คิดคนสำคัญที่จะประคองให้ผู้ประกอบการไทยก้าวผ่านกระแส Disruption ไปได้อย่างมั่นใจ ด้วยบริการทางการเงินที่หลากหลาย ทั้งสินเชื่อเพื่อส่งออกและนำเข้า บริการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน บริการประกันการส่งออก บริการประกันความเสี่ยงการลงทุน บริการประเมินความเสี่ยงผู้ซื้อ ธนาคารผู้ซื้อ รวมถึงสินเชื่อโครงการลงทุนต่างๆ
นอกจากการสนับสนุนเรื่องการเงินแล้ว EXIM BANK ยังทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวและมีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับกระแสต่างๆ ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพื่อแปรเปลี่ยน ‘อุปสรรค’ ให้กลายเป็น ‘โอกาส’ ที่จะนำมาสู่การเติบโตของธุรกิจในโลกยุคใหม่
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์