จากที่เคยขีดเส้นตายว่าวันที่ 22 กรกฎาคม 2560 เป็นวันสุดท้ายที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรียกให้ผู้บริการโครงข่าย OTT เข้ามาลงทะเบียน แต่ในวันนี้ วันที่ 5 กรกฎาคม 2560 เส้นตายนั้นถูกเลื่อนออกไปแล้ว
วันที่ 5 กรกฎาคม 2560 จากการประชุมของ กสทช. ในวาระสำคัญคือ แนวทางการกำกับการแพร่ภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (Over The Top : OTT) ได้มีมติว่า ให้คณะอนุกรรมการ OTT ยกร่างหลักเกณฑ์การกำกับกิจการ OTT ให้เสร็จภายใน 30 วัน เพื่อเสนอให้บอร์ด กสทช. พิจารณา ก่อนเข้าสู่กระบวนการประชาพิจารณ์ให้สาธารณะแสดงความคิดเห็น แล้วปรับปรุงและเสนอให้บอร์ดพิจารณาอนุมัติเพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาในกรอบเวลา 90 วันต่อไป
เท่ากับว่าการกำหนด ‘เส้นตาย’ ให้เฟซบุ๊กและยูทูบต้องลงทะเบียนในวันที่ 22 กรกฎาคม 2560 ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดด้วย!
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงวิธีการของ กสทช. ที่บีบเฟซบุ๊กและยูทูบว่า หากไม่มาลงทะเบียนตามกำหนด ‘เอเจนซีโฆษณา’ จะเป็นฝ่ายเดือดร้อนที่สุด ไม่ใช่สองบริษัทยักษ์ใหญ่ดังกล่าว เนื่องจากแหล่งรายได้หลักไม่ได้มาจากเอเจนซีโฆษณา
แม้ว่าการกำกับ OTT จะถูกยกเลิกไปแบบหวุดหวิด THE STANDARD ได้รวบรวมทัศนะจากผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมโฆษณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ถ้าหาก OTT ไม่ได้ถูกยกเลิกหรือมีแนวโน้มจะกลับมาอีกครั้ง และอะไรคือสัญญาณที่ควรจับตามองต่อไป
‘หมดยุคปิดกั้นข่มขู่’ เสียงร้องจากชาวเอเจนซีโฆษณาย้ำ ต้องหาทางออกร่วมกัน
แหล่งข่าวจากเอเจนซีโฆษณาไทยรายหนึ่งเปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า ตนยังไม่ได้รับประกาศที่ชัดเจนใดๆ จาก กสทช. เนื่องจากก่อนหน้านี้ทาง กสทช.เรียกเพียงเอเจนซีเจ้าใหญ่ไปคุยเท่านั้น ส่วนกระแสจากลูกค้านั้นมีความกังวลบ้าง แต่สถานการณ์ยังคลุมเครืออยู่
สำหรับความกังวลที่ว่า เอเจนซีโฆษณาจะเดือดร้อนที่สุด แหล่งข่าวตอบว่า “ใช่ ผู้เดือดร้อนที่สุดคือเอเจนซี แต่ขณะนี้ก็มีสองประเด็นที่ทำให้เอเจนซีทำงานยากขึ้น หนึ่ง เรื่องการเซนเซอร์ ช่อง 5 กับช่อง 7 ตั้งกองเซนเซอร์เป็นของตัวเอง แปลว่าต้องส่งโฆษณาไปให้ทั้งสองกอง และสอง ข่าวการกำกับผู้ให้บริการ OTT นี้ แปลว่า ผู้ประกอบการรายเล็กจะสามารถบูสต์โพสต์ได้ไหม กระบวนการทางกฎหมายมันดูยาก แล้วถ้าบางเจ้าทำได้ บางเจ้าทำไม่ได้ ก็ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ”
ส่วนเรื่องที่ว่าเอเจนซีโฆษณาจะลำบาก ต้องระบุว่าที่ลำบากคือเอเจนซีในประเทศ (Local Agency) เพราะรายใหญ่ก็จดทะเบียนที่ต่างประเทศ กฎหมายจึงไม่ครอบคลุม
“การกำกับ OTT ต้องชัดเจน เพราะไม่รู้ว่าปีหน้าจะมีแพลตฟอร์มอะไรใหม่อีก ไม่รู้ว่าเฟซบุ๊กจะตกยุคหรือไม่ แอมะซอนจะทำอะไรต่อ อาลีบาบาจะทำอะไร จะเขียนกฎหมายให้ครอบคลุมเหล่านี้หมดเลยหรือ หากคุมเฟซบุ๊กได้ แล้วหากอาลีบาบาเปิดโซเชียลอะไรใหม่ หรือคนไปเล่นสแนปแชตกันหมดล่ะ ยิ่งถ้าเทคโนโลยีมันแยกย่อยมากๆ จะตามเก็บได้ไหม
“ขณะนี้ก็ทำได้แค่วิเคราะห์ผลกระทบจากที่มีประกาศออกมา ซึ่งก็กำลังคุยกันอยู่ แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังทำงานกันตามปกติ” แหล่งข่าวปิดท้าย
ทางด้านแหล่งข่าวจากสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในวันที่ 28 มิถุนายน 2560 กสทช. นั้นเป็นเพียงลักษณะ ‘ขอความร่วมมือ’ ยังไม่ได้ออกเป็นทางการว่า ‘ห้ามลงโฆษณา’ อย่างที่หลายคนเข้าใจ ตนมองว่าอยากให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนได้-เสียกับประเด็นนี้มาคุยตกลงกันเพื่อให้ได้ประโยชน์เหมือนกัน
“มันหมดยุคแล้วที่จะเอาปืนไปขู่ให้ทำตามที่สั่ง อยากให้ช่วยกันก็บอกมาว่าต้องการอะไร โลกเราต้องการสิ่งที่ชนะทุกฝ่าย วิน-วินมันจะไม่เกิดถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ อีกฝ่ายแพ้ เชื่อว่าต้องมีทางออกร่วมกัน ทางสมาคมฯ เองก็ยินดีจะเป็นตัวกลางให้กับทุกฝ่าย”
แหล่งข่าวแสดงทัศนะต่อประเด็นที่ว่า ‘ผู้ได้รับกระทบที่สุดคือเอเจนซีโฆษณา’ ว่า ตั้งแต่มีอินเทอร์เน็ต มีโซเชียล digital disruption นั้นท้าทายความสามารถของเอเจนซีอยู่แล้ว ตนมองว่าเอเจนซีที่จะอยู่ได้คือเอเจนซีที่รู้ value ของตัวเองและสร้างความแตกต่างได้
ทั้งนี้แหล่งข่าวยังเปิดเผยว่า ทางผู้ให้บริการแพลตฟอร์มก็มีติดต่อมาบ้างแล้ว เขายินดีให้ความร่วมมือ เพียงแต่ขอทราบก่อนว่าจุดประสงค์หรือเจตนาของการกำกับ OTT คืออะไร “ผู้ให้บริการเขาไม่เข้าใจว่าจะลงทะเบียนทำไม เขาไม่ได้กลัว เพียงแต่เขามองไม่เห็นประโยชน์ ภาครัฐต้องสื่อสารให้ชัดว่าลงทะเบียนแล้วจะได้อะไร เนื่องด้วยจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กในประเทศไทยราว 47 ล้านคน ซึ่งจัดว่าเป็นอันดับ 8 ของโลก โดยเฉพาะหากมองที่จำนวนเวลาที่ใช้บนแพลตฟอร์มก็ถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูง ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งเขาแคร์มาก ไม่ใช่แค่จำนวนคนน้อยแล้วเขาจะไม่สนใจ”
ขณะที่ พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ หรือ หนุ่ย แบไต๋ไฮเทค หนึ่งในผู้รับฟังการแถลงของ กสทช. เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา เป็นอีกคนที่บอกว่าแนวการแถลงในวันนั้นเป็นลักษณะ ‘แจ้งเพื่อทราบ’
“ผมพูดออกไมค์ในที่ประชุมเลยว่าเข้าใจในความปรารถนาดีของ กสทช. เสรีภาพต้องมาพร้อมสิทธิ ต้องมีกรอบ แต่อย่าทำเลย ผมคิดว่าคนที่จดทะเบียนล้วนเป็นคนที่เปิดหน้า เห็นกันอยู่ในวงการ แต่จะทำยังไงให้คนที่ใช้สื่อทั้งหมดมาจด คนที่สักทั้งตัวจะมาหรือ มันเป็นไปไม่ได้ และเมื่อมันเป็นกฎหมายแล้ว มันต้องบังคับใช้เท่าเทียมกัน ที่ยังไม่รู้คือเมื่อจดทะเบียนแล้วจะมีค่าใบอนุญาตหรือค่าธรรมเนียมหรือไม่”
พงศ์สุขกล่าวต่อว่า “เจตนาของ กสทช. น่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับประเด็นมาตรา 112 ต้องยอมรับว่ายากต่อการต้านทาน ถ้าอยากดูแลก็ควรเจรจากับบริษัทยักษ์ใหญ่ ขอ ‘เครื่องมือที่ลบได้เอง’ เขาไม่ได้จะควบคุม เพียงแต่หากมีข้อความหรือเนื้อหาใดที่เกินเลยก็อาจจะโทรไปหาแล้วให้ช่วยปรับหน่อย ในบางกรณีที่มีการรีพอร์ตเนื้อหาไม่เหมาะสมไป 3 ชั่วโมงให้หลัง เฟซบุ๊กจะส่งข้อความกลับมาว่า เนื้อหาดังกล่าวไม่ขัดต่อมาตรฐานของชุมชนเฟซบุ๊ก”
เมื่อถามถึงแนวทางเบื้องต้นที่ กสทช. ขอความร่วมมือจากเอเจนซีโฆษณาว่าไม่ให้ลงโฆษณาในเฟซบุ๊กและยูทูบจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ พงศ์สุขแสดงความเห็นว่า “ไม่เชื่อว่าจะไม่นำพาสู่คำขู่นั้น การซื้อสื่อออนไลน์มันเป็นฝ่าย เป็นกระบวนการ เป็นวงการไปแล้ว หยุดวงการไม่ได้ มันมีทั้งผลได้ ผลเสีย คนไทยจำนวน 47 ล้านคน อยู่ในนั้น เยอะกว่าจำนวนคนดูทีวีอีก ทุกธุรกิจต้องโฆษณา ไปขอร้องให้ไม่ลงโฆษณาได้ไหม ผมว่ารัฐต้องคุยทางลับกับเฟซบุ๊กและกูเกิล มิเช่นนั้นจะเสียหน้าเช่นนี้ไปเรื่อยๆ รัฐต้องหาเครื่องมือที่เหมาะสมกับการแก้ปัญหาที่จะเกิดในอนาคต ไม่จำเป็นต้องเป็นมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก คุยกับผู้รับผิดชอบเฟซบุ๊กในประเทศไทยก็น่าจะได้แล้ว ขนาดภาคธุรกิจยังคุยกับระดับภูมิภาคได้เลย ภาครัฐก็ต้องได้เช่นกัน”
อ้างอิง: