×

Hard Skill ไม่พอ ต้องมี Meta Skill ด้วย เตรียมพร้อมวิศวะฯ ยุค 4.0 กับ CHAMP Engineering โครงการพี่สอนน้อง [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
21.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • เป้าหมายหลักของโครงการ CHAMP Engineering นั้นเพื่อ Upskill หรือพัฒนาทักษะวิชานอกห้องเรียน เตรียมความพร้อมให้นิสิตเท่าทันกับความต้องการของอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
  • สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จํากัด (มหาชน) หรือ GC ในฐานะนายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เน้นย้ำว่าต้องการจะพัฒนาทักษะ 3 อย่างให้กับนิสิตคือ Hard Skill, Soft Skill และถ้าเป็นไปได้ก็ต้องพัฒนาไปให้ถึงระดับ Meta Skill

โลกอนาคตที่หมุนเร็วล้วนเต็มไปด้วยความท้าทาย แม้แต่ แจ็ค หม่า อภิมหาเศรษฐีแห่งอาลีบาบา ก็ยังยอมรับว่าความท้าทายที่ยากที่สุดคือการศึกษา

 

“ในอนาคตมันจะไม่ใช่การแข่งขันกันด้วยความรู้ แต่คือการแข่งขันกันด้วยความคิดสร้างสรรค์ แข่งขันกันด้วยจินตนาการ แข่งขันกันด้วยการเรียนรู้ แข่งขันกันด้วยการคิดอย่างมีอิสระ”

 

ในสายวิชาชีพวิศวกรรมศาสตร์ถูกนับว่าเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของภาคอุตสาหกรรมในบริษัทใหญ่ๆ ระดับโลก ทั้ง Google หรือ Amazon ก็ล้วนกำลังเจอกับความท้าทายนี้เช่นกัน เมื่อ Hard Skill หรือความสามารถด้านอาชีพที่สอนกันในรั้วมหาวิทยาลัยอาจไม่เพียงพออีกต่อไป แต่วิศวกรยุค 4.0 ต้องมีทักษะอีกด้านที่เรียกว่า Soft Skill หรือความสามารถด้านสังคม เช่น ความคิดสร้างสรรค์ จึงจะอยู่รอดได้ในศตวรรษข้างหน้า

 

คำถามสำคัญคือแล้ววิศวกรในประเทศไทยจะทำอย่างไร

 

ด้วยเหตุนี้ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ นายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ริเริ่มโครงการ CHAMP Engineering และนำมาปรับใช้ภายในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งมีต้นแบบมาจากการดําเนินงานของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเตรียมพร้อมเหล่านิสิตให้ประสบความสําเร็จในโลกการทํางาน ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมไทย

 

 

“เมื่อก้าวเข้ามาสู่โลกการทํางานจริง Hard Skill ที่นิสิตได้รับจากห้องเรียนในมหาวิทยาลัยอาจไม่เพียงพอ การฝึกฝน Soft Skill คืออีกทักษะที่จะช่วยให้นิสิตมีความสามารถรอบด้านและโดดเด่นมากขึ้น” สุพัฒนพงษ์กล่าวในงาน CHAMP – Mentor Orientation Day เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา

 

เป้าหมายหลักของโครงการ CHAMP Engineering นั้นเพื่อ Upskill หรือพัฒนาทักษะวิชานอกห้องเรียน เตรียมความพร้อมให้นิสิตเท่าทันกับความต้องการของอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

 

สุพัฒนพงษ์เน้นย้ำว่าต้องการจะพัฒนาทักษะ 3 อย่างให้กับนักศึกษาคือ Hard Skill และ Soft Skill และถ้าเป็นไปได้ก็ต้องพัฒนาไปให้ถึงระดับ Meta Skill

 

“Hard Skill หรือ Technical Skill ทางคณะมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว แต่เราจะเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากศิษย์เก่าที่เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอาชีพที่เป็น Industry Expert ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากแก่นิสิตที่เข้าโครงการ

 

“Soft Skill เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ การแก้ปัญหา เป็นทักษะที่ศิษย์เก่ามองว่าสำคัญมากไม่แพ้ด้าน Technical Skill ซึ่งนิสิตทุกคนที่เข้าร่วมโครงการจะมีโอกาสได้ Upskill ผ่านการเวิร์กช็อป เช่น Design Thinking Workshop, Effective Communication เพราะเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

“แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดในอนาคตคือ Meta Skill ซึ่งคือ Lifelong Learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต การกำหนดทิศทางและจุดแข็งของตัวเอง รวมถึงเรียนรู้ที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลง นิสิตจะได้ผ่านการฝึกฝน การให้คำแนะนำจากประสบการณ์ของศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จ”

 

 

นอกจากโครงการ CHAMP Engineering จะโดดเด่นเรื่องการพัฒนาทักษะแห่งอนาคตแล้ว อีกจุดเด่นหนึ่งก็คือผู้ที่มาสอน หรือ Mentor ที่มาแนะนำ พร้อมฝึกฝนให้น้องๆ หรือ Mentee นั้นก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่คือศิษย์เก่าของคณะที่ยินดีมามอบประสบการณ์จริงให้ถึงที่

 

นี่คือการแสดงออกถึงแพสชันที่ศิษย์เก่าทุกคนอยากตอบแทนให้กับคณะ เพราะคณะได้ให้ความรู้และให้อาชีพแก่พวกเขาจนประสบความสำเร็จมาถึงทุกวันนี้ ก็ถึงเวลาแล้วที่พวกเขาทุกคนจะได้กลับมาช่วยคณะเพื่อส่งสิ่งดีๆ ต่อไปยังนิสิตปัจจุบัน

 

สุพัฒนพงษ์มองว่าโครงการนี้คือการเชื่อมต่อ Missing Link หรือสิ่งที่ขาดหายไปตรงกลาง

 

“คณะวิศวกรรมศาสตร์มีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งนิสิตที่เก่ง มีความสามารถ หรือพี่ๆ ศิษย์เก่าที่พร้อมช่วยเหลือ แต่ขาดส่วนเชื่อมต่อตรงกลาง หรือ Missing Link ซึ่งก็คือทีมที่พาทั้งสองอย่างมาเจอกัน โครงการนี้พยายามทำสิ่งนั้น

 

“เราพาพี่ๆ ศิษย์เก่าที่มากประสบการณ์ มีมุมมองที่หลากหลาย และมีทักษะการใช้ชีวิตที่น่านำไปเป็นแบบอย่าง มาเจอกับกลุ่มนิสิตที่มีความพร้อมในการเรียนรู้ เติบโต และพัฒนาศักยภาพ”

 

ในงาน Open House ของโครงการนี้ได้รับความสนใจจากน้องๆ เกินความคาดหมาย คนเต็มห้องประชุม ซึ่งเป็นเหมือนการรวมตัวของศิษย์เก่าจากหลากหลายความสามารถ หลายสายงาน สายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น

 

รศ.ดร.ธวัชชัย ชรินพาณิชกุล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มาพูดถึงภาพรวม ศักยภาพ ความพร้อมของนิสิตต่อโลกอุตสาหกรรมหลังจบการศึกษา

 

พิเชษฐ สิทธิอำนวย Managing Director – Bualuang Securities ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ CHAMP และหนึ่งใน Mentor ที่มาพูดถึงความคาดหวังของโครงการที่มีต่อตัว Mentor

 

สาโรช คุณวุฒิพร หัวหน้าทีม Apollo (ผู้จัดงาน) ที่มาเล่าถึงกระบวนการตรวจสอบ ติดตามผลการส่งการบ้านของน้องๆ

 

(ซ้าย) รศ.ดร.ธวัชชัย ชรินพาณิชกุล, (ขวา) พิเชษฐ สิทธิอำนวย

 

สุพัฒนพงษ์เชื่อว่าโครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่จะนำไปสู่การพัฒนารากฐานของประเทศในวงกว้าง

 

“เราเริ่มต้นโครงการด้วยพี่ๆ ศิษย์เก่าไม่ถึง 40 คนในห้องนี้ ถ้าเราสามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนานิสิตเกือบ 80 คนที่อยู่ในโครงการนี้และน้องๆ อีกหลายร้อยคนที่เข้าร่วมเวิร์กช็อปเสริมความรู้นอกห้องเรียนตลอดโครงการ ภาพสุดท้ายก็อาจเป็นการพัฒนาฐานรากของประเทศในวงกว้าง”

 

และท้ายที่สุด ภาพที่สุพัฒนพงษ์อยากเห็นหลังจบจากโครงการนี้ก็คือความกล้าหาญของวิศวกรรุ่นใหม่ที่พร้อมเผชิญความเปลี่ยนแปลงในอนาคต พวกเขาจำเป็นต้องมีทักษะทั้ง 3 อย่างเพื่อเข้าสู่โลกแห่งการทำงานยุค 4.0 อย่างแท้จริง

 

“ผมหวังให้นิสิตที่จบจากโครงการมีกรอบความคิด การวางแผน กล้าลงมือทำ กล้าที่จะผิด กล้าที่จะลอง มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และมีทักษะที่สำคัญทั้ง 3 ส่วนตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม จึงจะถือว่าเป็นผลสำเร็จของโครงการอย่างแท้จริง ผมเชื่อว่าพลังของพี่ๆ ที่มีความหวังดีต่อน้องๆ จะเป็นแรงผลักดันที่ทำให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จ”

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

FYI
  • โครงการ CHAMP Engineering เกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มของสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ นายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้นำแบบอย่างมาจากโครงการ CHAMP ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ด้วยเล็งเห็นว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์กับนิสิตปัจจุบันในการเตรียมความพร้อมและการเสริมทักษะวิชานอกห้องเรียนให้ทันกับความต้องการของอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะประเทศไทยในปัจจุบันมีการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีที่เข้ามาใช้แทนคนมากยิ่งขึ้น ทำให้แรงงานบางสาขาขาดแคลนเป็นจำนวนมาก ขณะที่บางสาขากลับมีจำนวนแรงงานเกินความจำเป็น โดยอาศัยเครือข่ายพี่ๆ น้องๆ ศิษย์เก่าทุกท่านที่ประสบความสำเร็จและล้วนมีแพสชันตอบแทนคณะในการถ่ายทอดความรู้ไปยังนิสิตรุ่นปัจจุบัน เพราะโครงการมีแนวคิดมุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์และเชื่อมโยงความเป็นพี่เป็นน้องโดยที่จะ ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ นั่นเอง
  • สำหรับรุ่นแรกมีผู้เข้าร่วมเป็น Mentor จำนวน 36 คน และจะมีนิสิตที่ได้รับคัดเลือกเข้าสู่โครงการทั้งสิ้นจำนวน 72 คน
  • โดยกิจกรรมจะเริ่มตั้งแต่การคัดเลือก Mentor และ Mentee จนจบโครงการเป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปี ซึ่ง Mentor จะเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกน้องที่เข้ามาร่วมโครงการจนจบโครงการ โดย Mentor จะเลือกและคิดหาแนวทางในการถ่ายทอดทักษะและประสบการณ์ชีวิตให้กับ Mentee ด้วยรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการนัดพบปะ นัดออกกำลังกาย หรือแม้แต่การพาไปดูสถานที่ทำงานจริง เพื่อให้เกิดความเข้าใจและได้ซึมซับบรรยากาศในการทำงานจริง
  • โครงการนี้เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญในการพัฒนานิสิต รวมถึงอุตสาหกรรม และยังเป็นการวางรากฐานให้กับประเทศไทยในอนาคตอีกด้วย ซึ่งคงจะดีไม่น้อยหากโครงการดีๆ เหล่านี้มีการขยายผลไปสู่สถาบันการศึกษาอื่นๆ เพราะเชื่อว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาทักษะแรงงานให้เข้าสู่อุตสาหกรรมแรงงานของประเทศได้อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพตรงตามความต้องการของตลาด ที่สำคัญยิ่งคือจะสามารถรับมือกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคตได้อย่างแน่นอน
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X