เอพิโสดนี้ ซู่ชิง-จิตต์สุภา ฉิน จะมาอัปเดตเทรนด์ VR ที่ใช้ในแวดวงต่างๆ ทั่วโลก และชวน ยศ-จิรยศ เทพพิพิธ ผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยี Infofed ผู้บุกเบิกวงการ VR Content ในไทยมาพูดคุยถึงโอกาสทางธุรกิจ VR ในไทย และความเป็นไปได้ใหม่ๆ จากเทคโนโลยีเสมือนจริงในอนาคต
AR/VR ความเสมือนจริงที่แตกต่าง
AR กับ VR ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่หลายคนมักจะสับสนว่า 2 เทคโนโลยีนี้ต่างกันอย่างไรกันแน่
- Virtual Reality (VR) คือ การสร้างโลกเสมือนขึ้นมาครอบความเป็นจริง เมื่อสวมอุปกรณ์ VR Headset เราจะเห็นสภาพแวดล้อมรอบตัวเปลี่ยนไป ราวกับอยู่ในโลกอีกใบจริงๆ
- Augmented Reality (AR) คือ การสร้างวัตถุหรือโลกเสมือนขึ้นมาทับซ้อนกับโลกความเป็นจริงอีกชั้นหนึ่ง เราจะมองเห็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงตรงหน้าได้โดยที่สภาพแวดล้อมรอบตัวไม่ได้เปลี่ยนไป ตัวอย่างที่อธิบายเรื่องนี้ได้ง่ายและชัดเจนที่สุดคือ Pokémon Go
โปรเจกต์ We are Alfred
จากเกมสู่เครื่องมือสร้างความเข้าใจอันทรงพลัง
ปัจจุบัน VR เริ่มแพร่หลายในอุตสาหกรรมธุรกิจ เช่น โปรเจกต์ We are Alfred ของ Embodied Labs ได้จำลองประสบการณ์ของผู้สูงอายุที่เป็นโรคความจำเสื่อมผ่าน VR เพื่อให้นักศึกษาแพทย์สัมผัสประสบการณ์ความชรา เข้าใจ (empathy) ปัญหา และความต้องการของผู้สูงอายุผ่านมุมมองของผู้สูงอายุจริงๆ
อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ โรงพยาบาล Saint-Joseph ในฝรั่งเศส จับมือกับสตาร์ทอัพ Healthy Mind VR ใช้ VR จำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริงที่เงียบสงบและผ่อนคลาย ช่วยให้ผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินคลายความกังวลและรับมือกับความเจ็บปวดได้ดีขึ้นระหว่างการรักษา แทนการใช้ยา
โอกาสของ VR ไทยอยู่ตรงไหน
ปัจจุบัน Infofed ผ่านการคัดเลือกจากโครงการ AIS The StartUp ด้วยจุดเด่นในการสร้างสรรค์ VR Content หลากหลายรูปแบบให้กับธุรกิจและหน่วยงานต่างๆ เช่น โปรโมตการท่องเที่ยวผ่าน Virtual Tour สร้างสื่อการเรียนรู้ด้วย VR Experience
นี่คือความท้าทายของวงการ VR Content ไทยในทัศนะของ ยศ-จิรยศ เทพพิพิธ
1. จุดเปลี่ยนของวงการการศึกษา
เวลาอ่านหนังสือ เรานึกภาพไม่ออกว่าเป็นอย่างไร เทคโนโลยีสามารถช่วยให้เด็กสนใจและสนุกกับการเรียน ผมเรียกว่าเป็น edutainment (education + entertainment) เช่น การจำลองวัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดอยุธยา เด็กๆ จะเห็นเลยว่าเมื่อก่อนวัดสวยงามขนาดไหน เด็กจะมีความรู้ความเข้าใจและสนุกกับการเรียนมากขึ้น
2. มิติใหม่ของ E-Sports
บางคนบอกว่าอีสปอร์ตไม่ใช่กีฬา เพราะไม่ได้ออกกำลังหรือเคลื่อนไหว แต่ถ้าเป็นเทคโนโลยี VR มันต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา เหมือนกับการเล่นกีฬาจริงๆ
3. โอกาสทางการแพทย์
นักศึกษาแพทย์ใช้ VR เป็นเครื่องมือเรียนรู้เกี่ยวกับการผ่าตัดได้ เช่น ดูว่าหมอใช้มีดอย่างไร ลักษณะแผลเป็นอย่างไร พยาบาลทำงานอย่างไร มันเป็นการเล่าเรื่องที่เห็นภาพทีเดียวเขาก็รับรู้
อุปสรรคและข้อจำกัดของคนทำงานสาย VR
VR เกิดในกลุ่ม Niche Market แล้วเริ่มขยายไปตลาดอื่น เช่น อสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยว การแพทย์ การศึกษา พอตลาดเริ่มโตจะมีนักลงทุนมาพัฒนาให้ดีขึ้น มีราคาถูกลง พอถึงจุดหนึ่งที่เทคโนโลยีนี้ไปถึงระดับแมส หรือว่าคนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เขาเรียกว่าเป็นวงจรของเทคโนโลยี แต่ถ้าเทคโนโลยีตัวไหนไม่ตอบโจทย์ ต่อยอดไม่ได้ ก็จะหายไป
Ready Player One
Mixed Reality: เมื่อโลกเสมือนมาบรรจบกับความจริง
มีความเป็นไปได้ที่ VR จะพัฒนาไปถึงภาพยนตร์เรื่อง Ready Player One เพราะโลกเราถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี จะมี Key Factor ที่ทำให้ไปถึงจุดนั้นได้ อย่างแรกคือ ฮาร์ดแวร์ เมื่อไรที่ฮาร์ดแวร์มีราคาถูกลง เบา ใส่ง่าย ทุกคนเข้าถึงได้ มันจะเติบโตแบบรวดเร็วมากๆ อีกเรื่องหนึ่งคือ ซอฟต์แวร์คอนเทนต์ เนื่องจากมันเป็นเทคโนโลยีใหม่ คนผลิตหรือเขียนโปรแกรมเกี่ยวกับ VR ยังมีน้อยมาก ก็ต้องใช้เวลา แต่พอถึงยุคนั้นอาจมีเทคโนโลยีที่ดีกว่าและต่อยอดจาก VR ขึ้นไปโดยอัตโนมัติ
Credits
The Host จิตต์สุภา ฉิน
The Guest จิรยศ เทพพิพิธ
Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข
Episode Producer ปิยพร อรุณเกรียงไกร
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์