“มันเป็นวันที่โหดร้าย”
“มีแต่ข่าวร้ายเต็มไปหมด”
นี่คือเสียงส่วนหนึ่งจากคำบอกเล่าของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์วันที่ 15 กันยายนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว วันที่เกิดวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกนานนับทศวรรษ
คุณกวิน สุวรรณตระกูล นักลงทุนเจ้าของหนังสือ รวยด้วยหุ้น ใครๆ ก็ทำได้ และผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ aomMONEY.com เล่าถึงเหตุการณ์ในตอนนั้นว่า เป็นช่วงที่เขาเพิ่งเริ่มลงทุนใหม่ๆ แล้วก็แจ็กพอตเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจเข้าอย่างจัง
“ช่วงก่อนเกิดวิกฤต ผมเพิ่งเข้าทำงานในแบงก์ในส่วนของ Product Management ในช่วงปลายปี 2006” คุณกวินเริ่มเล่า “จากนั้นไม่นานก็เจอกับ Hamburger Crisis พอดี บรรยากาศในตอนนั้นอึมครึมมาก มีแต่ข่าวร้ายเต็มไปหมด อย่างในออฟฟิศก็คุยกันเยอะมากว่าจะเป็นอย่างไรต่อ จะมีผลกระทบอะไรไหม”
“มันเป็นวันที่แสนโหดร้าย แต่ผมต้องยอมรับมัน” อีกเสียงโอดครวญดังมาจาก ปีเตอร์ ทัชแมน เทรดเดอร์ซึ่งทำงานในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กมานานกว่า 30 ปี
“คุณรู้ไหม เราผ่านวันที่คนเทขาย (หุ้น) ด้วยอารมณ์ ข่าวพาดหัว คุณทราบดีนี่ ข่าวสารต่างๆ เอย เรื่องภูมิเศรษฐศาสตร์เอย ภูมิรัฐศาสตร์เอย มันช่างบ้าคลั่ง โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีสุดท้ายที่คุณจะเห็นการเทขายหุ้นจนเกิดความวิตก แต่วันนั้นเป็นวันหายนะและน่าสะพรึงกลัวมาก” ทัชแมน เล่า
เกิดอะไรขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
ย้อนเหตุการณ์กลับไปเมื่อ 1 ทศวรรษที่แล้ว เลห์แมน บราเธอร์ส สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ได้ยื่นขอล้มละลายอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 กันยายน ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นในเชิงสัญลักษณ์ของวิกฤตการเงินทั่วโลกที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ ‘วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (Hamburgur Crisis)’ โดยวิกฤตครั้งนั้นสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้าง จนแม้ทุกวันนี้เศรษฐกิจของหลายประเทศก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวเต็มที่หรือขยายตัวได้เท่ากับช่วงก่อนเกิดวิกฤต พูดตามประสาชาวบ้านก็คือยังโงหัวไม่ขึ้นนับแต่นั้น
ทำไมการล้มของเลห์แมน บราเธอร์ส จึงสะเทือนไปทั่วโลก
เลห์แมน บราเธอร์ส เป็นวาณิชธนกิจหรือธนาคารเพื่อการลงทุนรายใหญ่ที่จัดเป็นสถาบันการเงินที่ ‘Too Big to Fall’ หรือใหญ่เกินกว่าที่จะปล่อยให้ล้มได้ เพราะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมาก ถ้าล้มเมื่อใดย่อมส่งผลกระทบในระดับที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเกิดความหายนะเลยก็ว่าได้ ซึ่งความใหญ่ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงขนาดของบริษัท แต่หมายถึงการที่บริษัทหรือสถาบันการเงินนั้นๆ มีความผูกติดกับเศรษฐกิจโลกอย่างแนบแน่น
แต่ใช่ว่าเลห์แมน บราเธอร์ส จะเป็นต้นเหตุของเรื่องราวทั้งหมดนี้ เพราะต้นตอแท้จริงของวิกฤตครั้งนั้นมาจากภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ สืบเนื่องจากการเก็งกำไรในตลาดที่อยู่อาศัย เพราะธนาคารปล่อยสินเชื่อที่มีความน่าเชื่อถือต่ำหรือด้อยคุณภาพ (Subprime) มากจนเกินไป ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของชื่อวิกฤตอีกชื่อว่า ‘วิกฤตซับไพรม์’ นั่นเอง
อันที่จริงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อยู่ในทิศทางขาลงอยู่ก่อนแล้วเมื่อตอนที่เลห์แมน บราเธอร์ส ล้ม แต่วิกฤตความเชื่อมั่นที่เกิดขึ้นในระบบธนาคารทั่วโลกหลังจากนั้นทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง และฉุดเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่วนประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ก็พลอยโดนหางเลขไปด้วยเช่นกัน
ปัญหาที่หมักหมมในสหรัฐฯ เริ่มส่งกลิ่นไม่ดีเป็นเวลาหลายปีก่อนที่ฟองสบู่จะแตกตัวในปี 2008 โดยก่อนหน้านั้นเกิดกระแสการจำนองโดยที่ผู้กู้นำหลักทรัพย์ด้อยคุณภาพมาค้ำประกัน เพราะดอกเบี้ยในตลาดช่วงนั้นต่ำมาก ประกอบกับธนาคารมีเงื่อนไขการปล่อยกู้ที่ผ่อนปรนกว่าแต่ก่อน ซึ่งเปิดทางให้ประชาชนสามารถซื้อบ้านได้ทั้งที่ยังไม่มีความสามารถในการจ่าย
ปัญหาเริ่มเด่นชัดขึ้นตั้งแต่ปี 2004 เพราะเกิดการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากลูกหนี้ไม่สามารถปรับโครงสร้างเงินกู้ได้ เพราะดอกเบี้ยเริ่มสูงขึ้นหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนั้น ขณะที่ราคาบ้านเริ่มต่ำลง เมื่อลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงเกิดการยึดทรัพย์ไปทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งวิกฤตลุกลามใหญ่โต
ผลกระทบที่ธนาคารและสถาบันทางการเงินได้รับในเวลานั้นก็คือการขาดทุนอย่างย่อยยับ เลห์แมน บราเธอร์ส ได้ประกาศล้มละลาย เนื่องจากไม่สามารถดำเนินกิจการได้ต่อไป เพราะมีภาระหนี้สินถึง 6.13 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่แฮงก์ พอลสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ในเวลานั้นได้ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่อัดฉีดเงินเข้าไปช่วยโอบอุ้มธนาคาร ส่งผลให้นักลงทุนในตลาดเกิดความตื่นตระหนก โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ร่วงลงกว่า 350 จุดจากข่าวดังกล่าว นอกจากนี้ยังส่งแรงกระเพื่อมสะเทือนไปทั้งตลาดเงินทั่วโลก
ปัญหาที่ตามมาคือเมื่อนักลงทุนไม่เชื่อมั่นในสถาบันการเงินอีกต่อไป บวกกับการล้มครืนเป็นโดมิโนของสถาบันการเงินทั่วโลก ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องในระบบการเงินและภาวะสินเชื่อตึงตัว และเมื่อเกิดความกังวลเกี่ยวกับความคล่องตัวในระบบการเงิน จึงบีบให้ธนาคารกลางในหลายประเทศต้องแทรกแซงด้วยการเข้าไปวางแผนฟื้นฟูบริษัทการเงิน เพื่อช่วยให้ผู้กู้ที่น่าเชื่อถือหรือมีเครดิตดีสามารถกู้ยืมเงินได้ตามปกติอีกครั้ง
หุ้นตก เงินบาทอ่อนค่า เงินทุนต่างชาติไหลออก
เศรษฐกิจไทยเป็นเหมือนหลายๆ ประเทศในเอเชีย คือได้รับผลกระทบผ่านกลไกการเงินโลกที่กำลังเผชิญวิกฤตสภาพคล่อง และการเคลื่อนย้ายเงินทุน
“ช่วงนั้นการเมืองไทยเองก็ไม่นิ่งด้วย” คุณกวินเล่าต่อ “ข่าวการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส บวกกับปัจจัยการเมืองภายใน ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายไปกันใหญ่ เมื่อนักลงทุนมีความเชื่อมั่นลดลงจึงแห่เทขายหุ้น พอเทขายกันก็ทำให้ราคาหุ้นลดฮวบลงเรื่อยๆ ลดลงกระทั่งว่ากรอบการซื้อขายของเราเปลี่ยนแปลงไปหมดเพราะความตื่นตระหนก ขนาดนักลงทุนที่เป็น Value Investor ก็ยังตกใจกัน เพราะราคาลงไปเยอะมาก ผมจำได้ว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยเคยขึ้นไปแตะระดับ 800 จุดในช่วงปี 2004 และอยู่ในกรอบ 700-800 จุดก่อนจะเกิดวิกฤต แล้วดิ่งลงมาหลายร้อยจุด”
ส่วนเงินบาทก็อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง เพราะกระแสการไหลออกของเงินทุนต่างชาติ เนื่องจากนักลงทุนต้องการเปลี่ยนไปถือครองสกุลเงินดอลลาร์ที่มีสภาพคล่องสูงกว่า
“มันไม่ได้กระทบแค่บรรยากาศการลงทุนเท่านั้น” คุณกวินกล่าว “ผมทำงานในธนาคาร ก็มีการมานั่งคิดกันว่าธนาคารจะได้รับผลกระทบอย่างไรด้วย จนผู้บริหารต้องออกมาให้ข่าวในแง่มุมว่าเราไม่ได้มีผลกระทบอะไรมาก เพราะผมคิดว่าธนาคารไทยเคยมีบทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997 มาก่อน ผู้บริหารยืนยันในเรื่องนโยบายว่าจะไม่เข้าไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความซับซ้อนหรือเข้าใจยาก เพราะช่วงนั้นประเด็นที่แต่ละธนาคารให้ความสำคัญกันมากก็คือเรื่องความเสี่ยง โดยไม่ดูในเรื่องผลตอบแทน”
10 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เราเรียนรู้อะไรจากบทเรียนครั้งนั้น
มีคำถามมากมายว่าโลกเรียนรู้อะไรจากบทเรียนของวิกฤตคราวนั้น แน่นอนว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (หรือวิกฤตซับไพรม์ตามแต่จะเรียก) ไม่ใช่ตำราบทแรกหรือบทสุดท้ายของวิกฤตที่เลวร้ายที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์นับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในทศวรรษ 1930 แต่กระนั้นก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของหลายๆ สิ่งซึ่งนำไปสู่การกำหนดนโยบายการเงินและการออกมาตรการควบคุมภาคสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตซ้ำรอย จนอาจกล่าวได้ว่าเวลานี้เศรษฐกิจโลกมีรากฐานที่มั่นคงขึ้น
“ผมคิดว่าตลาด ณ ตอนนี้ ใหญ่เกินกว่าที่จะล้มได้” ปีเตอร์ ทัชแมน เทรดเดอร์ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก แสดงความเห็นกับ AFP
ทัชแมนจำวันที่ ‘โหดร้าย’ เมื่อ 10 ปีที่แล้วได้ดีราวกับเรื่องเพิ่งเกิดขึ้น แต่ 10 ปีที่ผ่านมาว่าเขามองว่า เราได้สร้างรากฐานเพื่อป้องกันไม่ให้ตกหุบเหวแบบนั้นอีกครั้ง
ขณะที่ เกรกอรี โวโลคิเน ประธานฝ่ายบริการทางการเงินของบริษัท Meeschaert มองในแง่บวกว่า แม้เหตุการณ์ในปีนั้นจะน่าสะพรึงกลัวมาก ผู้คนสูญเสียบ้าน คนจำนวนมากตกงาน แต่ 10 ปีให้หลัง เรามีมุมมองที่เป็นบวกเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ครั้งนั้น ตอนนี้อัตราดอกเบี้ยในตลาดยังค่อนข้างต่ำ ขณะที่ตลาดเงินก็มีสภาพคล่องสูง ซึ่งเป็นผลดีต่อตลาดหุ้น และเอื้อต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ในแง่ของบทเรียนที่ไทยได้รับนั้น คุณกวินคิดว่าภาคธนาคารไทยมีการเตรียมมาตรการรับมือเชิงโครงสร้างตั้งแต่หลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งอยู่แล้ว ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเงินทุนสำรองของไทยมีเยอะมาก เพราะมีการเตรียมการไว้รับมือกับปัจจัยภายนอกที่มีความผันผวน ประกอบกับเรามีปรัชญาทางเศรษฐกิจที่ทำให้เราสามารถดูแลตัวเองได้ดีขึ้น
หลังเกิดสัญญาณร้ายจากกรณีการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจของไทยได้มีมติในเดือนตุลาคมปีนั้นให้ดึงกองทุนแมตชิ่งฟันด์ กองทุนภาคเอกชน และกองทุนต่างๆ มารับมือการเทขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ซื้อหุ้นคืน ตลอดจนวางมาตรการดูแลสภาพคล่องเพื่อให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอ ซึ่งนับว่าช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ไม่น้อย
โอกาสในวิกฤต
ในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ คุณกวินมองอย่างนั้น ถ้ามองในมุมของนักลงทุนแล้ว การที่หุ้นตกมากๆ ย่อมเป็นโอกาสดีในการช้อนซื้อหุ้นเพื่อลงทุนในระยะยาว เพราะบทเรียนที่เห็นได้ชัดจากกรณีนี้ก็คือการเก็งกำไรระยะสั้นมีความเสี่ยงสูง ยิ่งถ้าเราเก็งกำไรในช่วงที่เกิดวิกฤตก็ยิ่งอันตราย
เมื่อมองภาพรวมตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะเห็นว่านับตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2009 เป็นต้นมา ดัชนี S&P ปรับตัวขึ้นราว 275% นักลงทุนที่ช้อนซื้อหุ้นไว้ตั้งแต่ที่ราคาปรับตัวลงต่ำจะได้ประโยชน์จากภาวะตลาดกระทิง (ตลาดขาขึ้น) ที่ดำเนินยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ด้วยผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงกว่า 350%
คอนเซปต์ที่คุณกวินมักพูดให้นักลงทุนฟังเสมอก็คือ มันมีโอกาสเกิดวิกฤตได้ทุกเมื่อ ดังนั้นจึงควรวางแผนซื้อหรือลงทุนในระยะยาว ถ้าราคาหุ้นลดลงมาก อย่าได้ตื่นตกใจ เพราะนั่นก็คือโอกาสในการซื้อเหมือนกัน ลองคิดดูว่าเมื่อเราอยู่ในวิกฤต เราใช้เงินก้อนเดิมแต่จะมีหน่วยลงทุนมากขึ้น และมีโอกาสได้ผลตอบแทนในระยะยาว (แต่ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง)
โอกาสเกิดวิกฤตซ้ำในอนาคต
วิกฤตเกิดขึ้นได้เสมอ คุณกวินสำทับ ไม่ว่าที่ผ่านมาจะเกิดวิกฤตขึ้นกี่ครั้ง หรือมีบทเรียนมามากแค่ไหนก็ตาม ดังนั้นคำถามคือ แล้วอะไรจะเป็นปัจจัยใหม่ที่นำไปสู่วิกฤตครั้งหน้า
เมื่อมองย้อนกลับไปจะพบว่า วิกฤตต้มยำกุ้งในไทยมีชนวนมาจากฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้น ขณะที่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ก็เกิดจากความฟุ้งเฟ้อในตลาดที่อยู่อาศัย
ความโลภของมนุษย์เป็นตัวการสำคัญของทุกวิกฤต คุณกวินกล่าว อย่างกรณีต้มยำกุ้งเกิดจากการเก็งกำไรค่าเงิน ส่วนวิกฤตซับไพรม์ก็มาจากการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นในอนาคตก็อาจเกิดวิกฤตจากความโลภของมนุษย์อีกก็เป็นได้
อย่างในอดีตเคยเกิดปรากฏการณ์ ‘Tulip Mania’ หรือกระแสคลั่งทิวลิป นั่นก็เกิดจากความโลภเหมือนกัน ดังนั้นแนวโน้มในอนาคตจะเกิดวิกฤตจากการเก็งกำไรในสินทรัพย์ตัวไหนคงต้องติดตามดูกันต่อไป แต่เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากสินทรัพย์ทางดิจิทัลก็ได้ เช่น การเก็งกำไรในสกุลเงินเข้ารหัส หรือ ‘Cryptocurrency’
เมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์ จะเห็นว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งจะเริ่มจากผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนเสมอ อย่างกรณีของดอกทิวลิปก็เป็นอีกตัวอย่าง เพราะมีการนำไปผูกกับสัญญาล่วงหน้าจนมีความซับซ้อนขึ้น พอเราไม่เข้าใจ เรามองไม่เห็นความเสี่ยงก็มีโอกาสพากันลงเหว
นอกจาก Cryptocurrency ที่เราเห็นชัดจากมูลค่าที่พุ่งพรวดขึ้นจนน่าวิตกว่าจะเกิดฟองสบู่แล้ว นักวิเคราะห์ต่างชาติมองว่ายังมีความเสี่ยงอยู่ทุกที่ในระบบเศรษฐกิจโลกที่รอวันระเบิด
“วิกฤตอาจเกิดขึ้นอีกครั้ง” เกรกอรี โวโลคิเน จากบริษัท Meeschaert คาดการณ์ “ผมบอกได้เลยว่า คนเลวในวันวานจะกลายเป็นคนดีในวันนี้ ความเสี่ยงไม่ได้อยู่ตรงธนาคารอย่างมอร์แกน สแตนลีย์ หรือเจพี มอร์แกน แต่ความเสี่ยงแท้จริงคือสิ่งที่เรียกว่าระบบธนาคารเงา มันคืออะไรน่ะหรือ มันคือการลงทุนในหุ้นนอกตลาด, เฮดจ์ฟันด์, การร่วมลงทุนแบบ Venture Capital และกองทุนบำเหน็จ/บำนาญ
นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงใหญ่หลวงที่สุดก็คือ สงครามการค้า เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ยังรอการสะสางเจรจาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคู่ของสหรัฐฯ กับยุโรป และสหรัฐฯ กับจีน แต่ถ้าเราเริ่มสงครามโดยขึ้นภาษีสินค้านำเข้ามูลค่า 2 แสนล้านเหรียญเมื่อใด เราได้เห็นวิกฤตแน่ เพราะราคาสินค้าจะแพงขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ และส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงในที่สุด และเมื่อการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคชะลอตัว โอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็จะมีมากขึ้น
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ระบบการเงินของสหรัฐฯ บอบช้ำจากพิษสินเชื่อ
10 ปีต่อมา ยังมีความเสี่ยงมากมายที่อาจบั่นทอนเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกและนำไปสู่วิกฤตอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น Cryptocurrency, ระบบธนาคารเงาในจีน, ปัญหาหนี้สินในหลายประเทศ ตลอดจนความไม่แน่นอนในกระบวนการ Brexit หรือแม้แต่ตัวประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ นักวิเคราะห์ไทยและเทศลงความเห็น
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- www.thebalance.com/too-big-to-fail-3305617
- business.financialpost.com/investing/investing-pro/its-been-10-years-since-the-financial-crisis-are-we-going-down-the-same-path-again
- www.bloomberg.com/news/articles/2018-09-13/mortgage-market-revival-creates-new-risks-a-decade-after-lehman
- AFP
- www.investopedia.com/terms/s/subprime_mortgage.asp