วงการดนตรีสากลของไทย ต้องสูญเสียบุคลากรคนสำคัญ เมื่อ เรืออากาศตรี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) ปี 2535 ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อเวลา 4.00 น. ของวันที่ 5 กันยายน อย่างสงบที่บ้านพัก สิริอายุ 90 ปี
.
ทั้งนี้ทางครอบครัวกำหนดตั้งศพสวดอธิษฐาน ระหว่างวันที่ 7-10 กันยายน เวลา 19.00 น. ณ โบสถ์วัดพระมหาไถ่ ซอยร่วมฤดี กรุงเทพมหานคร และจัดพิธีฝังส่งวิญญาณ ในวันที่ 11 กันยายน 2561 ณ สุสานศานติคาม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ขณะที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้มอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิต เพื่อร่วมบำเพ็ญกุศลศพ และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงาน
สำหรับประวัติของ เรืออากาศตรี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2471 ชื่อเดิม เรมอนด์ ซีเกร่า (Reimondo Amato de Sequeira) เป็นนักดนตรีลูกครึ่งชาวไทย-โปรตุเกส เป็นหนึ่งในสมาชิกวงดนตรี อ.ส. วันศุกร์
ได้รับพระราชทานนามเป็นภาษาไทยจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ว่า ‘แมนรัตน์ ศรีกรานนท์’
ต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนส่วนพระองค์ ส่งไปเรียนวิชาเรียบเรียงเสียงประสานที่โรงเรียนการดนตรีเบิร์กลี (Berkley School of Music) ที่เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันคือวิทยาลัยดนตรีเบิร์กลี (Berkley College of Music)
เรืออากาศตรี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ถือเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินผู้มีความเชี่ยวชาญชั้นสูงด้านดนตรีสากลโดยเฉพาะเปียโน ได้แสดงฝีมือจนมีชื่อเสียงเป็นที่ปรากฏยกย่องของบุคคลทั่วไป
มีผลงานประพันธ์เพลงกว่า 100 เพลง เพลงที่มีชื่อเสียงได้แก่ รักเอย, ชั่วฟ้าดินสลาย, จับปูดำ ขยำปูนา, รักลวง, จากยอดดอย ฯลฯ
เป็นศิลปินคนแรกที่นำหลักสูตรการเรียบเรียงเสียงประสานเข้ามาเปิดสอนในประเทศไทย นักเรียบเรียงเสียงประสานปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นลูกศิษย์ที่เคยศึกษากับท่านมาก่อน และท่านยังอุทิศเวลาทั้งหมดเพื่อวงการดนตรีสากลของไทย โดยการเขียนตำราการเรียบเรียงเสียงประสาน เป็นกรรมการและที่ปรึกษาเพื่อประโยชน์ต่อวงการดนตรีหลายคณะ และช่วยเหลือสังคมโดยเฉพาะด้านวิชาการ การเรียนการสอน โดยได้สร้างสรรค์งานเป็นผู้ให้ความรู้ต่างๆ ให้กับทุกสถาบัน ทุกหน่วยงาน จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) ปี 2535
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์