×

Life ซีรีส์ดราม่าวงการแพทย์ เปิดเบื้องหลัง เมื่อโรงพยาบาลโดนครอบงำด้วยระบบธุรกิจ

04.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • Life เป็นซีรีส์เกาหลี 16 ตอนจบ ออกอากาศทางช่อง JTBC กำกับโดย ลอมฮยอนอุก และฮงจงชาน ทั้งยังได้นักเขียนบทมือรางวัลอย่าง อีซูยอน เจ้าของเดียวกับผู้เขียนบท Stranger ซีรีส์ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ Baeksang Arts ประเภทโทรทัศน์ ครั้งที่ 54
  • เนื้อหาเปิดเผยให้เห็นปัญหาของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยซังกุก เมื่อฮวาจองกรุ๊ป บริษัทยักษ์ใหญ่เข้าควบรวมกิจการ

“ศูนย์การแพทย์ในตอนนั้นขาดทุนทุกปี ปีละสามสี่พันล้านวอน ปีละสามสี่พันล้านเป็นจำนวนมหาศาล ทั้งหมดก็เป็นภาษีของพวกเรา ในปีนั้นรู้ไหมครับว่างบประจำปีของจังหวัดคยองนัมอยู่ที่เท่าไร ทั้งหมดสิบสองล้านล้านวอนครับ

 

“ศูนย์การแพทย์รัฐในประเทศนี้เหลือไม่ถึงสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะถูกโรงพยาบาลเอกชนไล่บี้ เหตุผลที่ต้องปิดตัว เพราะขาดทุนสามสี่พันล้าน ทั้งที่เป็นเพียง 0.025 เปอร์เซ็นต์ของงบประจำปีจังหวัดคยองนัม ผมอยากจะถามมาตลอดครับว่า เสียดายเงินสามสี่พันล้านขนาดนั้นเลยเหรอ”

 

จูคยองมุน หัวหน้าแผนกศัลยกรรมทรวงอก โรงพยาบาลซังกุก กล่าวไว้ในซีรีส์เมื่อเกิดกรณีเตรียมยุบสามแผนกที่ขาดทุนของโรงพยาบาล นอกจากเป็นฉากที่แสดงให้เห็นการแสดงที่ยอดเยี่ยมแล้ว ยังให้ข้อมูลที่ฟังแล้วเจ็บปวด เพราะเรื่องราวในซีรีส์ไม่ได้ต่างจากความจริงในสังคม และไม่ใช่แค่ปัญหาของเกาหลี ในเมืองไทยเอง เรื่องราวเช่นนี้มักกลายเป็นหัวข้อข่าวอยู่เสมอเช่นกัน

 

 

Life เป็นซีรีส์เกาหลี 16 ตอนจบ ออกอากาศทางช่อง JTBC กำกับโดย ลอมฮยอนอุก และฮงจงชาน ที่เคยกำกับ Dear My Friends (2016) ทั้งยังได้นักเขียนบทมือรางวัลอย่าง อีซูยอน เจ้าของเดียวกับผู้เขียนบท Stranger (2017) ซีรีส์ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ Baeksang Arts ประเภทโทรทัศน์ ครั้งที่ 54

 

เรื่องราวของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยซังกุก ซึ่งติดอันดับโรงพยาบาลใหญ่ 5 อันดับแรกของเกาหลี เมื่อถูกฮวาจองกรุ๊ป บริษัทยักษ์ใหญ่เข้าควบรวมกิจการ และส่ง กูซึงฮโย ประธานกรรมการคนใหม่ เข้ามาบริหาร เปิดฉากอีพีแรกด้วยการที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตกจากดาดฟ้าบ้านของรองผู้อำนวยการ เสียชีวิตทันที

 

ขณะที่ตำรวจลงความเห็นว่าเป็นการฆ่าตัวตาย แต่เงื่อนงำของการเสียชีวิตหลายอย่างทำให้ เยอูจิน หมอหนุ่มแผนกฉุกเฉินเริ่มค้นหาคำตอบว่า ผู้อำนวยการเสียชีวิตด้วยสาเหตุใดกันแน่ รวมทั้งปัญหาการเข้ามาของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีกิจการในเครือมากมาย ประธานกรรมการที่มองเรื่องกำไรขาดทุน ทั้งที่โรงพยาบาลเป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร ไหนจะมีปัญหาการเมืองภายในที่แพทย์ระดับสูงต่างหวังจะเป็นใหญ่ด้วยการขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการแทน

 

ซีรีส์ Life ดำเนินเรื่องในแบบที่ค่อยๆ เปิดเผยเรื่องราว ทำให้เราคาดเดาไม่ได้ว่าแต่ละอีพีจะเกิดอะไรขึ้น รวมทั้งความเทาของตัวละครที่เราไม่อาจรู้ได้ว่าตัวละครไหนคือตัวร้ายที่แท้จริง การพลิกกลับไปกลับมาระหว่างสีขาวสีดำของตัวละคร ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้น่าติดตามมากขึ้น และยิ่งพีกมากขึ้นกับข้อมูลที่เปิดเผยเกี่ยวกับระบบธุรกิจที่เข้ามาครอบงำโรงพยาบาลได้อย่างคาดไม่ถึง

 

 

“แผนกศัลยกรรมทรวงอกขาดคนอยู่ตลอดเวลาครับ และหมอหนุ่มสาวสมัยนี้พากันไปแต่ที่สบายๆ รายได้ดี แพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมทรวงอกในประเทศนี้มีไม่ถึง 20 คนเลยละครับ เป็นเพราะโรงพยาบาลไม่ลงทุนกับแผนกศัลยกรรมทรวงอกที่การผ่าตัดต้องขาดทุนมหาศาล”

 

จูคยองมุน หัวหน้าแผนกศัลยกรรมทรวงอก ขึ้นกล่าวกลางที่ประชุมแพทย์ในตอนท้ายของอีพี 6 แสดงภาพความขาดแคลนแพทย์ นอกจากนี้หลายตอนของซีรีส์ยังฉายให้เห็นภาพแพทย์ที่นอนพักบนโซฟาแคบๆ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในห้องผ่าตัด จนแทบจะมีโรงพยาบาลเป็นบ้าน เหล่านี้สะท้อนความเป็นจริงที่ว่า โรงพยาบาลก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่หนีไม่พ้นระบบธุรกิจ กำไรขาดทุนเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่ามันจะย้อนแย้งกับหน้าที่ขององค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรก็ตาม

 

 

หลายฉากหลายตอนทำให้เห็นความจริงเบื้องหลังความขาวสะอาดของโรงพยาบาล เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่เข้ามาหาผลประโยชน์ ทั้งการปรับลดแผนกที่ขาดทุน เพิ่มแผนกที่จะก่อให้เกิดรายได้มหาศาล อย่างคลินิกเสริมความงาม สปา การชะลอวัย ลดน้ำหนัก รวมไปถึงบริการนอกเหนือการแพทย์ อย่างศูนย์จัดพิธีศพ โรงพยาบาลสัตว์ ศูนย์มะเร็งที่มีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น

 

ซีรีส์ยังเปิดประเด็นให้เห็นว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีเครือข่ายธุรกิจมากมาย เมื่อมาควบรวมกิจการกับโรงพยาบาล จะทำให้เกิดการค้ากำไรเกินควรกับผู้บริโภคอย่างไรได้บ้าง อย่างเช่น การตั้งบริษัทลูกเพื่อผลิตยารักษาโรคให้กับโรงพยาบาลโดยตรง, แพทย์ต้องสั่งยาหรือสั่งตรวจร่างกายเกินความจำเป็น เพื่อให้โรงพยาบาลมีรายได้เพิ่ม รวมถึงการขายวิตามินให้คนไข้ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของฮวาจอง เคมีภัณฑ์ บริษัทในเครือ, การพ่วงแผนประกันชีวิตที่บุคลากรในโรงพยาบาลจะได้ค่าคอมมิชชัน 30% จากการขาย ซึ่งหนีไม่พ้นบริษัทประกันภัยในเครือฮวาจองที่เข้ามาดูแลส่วนนี้,​ ความพยายามของฮวาจองกรุ๊ปในการไปร่วมลงทุนกับบริษัทสมาร์ทโฟนรายใหญ่ของประเทศ เพื่อสร้างแอปพลิเคชันผูกกับสมาร์ทโฟน เพื่อใช้ข้อมูลผู้บริโภคในการแจ้งเตือนนัดหมายแพทย์ รวมถึงส่งข้อมูลสุขภาพผู้บริโภคไปยังโรงพยาบาลโดยตรง

 

ยังไม่จบเท่านี้ เราได้เห็นความจริงที่น่ากลัว อย่างเช่น การผ่าตัดเกินกว่าเหตุ อย่างในกรณีของรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่ออกรายการโทรทัศน์ว่า ตัวเองผ่าตัดข้อเข่าเทียมให้กับผู้ป่วยปีละนับพันๆ ราย จนสุดท้ายโดนตรวจสอบและถูกพักงาน นอกจากนี้ยังมีการนำระบบ Digital Health Care ใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการด้านข้อมูลทางการแพทย์ มองในมุมหนึ่งก็เป็นการอำนวยความสะดวก และช่วยป้องกันความผิดพลาดได้มากขึ้น แต่ดาบสองคมก็อาจทำให้ Big Data ที่โรงพยาบาลได้ไปนั้น กลายเป็นข้อมูลที่อาจมีมือที่สามนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์

 

 

เราได้อะไรจากซีรีส์เรื่องนี้

นอกเหนือจากบทที่ละเอียดและค่อยๆ เผยเรื่องราวให้เราลงลึกไปพร้อมกับตัวละคร ต้องยอมรับว่า แคสต์นักแสดงช่วยส่งเสริมบทได้มาก โดยเฉพาะทีมนักแสดงที่เคยร่วมงานกับผู้เขียนบท อีซูยอน ในซีรีส์ Strangers มาแล้วอย่าง โจซึงอู, ยูแจมยอง และอีคยูฮยอง ส่วน อีดงอุก ที่มารับบทนำก็เป็นการพลิกบทบาทได้อย่างน่าสนใจ

 

สิ่งสำคัญที่สุดคือ การที่ซีรีส์โยนคำถามใส่ทั้งตัวละคร รวมถึงคนดู บุคลากรในโรงพยาบาล ไปจนถึงภาครัฐ ในเรื่องระบบธุรกิจที่เข้ามาครอบงำโรงพยาบาล สถานที่ซึ่งควรปลอดจากการแสวงผลกำไร เราจะยอมให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น หรือถึงเวลาทบทวนอีกครั้งว่าอะไรสำคัญกว่ากัน ชีวิตผู้คน หรือผลประโยชน์?

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

FYI
  • อีดงอุก ปัจจุบันอายุ 36 ปี เป็นนักแสดงที่ได้รับความนิยมเสมอมา ตั้งแต่โด่งดังจากซีรีส์ My Girl (2005), Scent of a Woman (2017) มาจนถึง Guardian: The Lonely and Great God (2016-2017) ซึ่งเป็นซีรีส์โทรทัศน์ทางช่องเคเบิลที่ได้รับเรตติ้งสูงสุดตลอดกาลเป็นอันดับสองของเกาหลีใต้ รองจาก Reply 1988 (2015)
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X