“เราจะต่อสู้เพื่อลูกค้าของเรา”
อเล็กซานดรา ไรซ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ dtac แถลงวิสัยทัศน์หลังจากเข้ารับตำแหน่งซีอีโอเพียง 1 สัปดาห์ต่อจาก ลาร์ส นอร์ลิ่ง อดีตผู้บริหารที่โบกมือลา dtac และกลุ่ม Telenor ไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยยืนยันจะต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของลูกค้า dtac อย่างซื่อสัตย์และพร้อมเดินหน้าธุรกิจต่อเนื่อง
ประเด็นร้อนที่สุดของ dtac ขณะนี้คือการหมดอายุสัมปทานคลื่น 2G (850 MHz) ที่จะมีผลหลังวันที่ 15 กันยายนนี้ ซึ่งมีลูกค้าในระบบที่ติดค้างและยังไม่ได้โอนย้ายไปสู่คลื่นความถี่อื่นที่มีถึง 4 แสนราย อเล็กซานดราคาดว่าจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลซึ่งมีโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลและบริการได้น้อยกว่าคนในเมืองและจะได้รับผลกระทบกรณีที่ซิมดับ
ทาง dtac จึงยังหวังว่าจะได้รับมาตรการเยียวยาจากทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อคุ้มครองลูกค้าเหล่านี้ และขอเวลาในการถ่ายโอนลูกค้าไปสู่คลื่นความถี่ที่เตรียมไว้ จากเดิมที่เคยยื่นข้อเสนอกับทาง กสทช. หากทาง DTAC ประมูลได้คลื่น 900 MHz จะใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่านประมาณ 2 ปี แต่เนื่องจากไม่ได้เข้าร่วมการประมูลดังกล่าว และคลื่นใหม่ที่ได้คือคลื่น 1800 MHz จึงต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควร ซึ่งคาดหวังว่าจะได้รับมาตรการเยียวยาไปจนกว่าลูกค้าของ dtac จะโอนย้ายไปได้ทั้งหมด ซึ่งการโอนย้ายต้องได้รับการยินยอมจากตัวลูกค้าทุกคน ขณะนี้ยังมีปัญหาในการติดต่อกับลูกค้ากลุ่มนี้
อเล็กซานดราเน้นย้ำว่าคลื่นความถี่ 850 MHz เดิมนั้นเป็นคนละคลื่นความถี่กับทั้ง 900 MHz และ 1800 MHz ดังนั้นจึงต้องลงทุนการติดตั้งโครงข่ายใหม่อยู่ดี และ dtac ก็พร้อมจะส่งมอบรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายของค่าบริการที่เกิดขึ้นในช่วงมาตรการเยียวยาแก่ กสทช. ไม่ได้มีเจตนาที่จะใช้คลื่นฟรีแต่อย่างใด จากนี้จะพยายามหารือกับ กสทช. เรื่องการนำคลื่นที่เหลือจากการประมูลว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ขณะเดียวกันก็จะขอเวลาในการดำเนินการโอนย้ายลูกค้าด้วย
ซีอีโอของ dtac ให้ข้อมูลว่าน่าจะมีการประมูลคลื่น 900 MHz รอบใหม่อีกในเร็วๆ นี้ ซึ่งถ้าทาง dtac ไม่ได้รับมาตรการเยียวยาเพื่อให้ลูกค้าได้ใช้งานต่อเนื่องหลังวันที่ 15 กันยายนนี้ อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมประมูลอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์