จัสติน ทรูโด (Justin Trudeau) นายกรัฐมนตรีแคนาดา เปิดงานเฉลิมฉลองวันชาติแคนาดาครบรอบ 150 ปีอย่างยิ่งใหญ่ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ภายหลังจากที่รัฐสภาของสหราชอาณาจักรประกาศใช้พระราชบัญญัติบริติชนอร์ทอเมริกา (British North America Act) ให้แคนาดาได้รับเอกราชและมีสิทธิในการปกครองตนเองในปี 1867 โดยยังคงปกครองประเทศด้วยระบอบสหพันธรัฐราชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญ อันมีพระมหากษัตริย์ (สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2) ทรงเป็นประมุข
ในปีนี้เจ้าฟ้าชายชาร์ล เจ้าชายแห่งเวลส์ และคามิลลา ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ ตัวแทนจากราชวงศ์อังกฤษ เสด็จฯ เยือนแคนาดาเพื่อเฉลิมฉลองวันชาติแคนาดาร่วมกับทุกคน ณ บริเวณพาร์เลียเมนต์ ฮิลล์ เมืองออตตาวา รัฐออนแทรีโอ โดยการเสด็จฯ เยือนในครั้งนี้เป็นการยุติการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศของทั้งสองพระองค์อีกด้วย
ถึงแม้ว่าจะมีฝนตกลงมาอย่างหนักตลอดทั้งวัน แต่ชาวแคนาดาราว 500,000 คนก็ยังคงออกมารวมตัวกันบริเวณเมืองหลวงแห่งนี้เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสพิเศษที่ทางรัฐบาลจัดงานให้อย่างยิ่งใหญ่ที่สุด โดยมีทั้งการแสดงกายกรรม ดอกไม้ไฟ รวมถึงคอนเสิร์ตของศิลปินชื่อดังากมายตลอดทั้งวัน
นับตั้งแต่จัสติน ทรูโด ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา เขาได้สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้แก่แคนาดา และกำลังนำพาประเทศนี้ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว มีคนเคยถามเขาว่า “แคนาดาคืออะไรสำหรับเขา ที่นี่มีอัตลักษณ์อย่างไร” คำตอบของจัสตินคือ “แคนาดาคือบางสิ่งบางอย่างที่พวกเราสามารถจะทำอะไรก็ได้ในประเทศแห่งนี้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เพราะพวกเราไม่ได้นิยามความเป็นชาวแคนาดาที่สีผิว ภาษา ศาสนา หรือภูมิหลังของเขา แต่เราดูจากคุณค่า ค่านิยมบางอย่าง รวมถึงความมุ่งมั่น ความหวัง และความฝันที่ไม่ใช่แค่เฉพาะที่ชาวแคนาดามี แต่รวมถึงสิ่งที่คนอื่นๆ บนโลกใบนี้มีร่วมกัน”
ข้อความบางช่วงบางตอนที่จัสตินกล่าวกับชาวแคนาดาทุกคนในวันเฉลิมฉลองวันชาติที่ผ่านมาคือ “แม้ว่าผู้คนในแคนาดาจะแตกต่างกัน แต่ประเทศนี้ไม่ได้กำลังจะกลายเป็นหม้อที่ตั้งอยู่บนไฟร้อนๆ ซึ่งรอวันละลายและปะทุออกมา พวกเราทุกคนรู้ดีว่าประเทศนี้มีความเข้มแข็งอย่างแท้จริง รวมถึงความยืดหยุ่นที่ไหลผ่านท่ามกลางความหลากหลายในสังคมแคนาดาแห่งนี้ตลอดเวลา”
นอกจากนี้ ชาวแคนาดาบางส่วนที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะสหราชอาณาจักร รวมถึงทหารแคนาดาที่ได้เข้าร่วมกับกองกำลังนาโต (NATO) และประจำการอยู่ที่ฐานทัพ Adazi ในลัตเวีย ทุกคนต่างใส่เสื้อสีแดงที่ติดรูปใบเมเปิ้ล ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญของแคนาดา เพื่อร่วมเฉลิมฉลองไปพร้อมๆ กันอีกด้วย
งานเฉลิมฉลองในวันที่สิทธิคนพื้นเมืองยังถูกลิดรอน
แพม พาล์เมเทอร์ (Pam Palmater) นักกฎหมายและอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีเชื้อสายของชนเผ่าพื้นเมืองกล่าวว่า การเกิดขึ้นของแคนาดา (Dominion of Canada) ในปี 1867 ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ที่ยังคงใช้นโยบายประเทศอาณานิคม แย่งชิง และยึดครองที่ดินของคนพื้นเมือง ผลักดันให้พวกเขาไปอยู่ในเขตพื้นที่ที่รัฐจัดสรรไว้ให้ รวมถึงปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างโหดร้ายทารุณ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความพยายามที่จะทำลายและลบล้างวัฒนธรรมของพวกเขาด้วยการบังคับให้เด็กๆ ต้องเข้าเรียนในโรงเรียนที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้ในเขตที่อยู่อาศัย (Residential School) เท่านั้น และพวกเขาจะไม่มีสิทธิในการเลือกตั้งจนถึงปี 1960 สิ่งต่างๆ เหล่านี้สร้างบาดแผลทางประวัติศาสตร์ให้กับกลุ่มชนพื้นเมืองเป็นอย่างมาก
ก่อนที่จะมีการสั่งปิดโรงเรียนในเขตที่อยู่อาศัยแห่งสุดท้ายในปี 1996 โดยสตีเฟน ฮาร์เปอร์ (Stephen Harper) นายกรัฐมนตรีในช่วงราวปี 2008 เคยได้ออกมากล่าวขอโทษต่อกรณีโรงเรียนดังกล่าวแล้ว และประกาศจะฟื้นฟูความสัมพันธ์และให้สิทธิแก่กลุ่มชนพื้นเมืองมากยิ่งขึ้น แต่มาตรการดังกล่าวก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ และถูกเพิกเฉยเรื่อยมา
กลุ่มชนพื้นเมืองและกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่าง First Nations ออกมากล่าวว่า ‘ประวัติศาสตร์ของแคนาดาคือการคุกคามและลิดรอนสิทธิของกลุ่มชนพื้นเมือง’ ‘งานเฉลิมฉลองวันชาติครบรอบ 150 ปี ละเลยและลืมเลือนประวัติศาสตร์ รวมถึงความทรงจำอันเลวร้ายตลอดหลายหมื่นปีที่ผ่านมาของชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่แถบนี้’
โดยกลุ่มเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ตั้งเต็นท์ใกล้กับบริเวณที่จัดงานเพื่อรวมตัวกันประท้วงและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงจุดยืนและการเปิดพื้นที่ให้แก่คนพื้นเมืองที่พวกเขามองว่ายังถูกละเลย นอกจากนี้ กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของคนพื้นเมืองอย่าง Idle No More ได้ออกมาเดินขบวนประท้วงในเมืองโตรอนโต และเรียกร้องให้กลุ่มผู้สนับสนุนอื่นๆ ออกมาร่วมกันเดินขบวนในครั้งนี้
นายกรัฐมนตรีแคนาดาได้เข้าไปในเต็นท์และร่วมหารือกับกลุ่มชนพื้นเมืองถึงประเด็นที่พวกเขาเรียกร้องโดยใช้เวลาราว 40 นาที ก่อนที่สถานการณ์โดยรอบบริเวณจัดงานจะค่อยๆ คลี่คลายลง จัสตินกล่าวขอโทษต่อกลุ่มชนพื้นเมืองเหล่านี้และยืนยันว่า ปัญหาเรื้อรังที่พวกเขากำลังพบเจออยู่เป็นหนึ่งในประเด็นที่ตัวเขาให้ความสำคัญ ไม่ได้ละเลย
“พวกเราจะต้องยอมรับ และขอแสดงความเสียใจต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีตตลอด 150 ปีที่ผ่านมา และพวกเรากำลังอยู่ในเส้นทางของอีก 150 ปีข้างหน้าที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ทุกอย่างจะได้รับการแก้ไขและเปลี่ยนแปลง แต่อาจจะต้องใช้เวลา”
Photo: CHRIS ROUSSAKIS/AFP
อ้างอิง:
- www.abc.net.au/news/2017-07-02/indigenous-canadians-protest-at-150th-celebrations/8670720
- www.businessinsider.com/photos-canada-150-anniversary-celebrations-2017-7/#proud-canadians-showed-their-colors-14
- www.reuters.com/news/picture/marking-canadas-idUSRTS19GGM
- time.com/4828595/canada-day-150-years
- www.economist.com/blogs/economist-explains/2017/06/economist-explains-24
- www.theglobeandmail.com/news/national/prince-charles-camilla-met-by-thousands-of-people-to-celebrate-canada-150/article35531074
- www.bbc.com/news/world-us-canada-40416696
ชื่อของประเทศ ‘แคนาดา’ ไม่ได้ถูกตั้งขึ้นในปี 1867 แต่พัฒนามาจากภาษากลุ่ม Huron-Iroquois จากคำว่า ‘Kanata’ ที่แปลว่า หมู่บ้าน หรือการตั้งถิ่นฐาน ซึ่งถูกใช้เป็นครั้งแรกราวศตวรรษที่ 16 โดยนักสำรวจและนักค้นพบชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า ฌัก การ์ตีเย (Jacques Cartier) โดยพื้นที่บริเวณที่เขาค้นพบคือ เมืองควิเบกในปัจจุบัน