“ความรู้คือพลัง ข้อมูลคือการปลดปล่อย” คือคำพูดของหนึ่งในบุคคลที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดในประวัติศาสตร์การทูตสมัยใหม่ – นายโคฟี อันนัน
วันนี้ (18 ส.ค.) ทั่วโลกพร้อมใจกันร่วมไว้อาลัย นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ชาวกานา เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2001 ที่เสียชีวิตแล้วในวัย 80 ปี ณ โรงพยาบาลในเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่พำนักอาศัยอยู่ในช่วงบั้นปลายชีวิต
มูลนิธิโคฟี อันนัน ระบุว่า เขาจากไปอย่างสงบในวันเสาร์ หลังมีอาการป่วยได้ไม่นาน
นายอันนันเป็นชาวแอฟริกันผิวดำคนแรกที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ ระหว่างปี 1997-2006 เขายังเป็นเลขาธิการสหประชาชาติคนแรกที่ไต่เต้าจากพนักงานตำแหน่งเล็กๆ ในองค์กร โดยใช้เวลากว่า 35 ปี
เกิดเมื่อวันที่ 8 เมษายน ปี 1938 เมืองกุมาซี ในเขตอาณานิคมโกลด์โคสต์ของอังกฤษ (ประเทศกานาในปัจจุบัน) เป็นบุตรคนที่ 4 ในครอบครัวที่มีการศึกษาดี สื่อสารได้ทั้งภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส รวมไปถึงภาษาท้องถิ่นของแอฟริกา
หลังเรียนจบปริญญาโท ด้านรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศที่ The Graduate Institute of International and Development Studies เมืองเจนีวา เขาเริ่มต้นทำงานที่แรกในตำแหน่งเล็กๆ อย่างเจ้าหน้าที่งบประมาณขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ในปี 1962 ก่อนจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในปี 1997
ผลงานโดดเด่นในฐานะเลขาธิการสหประชาชาติ เช่น การปฏิรูปสหประชาชาติให้มีประสิทธิภาพและพยายามดึงให้ใกล้ชิดกับภาคประชาชนมากขึ้น การผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชน การตั้งเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDG) นอกจากนี้เขายังมีผลงานด้านการรักษาสันติภาพที่เป็นที่ประจักษ์ โดยเป็นสื่อกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างประเทศ ทั้งกรณีอิรัก ปี 1998, กรณีไนจีเรีย ปี 1999, กรณีอิสราเอล-เลบานอน ปี 2000 รวมไปถึงการรักษาสันติภาพในลิเบียและติมอร์ตะวันออก
หลังลงจากตำแหน่ง เขารับหน้าที่ทูตพิเศษด้านซีเรีย โดยมีภารกิจสำคัญในการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติ
THE STANDARD ขอร่วมไว้อาลัยให้กับบุคคลต้นแบบแห่งสันติภาพ ด้วยการพาคุณไปเรียนรู้จากวาทะเด็ดของเขา
“ความรู้คือพลัง ข้อมูลคือการปลดปล่อย การศึกษาคือฐานรากของการพัฒนาในทุกสังคม ทุกครอบครัว”
“การต่อต้านโลกาภิวัฒน์ก็เหมือนกับการต่อต้านกฎแรงโน้มถ่วง”
“การใช้ชีวิตคือการเลือก แต่การจะเลือกได้ดีนั้น คุณต้องรู้ว่าตัวเองคือใคร ยืนหยัดเพื่อสิ่งใด คุณอยากไปที่ไหน และทำไมคุณต้องไปถึงเป้าหมายนั้น”
“ความเท่าเทียมทางเพศคือสิ่งจำเป็นในการพัฒนา”
“เราจำเป็นต้องคิดถึงอนาคตและโลกที่เราอยากให้ลูกหลานของเราอยู่อาศัย”
“เราต้องมีความหวังเสมอ และมุ่งมั่นทำสิ่งที่ดีขึ้น”
“เราอาจจะนับถือคนละศาสนา ใช้ภาษาไม่เหมือนกัน มีสีผิวต่างกัน แต่เราคือมนุษย์เผ่าพันธุ์เดียวกัน”
“การเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ คิดไอเดียใหม่ ย่อมต้องเจอกับแรงต้านทาน เราต้องกล้าที่จะเสี่ยง หรือกระทั่งล้มเหลว ถ้าเป้าหมายนั้นคุ้มค่าพอ”
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: