ไม่ได้รับข้าราชการ ไม่ได้เป็นพนักงานประจำ นี่คือหนึ่งตัวช่วยในการเก็บเงินเกษียณที่ไม่ควรมองข้าม!
กอช. หรือ กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนของรัฐบาลที่เข้ามาเติมเต็มแรงงานนอกระบบให้มีเงินเก็บไว้ใช้ในวัยเกษียณ
กองทุนนี้ดีอย่างไร เหมาะกับใคร รูปแบบการเก็บเงินเหมือนกองทุนเพื่อเกษียณตัวอื่นไหม คุณจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ ให้เกียรติมาเป็นแขกรับเชิญเพื่อไขข้อสงสัย พูดคุยสอบถามแบบสบายๆ เข้าใจง่ายและสนุก ในพอดแคสต์ The Money Case by The Money Case
04:30
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จัดตั้งมาเพื่ออะไร
กอช. จัดตั้งโดยรัฐบาลและกำกับดูแลโดยกระทรวงการคลัง ดำเนินการจริงปี 2558 ยังเป็นน้องใหม่ในวงการที่คนไม่ค่อยรู้จัก จัดตั้งมาเพื่อช่วยสะสมเงินไว้ใช้ตอนเกษียณสำหรับเหล่าแรงงานนอกระบบ เช่น ฟรีแลนซ์ พ่อค้าแม่ค้า ชาวนาชาวไร่ หรือแม้แต่นักเรียนตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไปก็สามารถออมผ่านกองทุนนี้ได้
เงื่อนไขก็คือกองทุนนี้เอาไว้ใช้หลังอายุ 60 ปีเท่านั้น กองทุนนี้จะดูแลด้วยการเติมเงินสมทบตามสัดส่วน และการันตีว่าได้เงินต้นคืนแน่ๆ บวกกับดอกเบี้ยเงินฝากอีก 1% กว่าๆ เพราะ พรบ. จะบังคับให้คุณต้องได้รับผลตอบแทนไม่น้อยกว่าเงินฝากประจำ 1 ปีของธนาคารเฉลี่ยกัน
ในขณะที่กองทุนเพื่อการเกษียณตัวอื่นๆ ไม่รับประกันผลตอบแทน แต่ กอช. เป็นกองทุนเดียวที่รับประกันว่า ผลตอบแทนจะไม่มีทางน้อยกว่าเงินต้นแน่นอน
08:42
ถ้าออมกับ กอช. ตั้งแต่ตอนอายุ 15 ปี แล้วพอเข้าไปทำงานในบริษัทหรือรับราชการแล้วได้สิทธิ์จากกองทุนอื่น จะเกิดอะไรขึ้น
ออมได้เหมือนเดิม แต่ในช่วงเวลาที่เข้าสู่ระบบแรงงานและได้รับสิทธิ์จากที่อื่น กอช. จะไม่ใส่เงินสมทบเพิ่ม แต่ยังสามารถเอาเงินที่ออมไปลดหย่อนภาษีได้ และก็สามารถทิ้งกองนี้ไว้ได้แล้วเจอกันตอนอายุ 60 ปี กอช. ก็จะดูแลให้เหมือนเดิม
หลักการสมทบคือให้ 50% ของเงินสะสม แต่ไม่เกินปีละ 600 บาท ทุกครั้งที่มีการใส่เงินเพิ่มเข้ามา สมมติเดือนละ 100 บาท กอช. จะตรวจสอบสิทธิ์ ถ้ามีสิทธิ์ก็จะได้รับสมทบ 50 บาทเลย เอาง่ายๆ ใส่เข้าไปแค่ปีละ 1,200 บาท ก็ได้ 600 บาทที่เป็นเงินสมทบเป็นของแถมไปฟรีๆ แล้ว เป็นกองทุนที่ยืดหยุ่นมาก ไม่มีเงื่อนไขว่าขั้นต่ำต้องลงทุนปีละเท่าไร หรือต้องต่อเนื่องทุกปี แล้วแต่สะดวกเลย
14:52
อัตราการสมทบ
ตามสัดส่วนก็คือ ถ้าอายุ 15-30 ปี ได้ 50% ของเงินสะสม ไม่เกิน 600 บาทต่อปี ถ้าอายุ 30-50 ปี ได้ 80% ของเงินสะสม ไม่เกิน 960 บาทต่อปี ถ้า 50-60 ปี ได้ 100% ของเงินสะสม ไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี
กอช. ไม่ใช่ช่องทางเดียวที่ควรเก็บเพื่อเกษียณ แต่เป็นตัวช่วยหนึ่งที่จะทำให้เรามีเงินอีกก้อนหลังเกษียณ เหมือนพอร์ตการลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำและระยะยาว ถ้าใครมีสิทธิ์ตรงนี้ก็ไม่ควรพลาด
18:18
ตอนเกษียณจะจ่ายเป็นบำเหน็จหรือบำนาญ
เป็นบำนาญรายเดือน ไม่มีเงินก้อน จะได้เงินก้อนกรณีเดียวคือตาย แล้วตกเป็นมรดกของลูกหลานที่เราเขียนมอบไว้ตั้งแต่แรก
19:41
กอช. เอาเงินไปลงทุนกับอะไร
ทีมบริหารจะเอาเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เงินฝากประจำ หุ้นกู้ภาคเอกชน เรตติ้ง A- ขึ้นไป กองทุนอสังหาริมทรัพย์ เน้นมั่นคง มีหุ้นบางส่วนแต่ไม่เกิน 20% ของพอร์ตการลงทุน
21:31
อายุ 50 ปีแล้ว เริ่มตอนนี้ทันไหม
ยังทัน จากที่คำนวณคนที่ออม 13,200 บาท 10 ปี จะมีเงินบำนาญเกษียณเดือนละ 800 กว่าบาทไปจนตาย อย่างน้อยต้องออม 10 ปีถึงจะได้เงินบำนาญตลอดชีพ ถ้าเริ่มตั้งแต่อายุ 15 ปี ออม 13,200 บาท พอ 60 ปี จะได้ล้านกว่าบาท ตกประมาณ 7,000 กว่าบาทต่อเดือน หรือถ้าคนที่ออม 100 บาทต่อเดือนมาตลอด ครบ 60 ปี ก็จะได้ 1,000 กว่าบาทต่อเดือน อย่างน้อยก็เป็นเงินก้อนเล็กๆ ที่เราสะสมไว้ เราจะได้มีหลายๆ ช่องทางในการเก็บ
22:34
กอช. มั่นคงแค่ไหน ใครรับประกัน
มั่นคง ไว้ใจได้ เงินทุกบาททุกสตางค์ดูแลและรับประกันโดยกระทรวงการคลัง
ตัวเลขของคนที่เป็นแรงงานนอกระบบคือ 20 กว่าล้านคน ตอนนี้เข้ามาใน กอช. แล้วประมาณ 570,000 คน เพราะมีคนยังไม่รู้สิทธิ์ตัวเองอีกเยอะมาก อยากให้ตรวจสอบสิทธิ์กัน
25:41
อะไรคือปัญหาจาก 3 ปีที่ กอช. ทำมา
อาจจะเพราะความไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิ์ ฟังแล้วมันดูยาก ต้องใช้เวลาออมยาว แต่เราแค่อยากให้จัดสรรเงินบางส่วนมาออมตรงนี้ อีกปัญหาน่าจะมาจากช่องทางที่เข้าถึงยาก เพราะมีแค่ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง
30:05
ปัญหาการออมของคนไทย
คนไทยไม่ออม เพราะจะใช้ก่อนแล้วออมทีหลัง มันผิดหลักเพราะสุดท้ายจะไม่เหลือออม มีตังค์ 100 บาทต้องเก็บเลย 20 บาท แบ่งเป็น 10 บาทออมระยะยาว อีก 10 บาทใช้ระยะสั้นเผื่อฉุกเฉินได้หยิบมาใช้ กอช. มีระบบหักบัญชีรายเดือนที่ช่วยอีกทาง
ตอนนี้สังคมผู้สูงอายุบ้านเราเยอะขึ้น สถิติบอกว่าต้องเริ่มเตรียมตัวเกษียณตั้งแต่อายุ 30 ปี สมัยก่อน 40-50 ยังทัน ตอนนี้ถ้าเกิน 30 แล้วยังไม่ได้เริ่มออมจะไม่ทันแล้ว
31:41
ฝากถึงคนที่สนใจ กอช.
อันดับแรกอยากให้ตรวจสอบสิทธิ์ก่อนเลยผ่านแอปพลิเคชัน กอช. (เสิร์ชว่า กอช. เลย มีทั้งใน App Store และ Play Store) ใช้เลขบัตรประชาชนก็เช็กได้เลย ถ้ามีสิทธิ์ก็สมัครและทำทุกอย่างผ่านแอปฯ ได้เลย ถ้าไม่สะดวกแอปฯ ก็มีเคาน์เตอร์เซอร์วิส ในอนาคตจะเพิ่มช่องทางที่เทสโก้ โลตัส ไปรษณีย์ เอาทุกที่ที่คนเข้าถึงได้ง่าย
ฟรีแลนซ์เหมาะมากกับกองทุนนี้ เราเก็บตังค์ให้ สมทบให้ และเอาไปลดหย่อนภาษีได้ หรือแม้แต่ตัวแทนประกันชีวิต ดารานักแสดง ก็ใช้ กอช. ได้
34:37
การลงพื้นที่ของ กอช.
เนื่องจาก 50% ของสมาชิก กอช. เป็นชาวนา เวลาลงพื้นที่ไปให้ความรู้ ต้องพูดเลยว่าทำไมต้องออม ขอวันละ 3 บาทได้ไหม บางคนเราถามว่า ซื้อหวยเดือนละ 2,000 เราขอเดือนละ 1,000 มาออมได้ไหม ต้องใช้ภาษาว่า ‘ผ่อน’ ด้วยซ้ำเพื่อให้พวกเขาเข้าใจง่ายๆ
ตอนนี้ทีมงาน กอช. มีทีมงานลงพื้นที่ 20 คนจากทีมงานทั้งหมด 75 คน ตอนนี้ไปมาแล้ว 30 จังหวัด
ถ้าคุณรู้จัก กอช. จะรัก เพราะเราให้คุณทุกมุม มีแต่ได้กับได้ แต่ต้องใช้วินัยและความเพียรในการออม ถ้าใครมีสิทธิ์อยากให้ใช้ มีคนให้ตังค์เพิ่มไม่เอาเหรอ
ฟังพอดแคสต์ The Money Case by The Money Coach โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Spotify, Podbean, SoundCloud, YouTube หรือแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android)
Credits
The Host จักรพงษ์ เมษพันธุ์
The Guest จารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ
Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์
Show Producer & Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์