×

ที่ไหนบ้างที่คุณจะสามารถเลือก ‘วาระสุดท้ายของชีวิต’ ด้วยตัวเองได้

09.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และลักเซมเบิร์ก เป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่อนุญาตให้การ ‘การุณยฆาต’ และ ‘การฆ่าตัวตายภายใต้การช่วยเหลือทางด้านการแพทย์’ เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นประเทศในทวีปยุโรป
  • เบลเยียม เป็นประเทศแรกในโลกที่อนุญาตให้สามารถกระทำการการุณยฆาตในผู้ป่วยเด็กได้ โดยไม่จำกัดอายุขั้นต่ำ ซึ่งผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่เข้ารับการทำการุณยฆาตที่มีอายุน้อยที่สุดในโลก อายุเพียง 9 ปีเท่านั้น
  • สวิตเซอร์แลนด์ เป็นเพียงชาติเดียวในโลกที่มีศูนย์ช่วยเหลือด้านการฆ่าตัวตายภายใต้การช่วยเหลือทางการแพทย์สำหรับคนต่างชาติ และคุณตาเดวิด กู๊ดดอล วัย 104 ปี คือหนึ่งในชาวต่างชาติที่เลือกจบชีวิตลงในประเทศแห่งนี้

ประเด็นเรื่องความสามารถในการเลือกวาระสุดท้ายให้กับชีวิตของตัวเองได้ ควรจะถือเป็น ‘สิทธิ’ อย่างหนึ่งของมนุษย์ทุกคนหรือไม่ กลับมาเป็นข้อถกเถียงในวงกว้างอีกครั้ง หลังจากหนึ่งในสมาชิกของคณะกรรมการ CFCEE ผู้สนับสนุนการทำการุณยฆาตในเบลเยียม เปิดเผยถึงกรณีการทำการุณยฆาตในผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มีอายุน้อยที่สุดในโลก ให้กับสื่อต่างประเทศอย่าง Washington Post เป็นครั้งแรก

 

ในบรรดาผู้ป่วยหลายพันรายที่ตัดสินใจจบชีวิตของตนเองลงด้วยวิธีการุณยฆาต ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีเคสที่เป็นเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะถึง 3 คน หนึ่งในนั้นมีอายุน้อยที่สุดเพียง 9 ปี ซึ่งนับว่าเป็นเคสการทำการุณยฆาตในผู้ป่วยเด็กที่มีอายุน้อยที่สุดเท่าที่มีการเปิดเผยข้อมูล โดยฝ่ายต่อต้านมองว่าผู้ป่วยเหล่านี้มีอายุน้อยเกินไป ซึ่งอาจจะยังขาดประสบการณ์ในกระบวนการคิดและตัดสินใจที่จะเลือกจบชีวิตของตนเอง จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ระลอกใหม่

 

 

หากเราพูดถึงประเด็นนี้ มีคำศัพท์ที่เราอาจจะต้องทำความเข้าใจก่อนสักเล็กน้อยคือ คำว่า ‘การฆ่าตัวตายภายใต้การช่วยเหลือทางด้านการแพทย์ (Physician-Assisted Suicide: PAS)’ หมายถึง การให้ความช่วยเหลือใดๆ ที่ทำให้การฆ่าตัวตายนั้นเกิดขึ้น เช่น การให้คำแนะนำ การสั่งจ่ายยาที่ทำให้ถึงแก่ความตาย การจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ โดยผู้ร้องขอจะเป็นผู้ลงมือปลิดชีวิตของตนด้วยตนเอง

 

ในขณะที่ ‘การุณยฆาต (Euthanasia) หรือ Mercy Killing’ จะมีบุคคลอื่น (ส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์) เข้ามามีส่วนในการยุติชีวิตของผู้ป่วยคนนั้นๆ ตามเจตนารมณ์ของผู้ป่วยระยะสุดท้ายเอง หรือตามคำร้องขอของผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้ป่วย ซึ่งอาจจะเป็นการให้สารหรือวัตถุใดๆ อันเร่งให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย (Active) หรือการตัดการรักษาให้แก่ผู้ป่วย (Passive) เป็นต้น

 

แล้วมีที่ไหนบ้างที่คนเราจะสามารถกำหนด ‘วาระสุดท้ายของชีวิต’ ด้วยตัวเองได้

โคลอมเบีย เป็นประเทศที่อนุญาตให้การการุณยฆาตเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ ไม่ขัดต่อหลักกฎหมาย นับตั้งแต่ปี 1997 โดยมีข้อแม้ว่า ผู้เข้ารับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวจะต้องไม่เป็นเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จะต้องเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายและมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน แต่ถ้าหากผู้ป่วยอยู่ในอาการโคม่า ไม่รู้สึกตัว สมาชิกในครอบครัวหรือผู้แทนโดยชอบธรรมจะต้องถูกบันทึกเสียง ถ่ายวิดีโอหรือเซ็นชื่อในหนังสือแสดงความยินยอมอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร

 

หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขข้างต้น การการุณยฆาตนั้นจะถือว่ามีความผิดในคดีอาญา ซึ่งจะถูกจำคุกนาน 6 เดือนถึง 3 ปี ก่อนจะมีการประกาศใช้กฎหมายและอนุมัติคู่มือทางกฎหมายแก่แพทย์ทั่วประเทศโดยรัฐสภาอีกครั้งเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา หลังจากมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยถูกปฏิเสธการรักษาด้วยวิธีนี้ เนื่องจากกลัวมีโทษทางกฎหมาย ซึ่งนับเป็นชาติแรกในลาตินอเมริกาที่ประกาศใช้กฎหมายนี้  

 

 

เนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศแรกในโลกที่อนุญาตให้การการุณยฆาตและการฆ่าตัวตายภายใต้การช่วยเหลือทางด้านการแพทย์เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่ปี 2002 โดยมีข้อจำกัดว่า ผู้ที่จะเข้ารับการช่วยเหลือด้วยวิธีนี้จะต้องมีอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่อาจจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน อีกทั้งยังจะต้องมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน (Full Consciousness) ขณะตัดสินใจ

 

จากการเปิดเผยข้อมูลของ Royal Dutch Medical Association ระบุว่า ในปี 2010 มีผู้ป่วยได้รับตัวยาหลายชนิดที่ทำให้ถึงแก่ความตาย (Lethal Cocktail) มากถึง 3,136 คน ก่อนที่จะหันมาใช้วิธีการฉีดยาแทนในปัจจุบัน โดยเนเธอร์แลนด์มีผู้ป่วยที่ตัดสินใจเลือกวาระสุดท้ายของชีวิตด้วยตนเองมากถึง 15,000 คนต่อปี นับตั้งแต่ปี 2005

 

 

เบลเยียม ตามหลังเนเธอร์แลนด์มาติดๆ และเป็นประเทศที่ 2 ที่ประกาศใช้กฎหมายนี้ในปี 2002 โดยนอกจากจะมีเงื่อนไขคล้ายคลึงกับเนเธอร์แลนด์แล้ว ผู้ป่วยที่จะตัดสินใจเลือกใช้การการุณยฆาตและ PAS ในประเทศนี้ จะต้องได้รับการวินิจฉัยและผ่านความเห็นชอบจากแพทย์อย่างน้อย 2 คนขึ้นไป

 

โดยเบลเยียมเป็นประเทศแรกในโลกที่อนุญาตให้สามารถกระทำการการุณยฆาตในผู้ป่วยเด็กได้ โดยไม่จำกัดอายุขั้นต่ำ ถ้าหากพวกเขาได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายและไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งผู้ป่วยที่อายุน้อยที่สุดในโลกที่ใช้วิธีนี้อายุเพียง 9 ปีเท่านั้น หลังล้มป่วยด้วยอาการเนื้องอกในสมอง

 

ลักเซมเบิร์ก ประเทศเล็กๆ ในทวีปยุโรป เคยมีการเปิดโหวตหยั่งเสียงประชาชนถึงประเด็นการผ่านร่างกฎหมายการุณยฆาตและ PAS ในประเทศเมื่อช่วงต้นปี 2003 โดยฝ่ายคัดค้านได้รับคะแนนเสียงข้างมาก ก่อนรัฐสภาจะนำประเด็นนี้กลับมาพิจารณาอีกครั้ง ในช่วงปลายปี 2008 และใช้อำนาจตามที่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ประกาศใช้กฎหมายนี้ โดยอนุญาตให้การการุณยฆาตและ PAS เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเดือนเมษายน ปี 2009 หลังแกรนด์ดยุกอ็องรีแห่งลักเซมเบิร์ก (Henri, Grand Duke of Luxembourg) ปฏิเสธที่จะลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ร่างกฎหมายดังกล่าว

 

 

แคนาดา มีการอนุญาตให้ใช้วิธีการฆ่าตัวตายภายใต้การช่วยเหลือทางด้านการแพทย์ (PAS) ภายในรัฐควิเบกเท่านั้น โดยสภาผ่านร่างกฎหมายและประกาศใช้เมื่อช่วงกลางปี 2016 ที่ผ่านมา อนุญาตให้ชาวแคนาดาที่อยู่ในขั้นโคม่า ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และไม่มีอาการป่วยทางจิต สามารถเลือกที่จะจบชีวิตของตนเองได้ โดยคำร้องจะต้องถูกเขียนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรและมีพยานยืนยันอย่างน้อย 2 คน ซึ่งแนวทางที่จะประกาศใช้กฎหมายนี้ทั่วประเทศยังอยู่ในระหว่างพิจารณา

 

สวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศที่ไม่ได้มีกฎหมายห้ามใช้วิธีการฆ่าตัวตายภายใต้การช่วยเหลือทางด้านการแพทย์อย่างเป็นทางการ โดยในปี 2011 กรุงซูริก เมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศเคยจัดลงคะแนนเสียง ถามความเห็นประชาชนว่า ควรมีการห้าม PAS ภายในประเทศนี้อย่างจริงจัง รวมถึงยุติการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยต่างชาติที่จะเลือกจบชีวิตด้วยวิธีการนี้หรือไม่

 

84% ของผู้มาลงคะแนนเสียงไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายห้ามดังกล่าว และ 78% เห็นควรที่จะเปิดบริการ PAS เพื่อชาวต่างชาติต่อไป ซึ่งชาวต่างชาติเหล่านั้นจะต้องมีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป และการตัดสินใจนี้จะต้องไม่เป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัว (Acts Unselfishly) หรือทิ้งภาระและปัญหาต่างๆ ไว้ให้กับคนที่อยู่ข้างหลัง

 

โดยที่นี่เป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่มีศูนย์ช่วยเหลือด้านการฆ่าตัวตายภายใต้การช่วยเหลือทางการแพทย์สำหรับคนต่างชาติ และเคส PAS ที่มีชื่อเสียงและทำให้ประเทศนี้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้นคือ กรณีของคุณตาเดวิด กู๊ดดอล (David Goodall) นักวิทยาศาสตร์ลูกครึ่งอังกฤษ-ออสเตรเลียวัย 104 ปี ที่เลือกจบวาระสุดท้ายของชีวิตที่นี่ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2018 ที่ผ่านมา ด้วยการฉีดสารโซเดียมเพนโทบาร์บิทอล (Pentobarbital) หรือที่รู้จักกันในชื่อ เนมบูทอล (Nembutal) ที่แพทย์จัดเตรียมไว้ให้เข้าสู่กระแสเลือดด้วยตัวเอง

 

 

ออสเตรเลีย ในรัฐวิกตอเรียทางตอนใต้ของประเทศ เป็นเพียงรัฐเดียวที่ประกาศใช้กฎหมาย Voluntary Assisted Dying Act 2017 เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งอนุญาตให้ PAS เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายภายในรัฐแห่งนี้ โดยก่อนหน้านี้ นอร์เทิร์น เทร์ริทอรี (Northern Territory) ก็เคยเป็นพื้นที่ที่เคยประกาศใช้ Rights of the Terminally Ill Act 1995 และเริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ก.ค. 1996 ก่อนที่รัฐสภาออสเตรเลียจะมีมติทบทวนและยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในท้ายที่สุด

 

 

สหรัฐอเมริกา มีการประกาศอนุญาตให้สามารถ PAS ได้ในบางรัฐเท่านั้น โดยรัฐออริกอน เป็นรัฐแรกที่ผลักดันกฎหมายนี้อย่างจริงจัง และได้รับเสียงสนับสนุนในการหยั่งเสียงถึง 2 ครั้ง ก่อนที่รัฐอื่นๆ อย่างมอนแทนา, เวอร์มอนต์, วอชิงตัน, แคลิฟอร์เนีย, โคโลราโด, ฮาวาย รวมถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จะตามมาในที่สุด โดยมีเงื่อนไขเหมือนกับประเทศอื่นๆ ตรงที่ PAS จะใช้ได้กับเคสผู้ป่วยระยะสุดท้ายเท่านั้น

 

ท้ายที่สุดในเรื่องนี้อาจจะไม่มีบทสรุปที่ตายตัว ซึ่งอาจจะต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ป่วย ความยินยอมและความเคารพต่อการตัดสินใจนั้นๆ ของคนในแต่ละครอบครัวเป็นสำคัญ

 

คุณเคยลองตั้งคำถามกับตัวคุณเองดูสักครั้งไหมว่า ถ้าวันนั้นของคุณมาถึง วันที่คุณอยู่ในจุดวิกฤตที่อาจจะมีชีวิตต่อไปได้อีกไม่นาน คุณจะยอมอดทนทรมานและใช้ทุกวินาทีที่เหลืออยู่ให้คุ้มค่าที่สุด หรือเลือกที่จะใช้สิทธิเพื่อกำหนดวาระสุดท้ายของชีวิต พร้อมกับปลดเปลื้องพันธนาการแห่งความเจ็บปวดทั้งหมด…คุณจะเลือกแบบไหน

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X