×

นัยยะและอารมณ์ขันการเมืองไทย ผ่านแสงเสียงธรรมศาสตร์ ก่อนเริ่มศักราชเลือกตั้งใหญ่

03.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • การแสดงแสงเสียงธรรมศาสตร์เพื่อต้อนรับนักศึกษาใหม่ จัดต่อเนื่องมาแล้ว 12 ปี บทและเรื่องราวบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ของธรรมศาสตร์ ที่ถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทย
  • เรื่องราวแต่ละปีปูพื้นด้วยเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ และเชื่อมโยงเหตุการณ์ร่วมสมัยเพื่อให้นักศึกษาได้ร่วมเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
  • นอกจากนั้นยังสอดแทรกการแสดงโขน งิ้ว และเสียงดนตรี ที่ซ่อนนัยและอารมณ์ขันในการสะท้อนบรรยากาศบ้านเมืองและจุดยืนประชาธิปไตย อันเป็นจุดยืนของคนธรรมศาสตร์ในเนื้อหาเหล่านั้นด้วย

สนามหญ้า สายฝน ถุงผ้า การแยกขยะ ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นสามารถพบเห็นและสัมผัสบรรยากาศได้จากงานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจัดงานดังกล่าวต่อเนื่องมา 12 ปีแล้ว เพื่อต้อนรับนักศึกษาใหม่สู่ชีวิตวัยอุดมศึกษาเต็มขั้น สำหรับปีนี้ใช้ชื่อธีมงานว่า ‘ณ ดินแดนแห่งนี้มีตำนาน ขอเธอสืบสานจิตวิญญาณธรรม’

 

ไฮไลต์สำคัญนอกจากจะรณรงค์ให้นักศึกษาใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการรู้จักแยกขยะ หันมาใช้วัสดุที่ไม่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ อาทิ ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติก ด้วยการรณรงค์ให้หันมาใช้ถุงผ้า พร้อมกับเปิดรับบริจาคถุงผ้า มีการแจกแก้วน้ำให้นักศึกษาเพื่อใช้เติมน้ำ ใช้ช้อนส้อมที่ผลิตจากวัสดุที่เป็นมิตร ภาชนะบรรจุอาหารมาจากใบตองและกล่องชานอ้อย เป็นต้น

 

 

หลังจากนักศึกษาได้ทานข้าวธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นข้าวออร์แกนิกที่ปลูกในแปลงนาธรรมศาสตร์ เพื่อนำมาประกอบอาหารให้นักศึกษาใหม่ธรรมศาสตร์ได้รับประทาน ภายใต้แนวคิดที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต อธิบายว่า

 

 

เป้าหมายไม่ใช่ผลผลิตเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อการเรียนรู้ของนักศึกษาธรรมศาสตร์ เราปลูกข้าวเพื่อไปเลี้ยงต้อนรับนักศึกษาใหม่ ให้เขารู้ว่าหยาดเหงื่อไม่สามารถซื้อได้ เพราะปลูกจากหยาดเหงื่อและแรงใจชาวธรรมศาสตร์ ข้าวแต่ละเม็ดกว่าจะมาอยู่บนจาน เกษตรกรต้องลำบากเพียงใด และนี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน

 

 

บรรยากาศในวันที่ 30 กรกฎาคม ที่สนามหญ้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวที่นักศึกษากว่าครึ่งหมื่นมารวมตัวกันเพื่อแสดงเจตนารมณ์ และส่งต่อความห่วงใยต่อโลกที่เขาอาศัยอยู่ผ่านกิจกรรมที่ได้รณรงค์ร่วมกัน

 

 

ณ ดินแดนแห่งนี้มีตำนาน ขอเธอสืบสานจิตวิญญาณธรรม

เมื่อสายฝนจากฟ้าหล่นลงสู่พื้นดิน ณ สนามหญ้าธรรมศาสตร์ จนชุ่มฉ่ำสมแก่หน้าที่ตามธรรมชาติแล้ว ก็ได้เวลาเข้าสู่พิธีการสำคัญ ซึ่งเป็นไฮไลต์ของงานปฐมนิเทศ นั่นคือการแสดงแสงสีเสียง เพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ของธรรมศาสตร์ ที่ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทย ให้นักศึกษาใหม่ได้เรียนรู้พร้อมกันๆ

 

สำหรับผู้เขียนบทในการแสดงแสงสีเสียงคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา นั่นเอง

 

เฉพาะในส่วนของการแสดงแสงเสียงนั้น ถูกแบ่งออกเป็น 3 องก์ และสอดแทรกด้วยการแสดงจากชุมนุมโขนและงิ้วล้อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

องก์ 1 ว่าด้วยการกำเนิด ‘ประชาธิปไตย’ และมหาวิทยาลัย ‘วิชาธรรมศาสตร์และการเมือง’ เล่าถึงที่มาก่อนการตั้งธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ก่อนปี 2475 เพื่อต้องการให้นักศึกษารู้ว่าธรรมศาสตร์คือเครื่องมือเพื่อให้เขาไปสู่จุดสูงสุด เพื่อคิดและทำเพื่อผู้อื่น เพื่อให้รู้ว่าธรรมศาสตร์ก่อรูปขึ้นมาเพื่อเป็นบันได ไปสู่เป้าหมายที่สังคมต้องการ

 

องก์ 2 ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของธรรมศาสตร์ คือประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย นับตั้งแต่เหตุการณ์ก่อตั้งขบวนการเสรีไทย เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จบที่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ซึ่งในประวัติศาสตร์ทางการเมืองเหล่านี้ล้วนมีธรรมศาสตร์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยทั้งสิ้น

 

องก์ 3 ขอเธอสืบสานจิตวิญญาณธรรมว่าด้วยการสืบทอดจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์ เล่าเรื่องการเมืองที่ร่วมสมัย จนถึงสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีงิ้วล้อการเมืองเข้ามาเล่าเรื่อง โดยบทการแสดงงิ้วและโขนไม่ได้มีการตรวจสอบบทโดยมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด ให้อิสระแก่นักศึกษาเต็มที่ในการตัดสินใจนำเสนอ ผ่านการแสดงที่เขาได้เตรียมพร้อมมา

 

 

สำหรับเทคนิคในการเดินเรื่อง ใช้การแสดงประกอบด้วยดนตรี บทเพลง ละคร เป็นตัวเดินเรื่อง สลับกับการฉายวีดิทัศน์ บทเพลงก็จะเกี่ยวเนื่องกับธรรมศาสตร์ บทกวีเกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัย เพื่อเล่าเรื่องตลอด 80 กว่าปีให้ได้กระชับและเข้าใจในเวลาอันจำกัด

 

ทั้งหมดนั้นคือโครงสร้างการแสดงที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา อธิบายเพิ่มเติมว่าเป็นเรื่องเสรีภาพการแสดงออกผ่านมุมมองของนักศึกษา โดยใช้อารมณ์ขัน สะท้อนความจริงบางอย่าง ด้วยการมองกันอย่างมีความหวังว่าอนาคตบ้านเมืองจะต้องดีขึ้น

 

 

อุปรากรจีน งิ้วล้อการเมืองธรรมศาสตร์ประกาศธรรม

โฟกัสมาที่การแสดงงิ้วล้อการเมือง ปีนี้ภาพที่สังเกตเห็นได้ชัดก็คือ ที่ผ่านมาเกือบสิบปีจะมีงิ้วที่แต่งชุดเป็นฝ่ายสีเหลืองและสีแดงรบกัน วางบทบาทเป็นฝ่ายการเมืองสองขั้ว กล่าวคือ งิ้วฝ่ายสีแดงเป็นภาพแทนพรรคไทยรักไทย เพื่อไทย ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ กลุ่ม นปช. ในขณะที่ฝ่ายสีเหลืองคือ พันธมิตร ประชาธิปัตย์ กปปส. และมีอีกฝ่ายคือสีขาวคือ ความถูกต้อง ความเป็นธรรม ประชาธิปไตย เป็นเสมือนภาพความหวัง

 

ขณะที่ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน มีงิ้วสีเขียวที่เพิ่มเข้ามา เป็นภาพแทนของทหาร พล.อ. ประยุทธ์ และ คสช. โดยบทบาทหลักคือการเข้ามายุติความขัดแย้งของทุกฝ่าย คุมความสงบเรียบร้อย

 

 

ปีนี้ 2561 ก็ยังมีตัวแสดงงิ้วสีเขียว แต่สังเกตได้ว่าการตีความในฐานะคนกลาง ได้เปลี่ยนบทบาทไปสู่ความเป็นข้าง เป็นขั้ว สีเขียว หรือ พล.อ. ประยุทธ์ ได้กลายเป็นคู่ขัดแย้ง เป็นผู้ลงมาเล่นในสนามนี้เอง ลงมารบกับฝ่ายเหลืองและแดง ไม่ใช้คนห้ามศึกอีกต่อไป

 

 

การนำเสนอมุก อารมณ์ขันของงิ้วธรรมศาสตร์เป็นไปอย่างโจ่งแจ้ง สอดแทรกด้วยวาทะและบุคลิกทางการเมืองของแต่ละฝ่าย ระหว่างการแสดงมีเสียงปรบมือ เสียงโห่ เสียงหัวเราะ และความเงียบ สลับปะปนกันตลอดระยะเวลา 10 นาที

 

เนื้อหามีประเด็นล้อเลียนหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการยืมนาฬิกา การหลับในที่ประชุมพิจารณางบประมาณกรณีฆ่าเสือดำ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงกรณีการจัดการเลือกตั้งที่ถูกเลื่อนมาแล้วหลายครั้ง อาทิเช่น

 

 

สีขาว: คนหนึ่งมองความมั่นคงเป็นสำคัญ อีกด้านฝันเป็นตัวแทนแห่งมวลชน ทั้งสองฝ่ายหวังสรรค์สร้างตามทางตน สุดสับสนอนาคตแผ่นดินไทย

 

บทดังกล่าวสะท้อนให้เห็นภาพชัดเจนของการตีความในบริบทการเมืองครั้งนี้ ระหว่างฝ่ายหนึ่งคือรัฐบาลปัจจุบัน กับอีกฝ่ายคือกลุ่มการเมืองที่ต้องการเขยิบเข้าสู่สนามการเลือกตั้ง

 

 

สีเขียว: นี่ก็ผ่านมากว่าปี 4 ปีแล้ว ที่กระผมได้เข้ามาอาสาปกป้องบ้านเมืองด้วยความเสียสละ (เสียงโห่) …วางโรดแมป 4.0 (โห่ดังกว่าเดิม)…

 

มีเสียงตัวละครถามว่า ตอนนี้กี่โมงแล้วคะ สีเขียวตอบไม่รู้ เพราะให้เพื่อนยืมนาฬิกาไปหมดแล้ว

 

คำถามที่เรียกเสียงฮือฮาคือ “ท่านคะ หมูป่ายังหาเจอ แล้วเมื่อไรจะหาคนฆ่าเสือดำได้คะท่าน”

 

เป็นการล้อเลียนที่นำเอาบุคลิกของผู้นำและบรรดาตัวละครในทางการเมืองต่างๆ ที่เรียกว่ามีบาดแผลมาล้อเลียนได้อย่างออกรสชาติ เพราะปรากฏในโซเชียลมีเดียและหน้าสื่อ ที่นักศึกษาเข้าถึงและรับรู้มาโดยตลอด

 

 

ฉากสุดท้ายให้ภาพที่ชัดเจนที่สุดคือการสู้รบระหว่างสองฝ่าย ที่แบ่งเป็นขั้วตามที่ได้อธิบายข้างต้น และมีงิ้วสีขาวเป็นภาพแทนของการตั้งคำถามว่าท้ายที่สุดแม้มีรัฐประหาร มีทหารเข้ามาจัดการ ก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่าประเทศชาติจะไปทางไหน ต้องการสิ่งใดกันแน่

 

คำถามดังกล่าวจึงถูกโยนขึ้นอากาศไปยังนักศึกษาใหม่ว่าต้องการสิ่งใดก็ขอให้ยกมือขึ้น ตอบคำถามตัวเองถึงทิศทางประเทศให้ได้ อาทิ อยากได้รัฐบาลที่ฉลาดไม่ใช้แต่อำนาจให้ยกมือขึ้น แล้วใครอยากเห็นประเทศไทยเข้าสู่ยุคใหม่ขอให้ยกมือขึ้น เป็นต้น

 

นี่คือบรรยากาศที่เกิดขึ้นจากมุมมองของนักศึกษา โดยผ่านอารมณ์ขันและมุมมองต่อบ้านเมือง วิเคราะห์ด้วยการแสดงโดยบทที่เขียนขึ้นเพื่อใช้ในการแสดงมาจากนักศึกษาเอง

 

 

นัยและอารมณ์ขันการเมืองไทย ผ่านแสงเสียงธรรมศาสตร์

ข้ามมาโฟกัสที่การแสดงแสงสีเสียง ที่ประกอบไปด้วย 3 องก์ อย่างที่อธิบายไปแล้ว การแสดงปีนี้จึงเป็นปีที่เรียกว่า ‘พิเศษ’ กว่าหลายปีที่ผ่านมา หากนับเนื่องจากการรัฐประหาร 2557 จึงเรียกได้ว่าปีนี้อาจเป็นการเล่าเรื่องธรรมศาสตร์ เรื่องการเมืองให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ฟังภายใต้ช่วงสุดท้ายของการใช้มาตรา 44 ที่ไม่อนุญาตให้มีการแสดงออกทางการเมือง หรือควบคุมอย่างเข้มงวด

 

ปีนี้จึงอาจเรียกว่าเป็นปีสุดท้ายของความหวาดเสียวที่จะมีการล้อเลียนเผด็จการ ล้อการเมือง ล้อเลียน คสช. ในแบบที่นักศึกษานั่งฟังอาจจะตั้งคำถามในใจตนเองมาตลอดว่า “ทำไมกล้าเขียนบทแบบนี้”

 

บทบาทของการแสดงแสงเสียงธรรมศาสตร์ เท่าที่ผู้เขียนสังเกตในฐานะผู้ชม และในฐานะศิษย์เก่าที่เคยผ่านมาแล้ว จะพยายามฉายภาพเหตุการณ์ต่างๆ อย่างบาลานซ์ ไม่ว่าจะเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเมือง การยกเอาข้อเท็จจริงของบุคคลในทางการเมือง แต่ละขั้วเข้ามาให้เห็นภาพชัดเจนมากที่สุด รวมทั้งเหตุการณ์ที่ร่วมสมัยใกล้ตัวนักศึกษาด้วย

 

 

ในปีนี้ไฮไลต์สำคัญมีการนำเอาเหตุการณ์ร่วมสมัย โดยเฉพาะบทของทหารเพิ่มเข้ามาด้วย รวมทั้งมีการแซวตัวเองที่ตกเป็นข้อวิจารณ์ทางการเมืองด้วย อาทิเช่น

 

บทของทหารที่ออกมาถามในเชิงที่สังคมตั้งคำถามว่า “ทหารมีไว้ทำไม” และทหารก็เป็นฝ่ายตอบเองว่า “ก็ประชาธิปไตยเอาแต่ตีกันวุ่นวาย ทหารก็ต้องมีไว้เพื่อรักษาความสงบให้ บ้านเมืองจะได้เรียบร้อยและปลอดภัย!” และบทของทหารยังบอกอีกว่า “ถ้าอยากได้เสรีภาพและประชาธิปไตย ก็ปกครองตัวเองกันให้ได้ อย่าต้องให้ทหารมาแก้ไขให้อีก!”

 

 

ช่วงหนึ่งงิ้วก็มีการล้อเลียนว่า “สนามหญ้าแห่งนี้มีตำนาน สนามหญ้าที่เคยขับขานประชาธิปไตย วันนี้ไม่ล้อมรั้วใส่ปุ๋ยแล้ว!” มาจากกรณีการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ไม่สามารถใช้สนามหญ้าได้ เนื่องจากมีป้ายดังกล่าวระบุเอาไว้

 

เสียงตอบรับจากนักศึกษาสำหรับการแสดงแสงเสียงพบว่า เรื่องราวที่เป็นประวัติศาสตร์การเมืองและมหาวิทยาลัยเป็นไปด้วยความสนใจ แต่ไร้เสียงที่แสดงให้เห็นถึงนัยบางอย่าง

 

 

หากแต่เมื่อเข้าสู่ช่วงเหตุการณ์ร่วมสมัย กล่าวถึงเหตุการณ์รัฐประหารมาตรา 44 กรณีการเลื่อนโรดแมปได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ เสียงของการโห่ เมื่อพูดถึง พล.อ. ประยุทธ์ ในปีนี้ผู้ติดตามเล่าว่า ‘ดัง’ มากกว่าปีแรกๆ ของการเข้ามายึดอำนาจ สะท้อนให้เห็นบรรยากาศความคิด ความรู้สึกทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ๆ ได้อยู่ในที

 

ในตอนหนึ่งของการแสดง บทบาทของนักแสดงที่สวมชุดนักศึกษา ออกมายืนประกาศอย่างท้าทายว่า “โรดแมปก็อย่าเลื่อนออกไป ประชาธิปไตยก็ถึงเวลาแล้วที่ต้องคืนให้ อย่าให้ประชาชนต้องไปทวง! อย่าให้ธรรมศาสตร์ต้องไปทวง!” สังเกตได้ว่า ระหว่างนั้นฝ่ายที่รับบทเป็นทหาร มีการขยับตัวและขยับหมวก กึ่งๆ อึดอัดกับเตรียมพร้อม

 

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบรรยากาศส่วนหนึ่งในการแสดงแสงสีเสียงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร​์ เพื่อต้อนรับนักศึกษาใหม่ ซึ่งปรากฏนัยที่น่าสนใจชวนให้ภาพบรรยากาศบ้านเมืองไปในคราวเดียวกัน

 

และหากเป็นไปตามโรดแมปที่จะมีการเลือกตั้งในต้นปี 2562 ปีนี้จึงเป็นปีสุดท้ายของแสงเสียงธรรมศาสตร์ ภายใต้รัฐบาลจากการยึดอำนาจ ก่อนที่จะเริ่มต้นศักราชใหม่ ที่ประชาชนจะมีสิทธิ์เลือกผู้ปกครองของตัวเอง แม้ฝ่ายที่ยึดอำนาจจะเป็นผู้เขียนกติกาเองก็ตาม

 

“ประชาเราคือเจ้าของอธิปไตย คนแก้ไขไม่ใช่ใครไทยทุกคน!” นักแสดงชุดสุดท้ายบนเวทีกล่าวพร้อมกัน ก่อนที่การแสดงในวันนั้นจะจบลง…

 

 

Photo: ธนศิลป์ มีเพียร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X