×

โศกนาฏกรรมที่สนามฮิลส์โบโร แด่ความจริง ความยุติธรรม และการต่อสู้ 28 ปีที่ไม่สูญเปล่า

30.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • แผนกคดีพิเศษและการต่อต้านการก่อการร้ายของหน่วยงาน The Crown Prosecution Service (CPS) ได้สั่งให้ดำเนินคดีกับอดีต 6 เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับคดีโศกนาฏกรรมที่สนามฮิลส์โบโร ซึ่งเป็นผลให้แฟนบอลลิเวอร์พูลจำนวน 96 คนเสียชีวิต ที่เกิดขึ้นเมื่อ 28 ปีที่แล้ว
  • หนึ่งในนั้นคือ เดวิด ดักเคนฟีลด์ (David Duckenfield) อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจ South Yorkshire ผู้ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย ที่ล้มเหลวในการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และการปฏิบัติหน้าที่ของเขานำไปสู่ความตายของผู้คนถึง 96 คนที่เสียชีวิตอย่างน่าเศร้าโดยไม่จำเป็น
  • มาร์กาเร็ต แอสปินัลล์ (Margaret Aspinall) หนึ่งในผู้นำการต่อสู้กล่าวว่า “ทั้งหมดก็เพื่อครอบครัวของพวกเราที่ต้องทนทุกข์ทรมานมายาวนานกว่า 28 ปี มันไม่ต่างอะไรจากนรกบนดิน และนี่คือจุดเริ่มต้นของจุดจบที่แท้จริง”

     28 ปี

     ระยะเวลาที่ว่านี้ยาวนานเท่ากับ 1 ใน 3 ของชีวิต หากคุณโชคดีพอที่จะอายุยืนถึง 80-90 ปี หรือหากเพิ่งเกิดก็ยาวนานมากพอที่จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่และเป็นไปได้ที่คุณอาจจะมีทายาทรุ่นต่อไปของครอบครัวแล้วครับ

     28 ปี ยังยาวนานมากพอที่โลกจะเปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ ชนิดที่สมมติว่าคุณหลับตาลงในวินาทีนี้ แล้วตื่นขึ้นมาพบว่าเวลาผ่านไป 28 ปีข้างหน้า โลกใบที่อยู่ตรงหน้าอาจจะไม่มีอะไรเหมือนเดิมเลยสักอย่างก็เป็นได้

     แต่สำหรับคนจำนวนหนึ่งในเมืองลิเวอร์พูลของประเทศอังกฤษ

     28 ปีที่ผ่านมาของพวกเขาไม่มีอะไรมากไปกว่าการต่อสู้เพื่อเรียกร้อง ‘ความยุติธรรม’ ให้แก่เหล่าคนที่รักและต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับจำนวนถึง 96 คนจากเหตุโศกนาฏกรรมที่สนามฮิลส์โบโร (Hillsborough Disaster) เมื่อวันที่ 15 เมษายน 1989

     และพวกเขาเพิ่งจะได้รับสิ่งนั้นครับ

 

Photo: wikimedia commons

 

ความยุติธรรมที่กลับมา

     กำปั้นชูขึ้นฟ้า พร้อมเสียงตะโกนที่ดังขึ้นด้วยความยินดีจากหนึ่งในครอบครัวของผู้สูญเสีย

     พวกเขาแสดงความรู้สึกออกมาหลังจากที่ได้เห็นภาพการแถลงผลการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับเหตุโศกนาฏกรรมที่สนามฮิลส์โบโร ของ ซู เฮมมิง (Sue Hemming) หัวหน้าแผนกคดีพิเศษและการต่อต้านการก่อการร้ายของหน่วยงาน The Crown Prosecution Service (CPS) ที่มีการสั่งดำเนินคดีกับอดีต 6 เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับคดีเมื่อ 28 ปีที่แล้ว

     หนึ่งในนั้นคือ เดวิด ดักเคนฟีลด์ (David Duckenfield) อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจ South Yorkshire ผู้ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยในเกม เอฟเอ คัพ รอบรองชนะเลิศระหว่าง ลิเวอร์พูล และ น็อตติงแฮม ฟอเรสต์

     ตามธรรมเนียมของการแข่งขัน เกมในรอบรองชนะเลิศเดิมจะถูกจัดขึ้นที่สนามเป็นกลาง โดยเกมนั้นสนามที่ได้ทำหน้าที่เจ้าภาพคือ สนามฮิลส์โบโร ของทีม เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ ซึ่งกลายเป็นสนามแห่งความตายโดยไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

     เฮมมิงกล่าวถึงการทำหน้าที่ของดักเคนฟีลด์ ที่ล้มเหลวในการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นว่าเป็นเรื่องที่เลวร้ายอย่างยิ่ง และการปฏิบัติหน้าที่ของเขานำไปสู่ความตายของผู้คนถึง 96 คนที่เสียชีวิตอย่างน่าเศร้าโดยไม่จำเป็น

     อีก 5 รายที่ถูกดำเนินคดีด้วยคือ เซอร์ นอร์แมน เบตติสัน (Sir Norman Bettison) เจ้าหน้าที่ตำรวจ South Yorkshire ในขณะนั้น ที่ร่วมกันปกปิดความผิด, เกรแฮม แม็กเรลล์ (Graham Mackrell) อดีตผู้บริหารของสโมสรเชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ ที่มีหน้าที่กำกับความปลอดภัยที่สนาม, โดนัลด์ เดนตัน (Donald Denton) เจ้าหน้าที่ตำรวจ South Yorkshire, อลัน ฟอสเตอร์ (Alan Foster) หัวหน้าแผนกสืบสวนของ South Yorkshire และ ปีเตอร์ เมตคาล์ฟ (Peter Metcalf) ทนายความที่ว่าความให้แก่ตำรวจ South Yorkshire

     ทั้ง 6 คนมีความผิดร่วมกันคือการปกปิดข้อเท็จจริงและโยนความผิดให้แก่แฟนฟุตบอลลิเวอร์พูลว่าเป็นต้นเหตุของโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น

     พูดง่ายๆ คือ ‘รนหาที่ตาย’

     มันเป็นความผิดที่พวกเขาไม่ได้ก่อ และเป็นสิ่งที่ครอบครัวของผู้สูญเสียไม่อาจทำใจเชื่อในสิ่งที่ทางการสรุปคดีออกมาแบบนั้น

     และมันนำไปสู่การต่อสู้ที่ยาวนาน

     โดยที่ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าการทวงถามถึง ‘ความจริง’ และ ‘ความยุติธรรม’ กลับมา

     เพื่อเหล่าพ่อ แม่ ลูก หรือเพื่อน ที่จากบ้านไปและไม่ได้กลับมาในวันนั้น

 

Photo: kenny1/shutterstock

 

จุดจบของนรกบนดิน

     มาร์กาเร็ต แอสปินัลล์ (Margaret Aspinall) หนึ่งในผู้นำการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้แก่ 96 ชีวิตที่จากไปที่สนามฮิลส์โบโร กล่าวหลังจากรับทราบการตั้งข้อกล่าวหาต่อผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบแต่ละเลยความรับผิดชอบในระหว่างเหตุการณ์ และยังปฏิเสธความรับผิดชอบหลังเกิดเหตุการณ์ทั้ง 6 คนอย่างเรียบง่าย

     “ทั้งหมดก็เพื่อครอบครัวของพวกเราที่ต้องทนทุกข์ทรมานมายาวนานกว่า 28 ปี มันไม่ต่างอะไรจากนรกบนดิน และนี่คือจุดเริ่มต้นของจุดจบที่แท้จริง”

     ตลอดระยะเวลา 28 ปีที่ผ่านมา แอสปินัลล์และเหล่าครอบครัวผู้สูญเสียต้องต่อสู้อย่างยากลำบากมากครับ แต่พวกเขาไม่อาจยอมแพ้ได้เพราะการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ได้หมายถึงเพียงเพื่อคนที่จากไป แต่มันยังมีความหมายถึงคนที่ยังอยู่ด้วยด้วยเช่นกัน

     “พวกเราต้องการความสงบสุขกลับมาหลังเหตุการณ์ที่ฮิลส์โบโร แต่พวกเราไม่สามารถจะใช้ชีวิตแบบนั้นได้เลยจนกว่าเราจะได้ความจริง ความยุติธรรม ที่สามารถตรวจสอบได้”

     ข้อความที่ถูกเขียนไว้ในใจคือ ‘อย่ายอมแพ้ จงสู้ต่อไป’

     จากวันแรกที่เหล่าครอบครัวผู้สูญเสียและผู้สนับสนุนที่รวมตัวกันในนาม Hillsborough Justice Campaign ใช้เวลา 20 ปีในการขอให้มีการไต่สวนคดีนี้ขึ้นอีกครั้ง (ด้วยความร่วมมือของสื่อระดับประเทศที่ร่วมกันนำเสนอวาระครบรอบ 20 ปีของความสูญเสียเมื่อปี 2009)

     ด้วยเสียงตะโกน ‘Justice for the 96’ ที่ดังขึ้นในระหว่างที่ แอนดี้ เบิร์นแฮม (Andy Burnham) รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานในขณะนั้นขึ้นกล่าวสดุดีแด่ผู้วายชนม์ ดังถึงคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล กอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown) และนำไปสู่การรื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง

     จากนั้นอีก 3 ปีต่อมา ในวันที่ 12 กันยายน 2012 รายงานความยาว 400 หน้า ซึ่งสรุปจากเอกสารจำนวนกว่า 450,000 แผ่นที่รวบรวมจาก 80 องค์กรที่เกี่ยวข้องกับเหตุโศกนาฏกรรมถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรก และเปิดเผยให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ สะเพร่า และการตัดสินใจที่ผิดพลาดนำไปสู่เหตุโศกนาฏกรรมที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษ

     รัฐบาลอังกฤษกล่าวคำขอโทษต่อครอบครัวของผู้สูญเสียทั้ง 96 คนอย่างเป็นทางการครั้งแรก และมีการสั่งสอบสวนคดีนี้ใหม่อย่างเป็นทางการ

     ถัดมา 1 วัน หนังสือพิมพ์ The Sun ที่ตีพิมพ์ภาพปกหนังสือพิมพ์อื้อฉาว The Truth หลังเกิดเหตุโศกนาฏกรรม และกล่าวหาว่าแฟนฟุตบอลลิเวอร์พูลมีอาการเมามายไม่ได้สติจนนำไปสู่เหตุวุ่นวายเหยียบกันตายในสนาม​ (และทำให้เมืองลิเวอร์พูลไม่ต้อนรับหนังสือพิมพ์ The Sun อีกตลอดไป) ต้องออกแถลงการณ์ ‘ขอโทษ’ อย่างเป็นทางการต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในสมัยของ เคลวิน แม็กเคนซี (Kelvin Mackenzie) บรรณาธิการในขณะนั้น

     นั่นคือ ‘ความจริง’ ที่พวกเขาได้รับครับ

     และหลังการไต่สวนที่กินระยะเวลาเกือบ 5 ปี ในวันนี้พวกเขาได้รับ ‘ความยุติธรรม’ กลับคืนมาแล้ว

     จากนี้เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมที่จะตัดสินบทลงโทษที่เหมาะสมต่อไป

     ถึงวันนี้อาจจะยังไม่ใช่บทสรุปของเรื่องราวที่แท้จริง แต่อย่างน้อยที่สุดมันมากพอที่จะกล่าวได้ว่า 96 ชีวิตที่ถูกคมเคียวของพญามัจจุราชกระชากวิญญาณไปนั้น ได้ถูกชำระล้าง ‘มลทิน’ เรียบร้อยครับ

     เช่นกันกับครอบครัวของพวกเขาที่ต่อสู้อย่างไม่ลดละ วันนี้หน้าที่นั้นได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว

     พวกเขาเป็นอิสระจากพันธนาการทางใจทั้งปวง

     และเรื่องราวนี้ควรได้รับการบันทึกในฐานะการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่

     ไม่ใช่สำหรับแค่แฟนบอลลิเวอร์พูล หรือแฟนกีฬา

     แต่มันคือการต่อสู้ของมนุษย์ที่น่ายกย่องและควรได้รับการจารึกสืบไป

FYI
  • เกมเอฟเอ คัพ รอบรองชนะเลิศระหว่าง ลิเวอร์พูล และ น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ถูกสั่งยุติการแข่งขันหลังเกมเริ่มได้เพียง 6 นาทีเท่านั้น หลังมีแฟนบอลพยายาม ‘หนีตาย’ ลงมาในสนาม ท่ามกลางความตื่นตะลึงและสับสนของนักฟุตบอลในสนามที่ไม่ทราบว่าแฟนบอลที่เข้ามาเชียร์พวกเขาจำนวนมากได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
  • จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุโศกนาฏกรรมที่ฮิลส์โบโรในวันเกิดเหตุ (15 เมษายน 1989) มีจำนวน 94 คน หลังจากนั้นอีก 4 วันแฟนบอลวัย 14 ปีเสียชีวิตที่โรงพยาบาล และถัดมาอีก 4 ปี แฟนบอลที่นอนอยู่ในอาการโคม่าตลอดมาเสียชีวิตลง รวมยอดผู้เสียชีวิต 96 คน
  • สาเหตุของการเสียชีวิตของผู้โชคร้ายในเหตุโศกนาฏกรรมที่สนามฮิลส์โบโร ส่วนมากเกิดจากการขาดอากาศหายใจจากการที่แฟนบอลจำนวนมากพยายามจะเข้ามาชมเกมในสนามเกินความจุ
  • ที่น่าเศร้าคือมีการสั่งยุติการค้นหาผู้รอดชีวิตในเวลา 15.15 น. ทั้งๆ ที่ในภายหลังมีการพบหลักฐานว่ามีแฟนบอลอีก 31 คนที่ยังมีลมหายใจและมีโอกาสรอดชีวิตหากเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือได้ทันเวลา
  • ปัจจุบันไม่มีกิจกรรมรำลึก Hillsborough Memorial Service ที่สนามแอนฟิลด์แล้ว โดยยกเลิกตามคำขอร้องของครอบครัวผู้สูญเสีย แต่ยังมีการจัดกิจกรรมรำลึกภายนอกสนาม และเปลวเพลิงนิรันดร์ (Eternal Flame) ยังโชติช่วงที่สนามแอนฟิลด์ ต่อหน้าแผ่นป้ายจารึกชื่อผู้วายชนม์ทั้ง 96 คน
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X