×

15 บทเพลงเฉลิมพระเกียรติ ร.10 จากไชโยโอรสาธิราช ถึง สดุดีจอมราชา

27.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 MINS READ
  • จุดร่วมที่สำคัญของบทเพลงเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10 คือยกย่องพระราชกรณียกิจด้านการทหารและยานอากาศเป็นสำคัญ ดังปรากฏคำที่เกี่ยวข้องอยู่บ่อยครั้งในคำร้องของเพลงต่างๆ อันเป็นผลจากการที่ทรงเป็น ‘พระมหากษัตริย์นักบินรบ-ครูการบิน’
  • เพลง สดุดีจอมราชา ถือเป็นเพลงหลักที่ใช้ในการเฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.10 นับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ผลิตโดยกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งจะกึกก้องพร้อมกันทั้งแผ่นดินในค่ำวันที่ 28 กรกฎาคมนี้

ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในวันที่ 28 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ น่าจะเป็นโอกาสอันดีให้ชนชาวไทยได้สดับฟังเพลงเฉลิมพระเกียรติที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ประพันธ์ถวาย

 

บทความชิ้นนี้ชวนคนไทยร่วมฟังเพลงเฉลิมพระเกียรติจำนวน 15 บทเพลง โดยเป็นเพลงที่ประพันธ์ก่อนการสวรรคตของในหลวง ร.9 จำนวน 6 เพลง, หลังการสวรรคต จำนวน 5 เพลง และประพันธ์ในโอกาสการเฉลิมฉลองในปี 2561 โดยเฉพาะ จำนวน 4 เพลง บทความชิ้นนี้ให้ความสนใจกับการศึกษา ‘ภาพจำ’ ของในหลวง ร.10 ในบทเพลงเหล่านั้น

 

บทเพลงจำนวนมากประพันธ์ขึ้นในปี 2555 อันเป็นปีของการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมายุ 5 รอบ 60 พรรษา 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 บางเพลงก็ประพันธ์ขึ้นนานแล้ว แต่ถูกนำมาปรับปรุงแก้ไขและผลิตซ้ำอีกครั้งในปีนั้น

 

 

เพลงที่ประพันธ์ก่อนการสวรรคตของในหลวง ร.9 เช่น เพลง ไชโยโอรสาธิราช ทำนองโดย ครูเอื้อ สุนทรสนาน คำร้องโดย ถวัลย์ สุรภาพประดิษฐ์ ขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง และคณะสุนทราภรณ์ คำร้องเป็นขนบการเฉลิมพระเกียรติแบบดั้งเดิม ภาษาแข็งตัว เล่าเรื่องความโชคดีของปวงชนชาวไทย ซึ่งมีเจ้าฟ้าที่เปี่ยมบุญญาธิการให้ได้ชื่นชม ‘สรรเสริญเยินศรียอศักดิ์ ชูศรีศักดิ์ เสาวลักษณ์สะพัดโพ้นฉัตรชัย สมแล้วที่เรานี้มีบุญใจ ไว้ฝันใฝ่ได้ชมบุญญาธิการ ไชโยโอรสาธิราช มงกุฎมาตร ราชกุมาร

 

เพลง สดุดีเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ คำร้องโดย ท่านหญิง (หม่อมเจ้า) ประภาพันธุ์ ภาณุพันธุ์ กรโกสียกาจ ทำนองโดย ร้อยเอก สมคิด เกษมศรี ยกย่องพระราชกรณียกิจด้านการทหาร ‘ทรงสำราญเป็นศรีประชาไทย พระเกียรติยศปรากฏทหารกล้า… ประชาราษฎร์ชื่นชมน้ำพระทัย เป็นขวัญใจชาวไทยนิรันดร์เทอญ

 

 

อีกหนึ่งบทเพลงที่ใช้ขับร้องอยู่บ่อยครั้งในงานสำคัญ เช่น ในงาน ‘62 พรรษามหาวชิราลงกรณ์’ ณ บริเวณมลฑลพิธีท้องสนามหลวงในปี 2557 และคอนเสิร์ต บทเพลงเพื่อแม่ Bike for Mom ในปี 2558 คือเพลง มาร์ชวชิราลงกรณ์ คำร้องและทำนอง โดย นายเสรี หวังในธรรม มีจุดเน้นอยู่ที่การเล่าเรื่อง การแบ่งเบาพระราชภารกิจ ‘สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ ทรงเอื้ออาทรพสกนิกรทั่วหน้า ทรงช่วยแบ่งเบาภารกิจพระราชบิดา เป็นภาพตรึงตราประทับใจชาวไทยทุกคน

 

ทั้งสามบทเพลงเป็นตัวอย่างของบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นในอดีต แต่กลับมามีชีวิตอีกครั้งในปี 2555 ตัวคำร้องมีจุดเน้นอยู่ที่การสรรเสริญ ชื่นชมพระราชกรณียกิจด้านการทหาร และการแบ่งเบาพระราชภารกิจของในหลวง ร.9 ขณะที่ในคำร้องของเพลงที่ประพันธ์ขึ้นในปี 2555 เริ่มปรากฏการเปรียบเปรย ยกย่องในหลวง ร.10 ในหลายลักษณะ ทั้งเป็นสายฝนให้ความชุ่มฉ่ำ และเป็นแสงที่ให้ความสว่างไสวกับปวงชน ขับเน้นพระราชกรณียกิจด้านการทหาร วิศวกรรมการบินและอากาศยาน

 

 

ในปี 2555 กระทรวงวัฒนธรรมรับผิดชอบผลิตบทเพลงและวีดิทัศน์เฉลิมพระเกียรติ เพลง ละอองทิพย์จากฟ้า กำหนดให้เผยแพร่ผ่านสถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุในประเทศ เพลงนี้ถือเป็นเพลงเฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.10 ที่ได้รับการผลิตซ้ำมากที่สุดในปีนั้น และมีความร่วมสมัยมากที่สุดเท่าที่มีการประพันธ์มา ทำนองติดหูง่าย คำร้องไม่ยากต่อการตีความ

 

คำร้องเปรียบในหลวง ร.10 เป็นเหมือนสายฝน ‘ดั่งฟ้าประทานความชุ่มฉ่ำแก่ปวงประชา ละอองทิพย์โปรยมาพาชื่นชมสมใจ ฟ้าส่งฟ้าชายเป็นมิ่งขวัญชาวไทย’ ยกย่องพระราชกรณียกิจด้านการทหาร ‘สยามฯ กุมารทหารกล้ามั่นปฏิญญา ปลอบขวัญพารายามมีทุกข์กมล สายใยรักพาเหล่าประชาสุขล้น พระบารมีคุ้มปวงชนสยามไทย

 

 

ในปีเดียวกัน กองดุริยางค์ทหารเรือ ผลิตเพลง แสงแห่งพระบารมี คำร้องและทำนองโดย นาวาตรี ตระกูล บุญสร้าง เปรียบในหลวง ร.10 เป็นเหมือนแสงแห่งดวงตะวัน แสงแห่งดวงจันทร์ แสงแห่งพระบารมี ‘ฟ้างามยามต้องแสงแห่งโอรสา ดั่งสุริยาส่องแสงแรงยามสาย แสงงามส่องเห็นเป็นประกาย ขอถวายน้อมกายเป็นราชพลี’ ยกย่องพระปรีชาสามารถด้านวิศวกรรมการบินและอากาศยาน ‘ทรงพระปรีชาชาญ ยานอากาศ ประชาราษฎร์ ชื่นชมพระสมศักดิ์ศรี ทรงเอื้ออาทรผ่อนทุกข์สุขทวี พระบารมีล้นเกล้าชาวประชา

 

 

อีกเพลงที่จัดทำในเดือนเมษายน ปี 2556 โดยกองทัพอากาศ คือเพลง สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ คำร้องโดย พลอากาศเอก ทศพล สง่าเนตร ทำนองโดย ดร.อนุชิต นันทขว้าง เล่าเรื่องพระมหากรุณาธิคุณที่ในหลวง ร.10 มีต่อกองทัพไทย ‘ด้วยชีวิตจิตวิญญาณทหารกล้า ทรงสั่งสอนปวงข้าฯ เหล่าทหาร ทั้งทัพบก เรือ อากาศ ชาติชายชาญ พระภูบาลนำพิทักษ์นครา

 

หลังการสวรรคตของในหลวง ร.9 บริษัท องค์กร บุคลากรในแวดวงดนตรี ผลิตเพลงเฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.9 ออกมาเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่หลังการสวรรคตจนถึงปัจจุบัน มีจำนวนเพลงที่ประพันธ์ขึ้นใหม่มากกว่า 300 เพลง ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันก็ปรากฏบทเพลงเฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.10 ไม่น้อยกว่า 6 เพลง เป็นการผลิตโดยศิลปินแห่งชาติและศิลปินที่ได้รับความนิยมในท้องถิ่นเป็นหลัก

 

 

เพลง รัชกาลที่ 10 ทรงพระเจริญ ขับร้องโดย เอกชัย ศรีวิชัย ยกย่องในหลวง ร.10 ในฐานะศูนย์รวมใจองค์ใหม่ ‘ทรงพระเจริญยิ่งยืนนานมิ่งขวัญชาวไทย พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ เป็นศูนย์รวมใจของไทยทั่วหล้า พระจักรีวงศ์ มั่นคงคู่ไทยนานมา… พระทัยหมายมั่น สืบปณิธานพระราชบิดา ทศพิธราชธรรมนำหน้า เพื่อปวงประชาชาติไทยเรานั่น

 

 

เพลง เทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 10 โดยบรมครูด้านการร้องเพลงแหล่ ชินกร ไกรลาศ ยกย่องในหลวง ร.10 ในฐานะ ‘แสงแห่งเกียรติศักดิ์’ ‘พรชัย’ ที่จะ ‘นำชาติไทยก้าวหน้าสง่างาม’ ในท่อนสุดท้ายเชื่อมโยงสองรัชกาลแบบเดียวกับเพลงของเอกชัย ‘รอยพระบาทราชบิดายังปรากฏ จักรีวงศ์ทรงยศแห่งสยาม เทิดทูนศูนย์รวมใจในพระนาม มหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร

 

 

อีกสองบทเพลงผลิตออกมาโดยวงดนตรีเสียงอิสาน วงดนตรีลูกทุ่งหมอลำยอดนิยมสูงสุดในภาคอีสาน โดยเป็นเพลงที่ใช้ขับร้องในการแสดงพิเศษของวงในฤดูกาลที่ผ่านมา ขับร้องโดย นกน้อย อุไรพร คือเพลง เทิดทูนพระเกียรติสมเด็จพระบรม และเพลง เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ โดยในเพลงหลังยกย่องในหลวง ร.10 เป็น ‘เพชรจากฟ้า เพชรจากสวรรค์ เพชรวิเศษ’ ที่ ‘ต่อยอดจากจอมราชา, ตามรอยพระยุคลบาทแผ่บารมี, สนองพระราชปณิธานสมเด็จพระราชบิดาดับทุกข์ร้อนธรณี เสริมสามัคคีสังคมไทย’​ ไปจนถึงฉายภาพรวมของสถาบันกษัตริย์ไทยว่าเป็น ‘รู้กันทั่วหล้า พระมหากษัตริย์ราชอาณาจักรไทยต่างจากราชาในเทพนิยาย…

 

 

อีกหนึ่งศิลปินแห่งชาติที่ร่วมผลิตเพลงเฉลิมพระเกียรติคือ อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ผ่านเพลง รัชกาลที่ 10 ราชาทรงพระเจริญ คำร้องเปรียบเปรยสถาบันกษัตริย์ของไทยเหมือนฟ้า ที่ทำหน้าที่หลายอย่างทั้ง ‘ฟ้าคอยอยู่ใยเเผ่นดินถิ่นฐาน ฟ้ามาประทานฝนโปรยชุ่มฉ่ำ ฟ้าพาหว่านดำพืชผลได้กิน ฟ้าเดินติดดินรักมวลหมู่ชน ฟ้ามีเมตตาห่วงปวงประชา ฟ้าคอยห่วงหาอาทรผู้คน ฟ้าพาผู้คนผ่านพ้นโพยภัย ฟ้าปันเเบ่งไปน้ำใจเลิศล้น’ เชื่อมโยงสองรัชกาลเข้าหากันด้วยประโยค ‘แผ่นดินนี้รัชกาลที่ 10 ให้สัญญาพ่อภูมิพล ไม่ทิ้งประชาชนของพระองค์ราชันย์ ฟ้าทรงปกครองเเผ่นดินไทยไว้ ฟ้าฟันฝ่าภัยไม่เคยไหวหวั่น

 

จะเห็นได้ว่าหลังการสวรรคต ตัวบทเพลงเฉลิมพระเกียรติให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงในหลวงสองรัชกาลเข้าด้วยกัน ชี้ให้เห็นความต่อเนื่อง ความเป็นปึกแผ่น ความเป็นเนื้อเดียวกันของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย

 

 

โครงการพัฒนาต่างๆ จะได้รับการสานต่อในรัชกาลใหม่ และสายสัมพันธ์ระหว่าง พระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่และพสกนิกรก็จะมั่นคงดังเดิม เพราะในหลวง ร.10 จะเป็นศูนย์รวมใจองค์ใหม่ของคนไทยต่อไป

 

นอกเหนือไปจากการเปรียบเปรยในหลวง ร.10 ในหลายลักษณะแล้ว จุดร่วมที่สำคัญของบทเพลงเฉลิมพระเกียรติทั้งก่อนและหลังการสวรรคต คือยังคงยกย่องพระราชกรณียกิจด้านการทหารและยานอากาศเป็นสำคัญ ดังปรากฏคำที่เกี่ยวข้องอยู่บ่อยครั้งในคำร้องของเพลงต่างๆ อันเป็นผลจากการที่ทรงเป็น ‘พระมหากษัตริย์นักบินรบ-ครูการบิน’ อีกหนึ่งจุดร่วมคือ ภาษาของคำร้องที่ยังคงดำเนินไปอย่างเป็นทางการ รวมถึงกระบวนการผลิต หน่วยงานที่ผลิต ซึ่งยังคงกระจุกตัวในหน่วยงานของรัฐ​ ศิลปินแห่งชาติ วงดนตรีท้องถิ่น

 

 

สดุดีจอมราชา: เพลงหลักของการเฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.10

เมื่อใกล้วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 66 พรรษาในวันที่ 28 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ ก็ปรากฏเพลงเฉลิมพระเกียรติอีกอย่างน้อย 4 เพลง หนึ่งในเพลงที่ประพันธ์ขึ้นในช่วงเวลานี้คือเพลง สดุดีจอมราชา ซึ่งเป็นเพลงหลักที่รัฐบาลกำหนดให้ใช้ขับร้องแทนเพลง สดุดีมหาราชา ในพิธีถวายเครื่องราชสักการะ และพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล

 

 

เพลง แสงทองของแผ่นดิน ผลิตโดยค่ายแสงรวีเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ขับร้องโดยศิลปินในสังกัดของค่ายเดียวกัน ยกย่องในหลวง ร.10 ในฐานะพระราชาองค์ใหม่ ‘ชาวไทยทั้งผอง น้อมรับราชาองค์ใหม่’ ‘ทรงเป็นแสงทองของปวงประชา’ ‘ทรงเป็นนักปราชญ์ นำชาติสู่ความรุ่งเรือง แผ่นดินฟูเฟื่อง เลื่องลือระบือไกล’  

 

 

เพลง สยามินทร์ราชามหาวชิราลงกรณ คำร้องและทำนองโดย พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งมีผลงานในการประพันธ์เพลงเฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.9 เป็นจำนวนมาก เช่นเพลง King of Kings พงศ์พรหมขึ้นชื่อว่าเป็นนักประพันธ์เพลงที่ใช้คำได้อย่างวิจิตร และออกแบบทำนองได้อย่างยิ่งใหญ่ทรงพลัง ยกย่องในหลวง ร.10 ในฐานะ ‘หน่อพุทธบดินทร์อินทรา มหาวชิราลงกรณ’ ‘มหาราชาผู้ครองแผ่นดินนี้ ผู้ปราบผองภัยพ่ายไป’ ‘ทรงธรรมด้วยปัญญา’ ‘ธ ทรงเป็นดั่งแสงวัชระส่อง’ และด้วยเพราะเป็นเช่นนี้ ‘แหลมทองเรืองรองทุกแห่งทุกหน จนตราบรัชสมัย

 

 

เพลง สยามินทร์วชิราลงกรณ์ ผลิตโดยคณะกรรมการจิตรลดาสวามิภักดิ์ ประพันธ์คำร้องและทำนองโดยสองแม่ลูกตระกูลบุณยะรัตเวช มาลัยวัณย์ ผู้ประพันธ์ทำนองเล่าว่า ตั้งใจออกแบบท่วงทำนองให้กระฉับกระเฉงกล้าหาญ เข้ากับความภาคภูมิ เนื้อเพลงยกย่องความองอาจ และพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะเป็นหลักชัยของแผ่นดิน นำพาประเทศไปสู่ความเจริญ ‘มกุฎสยามเกริกนภาวชิราลงกรณ์ องอาจงานชาญสมร เกียรติขจรเลื่องลือไกล พันธกิจอันยิ่งยงที่มั่นคงเพื่อผองไทย ปณิธานอันเกริกไกรเป็นหลักชัยของประชา’ นอกจากนี้ยังมีเพลง วันใหม่ ซึ่งเป็นการประพันธ์เพื่อร่วมสำนึกในพระบรมราโชบาย โครงการจิตอาสา ‘เราทำความดีด้วยหัวใจ

 

https://www.youtube.com/watch?v=bX7p4UHXDeI&feature=youtu.be

 

เพลง สดุดีจอมราชา ถือเป็นเพลงหลักที่ใช้ในการเฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.10 นับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ผลิตโดยกระทรวงวัฒนธรรม ขั้นตอนของการผลิตดำเนินไปอย่างประณีตโดยผู้เชี่ยวชาญ ตั้งแต่ศิลปินแห่งชาติ นักแต่งเพลง และนักดนตรีที่มีชื่อเสียง เพลงนี้ประพันธ์ทำนองโดย วิรัช อยู่ถาวร ศิลปินแห่งชาติ และประพันธ์เนื้อร้องโดย วิเชียร ตันติพิมลพันธ์ นักประพันธ์คำร้องที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในยุคร่วมสมัย มีประสบการณ์ในการประพันธ์เพลงเฉลิมพระเกียรติที่คุ้นหูคนไทยเป็นอย่างดี เช่น ในหลวงของแผ่นดิน, แม่ของคนไทย และเพลง คสช. อีกหลายเพลง เช่น คืนความสุขให้ประเทศไทย

 

 

วิรัชเล่าเบื้องหลังการทำงานว่า “ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ของการทำเพลง” ตั้งโจทย์ว่า “จะทำอย่างไรให้ประชาชนได้ฟังและร้องเพลงนี้ตามได้ง่าย” ตั้งใจ “ใช้ฟอร์มของเพลงมาร์ช คล้ายกับเพลง สดุดีมหาราชา เดิม แต่ทำนองไม่คล้ายเดิม ภาษาที่ใช้ไม่ต้องสูงนักเพื่อให้ง่ายต่อการแปลความหมาย” ขณะที่วิเชียรเล่าว่า ตัวเขาเองไม่เคยแต่งเพลงแนวนี้มาก่อน จึงต้องทำการบ้านเยอะมาก ใช้คำในลักษณะเดียวกันกับเพลง สดุดีมหาราชา

 

 

ภาพจำของในหลวง ร.10 ในเพลงนี้คือ จอมราชา, ร่มโพธิ์ร่มไทร, ศูนย์ร่วมใจชาวไทยสมัครสมาน, จอมราชัน, ปรีชาชาญ, แสงทอง, มิ่งขวัญปวงชนชาวไทย 

 

เพลง สดุดีจอมราชา จะกึกก้องพร้อมกันทั้งแผ่นดินในค่ำวันที่ 28 กรกฎาคมนี้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X