‘26 กรกฎาคม 2568’ เป็นวันครบรอบวันเกิดครบปีที่ 76 ของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
จากนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในวงการโทรคมนาคม ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมือง และขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยนโยบายที่มุ่งแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับรากหญ้า
แม้ผลงานด้านเศรษฐกิจ และนโยบายประชานิยมจะสร้างเสียงสนับสนุนอย่างกว้างขวาง แต่เขาก็หนีข้อครหาเรื่องการใช้อำนาจเกินขอบเขต และผลประโยชน์ส่วนตัวไม่พ้น จนทำให้ต้องลี้ภัยต่างประเทศนานกว่า 15 ปี
แม้จะอยู่ต่างประเทศอีกฟากหนึ่งของโลก แต่ชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ก็ยังคงเป็นชื่อที่ไม่เคยจางหายจากการเมืองไทย ผ่านบทบาทของครอบครัวที่ยังคงมีอิทธิพลอย่างต่อเนื่อง
บทความดังต่อไปจะพาผู้อ่าน ผู้ติดตามไปรื้อฟื้นเส้นทางชีวิตของเขา ตั้งแต่การเริ่มต้นในโลกธุรกิจ สู่จุดสูงสุดของอำนาจทางการเมือง สู่ช่วงพลิกผัน จากนายกรัฐมนตรี สู่ผู้ต้องหาคดีคอร์รัปชัน
นักธุรกิจ – นักการเมือง ‘ทักษิณ ชินวัตร’
‘ทักษิณ ชินวัตร’ เกิดวันที่ 26 กรกฎาคม ปี 2492 ที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรคนที่ 2 จากทั้งหมด 10 คนของ ‘เลิศ ชินวัตร’ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดเชียงใหม่ และ ‘ยินดี ชินวัตร’ ซึ่งเป็นครอบครัวเชื้อสายจีน
ครอบครัวชินวัตรประกอบธุรกิจหลายอย่างมาตั้งแต่ต้น เช่น ธุรกิจขายผ้าไหม สวนส้ม โรงภาพยนตร์ และอื่นๆ ทำให้พื้นฐานครอบครัวของเขานั้นมีฐานะที่มั่นคงในระดับหนึ่ง
‘ทักษิณ’ เรียนจบจากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จากนั้นในปี 2510 ก็สอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 10 และสำเร็จการศึกษาในปี 2512 และเลือกศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นรุ่นที่ 26 และสำเร็จการศึกษาในปี 2516 โดยเขาสอบได้ที่ 1 ของรุ่น
เมื่อสำเร็จการศึกษาก็ทำงานรับข้าราชการตำรวจอยู่ระยะหนึ่ง ทักษิณก็ได้รับทุนจากสำนักงานข้าราชการและพลเรือน (กพ.) ให้ไปเรียนต่อระดับปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา ในสาขาวิชา Criminal Justice ของ Eastern Kentucky University จากนั้นได้ศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาเดียวกันที่ Sam Houston State University และจบการศึกษาในปี 2521
การศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ช่วยจุดประกายความคิดในเส้นทางการเมืองของเขา จากการเรียนวิชาเกี่ยวกับทฤษฎีและปรัชญาการเมือง และวิชาเกี่ยวกับสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสังคม เมื่อศึกษาและมองย้อนมาถึงตัวเขาเองในวัยเด็กและการประกอบอาชีพตำรวจ ทำให้เขามองเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ซึ่งนักการเมืองมักหาผลประโยชน์ของตนเองจากช่องว่างตรงนี้ ทำให้เขาคิดอยากจะเป็นนักการเมืองเพื่อช่วยเหลือประชาชน
‘ทักษิณ’ มีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพตำรวจมาก ทั้งเคยเป็นสารวัตรปราบปรามประจำ สน. พระราชวัง รองผู้กำกับศูนย์ประมวลข่าวสาร และอื่นๆ จนได้รับยศ ‘พ.ต.ท.’ ในปี 2527 โดยตำแหน่งสุดท้ายก่อนจะลาออกจากตำแหน่ง และเข้าสู่วงการธุรกิจอย่างเต็มตัว คือ รองผู้กำกับการนโยบายและแผนงาน กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล
ก่อนที่ในเวลาต่อมาเขาจะถูกถอดยศ ‘พ.ต.ท.’ ทำให้ปัจจุบันต้องใช้คำหน้านามว่า นาย
ทักษิณ ชินวัตร ในวัยหนุ่ม
ภาพ: thaksinofficial
นักธุรกิจหัวการค้า กับกิจการระดับประเทศ
การตัดสินใจลาออกจากราชการตำรวจของ ‘ทักษิณ’ นั้น เป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจต่างๆ แต่บทบาทเส้นทางนักธุรกิจของเขานั้น ก็ไม่ได้สำเร็จตั้งแต่กิจการแรกๆ
‘ทักษิณ’ เริ่มต้นเส้นทางด้วยการเปิดร้านขายผ้าไหม แต่ธุรกิจก็เจ๊งจนต้องล้มเลิกไป ต่อมาในปี 2523 ก็หันมาลงทุนสร้างคอนโดมิเนียม ซึ่งคนไทยในขณะนั้นยังไม่คุ้นชินกับการอาศัยอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ทำให้กิจการล้มเหลวอีกครั้ง
ต่อมาได้ก่อตั้งบริษัท ไอซีเอสไอ (International Communication Services – ICSI) เพื่อให้เช่าคอมพิวเตอร์ ซึ่งต่อยอดมาจากการได้ศึกษาคอมพิวเตอร์ในระหว่างที่อยู่สหรัฐฯ และการทำงานราชการมาก่อนทำให้เข้าใจระบบการทำงานเป็นอย่างดี
จึงตั้งใจจะปล่อยเช่าคอมพิวเตอร์ให้กับกรมตำรวจ แต่ลูกค้ารายแรกๆ กลับเป็น การรถไฟแห่งประเทศไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเมื่อธุรกิจขยายใหญ่โตมากขึ้น จึงได้ก่อตั้ง บริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ จำกัด ในปี 2526 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น
จากการอยู่กับธุรกิจคอมพิวเตอร์ที่เติบโตก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ก็นำพามาสู่กิจการการสื่อสารแบบไร้สายคือ ‘เพจเจอร์’ หรือ ‘แพคลิงก์’ ที่ล้ำสมัยกว่าคอมพิวเตอร์ขึ้นมาอีกขั้น โดยในปี 2529
ได้ร่วมลงทุนกับบริษัท แปซิฟิก เทเลซิส อินเตอร์เนชั่นแนล ของสหรัฐอเมริกา และตั้งบริษัทใหม่ชื่อ แปซิฟิก เทเลซิส เอ็นจิเนียริ่ง และชนะสัมปทานให้บริการเพจเจอร์ จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยเริ่มบริหารจากที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
แต่ก็เกิดปัญหาเกี่ยวกับการขยายกิจการ ทำให้ต้องขายหุ้นในบริษัทแพคลิงก์ภายในปีเดียวกัน และกลับมาพัฒนา สร้างธุรกิจใหม่ของตัวเอง โดยก่อตั้งบริษัท ดิจิทัล เพจจิ้ง เซอร์วิส ในปี 2533 และชนะสัมปทาน Cellular 900 MHz จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ชินวัตร เพจจิ้ง’ ซึ่งมีบริษัท สิงคโปร์ เทเลคอม ร่วมถือหุ้นด้วย
ชินวัตร เพจจิ้ง ได้เปิดตัวเพจเจอร์แบรนด์ใหม่ชื่อ ‘โฟนลิงก์’ และกลายเป็นคู่แข่งทางการค้าของแพคลิงก์ไปโดยปริยาย แต่โฟนลิงก์กลับมีข้อได้เปรียบ คือครอบคลุมการใช้งานถึงพื้นที่ต่างจังหวัด และมีเพจเจอร์ที่หลากหลายรุ่น หลายราคา ทำให้ใน 1 ปี ก็มียอดผู้ใช้งานเทียบเท่ากับแพคลิงก์ที่ใช้เวลา 3 ปี
ไม่เพียงแค่ประสบความสำเร็จจากธุรกิจบนภาคพื้นดิน แต่ ‘ทักษิณ’ ก็ประสบความสำเร็จจากการส่ง ‘ไทยคม’ ดาวเทียมเพื่อการสื่อสารดวงแรกของประเทศไทย ทะลุน่านฟ้าสู่อวกาศในวันที่ 17 ธันวาคม 2536 จากบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ในเครือบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น ได้รับสัมปทานจากกระทรวงคมนาคมในปี 2534
เมื่อย้อนกลับไปในปี 2528 กระทรวงคมนาคมได้เปิดสัมปทานดาวเทียมดวงแรกของประเทศไทย โดยกลุ่มบริษัทชินวัตรได้เสนอผลประโยชน์ให้รัฐ 15.33% ตลอดอายุสัมปทาน และมีดาวเทียมไทยคมส่งขึ้นสู่อวกาศ 3 ดวง
ดาวเทียมไทยคม 2 ถูกส่งขึ้นน่านฟ้าในวันที่ 7 ตุลาคม 2537 และดวงที่ 3 วันที่ 16 เมษายน 2540 ซึ่งนำมาใช้เพื่อการศึกษา โดยเฉพาะในโครงการ การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) สำหรับเด็กในพื้นที่ห่างไกลที่เข้าถึงการศึกษาได้ลำบาก
นอกจากนี้ ชินคอร์ป ยังได้สัมปทานจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยจัดตั้งบริษัทลูกชื่อว่า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ‘AIS’ ในปี 2533 ก่อนจะขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้กับ เทมาเส็ก โฮลดิงส์ (Temasek Holdings) ของรัฐบาลสิงคโปร์ ในปี 2549 ซึ่งนำไปสู่คดีทางการเมืองที่สำคัญ
ภาพ: thaksinofficial
นายกฯ คนที่ 23 ของประเทศไทย
เมื่อมองย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้น คนที่ปูเส้นทางให้ ‘ทักษิณ’ ได้ซึมซับกับเส้นทางธุรกิจและการเมือง ก็คือ ‘เลิศ ชินวัตร’ ผู้เป็นบิดา ซึ่งเคยเป็น สส. จังหวัดเชียงใหม่ พรรคพลังใหม่ ระหว่างปี 2512-2519 ในยุครัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร
ระหว่างที่ ‘ทักษิณ’ ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเตรียมทหาร บิดาของเขามักจะพาไปให้เห็นบรรยากาศของการประชุมพรรคและการประชุมรัฐสภาเสมอ
‘ทักษิณ’ เข้าสู่เส้นทางการเมืองโดย พล.ต. จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม ได้เชิญเขามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลของ ชวน หลีกภัย ในปี 2537
แต่ดำรงตำแหน่งได้เพียง 101 วันก็ต้องลาออกเนื่องจากกฎหมายระบุว่า รัฐมนตรีจะต้องไม่มีกิจการสัมปทานกับรัฐ ซึ่งเขามีธุรกิจที่เกี่ยวพันกับสัมปทานจากรัฐอยู่
ต่อมาในปี 2538 ‘ทักษิณ’ ได้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม และลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. เขต 2 จังหวัดกรุงเทพมหานคร และผ่านการเลือกตั้งในวันที่ 2 กรกฎาคม 2538 โดยได้คะแนนเสียงเป็นลำดับที่ 1 ในเขตการเลือกตั้งดังกล่าว และได้เก้าอี้ สส. ในสภาจำนวน 23 ที่นั่ง
ทำให้ ‘ทักษิณ’ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังธรรม ได้ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา และในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็ได้ตำแหน่งนี้อีกครั้ง
ในปี 2541 ‘ทักษิณ’ ได้ก่อตั้ง ‘พรรคไทยรักไทย’ โดยมีสโลแกนว่า “คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน” และสามารถดึงอดีต สส.จากพรรคอื่นๆ กว่า 100 คนมาเข้าร่วมในพรรคได้ ทำให้พรรคไทยรักไทยเป็นที่นิยมขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
ต่อมามีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 6 มกราคม ปี 2544 แต่กลับมีข่าวเหตุรุนแรงก่อนการเลือกตั้ง ทั้งเหตุการณ์กราดยิงจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สมัครลงเลือกตั้งหรือเป็นทีมงานของพรรคการเมืองต่างๆ และยังมีรายงานว่าเข้ายึดหน่วยเลือกตั้งในหลายๆ พื้นที่
ผลการเลือกตั้งปรากฏออกมาว่า ‘พรรคไทยรักไทย’ ได้รับเสียงข้างมากในสภา โดยได้ 255 ที่นั่ง เป็นลำดับหนึ่ง แต่ก็มีข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตผลคะแนน ทำให้มีการจัดเลือกตั้งซ่อมในบางเขต แต่พรรคไทยรักไทย ก็ยังได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดอยู่ดี โดยการเลือกตั้งซ่อม ก็ได้ 248 ที่นั่ง จาก 500 ที่นั่ง
ส่งผลให้ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ในฐานะหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับหนึ่ง ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย
ภาพ: CHAIWAT SUBPRASOM
นโยบายจากนักธุรกิจ เอาใจประชาชนคนรากหญ้า
ปัญหาแรกของ ‘ทักษิณ’ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาประเทศ แต่เป็นคดีการปกปิดทรัพย์สินและหนี้สิน (ซุกหุ้น) โดยมีข้อกล่าวหาว่าเขาโอนหุ้นมูลค่ารวมกว่า 4,000 ล้านบาทให้กับแม่บ้าน คนขับรถ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
แต่ต่อมาในวันที่ 3 สิงหาคม 2544 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติให้พ้นความผิดจากข้อกล่าวหานี้ และเป็นที่มาของวลี ‘บกพร่องโดยสุจริต’ ที่ถูกใช้ในทางการเมืองนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
หลังจากพ้นคดี ‘ทักษิณ’ เดินหน้านโยบายพัฒนาแก้ไขปัญหาประเทศได้อย่างเต็มระบบ โดยมุ่งเน้นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ กระจายทรัพยากร และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
จากการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 ‘ทักษิณ’ ได้เริ่มต้นจากการแก้ปัญหาที่ใกล้ตัวประชาชนมากที่สุด ได้แก่ ภาระหนี้สินของเกษตรกร การขาดแคลนแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในชุมชน และการเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เช่น การรักษาพยาบาล
รัฐบาลได้ประกาศนโยบายเร่งด่วน ได้แก่ การพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรรายย่อยเป็นเวลา 3 ปี รวมถึงการจัดตั้งธนาคารประชาชนและธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเป็นระบบ ลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นปัญหาหลักของคนยากจนในชนบท และพัฒนาผู้ประกอบการเดิม เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการใหม่ เพื่อสร้างและรักษาฐานการผลิต การจ้างงาน การสร้างรายได้ และการส่งออก
รวมถึงการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน แห่งละหนึ่งล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียน ในการลงทุนสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในชุมชน พร้อมทั้งจัดให้มีโครงการ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เพื่อให้แต่ละชุมชนได้ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาสินค้า โดยรัฐจะให้ความช่วยเหลือด้านความรู้ใหม่และการบริหารจัดการ เพื่อเชื่อมโยงสินค้าจากชุมชน สู่ตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ด้วยระบบร้านค้าเครือข่ายและอินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้ นโยบายที่สำคัญซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของรัฐบาล ‘ทักษิณ’ คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขไทยในเวลานั้น จากหน้ามือเป็นหลังมือ
ประชาชนทุกคนสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ในราคาเพียง 30 บาทต่อครั้ง ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวที่ยากจน แต่ยังเป็นการขยายสิทธิ์การเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานในสังคมไทยด้วยเช่นกัน
ในด้านการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ‘ทักษิณ’ ยังให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยจัดตั้งกลุ่มบริหารสินทรัพย์เพื่อเร่งจัดการกับหนี้เสียในระบบธนาคาร ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ ลดการแทรกแซงทางการเมือง และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของกิจการสาธารณะได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ‘ทักษิณ’ ยังให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยใช้หลัก ป้องกันนำหน้าการปราบปราม ผู้เสพต้องได้รับการรักษา ผู้ค้าต้องได้รับการลงโทษเด็ดขาด ซึ่งมีการเข้มงวดกับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมผู้ค้าและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการยาเสพติดอย่างเด็ดขาด
นโยบายนี้นำไปสู่การประกาศ สงครามยาเสพติด ซึ่งมีการปราบปรามอย่างรุนแรงและไม่เป็นธรรมต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ นำไปสู่ข้อครหาที่นานาประเทศต่างวิพากษ์วิจารณ์
จากนโยบายที่สอดคล้องและตรงกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศทำให้ได้รับการตอบรับที่ดีเป็นอย่างมากทั้งในตัวพรรคไทยรักไทยเองและในตัวของทักษิณเองเช่นกัน
นอกจากนี้ พรรคความหวังใหม่ ยังมีมติให้ยุบพรรครวมกับพรรคไทยรักไทย ทำให้ยิ่งมีจำนวน สส. ในฝ่ายรัฐบาลมากยิ่งขึ้น ฝ่ายค้านจึงไม่สามารถรวบรวมสมาชิกในสภา เพื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ จึงทำให้ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนครบวาระ 4 ปี
ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมือง ที่ผู้นำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย สามารถอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระได้ นับตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 จนถึงวันที่ 11 มีนาคม 2548 ก่อนจะมีการกำหนดให้เลือกตั้งใหม่ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548
ภาพ: thaksinofficial
นายกฯ สมัยที่ 2 กับนโยบายสานต่อวาระแรก
ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปจะจัดขึ้น ประเทศไทยได้พบเจอกับปัญหามากมาย เช่น เหตุการณ์ภัยธรรมชาติจากคลื่นสึนามิครั้งใหญ่ ที่เกิดในวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 5,000 คนและทำลายทรัพย์สินอีกจำนวนมาก ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้น รวมถึงปัญหาความไม่โปร่งใสของคณะรัฐบาลและบุคลิกท่าทีเผด็จการของ ‘ทักษิณ’
แต่กระแสความนิยมในตัวเขากลับไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด อาจเป็นเพราะนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนส่วนมาก และยังขาดตัวเลือกที่ดีกว่าในการดำรงตำแหน่ง ณ ขณะนั้น
การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทย ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนทั่วประเทศอย่างล้นหลามแบบที่ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาก่อน โดยได้รับที่นั่งในสภามากถึง 377 ที่นั่ง ส่งผลให้ ‘ทักษิณ’ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ในวันที่ 9 มีนาคม 2548
หลังการดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยที่ 2 รัฐบาล ‘ทักษิณ’ ได้ประกาศแนวทางการบริหารประเทศ จากคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในวันที่ 23 มีนาคม 2548 มีเป้าหมายใหญ่คือ การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยสานต่อจากนโยบายก่อนหน้าที่เป็นนายกฯ สมัยแรก ทั้งการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ อัตราการว่างงาน หนี้สาธารณะ และจำนวนคนยากจน
หนึ่งในนโยบายสำคัญที่สุด คือ การขจัดความยากจน ผ่านโครงการต่างๆ เช่น กองทุนหมู่บ้านและสินเชื่อเพื่อรายย่อย ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนระดับล่างเข้าถึงเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพ วางรากฐานทุนชุมชน เพื่อให้คนจนมีศักดิ์ศรีและอยู่ได้ด้วยตนเอง
รวมถึงการพัฒนาคนและระบบสวัสดิการสังคม เช่น การรักษาพยาบาล 30 บาท การศึกษาที่เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ทันโลกโดย เน้นนวัตกรรม การเพิ่มสภาพคล่อง และการเปิดตลาดผ่านข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ
นโยบายที่ยังคงสานต่อจากวาระแรก ทำให้พรรคไทยรักไทยยังคงได้รับความนิยมสูงจากประชาชน และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยไม่ต้องพึ่งพรรคร่วม ส่งผลให้ฝ่ายค้านไม่สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้เช่นเดิม
แต่อย่างไรก็ตาม ภายในพรรคกลับมีความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อการบริหารประเทศ รวมถึงความไม่โปร่งใสในการบริหาร คดีข้อครหาต่างๆ อีกทั้งการใช้อำนาจรัฐอย่างไม่ยุติธรรม และพยายามแทรกแซงสื่อ จึงเริ่มทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากประชาชน และขยายวงกว้างจนทวีรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ภาพ: thaksinofficial
สิ้นสุด… เส้นทางนายกฯ สู่ผู้ลี้ภัยทางการเมือง
แม้รัฐบาล ‘ทักษิณ’ จะได้รับความนิยมอย่างสูงจากนโยบายที่เข้าถึงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค และกองทุนหมู่บ้าน แต่ก็มาพร้อมเสียงวิจารณ์เรื่องความไม่โปร่งใส การใช้อำนาจอย่างแข็งกร้าวราวกับเป็นเผด็จการ
โดยเฉพาะสงครามยาเสพติด ที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน และปฏิบัติการที่รุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการเข้าแทรกแซงสื่อมวลชน และใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจครอบครัว
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 2549 เมื่อครอบครัวชินวัตร ขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ให้กับ เทมาเส็ก โฮลดิงส์ ของรัฐบาลสิงคโปร์ มูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท ผ่านตลาดหลักทรัพย์ซึ่งยกเว้นการเสียภาษี และยังเป็นการใช้ นอมินี หรือให้บุคคลอื่นถือหุ้นแทน เพื่อเลี่ยงกฎหมายที่จำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของชาวต่างชาติ ซึ่งห้ามไม่ให้เกิน 49%
กลุ่มบริษัทที่ถูกตั้งขึ้นมาเป็นนอมินี คือ บริษัทกุหลาบแก้ว และ Cedar Holdings ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ไม่มีประวัติการดำเนินการทางธุรกิจมาก่อน และมีทุนจดทะเบียนต่ำ แต่กลับถือหุ้นหลายหมื่นล้านบาท รวมถึงมีการใช้ชื่อคนใกล้ชิดหรือพนักงานในกลุ่มบริษัทชินคอร์ป เป็นผู้ถือหุ้นด้วยเช่นกัน
เรื่องนี้กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่จุดกระแสความไม่พอใจในวงกว้าง เกิดการรวมตัวของประชาชนหลากหลายกลุ่มภายใต้ชื่อ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือ ‘กลุ่มเสื้อเหลือง’ นำโดย สนธิ ลิ้มทองกุล และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง โดยยกข้อกล่าวหา เช่น คอร์รัปชัน ละเมิดสถาบัน และแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวจากอำนาจรัฐ พร้อมเรียกร้องให้ ‘ทักษิณ’ ลาออก
‘ทักษิณ’ พยายามแก้ปัญหา โดยประกาศยุบสภาเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2549 และจัดให้มี เลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 เมษายน แต่พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมาตุภูมิ กลับไม่ยอมส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งและประกาศบอยคอตต์ ทำให้การเลือกตั้งขาดความชอบธรรม ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยให้เป็นโมฆะ และให้จัดเลือกตั้งใหม่ในเดือนตุลาคม
แต่ในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และกองทัพได้เข้าทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาล ในขณะที่ ‘ทักษิณ’ อยู่ต่างประเทศเพื่อร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่นิวยอร์ก โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ละเมิดหลักการประชาธิปไตย และล่วงละเมิดต่อสถาบัน
ด้วยเหตุการณ์รัฐประหารที่เกิดขึ้นและความไม่สงบทางการเมือง ‘ทักษิณ’ จึงกลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองอย่างไม่เป็นทางการ โดยใช้ชีวิตอยู่ที่อังกฤษและประเทศ อื่นๆ ระยะหนึ่ง ในขณะที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้มีการพิจารณาตรวจสอบทรัพย์สิน รวมถึงคดีต่างๆ ที่ ‘ทักษิณ’ มีความเกี่ยวข้อง
คดีแรกที่ ‘ทักษิณ’ ถูกกล่าวหา คือ การใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ เอื้อประโยชน์ให้ คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร (ขณะนั้นใช้นามสกุล ชินวัตร อยู่) ผู้เป็นภรรยา ซื้อที่ดินจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (คดีที่ดินรัชดาฯ)ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้องต่อ ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
จนกระทั่ง ‘ทักษิณ’ ได้เดินทางกลับมาประเทศไทยอีกครั้งในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 ในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช จากพรรคพลังประชาชน ซึ่งได้รับเลือกตั้งหลังการรัฐประหารในปลายปี 2550 โดยการกลับมาในครั้งนี้ เขาได้กลับมาเพื่อสู้คดีพร้อมยื่นประกันตัวในคดีดังกล่าว ในขณะที่ ‘สมัคร สุนทรเวช’ ถูกมองว่าเป็น นอมินี ของเขา
แต่ต่อมา ก็มีคำพิพากษาจากศาลออกมาในวันที่ 21 ตุลาคม 2551 ตัดสินให้ ‘ทักษิณ’ จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา และออกหมายจับทันที แต่ในขณะนั้นเอง เขาก็ได้เดินทางออกนอกประเทศ ไปก่อนหน้าแล้ว โดยอ้างว่าออกไปดูการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เมืองปักกิ่ง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการลี้ภัยทางการเมืองอย่างเป็นทางการ
ที่มา: thaksinofficial
การดำเนินคดีต่างๆ ขณะลี้ภัยทางการเมือง
ภายหลังคำพิพากษาคดีที่ดินรัชดาฯ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุก ‘ทักษิณ’ เป็นเวลา 2 ปี และออกหมายจับในช่วงที่เขาได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว คดีนี้จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการตรวจสอบอำนาจรัฐย้อนหลัง
หลายปีต่อมา ศาลได้ทยอยพิจารณาคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้อำนาจโดยมิชอบ การเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจใกล้ชิด รวมถึงข้อกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในระดับโครงสร้าง
หนึ่งในคดีสำคัญที่ถูกนำขึ้นสู่การพิจารณาในเวลาต่อมาคือ ‘คดีหวยบนดิน’ ซึ่งสะท้อนแนวคิดของรัฐบาล ‘ทักษิณ’ ในการแปรความนิยมเป็นนโยบายเชิงปฏิบัติแบบเร่งด่วน โดยโครงการสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว
อย่างไรก็ตาม แม้โครงการดังกล่าวจะเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน แต่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกระทรวงการคลัง ตรวจสอบพบว่า ไม่มีการตราเป็นพระราชบัญญัติหรือกฎหมายที่ถูกต้อง และถือว่าเป็นการออกสลากนอกเหนือจากที่กฎหมายอนุญาต
ต่อมาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562 ศาลฎีกาแผนกอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาว่า โครงการนี้ ขัดต่อพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 และเข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ รวมถึงผิด พระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ปี 2542
ศาลจึงตัดสินให้ ‘ทักษิณ’ จำคุกเป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา แต่ในเวลานั้นเขาไม่ได้อยู่ในประเทศไทย และไม่ได้เดินทางมาฟังคำตัดสิน ศาลจึงออกหมายจับ
หลังจากคดีหวยบนดิน คือ คดีการปล่อยกู้ผ่าน EXIM Bank ให้รัฐบาลเมียนมา โดยรัฐบาลไทยมีอนุมัติวงเงินกู้ประมาณ 4,000 ล้านบาท ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าต้นทุนธนาคาร เพื่อให้เมียนมานำไปซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทที่เกี่ยวข้องกับชินคอร์ป
ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาในวันที่ 23 เมษายน 2562 ว่า ‘ทักษิณ’ ใช้อำนาจโดยมิชอบ ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 ฐานเอื้อประโยชน์ให้กับกิจการที่ตนมีส่วนเกี่ยวข้อง และตัดสินจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา พร้อมออกหมายจับตามคำพิพากษาเนื่องจากเขาไม่ได้เดินทางมาฟังคำตัดสิน
คดีต่อมา คือ คดีแปลงสัญญาสัมปทานโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต จากมติรัฐบาลในปี 2546 ให้บริษัทโทรคมนาคมที่เคยอยู่ภายใต้สัมปทานกับรัฐ เปลี่ยนจากการแบ่งรายได้ให้รัฐ เป็นการเสียภาษีสรรพสามิต โดยไม่ได้แก้ไขสัญญาสัมปทานเดิมให้ถูกต้องตามกฎหมาย
แม้จะอ้างว่าเพื่อลดความซ้ำซ้อนของภาษี แต่รัฐได้รับรายได้น้อยลง เนื่องจากภาษีสรรพสามิต เก็บน้อยกว่าส่วนแบ่งรายได้จากสัมปทาน ในขณะที่บริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับครอบครัวชินวัตร จ่ายน้อยลงแต่ได้กำไรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ส่วนตัวโดยมิชอบ
ศาลฎีกาฯ จึงมีคำพิพากษาออกมาในวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ว่า ‘ทักษิณ’ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานใช้อำนาจโดยมิชอบ และผิดตาม พระราชบัญญัติ ป.ป.ช. โดยตัดสินให้จำคุก 3 ปี และออกหมายจับ
อย่างไรก็ตาม คดีที่ส่งผลกระทบทางการเมืองมากที่สุด คือ คดีการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ให้แก่ เทมาเส็ก โฮลดิงส์ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 ซึ่งไม่เสียภาษีและใช้นอมินีในการถือหุ้นข้ามชาติ ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้ต่างชาติถือครองกิจการโทรคมนาคมที่มีลักษณะเป็นยุทธศาสตร์ของชาติ
แม้ศาลจะไม่พิพากษาจำคุกในคดีนี้ แต่ก็ได้ใช้เป็นหลักฐานประกอบคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 สั่งให้ ยึดทรัพย์ ‘ทักษิณ’ และครอบครัว จำนวน 46,373 ล้านบาท โดยชี้ว่า เขาใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบเพื่อเอื้อประโยชน์ส่วนตัว
พร้อมทั้งระบุว่า เขายังมีอำนาจในการควบคุมชินคอร์ป ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้ใช้อำนาจรัฐในการแก้ไขกฎหมายบางประการที่เอื้อประโยชน์ต่อกิจการส่วนตัว เช่น การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ยกเว้นภาษีเงินได้จากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้หุ้นชินคอร์ปไม่ต้องเสียภาษี
จากคดีความผิดต่างๆ ทำให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รายงานและเสนอให้ ถอดตำแหน่ง ‘พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร’ ออกจากยศตำรวจ จากความผิดตามคำพิพากษาของศาลซึ่งเป็นการเสื่อมเสียและกระทบต่อความมั่นคงของชาติ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ประกาศพระราชกิจจานุเบกษาให้ถอดยศดังกล่าว ในวันที่ 5 กันยายน 2558 โดยมีผลนับตั้งแต่วันที่ถัดจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ต่อมา ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศพระราชโองการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้นตรา ในวันที่ 30 มีนาคม 2562 กระทรวงมหาดไทยจึงขอพระราชทานให้ถอดยศกองอาสารักษาดินแดนของทักษิณออกเสียจากยศ นายกองใหญ่ จากคำพิพากษาของศาลและการหลบหนีออกนอกราชอาณาจักร
โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2562 ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติยศและเครื่องแบบผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 ทำให้ปัจจุบัน ‘ทักษิณ’ ไม่มียศตำแหน่งทางราชการใดๆ เหลืออยู่เลย
ภาพ: thaksinofficial
กลับไทยในรอบ 15 ปี พร้อมคดีใหม่ที่ทับซ้อนคดีเก่า
หลังจากลี้ภัยอยู่ต่างประเทศนานถึง 15 ปี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ได้เดินทางกลับประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ซึ่งตรงกับวันที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย คือ เศรษฐา ทวีสิน อดีตผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่
ได้รับความไว้วางใจเสียงข้างมากจากที่ประชุมรัฐสภา (สส. และสว.) ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30
จึงทำให้หลายฝ่ายมองว่า การกลับประเทศในรอบ 15 ปีครั้งนี้ มาด้วย ‘ดีล’ พิเศษ ที่ไม่ได้เป็นการกลับมาเพื่อรับโทษ แต่เป็นการกลับมาเพื่อเดินเกมทางการเมือง
ทันทีที่เดินทางถึงไทย ‘ทักษิณ’ ถูกควบคุมตัวตามหมายจับในคดีเก่าที่มีคำพิพากษาทันที โดยรวมโทษจำคุกทั้งสิ้น 8 ปี ทั้งจาก คดีที่ดินรัชดาฯ คดีหวยบนดิน และคดีปล่อยกู้ EXIM Bank ให้เมียนมา
อย่างไรก็ตาม ‘ทักษิณ’ ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ และอยู่ได้ไม่ถึง 24 ชั่วโมง เขาก็ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ
ไม่นานหลังจากนั้น เขาก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษจำคุกเหลือเพียง 1 ปี แต่ตลอดระยะเวลาจำคุกโทษที่เหลือนั้น ‘ทักษิณ’ ได้รับการรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 ของอาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา
ต่อมาทักษิณ ได้รับการพักโทษเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเข้าเกณฑ์เป็นผู้ต้องขังอาวุโสและเจ็บป่วยเรื้อรัง โดยครบกำหนด 180 วัน ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ และถูกคุมประพฤติ เป็นเวลา 6 เดือน ก่อนที่จะพ้นโทษในช่วงเดือน สิงหาคม
จึงทำให้หลายฝ่ายในสังคมตั้งข้อสงสัยว่า ป่วยจริง หรือเป็นเพียงการเลี่ยงอยู่ในคุก ทำให้มีการยื่นร้องแพทยสภาให้มีการตรวจสอบ และทำโทษแพทย์ที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ราย 1 รายจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ให้ใบเตือน ส่วนอีก 2 ราย แพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจพักใบอนุญาตวิชาชีพ และนำมาซึ่งการรับคำร้องของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้พิจารณาด้วย
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้เปิดคดีชั้น 14 ซึ่งเป็นการไต่สวนขั้นตอนตรวจสอบว่าอดีตนายกรัฐมนตรี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ มีการรักษาตัวนอกเรือนจำหรือไม่
ศาลได้เรียกผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายให้ชี้แจง ได้แก่ ผู้บัญชาการเรือนจำ, อธิบดีกรมราชทัณฑ์, แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งในขณะนี้คดีก็ยังมีการนัดไต่สวนพยานต่างๆ เพิ่มเติม และยังคงไม่มีคำตัดสิน
ไม่ใช่แค่คดีชั้น 14 ที่เป็นคดีใหม่ แต่ยังมีคดีหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากบทสัมภาษณ์ของเขากับสื่อของเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 รวมถึงความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่เกี่ยวข้องกับการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบในลักษณะที่เป็นภัยความมั่นคง
ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2568 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อขออนุมัติให้ฟ้อง ‘ทักษิณ’ เป็นจำเลยในคดีดังกล่าว โดยศาลได้นัดสืบพยานสำคัญ ได้แก่ วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี, ธงทอง จันทรางศุ อดีตเลขาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และตัวเขาเองเป็นพยานปากสุดท้าย และได้กำหนดนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 22 สิงหาคมนี้
การกลับมาของ ‘ทักษิณ’ จึงไม่ได้จบแค่เรื่องการกลับบ้านหรือการได้รับอิสรภาพจากคดีความต่างๆ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของคำถามในสังคม ว่าคนที่เคยมีตำแหน่งและอำนาจมายาวนาน จะมีกระบวนการยุติธรรมที่แท้จริงเกิดขึ้นหรือไม่
กว่า 3 ทศวรรษในบทบาททางการเมืองปัจจุบัน ถึงแม้จะไม่ได้มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการ แต่หลายคนก็รู้ดีว่าเขายังมีบทบาทอยู่เบื้องหลัง โดยเฉพาะรัฐบาลภายใต้การนำพรรคเพื่อไทย
การกลับมาครั้งนี้จึงมีผลต่อสถานการณ์ทางการเมือง และทำให้หลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามว่า ทักษิณกลับมาเพื่อปิดคดี หรือเพื่อเปิดเส้นทางการเมืองใหม่อีกครั้ง
ทั้งหมดนี้ทำให้ชื่อของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ไม่เคยเลือนหายไปจากสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นคดีความที่ยังเหลืออยู่ บทบาททางการเมืองที่ยังปรากฏอยู่ในเงา หรือความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจที่ยังเป็นปริศนา ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้สังคมยังต้องจับตาดูเขาอย่างใกล้ชิด เพราะนี่คือ ‘ตัวแปรสำคัญ’ ในการเมืองไทย
ภาพ: Yingluck Shinawatra / Facebook
อ้างอิง:
- https://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ทักษิณ_ชินวัตร
- https://www.thaksinofficial.com/shinawatra-computer-thinking/
- https://www.thaksinofficial.com/phone-link/
- https://www.thaksinofficial.com/thaicom-satellite-for-the-future-of-thai-people/
- https://factsanddetails.com/southeast-asia/Thailand/sub5_8a/entry-3194.html
- https://www.soc.go.th/wp-content/uploads/2020/01/pol_54.pdf
- https://www.thaigov.go.th/aboutus/history/policy/11
- https://www.thaksinofficial.com/phd-program-help-open-a-new-world-of-life/
- https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/E/207/1.PDF
- https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/17076225.pdf