×

แสนยานุภาพทัพไทย ปฏิบัติการปกป้องดินแดนและอธิปไตย

26.07.2025
  • LOADING...

อย่างที่เรารู้กันก็คือการปะทะกันระหว่างไทยและกัมพูชาเริ่มจากฝ่ายกัมพูชาส่งโดรนและกองกำลังกำลังเข้าประชิดฐานฝ่ายไทยจนเกิดการปะทะขึ้นที่บริเวณปราสาทตาเมือนธม และขยายออกไปทั้งแนวเกือบจะทุกจังหวัดที่กองทัพภาคที่ 2 รับผิดชอบ อาวุธหนักถูกใช้งานตั้งแต่ช่วงแรก โดยกัมพูชาระดมยิงจรวดหลายลำกล้องขนาด 122 มม. ทั้งแบบ BM-21 แบบ Type-81 หรือ RM-70 ยิงเข้าใส่ฝ่ายไทย ส่วนฝ่ายไทยนอกจากการยิงปืนใหญ่ตอบโต้แล้วยังส่งเครื่องบินขับไล่ F-16 ไปทิ้งระเบิดกองบัญชาการกองพลของกัมพูชา

 

จุดที่น่าสนในของปฏิบัติการของ F-16 ก็คือเป็นการปฏิบัติการตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการปะทะเริ่มขึ้น นั่นหมายถึงว่ากองทัพอากาศเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติการมานานแล้วทั้งแผนการปฏิบัติภารกิจ เส้นทางการบิน อาวุธที่ใช้ และเป้าหมายซึ่งเชื่อว่าถูกจัดเอาไว้ในบัญชีเป้าหมายตั้งแต่ต้น เนื่องจากกองบัญชาการกองพลทั้งสองนั้นคือกองพลที่ออกคำสั่งให้ไปวางทุ่นระเบิดจนทหารไทยขาขาดไปสองนาย การโจมตี ณ จุดที่ออกคำสั่งคือการตอบโต้โดยตรงต่อการวางทุ่นระเบิดที่นอกจากจะละเมิดอนุสัญญาออตตาวาแล้ว ยังเป็นการละเมิดอธิปไตยของไทยอีกด้วย

 

คาดว่า F-16 ที่ใช้งานมีทั้งที่มาจากฝูงบิน 103 กองบิน 1 โคราช และฝูงบิน 403 กองบิน 4 ตาคลี โดยมีรายงานว่าในภารกิจแรกจัด F-16 จำนวน 6 ลำใช้ระเบิด GBU-12 เข้าทำลายเป้าหมาย ซึ่งถ้าข้อมูลระเบิดถูกต้อง แปลว่ามีการใช้ F-16 สองลำทำภารกิจชี้เป้า ซึ่งการชี้เป้าคือการยิงแสงเลเซอร์ความเข้มข้นสูงแต่ตามองไม่เห็นไปยังเป้าหมายด้วยกระเปาะชี้เป้า Sniper ATP ส่วน F-16 ลำอื่นที่เข้าโจมตีก็จะทิ้งระเบิด GBU-12 ซึ่งนำวิถีด้วยเลเซอร์ โดยระเบิดจะมีเซนเซอร์ตรวจจับพลังงานของเลเซอร์ที่สะท้อนออกจากเป้าหมาย และมีครีบเพื่อปรับทิศทางในการวิ่งเข้าสู่เป้าหมาย

 

ด้วยวิธีนี้ จะทำให้ระเบิดพลาดเป้าไม่เกิน 5 เมตร แม้จะทิ้งจากความสูง 3–4 กิโลเมตรเหนือพื้นดินก็ตาม ซึ่งจะแตกต่างจากจรวดหลายลำกล้องของกัมพูชาที่พบว่าส่วนใหญ่ตกในเขตบ้านเรือนประชาชน โรงพยาบาล และสถานีบริการน้ำมันจนมีพลเรือนเสียชีวิตจำนวนมาก

 

จรวดหลายลำกล้องนั้นจริงๆ แล้วถูกออกแบบมาให้ทำลายเป็นพื้นที่ หมายถึงเน้นการทำลายพื้นที่กว้างเช่นสนามบิน ที่รวมพล หรือฐานทัพขนาดใหญ่ และด้วยคุณสมบัติของจรวดที่มีความแม่นยำต่ำ ทำให้ปกติแล้วจะต้องตั้งยิงทีละ 5–6 คันเพื่อให้เกิดผลลัพธ์การโจมตีที่ดีที่สุด ซึ่งจะแตกต่างจากปืนใหญ่ที่จะมีความแม่นยำสูงกว่ามาก แต่ก็จะทำลายได้เป็นจุดๆ ไป

 

แต่ภาพที่ปรากฏพบว่ากัมพูชายังใช้การยิงจรวดหลายลำกล้องจากรถยิงเพียงคันเดียว ซึ่งบรรทุกจรวดได้คันละ 40 นัด มีระยะยิงไกล 40 กิโลเมตร สิ่งนี้ถ้าไม่ใช่เพราะว่ากัมพูชายังขาดความรู้ในการใช้งานจรวดหลายลำกล้องจริงๆ ก็อาจแสดงให้เห็นว่ากัมพูชามีลูกจรวดจำกัด ต้องยิงทีละน้อยๆ เพื่อประหยัด จึงไม่สามารถตั้งยิงพร้อมกันด้วยรถยิงทีละหลายคันได้ แต่การตั้งยิงทีละคันก็ให้ผลลัพธ์ต่ำเช่นกัน เช่นในการปะทะเมื่อปี 2554 ซึ่งมีหลายครั้งที่ฐานของทหารไทยถูกจรวดหลายลำกล้องจำนวน 40 นัดยิงเข้าใส่แต่ได้รับความเสียหายต่ำมากและไม่มีกำลังพลบาดเจ็บ

 

ดังนั้นเมื่อประกอบกับความแม่นยำที่ต่ำ ทำให้เกิดภาพของการที่กัมพูชาโจมตีโรงพยาบาลและบ้านเรือนประชาชนของไทย ซึ่งถือว่าผิดหลักการและกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับ ยังไม่นับว่าการยิงเข้าใส่พื้นที่ใกล้แหล่งชุมชนนั้นถ้าเป็นกองทัพที่มีมาตรฐานและคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดจากประชาชนผู้บริสุทธิ์แล้ว จะไม่พิจารณาใช้งานจรวดหลายลำกล้องเป็นอันขาด

 

นอกจากนั้นเมื่อเกิดการปะทะในจุดอื่นๆ เช่น ภูมะเขือ บริเวณด้านข้างของปราสาทพระวิหาร กองทัพบกไทยยังใช้โอกาสนี้ในการโจมตีชิงพื้นที่ที่ถูกยึดไปตั้งแต่ปี 2554 คืนด้วยการผลักดันกำลังของกัมพูชาให้ถอยออกจากเส้นปฏิบัติการบนภูมะเขือและพื้นที่ข้างเคียงเพื่อตัดการส่งกำลังบำรุงบนปราสาทพระวิหารที่กัมพูชานำกำลังทหารไปประจำการเอาไว้

 

ที่จุดนี้นอกจากการใช้ปืนใหญ่แล้ว เรายังได้เห็นการใช้รถถังเข้ายิงสนับสนุนการปฏิบัติการอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีรายงานว่ากองทัพบกใช้รถถังแบบ T-84 Oplot แต่เชื่อว่าเป็นรายงานที่ผิดพลาด เพราะ Oplot มีพื้นที่รับผิดชอบในเขตกองทัพภาคที่ 1 ที่ปราจีนบุรี โดยในความเป็นจริงแล้วน่าจะเป็นรถถังแบบ Scorpion หรือ M48A5 ซึ่งมีคุณลักษณะเหมาะสมมากกว่าในการเข้าตีภูมิประเทศที่เป็นภูเขา

 

ณ จุดนี้มีรายงานว่ารถถัง T-55 ของกองทัพบกกัมพูชาถูกทำลายอย่างน้อย 2 คันด้วยการใช้ปืนใหญ่ ซึ่งก็เป็นลักษณะที่คล้ายกับเมื่อปี 2554 ที่รถถังและยานเกราะของกัมพูชาจำนวนมากถูกทำลายด้วยปืนใหญ่ของฝ่ายไทยที่มีความแม่นยำกว่า และปรับการยิงด้วยการใช้อากาศยานไร้นักบิน

 

ข้อจำกัดของกัมพูชาอีกอย่างหนึ่งก็คือกองทัพอากาศกัมพูชาไม่มีเครื่องบินขับไล่หรือโจมตี ทำให้ไม่สามารถให้การสนับสนุนทางอากาศแก่กำลังพลภาคพื้นดินหรือขึ้นสกัดกั้นเครื่องบินรบของฝ่ายไทยได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง กัมพูชาก็มีจรวดต่อสู้อากาศยานแบบ KS-1C ซึ่งได้รับมอบมาฟรีจากจีนจำนวน 4 ระบบ โดยแต่ละระบบประกอบไปด้วยรถเรดาร์ 1 คันและแท่นยิง 4 คัน สามารถยิงได้ไกล 50 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าเป็นภัยคุกคามที่สำคัญของเครื่องบินขับไล่ฝ่ายไทย

 

เพียงแต่ในทางกลับกันนั้น กองทัพอากาศไทยก็มี KS-1C ใช้งานจำนวน 1 ระบบ ทำให้กองทัพอากาศไทยรู้ขีดจำกัดและคุณสมบัติต่างๆ ของจรวดแบบนี้เป็นอย่างดี ซึ่งสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปปรับแต่งระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ของเครื่องบินขับไล่ของไทยให้สามารถป้องกันตนเองจากจรวด KS-1C ของกัมพูชาได้

 

โดยกำลังทางอากาศนี้ได้รับข้อมูลจากเรดาร์ของ Saab 340 Erieye ของกองทัพอากาศไทย ซึ่งเป็นเครื่องบินแจ้งเตือนล่วงหน้าหรือเรดาร์ลอยฟ้าที่สามารถส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบควบคุมและสั่งการของกองทัพอากาศไทยได้

 

ทั้งนี้ ในการปฏิบัติการในครั้งนี้กองทัพบกตั้งชื่อว่าปฏิบัติการยุทธบดินทร์ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแผนจักรพงษ์ภูวนาถ ซึ่งเป็นแผนเผชิญเหตุสำหรับชายแดนด้านตะวันออกของไทย โดยกระทรวงกลาโหมได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการทางทหารขึ้นที่กองบัญชาการกองทัพไทย มีผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้บัญชาการศูนย์ ซึ่งได้มอบหมายให้ผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์มีอำนาจในการบัญชาการและการใช้กำลังทางบก และร้องขอการสนับสนุนกำลังทางอากาศ และทางเรือ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติของกำลังทางบกตามแผนเผชิญเหตุ ด้วยการจัดโครงสร้างแบบนี้ ทำให้กำลังทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ สามารถปฏิบัติการร่วมกันได้เป็นหนึ่งเดียวกัน

 

เราต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงทั้งในสนามรบและในเวทีนานาชาติเกิดขึ้นหรือไม่ เพื่อหาแนวทางในการปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของประเทศไทยต่อไป

 

ภาพ: REUTERS / Athit Perawongmetha

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising