บิดเข็มนาฬิกากลับไปยังวันที่ 30 มีนาคม ปี 1987
ท่ามกลางผู้ชมกว่า 93,000 คน ที่แน่นขนัดใน Pontiac Silverdome เวทีของมหกรรมมวยปล้ำระดับโลกอย่าง WrestleMania III กลายเป็นเวทีประวัติศาสตร์ที่โลกไม่เคยลืม
ในการดวลเดือดระหว่าง “ยักษ์ใหญ่ไร้พ่าย” Andre the Giant กับ Hulk Hogan แชมป์ผู้เป็นดั่งสัญลักษณ์ของอเมริกันเรสต์ลิง จู่ๆ ทั้งสนามลุกขึ้นพร้อมกันแบบไม่ได้นัดหมาย เมื่อ Hogan ค่อยๆ ยกร่างของ Andre ที่หนักกว่า 230 กิโลกรัม ขึ้นมาทุ่มลงพื้นด้วยท่า bodyslam อันทรงพลัง และปิดเกมด้วย Leg Drop สุดคลาสสิก
นั่นไม่ใช่แค่ฉากหนึ่งในบทของการป้องกันแชมป์ แต่นั่นคือวินาทีที่ Hogan ประกาศตัวต่อสายตาแฟนมวยปล้ำทั่วโลกในฐานะ Icon ของวงการมวยปล้ำ โดยไม่ต้องเอ่ยชื่อตัวเองออกมาสักคำเดียว
ค่ำคืนนั้นกลายเป็นการจุดระเบิดให้กระแส Hulkster ลุกลามไปทั่วอเมริกา และกลายเป็นสัญลักษณ์วัฒนธรรมป๊อปของยุค 80 ไปตลอดกาล
แต่นั่นเป็นเพียงหนึ่งในโมเมนต์คลาสสิกที่คนทั้งโลกรู้จัก…
เพราะหากเราถอยออกมาสักก้าว แล้วมองชีวิตของชายชื่อ Terry Bollea หรือที่โลกรู้จักในชื่อ Hulk Hogan คุณจะได้เห็นภาพของนักมวยปล้ำที่เดินทางไกลจากชายผู้มีความฝัน สู่วีรบุรุษแห่งสังเวียน และในบางครา…ก็เป็นตัวร้ายที่วงการต้องจดจำ
และนี่คือโอกาสที่เราจะได้ย้อนสำรวจรอยเท้าของตำนานผู้พลิกโฉมวงการมวยปล้ำ ผู้ที่เคยเป็นทั้งฮีโร่ผู้กอบกู้ WWE และผู้ที่เคยมีบทบาทในยุคมืดของ WCW กับทุกเรื่องราวที่เขาได้ฝากไว้ในวงการที่เขารักที่สุด…วงการมวยปล้ำอาชีพ
“Ladies and gentlemen…Hulk Hogan”
ก่อนจะกลายเป็นฮีโร่ของชาติในสังเวียนมวยปล้ำโลก ชายคนนี้คือ Terry Gene Bollea เด็กหนุ่มจากเมืองออกัสตา ในรัฐจอร์เจีย ที่เกิดเมื่อปี 1953
เขาไม่เริ่มต้นชีวิตในฐานะนักกีฬา แต่เคยไล่ล่าความฝันในฐานะนักดนตรีมาก่อน
ในวัยหนุ่ม Bollea ไม่ได้เริ่มต้นชีวิตในฐานะนักกีฬา แต่ที่น่าสนใจคือเขาเคยไล่ล่าความฝันในฐานะนักดนตรีมาก่อน ตามข้อมูลเขาเป็นมือเบสของวงดนตรีร็อกเล็กๆ ในฟลอริดา เขาหลงใหลในเสียงดนตรีพอๆ กับที่หลงใหลในกีฬามวยปล้ำ เขาเติบโตขึ้นมาในยุคที่ฮีโร่แห่งสังเวียนคือชายร่างใหญ่ ทรงพลัง และเต็มไปด้วยเสน่ห์ ซึ่งเป็นภาพจำที่เขาซึมซับเอาไว้ในใจเสมอมา
กระทั่งโชคชะตานำพาให้เขาได้พบกับ Jack Brisco และ Gerald Brisco อดีตนักมวยปล้ำชื่อดังที่เห็นแววในตัวเขา จากร่างกายที่สูงใหญ่กว่า 6 ฟุต 6 นิ้ว และน้ำหนักกว่า 130 กิโลกรัม พร้อมกับบุคลิกที่ดึงดูดใจผู้คนได้ตั้งแต่แรกเห็น ทั้งคู่โน้มน้าวให้เขาลองก้าวเท้าสู่เวทีมวยปล้ำ และนั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต
จากนักดนตรีสู่นักมวยปล้ำฝึกหัด Bollea เริ่มฝึกฝนอย่างจริงจังภายใต้การดูแลของ Hiro Matsuda ในช่วงปลายยุค 70 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเทรนเนอร์ขาโหดของในวงการ ซึ่งเคยมีตำนานเล่าว่า ในวันแรกที่ฝึก Matsuda ถึงกับหักขา Hogan เพื่อทดสอบว่าเขาจริงจังกับวงการนี้มากแค่ไหน
ถึงจะโดนรับน้องหนักขนาดนั้น…แต่แทนที่เขาจะล้มเลิก Bollea กลับเลือกที่จะ “ลุกขึ้นใหม่” เพราะคำว่า ‘มวยปล้ำ’ คือความหลงใหลและแรงขับเคลื่อนไม่น้อยกว่าสิ่งใดในชีวิต นี่คือคุณสมบัติที่เขาพกติดตัวไปตลอดอาชีพ
และแน่นอนว่าเขาจะไม่มีทางรู้เลยว่าการกัดฟันสู้ต่อ…จะเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล
หลังจากผ่านการฝึกอันทรหด Bollea เริ่มปล้ำในเวทีท้องถิ่นเล็กๆ ทั่วรัฐฟลอริดาในช่วงปลายยุค 1970 เขาใช้ชื่อบนเวทีหลากหลายที่อาจฟังดูจั๊กจี้หูนิดนึง เช่น “The Super Destroyer” หรือ “Sterling Golden” พร้อมความพยายามค้นหาตัวตนที่ใช่ในวงการนี้
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อเขาเริ่มปรากฏตัวในรายการของ American Wrestling Association (AWA) ที่นำโดย Verne Gagne ค่ายที่เป็นจุดศูนย์รวมของเหล่าดาวรุ่งและนักมวยปล้ำฝีมือดีทั่วอเมริกา ในช่วงเวลานั้นเขาเริ่มใช้ชื่อ Hulk Hogan เริ่มมีฐานแฟนคลับเป็นของตัวเอง ด้วยภาพลักษณ์ของชายร่างยักษ์ ผมบลอนด์ สวมผ้าคาดหัว และกล้ามเนื้อที่ดูเหนือมนุษย์ทั่วไป จนกลายเป็นขวัญใจของคนดูได้ไม่ยาก
เสน่ห์บนเวทีของเขาไม่ได้หยุดอยู่แค่ฝั่งแฟนมวยปล้ำเท่านั้น แต่ยังไปเข้าตา Vince McMahon Sr. โปรโมเตอร์ใหญ่แห่ง World Wrestling Federation (WWF) ผู้กำลังมองหาดาวดวงใหม่มาขับเคลื่อนองค์กร
Hogan ได้รับโอกาสครั้งแรกใน WWF ด้วยแมตช์สั้นๆ กับ Harry Valdez ในรายการ Championship Wrestling ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 1979 โดยมี Vince McMahon และตำนานนักมวยปล้ำ Bruno Sammartino นั่งบรรยายร่วมกัน
แม้จะเป็นเพียงการปรากฏตัวระยะสั้น แต่ Hogan ก็ฝากฝีไม้ลายมือและบุคลิกที่โดดเด่นไว้ในใจผู้ชม จน Vince ถึงกับกล่าวว่า “ไม่มีใครเหมือนเขา” นับตั้งแต่ยุคของ Superstar Billy Graham
ไม่นานหลังจากนั้น โอกาสครั้งที่สองก็มาถึง เมื่อ Vince McMahon Jr. ลูกชายของ Vince Sr. ก้าวขึ้นมาบริหารกิจการต่อ และมีความประทับใจ รวมถึงมองเห็นศักยภาพของชายคนนี้อย่างเต็มตา เขาดึง Hogan กลับเข้าสู่ WWF ในช่วงต้นยุค 80s พร้อมวางแผนผลักดัน Hogan ครั้งใหญ่ที่สุดในวงการมวยปล้ำเวลานั้น…
กำเนิด ‘Hulkamania’ ซูเปอร์ฮีโร่ของอเมริกันชน
ภายใต้การบริหารกิจการของ Vince McMahon Jr. มีความชัดเจนว่า Hogan ได้ก้าวขึ้นมาเป็นหน้าตาของ WWF ในเวลานั้นอย่างรวดเร็ว เขากลายเป็นขาประจำใน Main Event แห่งยุค เป็นซูเปอร์สตาร์ที่ดึงดูดแฟนมวยปล้ำหน้าใหม่เข้ามาล้นหลาม
ในปี 1984 จุดเปลี่ยนที่เปรียบเสมือนการลุกไหม้ของไฟแห่งปรากฏการณ์ที่ไม่มีวันดับก็เกิดขึ้นกับตัวของ Hogan
ภายใต้การดูแลของ Vince McMahon Jr. เพียงไม่นาน Hulk Hogan ก็ได้รับโอกาสครั้งใหญ่ในการท้าชิงแชมป์โลกจาก The Iron Sheik หนึ่งในแชมป์ที่มีภาพลักษณ์ฝั่งตรงข้ามกับอเมริกันชนอย่างชัดเจน
ด้วยบริบทของสงครามเย็นและความตึงเครียดทางการเมืองในยุคนั้น การเผชิญหน้าของชายร่างยักษ์ผมทอง กับตัวแทนฝ่ายอริ กลายเป็นมากกว่าแค่แมตช์มวยปล้ำ แต่มันคือ “บทละครชาตินิยม” ที่จุดไฟให้คนดูทั้งสนามลุกฮือ
และวันที่ 23 มกราคม 1984 Hogan เอาชนะ Iron Sheik วายร้ายสุดแกร่งและคว้าแชมป์โลกมาครองได้สำเร็จ ในสนาม Madison Square Garden แห่งมหานครนิวยอร์ก ท่ามกลางเสียงเชียร์ถล่มทลาย
และใช่ครับ…นั่นคือจุดเริ่มต้นของสิ่งที่โลกจะจดจำไปตลอดกาลในชื่อว่า “Hulkamania”
เวลานั้น Hogan โด่งดังมาก เขากลายเป็นมากกว่านักมวยปล้ำ เพราะเขาเป็นซูเปอร์ฮีโร่ของคนอเมริกัน เป็นแบบอย่างของเด็กๆ ที่เชื่อว่าความดีจะเอาชนะทุกอย่างได้ ด้วยคติประจำตัวที่เขาย้ำเสมอบนจอทีวีว่า
“Train, say your prayers, eat your vitamins, and believe in yourself.” (จงหมั่นฝึกฝน สวดภาวนา กินวิตามิน และเชื่อในตัวเองเสมอ)
คำพูดนี้ถูกพิมพ์ลงบนเสื้อยืด ติดป้ายโปสเตอร์ และส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น มันกลายเป็นรากฐานของตัวตน Hulk Hogan และเป็นเครื่องหมายของปรากฏการณ์ Hulkamania ที่ทุกเวทีจะเต็มไปด้วยเสื้อสีเหลือง เสียงตะโกน “Hogan! Hogan!” และเด็กๆ ที่อยากจะเป็นเหมือน Hogan ในวันที่พวกเขาโตขึ้น
จาก ‘ฮีโร่’ สู่ ‘ด้านมืด’
แม้ Hulkamania จะยังคงดังกระหึ่มไปทั่วอเมริกาในช่วงปลายยุค 80
แต่เมื่อกาลเวลาเดินหน้าเข้าสู่ยุค 90s โลกของมวยปล้ำก็เริ่มเปลี่ยนไป และภาพของซูเปอร์ฮีโร่ผู้แสนดีในผ้าโพกหัวสีเหลือง เริ่มไม่ตอบโจทย์แฟนมวยปล้ำยุคใหม่อีกต่อไป
ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และรสนิยมผู้ชมที่เริ่มหันไปหาคาแรกเตอร์ที่ซับซ้อนและดาร์กกว่าเดิม, Hogan ในบทบาทพระเอกก็เริ่มถูกมองว่า “ซ้ำซาก” และ “เชย” โดยเฉพาะเมื่อนักมวยปล้ำเจเนอเรชันใหม่อย่าง Bret ‘The Hitman’ Hart, Shawn Michaels และ The Undertaker เริ่มก้าวขึ้นมาแทนที่
จุดเปลี่ยนในชีวิตของ Hogan เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ คือช่วงต้นทศวรรษ 1990 ความสัมพันธ์ระหว่าง Hogan กับ WWF เริ่มมีรอยร้าว เมื่อเขาถูกเชื่อมโยงกับคดีอื้อฉาวเรื่องสารกระตุ้น (steroids) แม้จะไม่ถึงขั้นโดนตัดสินว่าใช้ แต่ภาพลักษณ์ของเขาก็สั่นคลอนไปมาก จนในที่สุด Hogan ตัดสินใจออกจาก WWF ในปี 1993 ปิดฉากยุคทอง Hulkamania ที่เคยเรืองรอง
แต่เรื่องราวของเขายังไม่จบ…
สองปีหลังจากนั้น ในปี 1994 Hogan กลับมาอีกครั้งในเวทีของค่ายคู่แข่งอย่าง WCW (World Championship Wrestling) และสร้างกระแสฮือฮาให้กับวงการอีกคำรบ ด้วยการพาแฟนมวยปล้ำย้อนวันวาน Hulkamania สู่สังเวียนเชือกดำ
แม้ในช่วงแรกจะได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากแฟนๆ ที่หวนหาอดีต แต่ความนิยมก็เริ่มเสื่อมลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน
และแล้ว จุดหักมุมครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นในปี 1996 เมื่อ Hogan พลิกบทบาทจาก ‘ขวัญใจมหาชน’ สู่ ‘ตัวร้าย’ อย่างที่ไม่มีใครคาดคิด
เขาขึ้นเวทีพร้อมแว่นดำ กับบุคลิกเย้ยหยันกลุ่มแฟนมวยปล้ำที่เคยรักเขา พร้อมประกาศตัวก่อตั้งกลุ่ม New World Order (nWo) ร่วมกับ Kevin Nash และ Scott Hall กลุ่มแอนตี้ฮีโร่ตัวร้ายที่กลายเป็นซิกเนเจอร์ของยุค WCW
‘Hollywood Hogan’ ถือเป็นภาพจำใหม่ของชายที่เคยเป็นขวัญใจเด็กๆ เขากลายเป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลง ทั้งในแง่คาแรกเตอร์ การเล่าเรื่องในมวยปล้ำ และกลยุทธ์การตลาดที่ WCW ใช้เพื่อล้มคู่แข่งทางการตลาดอย่าง WWE แบบซึ่งหน้า
จุดตัดของชีวิต…เมื่ออีโก้เริ่มครอบงำ
แม้ Hollywood Hogan จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยจุดไฟให้ WCW กลายเป็นค่ายที่สามารถท้าทาย WWE (ชื่อใหม่ของ WWF) ได้อย่างร้อนแรงในช่วงกลางยุค 90s และผลักดันให้กลุ่ม nWo กลายเป็นกระแสหลักของวงการมวยปล้ำ แต่เมื่อความสำเร็จเริ่มล้นทะลัก สิ่งที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ‘อีโก้’ ทั้งจากตัว Hogan เอง และจากผู้มีอำนาจเบื้องหลังในค่าย
Hogan เริ่มมีอำนาจเบื้องหลังมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเรื่องเนื้อเรื่อง การตัดสินผลแมตช์ ไปจนถึงการเลือกคู่ต่อสู้ บ่อยครั้งที่เขาใช้สถานะของตัวเองในการแทรกแซงแนวทางของทีมสร้างสรรค์ และจำกัดโอกาสของนักมวยปล้ำคนอื่นๆ ในค่าย จนความขัดแย้งเริ่มปะทุขึ้นระหว่างเขาและทีมเขียนบท โดยเฉพาะกับ Vince Russo หัวหน้าฝ่ายสร้างสรรค์ในขณะนั้น
ตราบาปแห่ง Bash at the Beach 2000
กลิ่นอายของความขัดแย้งฝังลึกขึ้นทุกวัน จนกระทั่งถึงจุดแตกหักในศึก Bash at the Beach 2000 เหตุการณ์ที่กลายเป็นหนึ่งในความอื้อฉาวที่สุดในประวัติศาสตร์มวยปล้ำ
ในอีเวนต์นี้ ตามบทเดิม Hogan มีกำหนดขึ้นปล้ำกับ Jeff Jarrett เพื่อชิงแชมป์โลก แต่เกิดความโกลาหลกลางเวทีเมื่อ Jarrett เดินออกมาแล้วนอนลงยอมให้ Hogan กดนับสาม โดยไม่มีการปล้ำใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นไปตามแผนของ Russo ที่ตั้งใจจะจบบทของ Hogan อย่างไม่ให้มีเกียรติ
Hogan ที่โกรธจัด คว้าไมค์ขึ้นมาพูดสดกลางเวทีหลังจากใช้เท้ากด Jarrett นับสาม พร้อมกล่าวอย่างเดือดดาลว่า “นี่คือเหตุผลว่าทำไมบริษัทนี้ถึงไปไม่รอด!” ก่อนเดินออกจากสนามไปพร้อมกับเข็มขัดแชมป์โลก
ไม่นานหลังจากนั้น Russo ก็ออกมาพูดผ่านรายการสด ด่า Hogan อย่างดุเดือดว่าเป็น “ตัวถ่วงของวงการ” พร้อมประกาศจัดแมตช์ชิงแชมป์โลกใหม่ทันทีในค่ำคืนนั้น
นั่นคือฉากจบของความสัมพันธ์ระหว่าง Hogan กับ WCW แบบที่ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้น (ถ้ามีโอกาสเรื่องนี้ผมจะมาขยายความให้อ่านกันใน THE STANDARD SPORT)
หลังเหตุการณ์นั้น Hogan ไม่เคยกลับมาเหยียบเวที WCW อีกเลย ขณะที่บริษัทเองก็ตกต่ำอย่างรวดเร็วจากความโกลาหลภายใน และการบริหารที่ไร้ทิศทาง
ท้ายที่สุด ในปี 2001 WCW ก็ล่มสลายอย่างเป็นทางการ และถูก Vince McMahon ที่ตอนนั้นกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลของวงการแห่ง WWE เข้าซื้อกิจการ นับเป็นจุดจบของสงคราม ‘Monday Night War’ ที่ดำเนินมายาวนาน และเป็นชัยชนะของ WWE เหนือค่ายที่เคยโค่นพวกเขาได้ถึง 83 สัปดาห์ติดต่อกันในเรื่องเรตติ้ง
และปฏิเสธไม่ได้ว่า…หนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญที่พา WCW มาถึงจุดนั้น ก็คือชายที่ชื่อ Hulk Hogan นั่นเอง
Hogan is Back to WWE
ตัดภาพกลับมาที่ Hogan หลังห่างหายจาก WWE ไปนาน เขากลับมาอีกครั้ง ก่อน WrestleMania X8 ปี 2002 พร้อมกับ Scott Hall และ Kevin Nash ในนามกลุ่ม nWo (New World Order) ที่ WWE ดึงกลับมาใช้เพื่อปลุกกระแสก่อนศึกใหญ่
หลังจากนั้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ WWE ก็ประกาศแมตช์ Hogan ถูกจับประกบคู่ปล้ำกับ The Rock ซูเปอร์สตาร์ตัวแทนยุค Attitude Era ในแมตช์ที่ถูกขนานนามว่า ‘Icon vs Icon’ เพราะนี่คือการเผชิญหน้ากันของสองตำนานจากสองยุค ที่กลายเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของวงการมวยปล้ำ
ทว่า…แม้ในเวลานั้น Hogan จะอยู่ในบทตัวร้าย ภายใต้ลุค Hollywood Hogan และแม้ภาพลักษณ์ของเขาจะสั่นคลอนจากข่าวฉาวหลายระลอก แต่สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดคือ เสียงเชียร์ในสนาม SkyDome กลับเทใจให้เขาอย่างล้นหลาม
นั่นเพราะพลังของความทรงจำจากแฟนๆ ที่เติบโตมากับ Hulkamania ได้หลั่งไหลออกมาอย่างหยุดไม่อยู่ จนบรรยากาศวันนั้น กลายเป็นเหมือนพิธีต้อนรับตำนานกลับบ้าน
แม้แต่ Hogan เองยังต้องหันมองคนดูแล้วหลุดยิ้มออกมาด้วยความรู้สึกที่ตัวเขาเองก็ไม่คิดว่าจะได้รับ
แมตช์จบลงด้วยชัยชนะของ The Rock แต่สิ่งที่น่าจดจำยิ่งกว่านั้นคือฉากจบหลังเสียงระฆัง คือ Hogan แสดงสปิริตด้วยการยอมรับความพ่ายแพ้ จับมือกับ The Rock ท่ามกลางเสียงปรบมือจากแฟนๆ
…และวินาทีนั้นเอง เขากลับมาสู่บท ‘ขวัญใจมหาชน’ อย่างเต็มตัวอีกครั้ง
จากวันนั้นเป็นต้นมา Hogan กลับมารับบทเป็นฮีโร่ในชุดสีเหลืองแดงตามแบบฉบับคลาสสิกของตัวเอง โดยยังคงโลดแล่นใน WWE ทั้งในบทนักปล้ำและแขกรับเชิญพิเศษอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนจะค่อยๆ ลดบทบาทลงตามกาลเวลา บวกกับอายุที่มากขึ้น
และในปี 2005…Hulk Hogan ก็ได้รับเกียรติสูงสุดจาก WWE ด้วยการถูกบรรจุชื่อเข้าสู่ WWE Hall of Fame อย่างสมเกียรติ
แม้ชีวิตหลังจากนั้นของเขาจะเต็มไปด้วยทั้งแสงและเงามืด มีทั้งช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ และข่าวฉาวที่บั่นทอนภาพลักษณ์ในฐานะบุคคลคนหนึ่ง แต่หากพูดถึงสิ่งที่ Hogan ได้ฝากไว้ให้กับวงการมวยปล้ำแล้ว มันยิ่งใหญ่เกินกว่าจะมองข้าม
ไม่ว่าคุณจะชื่นชอบหรือเคยผิดหวังในตัวเขาเพียงใด คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า WWE ที่ยิ่งใหญ่ในทุกวันนี้ มีรากฐานที่หยั่งลึกจากพลังของ “Hulkamania” ที่เขาเป็นผู้จุดประกายขึ้นในยุค 80s
เขาคือแรงผลักสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนวงการมวยปล้ำในยุคที่ยังไม่มีใครเชื่อว่า กีฬานี้จะกลายเป็นวัฒนธรรมเมนสตรีมอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน เขาคือสะพานที่พา WWE จากเวทีท้องถิ่น สู่เวทีระดับโลก
และถ้าพูดแบบไม่ต้องอ้อมค้อม Hulk Hogan คือชายที่เปลี่ยนนิยามของมวยปล้ำ จากเวทีของนักกล้าม ให้กลายเป็นเวทีของความบันเทิง วัฒนธรรมป๊อป และแรงบันดาลใจของคนทั่วโลก
ในวันนี้ Hulk Hogan ได้จากเราไปแล้ว…
ชายผู้เปลี่ยนโลกของมวยปล้ำไปตลอดกาล ทิ้งไว้เพียงเรื่องเล่าแห่งความทรงจำ โมเมนต์แห่งความยิ่งใหญ่ และรากฐานที่ยังสั่นสะเทือนอยู่ในวงการกีฬาและความบันเทิงมาจนถึงทุกวันนี้
และไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน “Hulkamania” จะยังคงดังก้องอยู่ในหัวใจแฟนมวยปล้ำทั่วโลก และชื่อของเขา จะยังคงถูกจารึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์ตลอดไป
Goodbye, Legend
อ้างอิง: