×

ถอดบทเรียนครูวิภา โดนลูกศิษย์เบี้ยวหนี้ กยศ. จะคำ้ให้ใครต้องระวัง เตรียมปรับระบบเจาะถึงเงินบัญชีลูกหนี้

25.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MINS READ

 

  • ครูวิภาค้ำประกันให้นักเรียนตั้งแต่ปี 2541-2542 จำนวน 60 ราย ชำระหนี้ปิดบัญชี 29 ราย ชำระหนี้ตามปกติ 10 ราย ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งสิ้น 21 ราย ส่วนคดีอีก 17 คดีที่เหลือนั้นอยู่ในขั้นตอนการบังคับคดี
  • 17 คดีที่เหลือนั้น กยศ. จะระงับการบังคับคดีและขายทอดตลาดในเดือนสิงหาคมนี้ไว้ชั่วคราว เพื่อให้ฝ่ายกฎหมายเพิ่มความเข้มข้นในการติดตามตัวและทรัพย์ของลูกหนี้
  • เตรียมปรับกฎหมายใหม่ กยศ. ให้อำนาจเข้าถึงข้อมูลลูกหนี้ เบอร์โทรศัพท์ เงินในบัญชี

 

 

 

จากกรณี ครูวิภา บานเย็น ได้เป็นผู้ค้ำประกันให้แก่นักเรียนที่เป็นผู้กู้ยืมเงิน กยศ. แต่มีลูกศิษย์ที่ค้างชำระหนี้ กยศ. จนถึงขั้นบังคับคดีกับครูวิภา ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน

 

ครูวิภาค้ำประกันให้นักเรียนตั้งแต่ปี 2541-2542 จำนวน 60 ราย จากจำนวนดังกล่าว มีผู้กู้ที่ชำระหนี้ปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว 29 ราย ชำระหนี้ตามปกติ 10 ราย ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งสิ้น 21 ราย ในจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้องมีการยึดทรัพย์แล้ว 4 ราย ซึ่งทั้ง 4 รายนี้ครูวิภาได้มาชำระหนี้ในส่วนที่ค้ำประกันเรียบร้อยแล้ว ซึ่งกองทุนจะดำเนินการถอนการยึดทรัพย์ต่อไป

 

ส่วนคดีอีก 17 คดีที่เหลือนั้นอยู่ในขั้นตอนการบังคับคดี ซึ่งทั้ง 17 รายนี้คิดเป็นเงินต้นที่ค้ำประกันประมาณ 190,000 บาท รวมดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 300,000 บาท

 

“ใน 17 ราย ถ้าเขาไม่มาดำเนินการก็ถูกยึดทรัพย์อยู่ดี จะวอนให้ กยศ. ช่วยอย่างไร มันมีทางออกอย่างอื่นที่จะช่วย ณ ตอนนี้ได้บ้าง ถ้าพูดถึงความกังวลใจก็มีเท่าเดิม ต้องกู้เงินเพื่อไปไถ่ถอนทรัพย์ของตนเอง ถ้าเป็นไปได้ ขอยกหนี้ของเราให้คนกู้ 100% แต่ กยศ. ยืนยันเป็นไปไม่ได้” ครูวิภากล่าว

 

กยศ. ระงับบังคับคดีครูวิภาชั่วคราว
วันนี้ (25 ก.ค.) นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แถลงข่าวร่วมกับ นางสาววิภา บานเย็น ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร ชี้แจงว่า

 

ในส่วนคดีอีก 17 คดีที่เหลือนั้นอยู่ในขั้นตอนการบังคับคดี โดย กยศ. จะระงับการบังคับคดีและขายทอดตลาดในเดือนสิงหาคมนี้ไว้ชั่วคราว เพื่อให้ฝ่ายกฎหมายเพิ่มความเข้มข้นในการติดตามตัวและทรัพย์ของลูกหนี้

 

“เราจะนำชื่อทั้ง 17 รายไปเร่งค้นข้อมูลหาว่าทำงานที่ไหนและหักเงินเดือนที่ต้นสังกัด

 

และเร่งสืบหาทรัพย์ ซึ่งทั้ง 17 รายนั้นเป็นหนี้คนละจำนวนไม่มาก รวมกัน 1.9 แสนบาท รวมดอกเบี้ยไม่น่าเกิน 3 แสนบาท เราเชื่อว่าสามารถติดตามได้ทั้ง 17 ราย”

 

ยอมรับสืบทรัพย์ลูกหนี้เจอยากกว่าผู้ค้ำประกัน

ผู้จัดการกองทุน กยศ. แถลงข่าวชี้แจงว่า ที่ผ่านมาในการติดตามหนี้กองทุนไม่ได้ละเลยที่จะติดตามผู้กู้ยืม และได้ดำเนินการตามขั้นตอนติดตามหนี้จากผู้กู้ยืมมาอย่างต่อเนื่อง

 

“จริงๆ เราพุ่งไปที่ลูกหนี้ก่อนอยู่แล้ว แต่โอกาสที่ผู้ค้ำประกันจะมีทรัพย์สินนั้นมีสูงกว่า”

 

นายชัยณรงค์กล่าวยอมรับว่า การสืบทรัพย์ลูกหนี้ที่ผ่านมาเป็นเรื่องยาก โดยโอกาสพบทรัพย์สินของผู้ค้ำประกันจะมีสูงกว่า เนื่องจากลูกหนี้ กยศ. บางรายแม้จะมีเงินเดือน แต่ไม่มีทรัพย์สินหรืออสังหาริมทรัพย์ให้ติดตาม แต่ยืนยันในขั้นตอนว่าถ้าพบทรัพย์ของลูกหนี้ก็จะยึดก่อน แต่ถ้าไม่พบก็จะยึดทรัพย์ของผู้ค้ำประกัน

 

ทั้งนี้กองทุนจึงขอฝากเรื่องการค้ำประกันการกู้ยืมใดๆ ผู้ค้ำประกันจะต้องตระหนักว่าจะเป็นภาระผูกพันทางกฎหมาย และขอฝากถึงผู้กู้ยืมให้ชำระหนี้เป็นปกติ เพื่อไม่ให้ถูกฟ้องร้องจนเดือดร้อนถึงผู้ค้ำประกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบิดา มารดา ญาติ หรือครู อาจารย์ เพราะหากค้างชำระเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดเบี้ยปรับจำนวนมากอีกด้วย

 

กฎหมายใหม่ กยศ. ให้อำนาจเข้าถึงข้อมูลลูกหนี้ เบอร์โทรศัพท์ เงินในบัญชี

นายชัยณรงค์เปิดเผยด้วยว่า จากกรณีครูวิภา ทำให้สังคมได้ตระหนักถึงผลกระทบของการไม่ชำระหนี้ กยศ. มากขึ้น พร้อมเปิดเผยด้วยว่า ปัจจุบัน พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา

 

กฎหมายใหม่นี้ให้อำนาจ กยศ. ประสานขอข้อมูลส่วนตัวของลูกหนี้ เช่น เบอร์โทรศัพท์ ซึ่งปัจจุบัน กยศ. ได้ประสานขอข้อมูลเบอร์โทรศัพท์มือถือจากข้อมูลที่มีการลงทะเบียนไว้เพื่อติดตามทวงหนี้ โดยมีทั้งส่ง SMS และข้อความเสียง รวมถึงมีการโทรศัพท์เพื่อติดตามทวงหนี้

 

นายชัยณรงค์กล่าวด้วยว่า “กยศ. มีอำนาจเข้าถึงข้อมูลทั้งจากกรมสรรพากร ข้อมูลประกันสังคม โดยสามารถลงลึกไปถึงเงินในบัญชีของผู้กู้ได้ในอนาคต แต่ปัจจุบันยังไม่มีการพิจารณานำข้อมูลผู้กู้ส่งเข้าเครดิตบูโร”

 

กรกฎาคม 2561 เริ่มแล้ว! หักเงินเดือนชำระหนี้ กยศ.

นายชัยณรงค์ให้ข้อมูลต่อว่า สำหรับการหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ กยศ. ตามกฎหมายใหม่นั้น เริ่มเดือนกรกฎาคมนี้เป็นเดือนแรก โดยจะเริ่มจากข้าราชการที่รับเงินเดือนขึ้นตรงจากกรมบัญชีกลางก่อน

 

ส่วนช่วงต้นปีหน้าจะเริ่มบังคับกับภาคเอกชน ขณะที่ช่วงกลางปีหน้าจะบังคับใช้กับข้าราชการท้องถิ่น คาดว่าประมาณ 2 ปีจะสามารถหักเงินเดือนลูกหนี้ กยศ. ที่อยู่ในระบบบัญชีเงินเดือนประมาณ 1 ล้านคน

 

อย่างไรก็ตาม กยศ. เป็นกองทุนที่ให้โอกาสลูกหนี้เป็นอย่างมาก โดยถ้าถูกฟ้องดำเนินคดี ขอเพียงแค่มาทำสัญญาประนีประนอมที่ศาล กยศ. ก็จะให้โอกาสผ่อนชำระอีก 9 ปีเต็ม แต่ถ้ายังไม่จ่ายอีกจึงจะทำการบังคับคดี

 

ปัจจุบัน กองทุนได้ปล่อยเงินกู้ยืมให้แก่นักเรียน นักศึกษา ไปแล้วจำนวนกว่า 5.4 ล้านราย คิดเป็นเงินกว่า 5.7 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มีผู้กู้ยืมที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้วจำนวน 8 แสนราย อยู่ระหว่างปลอดหนี้ 1 ล้านราย อยู่ระหว่างชำระหนี้ 3.5 ล้านราย แบ่งเป็นผู้ชำระหนี้ปกติ 1.4 ล้านราย ผิดนัดชำระ 2.1 ล้านราย หนี้เสียกว่า 7 หมื่นล้านบาท โดยมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้วมากกว่า 1 ล้านราย

 

“กองทุนขอให้ผู้กู้ยืมรุ่นพี่ทุกท่านมีจิตสำนึกความรับผิดชอบในการชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้องต่อไป”

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising