ในที่สุด! วิคเตอร์ ยอเคอเรส ก็กำลังจะได้กลายเป็นผู้เล่นคนใหม่ของอาร์เซนอล สมความตั้งใจทั้งของเจ้าตัวและต้นสังกัดใหม่เสียที
เพราะกว่าที่เรื่องราวจะมาถึงวันนี้ได้ ยอเคอเรส อาร์เซนอล และแฟน “กูนเนอร์” เองก็หัวจะปวดกับข่าวความเคลื่อนไหวในการเจรจาย้ายทีมที่เป็นไปอย่างยากลำบาก เดี๋ยวย้าย เดี๋ยวไม่ให้ย้าย เดี๋ยวย้ายแน่ๆ เดี๋ยวยังเคลียร์ค่าตัวไม่ได้ มากมายหลายเรื่องไปหมด
ในอีกด้านของเรื่องราว นั่นหมายความว่าสปอร์ติง ลิสบอน เองก็ประเมินค่าของศูนย์หน้าตัวเก่งของพวกเขาเอาไว้สูง ไม่ใช่แค่เพียงในแง่ของมูลค่าแต่ยังสะท้อนผ่านคุณค่าอีกหลายสิ่งหลายอย่าง ที่ทำให้จะมาปล่อยตัวออกไปง่ายๆ ก็ไม่ใช่เรื่อง
เช่นกันกับอาร์เซนอล ที่ใช้ความพยายามอย่างหนักหน่วง นั่นหมายความว่ากองหน้าคนนี้ย่อมเป็น “ของดี” ที่คุ้มค่าจะลงทุนลงแรง (และปวดเฮดนิดหน่อย)
เพียงแต่จะเก่งในระดับเป็น “ตัวจบ” ที่จะพาทีมสู่แชมป์ได้ไหม นี่เป็นเรื่องที่เราต้องคุยกันในวันนี้
ก่อนจะลงรายละเอียดเรามาสรุปข้อมูลและเรื่องราวของดีลกันอย่างคร่าวๆ ก่อน
ภายหลังการเล่นเกมชักเย่อกันอยู่นานหลายวัน (กลับไปกลับมาเหมือนปลาปิ้ง!) จนความดันแฟนบอลกูนเนอร์จะขึ้น (แถมยังมีดีลของโนนี มาดูเอเก มาคั่นกลางทำให้แฟนๆที่รอลุ้นอยู่ถึงกับฟิวส์ขาดไปชั่วครู่) ในที่สุดสปอร์ติง ลิสบอน ก็ยอมปล่อยตัวยอเคอเรสให้กับอาร์เซนอลจนได้
ตัวเลขตามข้อมูลจาก The Athletic ระบุว่าค่าตัวในการย้ายทีมอยู่ที่ 63.5 ล้านยูโร (54.8 ล้านปอนด์) และมีเงื่อนไขการจ่ายเงินเพิ่มเติมอีกที่ 10 ล้านยูโร (8.6 ล้านปอนด์) ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขที่ศูนย์หน้าทีมชาติสวีเดนเคยมี “สัญญาสุภาพบุรุษ” กับเฟรเดริโก วารานดาส ประธานสโมสรสปอร์ติงว่า จะยอมให้ย้ายทีมหากมีข้อเสนอ 60 ล้านยูโร กับแอดออนอีก 10 ล้านยูโร
สัญญาใจดังกล่าวเป็นต้นเหตุของเรื่องวุ่นวายที่เกิดขึ้นเมื่อสปอร์ติง ปฏิเสธจะปล่อยตัวให้อาร์เซนอลในราคาดังกล่าว จนทำให้กองหน้าที่เป็นพระเอกของทีมในช่วง 2 ฤดูกาลที่ผ่านมานับตั้งแต่ย้ายมาจากโคเวนทรี ซิตี ด้วยค่าตัวสถิติสโมสร 24 ล้านยูโรในฤดูร้อนปี 2023 ถึงกับประกาศตัดขาด ไม่ขอกลับมาสโมสรอีก และไม่ยอมรายงานตัวฝึกซ้อมพรีซีซันด้วย
“อยากทำอะไรก็ทำไป แต่เดี๋ยวก็ต้องเสียค่าปรับและเราก็ยินดีจะดองเขาไว้ 3 ปีตามสัญญาที่เหลือ” วารานดาสขู่กลับในตอนนั้น
ในมุมของสโมสรสปอร์ติงแล้ว พวกเขามีสิทธิ์จะทำได้ในการพยายามรั้งตัวซูเปอร์สตาร์ของทีม อีกทั้งในมุมของประธานสโมสรอย่างวารานดาส เขาต้องพยายาม “แอคชัน” ว่าได้ทำอย่างดีที่สุดแล้วในการจะรั้งตัว หรือหากจะต้องปล่อยไปต้องเป็นราคาที่สโมสรพอใจเท่านั้น
เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับสโมสรในโปรตุเกส สปอร์ติงก็เคยมีกรณีปวดหัวในการย้ายทีมของหลุยส์ ฟิโก ในปี 1993 (สโมสรขายให้ทีมหนึ่ง นักเตะตกลงกับอีกทีม สุดท้ายบาร์เซโลนาได้ไป) หรือเบนฟิกา ก็เคยปฏิเสธการขาย ซิเมา ซาโบรซา ให้กับลิเวอร์พูลมาแล้วทั้งๆ ที่ปีกกัปตันทีมเดินทางไปเตรียมขึ้นเครื่องบินเรียบร้อย
อย่างไรก็ดี “คีย์” สำคัญที่เปิดประตูให้ดีลนี้เกิดขึ้นได้คือการที่เอเยนต์ของยอเคอเรส ยอมที่จะตัดส่วนแบ่งรายได้จากการย้ายทีมออกไป ทำให้ตัวเลขไม่ถูกดันสูงจนเกินกว่าที่อาร์เซนอลจะรับไหว
และกุญแจสำคัญดอกสุดท้ายที่กว่าจะหากันเจอคือเรื่องของการจ่ายเพิ่ม (add-ons) 10 ล้านยูโร ที่ยื้อกันมาหลายวัน เพียงแค่อยากให้มันเป็นเงื่อนไขที่ง่ายหรือยาก ซึ่งสุดท้ายอาร์เซนอลยอมถอยให้เงื่อนไขในแบบที่สปอร์ติงอยากได้ แต่เทอมการจ่ายเงินเป็นแบบที่อาร์เซนอลอยากจ่าย (ผ่อนชำระ 5 ปี)
เป็นอันจบเรื่อง Go กันสักที, Here เหนื่อยเหลือเกิน!
เอาละ ทีนี้มาดูกันว่ากองหน้าเจ้าของท่าฉลองประตู “หน้ากากเหล็ก” (ท่าดีใจของเขามาจากหน้ากากของ “Bane” ตัวร้ายในเรื่อง Batman) คนนี้มีคุณสมบัติอย่างไร
กระสุนปืนใหญ่มหาประลัย
54 ประตูจากการลงสนาม 52 นัดในฤดูกาล 2024/25
ความจริง เอาแค่นี้ก็น่าจะสรุปได้แล้วว่าทำไมอาร์เซนอลถึงต้องการได้ตัวยอเคอเรสมาร่วมทีม เพราะหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ทีมของมิเคล อาร์เตตา ไปไม่ถึงฝันสักทีคือการที่ไม่มีศูนย์หน้าในระดับ “พระกาฬ” อยู่ในทีมเลยสักคน
ตัดประเด็นเรื่องการบาดเจ็บไปก่อน แม้จะมีส่วนสำคัญในการทำให้หลุดวงโคจรลุ้นแชมป์ในฤดูกาลที่แล้ว ในทีมเวลานี้เหลือศูนย์หน้าอาชีพอยู่เพียงแค่ 2 คนคือ กาเบรียล เชซุส และไค ฮาเวิร์ตซ์ ซึ่งแม้จะไม่มีปัญหาอาการบาดเจ็บรบกวน ทั้งสองก็ไม่ได้เป็นกองหน้าที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่านักในเรื่องจำนวนประตู
ยอเคอเรส ถูกมองว่าเป็นกองหน้าที่จะตอบโจทย์ที่หาคำตอบไม่ได้ใน 2 ฤดูกาลที่ผ่านมาให้ เพราะเป็นศูนย์หน้าธรรมชาติในแบบ “สไตรเกอร์” (หรือ “หมายเลข 9”) ที่เกิดมาเพื่อถล่มประตูเท่านั้น และสามารถทำประตูได้ทุกรูปแบบ
ในความหมายถึงทุกรูปแบบจริงๆ!
แม้จะมีคนตั้งคำถามเรื่อง “ความคม” แต่ค่าการเปลี่ยนโอกาสยิงเป็นประตู (Shot conversion rate) อยู่ที่ 27.3 เปอร์เซ็นต์ในฤดูกาลที่ผ่านมา
โม ซาลาห์ ดาวซัลโวพรีเมียร์ลีก มีค่านี้อยู่ที่ 21.1 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เออร์ลิง ฮาแลนด์อยู่ที่ 21.6 เปอร์เซ็นต์ คนที่ใกล้เคียงที่สุดคืออเล็กซานเดอร์ อิซัค ที่ 26.4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในทีมอาร์เซนอล ฮาเวิร์ตซ์อยู่ที่ 20 6 เปอร์เซ็นต์ และเชซุสที่ 18.6 เปอร์เซ็นต์
โดยที่หากคิดถึงผลประกอบการที่คาดหวังแล้ว ถ้าบอกว่าลีกโปรตุเกสเบากว่า พรีเมียร์ลีกยากกว่า แต่ต่อให้หาร 2 ของจำนวนประตูที่ทำได้แล้วก็ยังคาดหวังได้ถึง 26-30 ประตูต่อฤดูกาลอยู่ดี ซึ่งเป็นตัวเลขในระดับดาวซัลโวประจำทีมสบายๆ
สนามเด็กเล่น
ความจริงแล้วอาร์เซนอล ไม่ได้มองยอเคอเรสเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่ง
ในเบื้องลึกแล้วนักเตะคนที่เป็นเป้าหมายแรกคือ เบนจามิน เซสโก กองหน้าจากทีมแอร์เบ ไลป์ซิก ซึ่งเป็นนักเตะในแบบที่ “ครบเครื่อง” มากกว่า ถ้าเปรียบเป็นอาหารก็อาจจะเหมือนเส้นเล็กต้มยำที่ใส่พริก ใส่ถั่ว ใส่น้ำมะนาวมาเรียบร้อย แค่คลุกๆ ก็จ้วงได้แล้ว
แต่เมื่อการเจรจากับเซสโก (ซึ่งมีรายงานว่าเป็นตัวเลือกที่อาร์เตตาเสนอ) เป็นไปอย่างยากลำบาก พวกเขาเลยหันไปหายอเคอเรส ที่ราคาไม่แพงเท่า และแม้อายุการใช้งานอาจจะน้อยกว่าหลายปี (27 ปี เทียบกับเซสโกที่ 22 ปี) อีกทั้งคุณสมบัติก็แตกต่างเพราะไม่ได้ครบเครื่องขนาดนั้น แต่เขามีสิ่งที่อาร์เซนอลและเพื่อนร่วมทีมน่าจะชอบแน่นอน
จุดเด่นในการเล่นของยอเคอเรส คือการเล่น “หลังไลน์” (Runs in behind) โดยพร้อมที่จะฉีกตัวไปยังพื้นที่ว่างด้านหลังแนวรับอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่กองหลังคู่แข่งจะไหวตัวได้ทัน ซึ่งถ้าลองได้วิ่งแล้วเหมือนรถถังที่ไม่มีใครหยุดได้ แถมยังพร้อมขยับเข้าไปรอใน “จุดนัดพบ” เพื่อรอบอลครอสจากริมเส้นของเพื่อน
นักเตะสไตล์นี้เป็นสไตล์ที่อาร์เซนอลขาดมานาน และเมื่อคิดถึงตัวทำเกมระดับเทพอย่าง มาร์ติน โอเดอการ์ด ที่มีทักษะในการจ่ายบอลทะลุช่องที่คมกริบติดอันดับต้นๆ ของโลก และการครอสจากริมเส้นของบูกาโย ซากา ที่แม่นยำสุดๆ แล้ว
ถ้ามิเกล เมริโน ยังดูอันตรายได้ การมีกองหน้าแท้ๆ อย่างยอเคอเรสย่อมดีกว่าแน่นอน
โคตรฟิต!
ถ้า Pain point ของอาร์เซนอลในช่วงที่ผ่านมานอกจากจะเป็นการที่ศูนย์หน้าไว้ใจไม่ได้แล้วยังเจ็บบ่อยด้วยนั้น
ขอแสดงความยินดีด้วยเพราะยอเคอเรส เป็นนักเตะที่แทบไม่มีปัญหาหรือมีแนวโน้มจะบาดเจ็บ (Injury prone) เลย เรียกได้ว่า “ประวัติคลีน”
2 ฤดูกาลในสีเสื้อสปอร์ติง ยอเคอเรสลงสนามต่อเนื่องสม่ำเสมอมาก ฤดูกาล 2024/25 ลงเล่นไปทั้งหมด 52 นัด (ในลีก 33 จาก 34 นัด), ขณะที่ฤดูกาล 2023/24 ลงสนาม 50 นัด (ในลีก 33 จาก 34 นัดเช่นกัน)
ย้อนกลับไปในฤดูกาล 2022/23 กับโคเวนทรี ซิตี เขาก็ยังลงสนาม 50 นัด (46 นัดในลีก) เรียกว่าลงสนามต่อเนื่องได้ตลอด โดยที่ดูจากสภาพร่างกายก็พอรู้ว่า “โคตรฟิต” ของจริง
สู่ช่วงพีค
ยอเคอเรสไม่ได้เพียงแค่ลงสนามได้อย่างต่อเนื่องเท่านั้น โดยนับจากฤดูกาลแจ้งเกิดของเขากับโคเวนทรี ในปี 2022/23 ผลงานของเขามีพัฒนาการที่น่าสนใจอย่างมาก
หรือพูดให้ถูกกว่านั้นคือดีขึ้นอย่างน่าตกใจ
ในฤดูกาลสุดท้ายของเขาในแชมเปียนชิปอังกฤษ ยอเคอเรส ทำได้ 22 ประตูกับอีก 12 แอสซิสต์
ฤดูกาล 2023/24 ที่ถูกสปอร์ติงดึงตัวมา เขาทำไป 43 ประตูกับ 15 แอสซิสต์
และในฤดูกาลล่าสุด ทำไป 54 ประตู (ในลีก 39 และเป็นลูกจุดโทษ 12 ลูก) กับอีก 12 แอสซิสต์
เรียกได้ว่าผลงานนั้นไต่ระดับสูงขึ้นอย่างน่ากลัว และก็เป็นไปตามวัยของเขาด้วยที่เข้าสู่ 27 ปี (เพิ่งจะฉลองวันเกิดเมื่อ 4 มิถุนายน) ที่กำลังจะไปสู่ช่วงเวลาท็อปพีคของนักฟุตบอลในวัย 28-30 ปี ซึ่งแปลว่าอาร์เซนอลจะได้ใช้งานกองหน้ามหาประลัยรายนี้ในช่วงพีคพอดี ไม่ต้องรอบ่มหรือชุบเลี้ยงแบบประคบประหงมอีก
หัวใจนักสู้
แต่สิ่งที่ดีที่สุดในตัวยอเคอเรส ที่สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครได้มากมายไม่ใช่เรื่องของพรสวรรค์ในการเล่น
Mentality ของคนที่พยายามอย่างไม่ย่อท้อ ไม่ว่าจะยากหรือถูกมองข้ามมากแค่ไหน จนประสบความสำเร็จได้ต่างหากคือสิ่งที่ทำให้เขาแตกต่างจากคนอื่น
กว่าจะมาถึงตอนนี้ยอเคอเรส เคยโดนมองข้ามมานับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่ยังอยู่ในระดับอคาเดมี จนถึงวันที่ได้มาอยู่กับไบรท์ตัน ก็ไม่สามารถแทรกตัวเป็นตัวเลือกในใจของผู้จัดการทีมในเวลานั้นอย่างเกรแฮม พอตเตอร์ได้ โดนปล่อยไปยืมตัวกับโคเวนทรีก็ไม่ได้ทำผลงานดีนัก (อ่านเรื่องราวได้ใน https://thestandard.co/late-bloomer-viktor-gyokeres/)
แต่แทนที่จะท้อแท้เขากลับต่อสู้จนแจ้งเกิดได้ในเวลาต่อมาก่อนจะกลายเป็นสตาร์ประจำทีมที่ไฮฟิลด์ โรด และโดนสปอร์ติงดึงตัวไป
เขาไม่ต่างอะไรจากตำนาน “Late bloomer” อย่างเอียน ไรท์ ศูนย์หน้าที่แฟนอาร์เซนอลรักมากที่สุดคนหนึ่งที่กว่าจะเริ่มประสบความสำเร็จได้รับการยอมรับก็สายแล้ว แต่ไม่เคยสายเกินไป
ดังนั้นสิ่งที่แฟนอาร์เซนอลสบายใจได้เลย คือไม่ว่าจะหนัก จะยากเย็น จะลำบากแค่ไหน ยอเคอเรสไม่ยอมแพ้อย่างแน่นอน
สำหรับทีมที่อยากประสบความสำเร็จ นักเตะแบบนี้แหละคือคนที่ทีมต้องการ
อ้างอิง:
- https://www.nytimes.com/athletic/6476054/2025/07/13/arsenal-viktor-gyokeres-transfer/
- https://www.nytimes.com/athletic/6399533/2025/06/04/gyokeres-sesko-arsenal-transfers-arteta-berta/
- https://www.nytimes.com/athletic/6423793/2025/07/07/gyokeres-arsenal-transfer-style-analysis/
- https://theanalyst.com/articles/viktor-gyokeres-arsenal-opta-power-rankings-primeira-liga-goals
- https://www.transfermarkt.com/viktor-gyokeres/leistungsdaten/spieler/325443