วันนี้ (21 กรกฎาคม) ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมาตรการการตอบโต้กัมพูชา ภายหลังทหารไทยเหยียบกับระเบิดบริเวณช่องบก จังหวัดอุบลราชธานี ว่า สำหรับจุดยืนของรัฐบาล ได้พูดไปหลายครั้งแล้วว่า ยึดมั่นในอธิปไตยของประเทศ จะไม่ยินยอมให้มาละเมิดอธิปไตย ขณะเดียวกัน พยายามป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงหรือนำไปสู่สงคราม แต่หากมีการรุกล้ำเข้ามากระทบกับอธิปไตยก็คงไม่ยอม
ภูมิธรรมกล่าวอีกว่า เท่าที่ทราบ กองทัพภาคที่ 2 และ ศบ.ทก. ได้ชี้แจงไปแล้ว และเมื่อวานนี้ (20 กรกฎาคม) มีรายงานข่าวแจ้งว่า มีการขนมวลชนมา 23 คันรถ ซึ่งได้รับรายงานตั้งแต่มีการเคลื่อนไหว ขณะที่ไทยก็ได้เตรียมมาตรการป้องกัน เพื่อไม่ให้ประเด็นถูกเบี่ยงเบนไปสู่องค์กรระหว่างประเทศ หรือศาลโลก
ภูมิธรรมกล่าวอีกว่า เรื่องทุ่นระเบิด มีการตรวจสอบแล้วชัดเจนว่าเป็นระเบิดใหม่ที่มีการผลิตและนำมาวางไว้ในช่วงเร็วๆ นี้ ดังนั้น ไทยมองว่าเป็นการละเมิดข้อตกลงขององค์การสหประชาชาติ และได้รวบรวมหลักฐาน ส่วนตนได้ส่งเรื่องไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่กระบวนการประท้วง ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่หากพบสาเหตุที่มากกว่านี้ อาจต้องถึงขั้นถอนทูตกลับมา แต่ต้องดูตามเงื่อนไขและสถานการณ์
ส่วนการท่องเที่ยวที่ปราสาทตาเมือนธม ภูมิธรรมกล่าวว่า ตอนนี้ต้องระมัดระวัง ซึ่งได้พูดคุยกับฝ่ายทหาร ศบ.ทก. และได้ประสานไปยัง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และจเรตำรวจแห่งชาติว่า จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้องค์การระหว่างประเทศและประชาคมโลกเห็นว่า ไทยไม่อยากใช้กำลังรุนแรงกับประชาชน ดังนั้นจึงจะใช้หน่วยปราบจลาจล กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 จำนวน 2 กองร้อย เพื่อไปสนับสนุนการทำหน้าที่ของทหาร โดยจะนำเครื่องมือปราบจลาจลจากกรุงเทพมหานครเข้าไปเสริมการทำหน้าที่ โดยจะปฏิบัติหน้าที่อยู่แนวหลัง แต่ทหารยังคงทำหน้าที่ป้องกันอธิปไตยอยู่เหมือนเดิม
“ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ขึ้น เราจะเรียกตำรวจ ใช้เวลามากและใช้เวลานาน ดังนั้น เราสามารถที่จะเตรียมกำลังปราบจลาจลพร้อมที่จะปฏิบัติต่อประชาชนเขมรได้ ถ้าหากเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล และใช้ทหารพรานหญิงในการรองรับเสริมการทำงาน เลี่ยงกำลังทหารมาอยู่สุดท้าย เว้นแต่จะมีการยกกำลังเข้ามา ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”
ภูมิธรรมกล่าวอีกว่า พยายามที่จะยืนยันในสิ่งที่พูดไปแล้ว ในเรื่องอธิปไตยของประเทศ และแก้ปัญหาโดยหลีกเลี่ยงความรุนแรง เพื่อไม่ให้เป็นเงื่อนไขให้กัมพูชานำไปกล่าวหา หรือดึงคดีเข้าไปสู่ศาลโลก ซึ่งไทยได้ประกาศชัดเจนหลายครั้งแล้ว ว่าไม่ยอมรับกลไกของศาลโลก
ถ้าหากเกิดสงคราม ไทยไม่ได้กลัว แต่ไม่อยากเห็นการสูญเสีย ซึ่งจะใหญ่หลวงเหมือนกับสงครามในโลก ที่ไม่ได้ถือดาบไปฟันกัน หรือ ถือปืนมายิงกัน แต่ใช้วิถีระยะไกลของเครื่องมือที่ทันสมัยมาทำลายกันจนเกิดความเสียหาย