ในทศวรรษที่อุตสาหกรรมแฟชั่นเร่งวิ่งสู่อนาคตอย่างรวดเร็ว พร้อมผลักดันคอลเล็กชันใหม่ออกสู่ตลาดทุกฤดูกาล BODE แบรนด์เสื้อผ้าจากนิวยอร์กของดีไซเนอร์หญิง Emily Adams Bode Aujla กลับเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่เลือกจะเดินอย่างช้าๆ แต่มั่นคง ผ่านเส้นทางที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่า ความทรงจำ และประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมที่ถักทอเข้ากับเสื้อผ้าอย่างลึกซึ้ง ทำให้ ณ เวลานี้ ผลงานของ BODE ไม่ใช่แค่เสื้อผ้าที่กำลังเป็นที่นิยมเท่านั้น แต่เป็นดั่งงานศิลปะที่ร้อยเรียงจิตวิญญาณของผู้คน ผ่านเทคนิคโบราณ งานคราฟต์วินเทจ และมรดกทางวัฒนธรรมจากยุคก่อนๆ ที่กำลังจะเลือนหาย
จากปรัชญาเบื้องหลังที่เปี่ยมด้วยความตั้งใจของดีไซเนอร์สาวคนนี้ ก่อให้เกิดเป็นแบรนด์ Menswear ที่สร้างแรงกระเพื่อมต่อกรอบแฟชั่นเสื้อผ้าผู้ชาย และได้พลิกนิยามของงานคราฟต์และความยั่งยืนในวงการแฟชั่นสมัยใหม่ได้อย่างน่าทึ่ง THE STANDARD POP จึงอยากชวนทุกคนไปเจาะลึกถึงทุกแง่มุม ตั้งแต่จุดเริ่มต้น จุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ ภาพลักษณ์อันน่าจดจำ และแก่นแท้ของ BODE ที่ทำให้แบรนด์เล็กๆ เติบโตมาอย่างงดงามและเป็นที่จดจำได้ถึงทุกวันนี้
HOW THE BRAND STARTED
รากฐานของ BODE ต้องย้อนไปถึงครอบครัวของ Emily Adams Bode Aujla หญิงผู้เติบโตในเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา โดยเธอมักใช้เวลาช่วงฤดูร้อนกับคุณลุง ผู้ที่ทำให้ Emily ได้ซึมซับและหลงใหลในวัตถุโบราณและของเก่าเก็บ รวมถึงการได้แรงบันดาลใจที่สำคัญที่สุดอย่างผ้าควิลต์ (Quilt) หรือผ้าห่มนวมที่ทำจากเศษผ้าต่อกัน ซึ่งเป็นงานฝีมือของผู้หญิงในครอบครัวของเธอ
หลังจากจบการศึกษาจาก Parsons School of Design ควบคู่กับการเรียนด้านประวัติศาสตร์และปรัชญาที่ Eugene Lang College ในปี 2016 Emily Adams Bode Aujla ก็ได้ต่อยอดความรู้ด้วยการก่อตั้งแบรนด์ BODE ขึ้นจากแนวคิดที่ชัดเจน อย่างการสร้างสรรค์เสื้อผ้าแบบ One-of-a-Kind หรือชิ้นเดียวในโลกที่บันทึกความทรงจำไว้โดยใช้ผ้าโบราณที่มีอยู่จริงเป็นวัตถุดิบหลัก ไม่ว่าจะเป็นผ้าควิลท์จากยุควิกตอเรียน ผ้าปูโต๊ะปักลาย ผ้ากระสอบเก่า หรือแม้แต่ม่านลูกไม้ และเปิดตัวคอลเล็กชันแฮนด์เมดเล็กๆ วางขายในกรุงนิวยอร์ก
BREAKTHROUGH MOMENT
กาลเวลาผ่านมาจากจุดเริ่มต้นไม่นานนัก BODE ได้โอกาสสำคัญให้โชว์คอลเล็กชันเต็มครั้งแรกในงาน Men’s New York Fashion Week 2017 ด้วยการสนับสนุนจาก CFDA (Council of Fashion Designers of America) ซึ่งนับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ให้กับโลกแฟชั่นในฐานะดีไซเนอร์หญิงคนแรกที่ได้จัดแสดงผลงานอย่างเป็นทางการบนเวทีนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ในขณะที่แบรนด์เสื้อผ้าบุรุษส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การนำเสนอภาพลักษณ์ความแข็งแกร่ง สไตล์สตรีทแวร์ หรือความเนี้ยบแบบงานเทเลอร์ BODE กลับนำเสนอสิ่งที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงตามสิ่งที่แบรนด์ยึดถือ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ผ้าควิลต์ งานปักผ้า และเรื่องราวที่ผูกพันด้านอารมณ์ ซึ่งต่างถูกมองว่าเป็นองค์ประกอบของผู้หญิง จนความโดดเด่นและแตกต่างนี้เองที่เป็นจุดเปลี่ยนให้ชื่อของ BODE กลายเป็นแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายที่เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในระดับสากล
COLLABORATIONS
นอกจากคอลเล็กชันหลักของแบรนด์แล้ว BODE เองก็มีงานคอลลาบอเรชันกับแบรนด์หรือองค์กรอื่นที่น่าจับตามองไม่แพ้กัน อย่างการร่วมงานกับ Barbour ในการนำเสื้อแจ็กเก็ต Waxed มาปรับโฉมใหม่ หรือทำงานร่วมกับ Woolmark เพื่อส่งเสริมการใช้ขนสัตว์อย่างยั่งยืน และหนึ่งในโปรเจกต์ที่โดดเด่นที่สุดคือการร่วมมือกับ Nike ในปี 2024 ผ่านไลน์ BODE Rec. ที่โฟกัสในฝั่งแอคทีฟแวร์ เพื่อปลุกชีพรองเท้าวิ่งรุ่นคลาสสิกอย่าง Astro Grabber ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 1974 โดยแทนที่จะเป็นการออกแบบใหม่ทั้งหมด BODE เลือกที่จะคงจิตวิญญาณดั้งเดิมของรองเท้าไว้ แต่เพิ่มรายละเอียดที่สะท้อนตัวตนของแบรนด์ อย่างเทคนิคบุผ้าและหนังที่ทำให้นึกถึงบรรยากาศในช่วงที่ตัวดีไซเนอร์ได้เห็นพ่อและญาติๆ ใส่รองเท้ารุ่นนี้กันตอนยังหนุ่ม พร้อมนำเสนอคอลเล็กชันเสื้อผ้า เช่น เสื้อแจ็กเก็ตวอร์ม เสื้อ Jerseys เสื้อเอี๊ยมกีฬา กางเกง และชาร์มที่ได้แรงบันดาลใจจากดีไซน์ยุค 1970s ผนวกกับการเสริมองค์ประกอบงานฝีมือ ซึ่งเป็นการผสมผสานประวัติศาสตร์ของวงการกีฬา ความทรงจำวัยเด็กและงานคราฟต์ที่เต็มไปด้วยความใส่ใจได้อย่างลงตัวและชาญฉลาด
STORE CONCEPT
หากใครได้มีโอกาสเดินเข้าไปในร้าน BODE คุณจะสัมผัสได้ว่าที่นี่ไม่ใช่แค่ร้านขายเสื้อผ้า แต่เป็นพื้นที่ที่บอกเล่าเรื่องราวของแบรนด์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ อาทิ สาขาในนิวยอร์กและลอสแอนเจลิส ถูกออกแบบให้เหมือนบ้านหรือสตูดิโอของช่างฝีมือ บรรยากาศภายในร้านให้ความรู้สึกอบอุ่น เป็นกันเอง และเต็มไปด้วยของตกแต่งโบราณที่ Emily และทีมงานคัดสรรมาอย่างพิถีพิถัน เช่น หมอนแพตช์เวิร์กโบราณ ตู้โชว์รูปถ่าย หรือสาขาในกรุงปารีสที่เพิ่งเปิดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากกิจกรรมฟลายฟิชชิง ที่ถ่ายทอดบรรยากาศจากทั้งวัฒนธรรมอเมริกันและฝรั่งเศสไปพร้อมกัน ซึ่งทำให้ร้านค้าของ BODE เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่สะท้อนถึงปรัชญาของแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับการเล่าเรื่องและความเชื่อมโยงกับอดีตได้อย่างชัดเจน ทำให้ทุกคนลูกค้าไม่เพียงแต่ได้ซื้อเสื้อผ้า แต่ยังได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่เต็มไปด้วยความหมายและเรื่องราวที่แฝงไว้
COMMITMENT TO SUSTAINABILITY
ขณะที่ ‘ความยั่งยืน’ กลายเป็นศัพท์ทางการตลาดที่หลายแบรนด์หยิบจับมาใช้ในยุคปัจจุบัน แต่สำหรับ BODE สิ่งนี้คือ DNA และหัวใจหลักของแบรนด์มาตั้งแต่ต้น ด้วยวิธีการผลิตเครื่องแต่งกายจากการเลือกใช้ผ้าโบราณ ผ้าเดดสต็อก และวัสดุที่มีอยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้ทำซ้ำในรูปแบบแมสโปรดักชัน นอกจากจะทำให้แฟชั่นของ BODE มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูง กระบวนการนี้ยังเป็นรูปแบบหนึ่งของการ Upcycling ที่ทรงพลังที่สุด เนื่องจากเป็นการลดปริมาณขยะในอุตสาหกรรมแฟชั่นได้อย่างมหาศาล รวมไปถึงยังมีการร่วมงานกับช่างฝีมือจากอินเดีย เปรู และแอฟริกาใต้ ในการสนับสนุนเทคนิคดั้งเดิม เช่น งานปักมือ งานทอแบบพื้นบ้าน และการย้อมสีธรรมชาติ พร้อมจ่ายค่าแรงอย่างเป็นธรรม ทำให้ความมุ่งมั่นนี้ไม่เพียงแต่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ยังสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับผลงานจากมุมมองของผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอีกเช่นกัน
GENDERFLUID MENSWEAR
หนึ่งในแก่นสำคัญที่ทำให้ BODE เป็นแบรนด์ที่ครองใจผู้คนมากมายคือเสื้อผ้าของแบรนด์ที่มีความลื่นไหลทางเพศ โดย Emily เคยให้สัมภาษณ์อยู่หลายครั้งผ่านสื่ออย่างชัดเจนว่า เสื้อผ้าของเธอถูกออกแบบมาให้ไร้เพศ BODE จึงได้ทลายกำแพงทางเพศในโลกของแฟชั่นบุรุษ ไม่ใช่แค่ในแง่ของซิลูเอตที่ทุกเพศสามารถสวมใส่ได้ แต่เป็นการนำเสนอคุณค่าที่ครั้งหนึ่งเคยถูกผูกติดกับเพศหญิงมาไว้ในเมนส์แวร์ ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนโยน (Softness) ความรู้สึกหวนรำลึกถึงอดีต (Nostalgia) และคุณค่าของงานฝีมือในบ้าน (Domestic Craft) ให้ถ่ายทอดออกมาอย่างสมดุลและน่าสนใจ ตัวอย่างเช่น เสื้อเชิ้ตที่ทำจากผ้าปูโต๊ะปักลาย กางเกงที่ทำจากผ้าห่มนวม หรือแจ็กเก็ตที่ประดับด้วยลูกปัด ซึ่งล้วนเป็นการท้าทายและขยายนิยามของความเป็นชายในปัจจุบัน ทำให้ผู้สวมใส่สามารถแสดงออกถึงตัวตนในมิติที่ซับซ้อนมากขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้คนทุกเพศสวมใส่ได้โดยไม่มีข้อจำกัด และทำให้ BODE ถูกจดจำในฐานะแบรนด์ที่ก้าวหน้าและสอดคล้องกับยุคสมัย
AWARDS
ความสำเร็จของ BODE ไม่ได้เป็นเพียงแค่กระแส แต่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นรูปธรรมจากสถาบันแฟชั่นที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก Emily Adams Bode Aujla ได้รับรางวัลมากมายที่การันตีถึงวิสัยทัศน์และความสามารถอันโดดเด่นของเธอ ตั้งแต่รางวัลรองชนะเลิศจาก CFDA/Vogue Fashion Fund ในปี 2018 และในปีต่อมายังคว้ารางวัล Emerging Designer of the Year ที่มีไว้เพื่อยกย่องเหล่านักออกแบบแฟชั่นหน้าใหม่ที่มีผลงานโดดเด่น เติบโตเร็ว และมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงหรือหล่อหลอมวงการแฟชั่นในอนาคต อีกทั้งยังได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน 30 Under 30 ด้าน Art & Style ที่จัดทำโดย Forbes และถูกบันทึกชื่อใน BoF 500 ของ Business of Fashion ในปีเดียวกัน ตลอดจนเป็นผู้ชนะรางวัลพิเศษ Karl Lagerfeld Award for Innovation จากเวที International Woolmark Prize ในปี 2020 และได้รางวัล CFDA Fashion Awards สาขา American Menswear Designer of the Year ติดต่อกันสองปีซ้อน (2021 และ 2022) ซึ่งถือเป็นเกียรติสูงสุดในอุตสาหกรรมแฟชั่นอเมริกัน จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมเธอถึงได้รับความสนใจทั้งจากผู้คนที่รักการแต่งกาย สื่อแฟชั่น เหล่าเทรนด์เซ็ตเตอร์ และนักวิจารณ์แฟชั่นทั่วโลกอย่างล้นหลามเช่นนี้