ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ดำเนินหลากหลายนโยบาย ที่สวนทางกับแนวทางการรับมือและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจน และยิ่งชัดเจนมากขึ้นหลังจากทรัมป์ ได้ลงนามในกฎหมายงบประมาณฉบับใหม่ ที่เรียกว่า ‘Big, Beautiful Bill’ หรือกฎหมายที่ใหญ่โตและสวยงาม
หนึ่งในสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือการยกเลิกเครดิตภาษี หรือการให้แรงจูงใจทางภาษีสำหรับพลังงานสะอาด และยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นมรดกนโยบายจากอดีตรัฐบาลโจ ไบเดน
การปรับเปลี่ยนนโยบายพลังงานหมุนเวียน ของมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ที่มีผลสำคัญต่อเป้าหมายลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหญ่ จากภาวะโลกรวนที่รุนแรง และอุณหภูมิโลกพุ่งสูงแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
นักวิเคราะห์หลายคนกังวลอย่างยิ่งต่อผลกระทบที่ตามมา ซึ่งแน่นอนว่าจะไม่กระทบแค่สหรัฐฯ แต่ยังส่งผลถึงทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย
‘Big, Beautiful Bill’ สวนทางกระแสโลก
รศ. ดร.บัณฑิต ลิ้มมีโชคชัย อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง หัวหน้าหน่วยวิจัย Sustainable Energy & Built Environment มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่า วาระสำคัญในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของทรัมป์นั้น อาจไม่สอดคล้องกับความต้องการเร่งด่วนของโลกในปัจจุบันในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เป้าหมายหลักของทรัมป์คือการรักษาผลประโยชน์ของชาวอเมริกัน และทำให้สหรัฐฯ กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งตามแนวนโยบาย Make America Great Again จึงทำให้ปัญหาโลกรวนนั้นไม่ได้อยู่ในสายตาเขามากนัก โดยทรัมป์มองว่าเป็นเรื่องของโลกอนาคตที่เกินกว่าวาระการดำรงตำแหน่งที่เหลือของเขาอีกราว 3 ปีครึ่ง และภาระนี้จะถูกผลักไปสู่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนถัดไป
กฎหมาย ‘Big, Beautiful Bill’ สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดและนโยบายที่ทรัมป์ได้หาเสียงไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว แม้ว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่จะเลือกเขามา ซึ่งแสดงถึงการเคารพในระบอบประชาธิปไตย แต่ รศ. ดร.บัณฑิต เข้าใจว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่ โดยเฉพาะชนชั้นกลางและนักวิชาการ ยังไม่เข้าใจนักถึงผลกระทบโดยละเอียดของมาตรการในกฎหมายนี้
เนื้อหาที่เป็นประเด็นของกฎหมาย ‘Big Beautiful Bill’ คือการยกเลิกมาตรการจูงใจทางภาษี หรือเครดิตภาษีเกือบทั้งหมด สำหรับพลังงานหมุนเวียน ยานยนต์ไฟฟ้า และการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเคยเป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act: IRA) ในยุคไบเดน
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังมุ่งเป้าไปที่มาตรฐานประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงของยานพาหนะ และมาตรฐานการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคพลังงาน ซึ่งการผ่านร่างกฎหมายใหม่นี้ หมายความว่าการขยายตัวของระบบพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง
เช่นเดียวกับการขายรถยนต์ไฟฟ้าและการปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงาน
โดยสิ่งเหล่านี้ล้วนบ่งชี้ถึงจุดยืนของทรัมป์ที่สวนทางกับกระแสโลกที่กำลังมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และส่งเสริมพลังงานสะอาด
ผลกระทบต่อเป้าหมายลดโลกร้อนของสหรัฐฯ
จากการวิเคราะห์ของ Carbon Brief โดยใช้โมเดล REPEAT Project ของมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) พบว่าการยกเลิกเครดิตภาษีสำหรับพลังงานหมุนเวียนและรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้กฎหมายงบประมาณฉบับใหม่นี้ จะทำให้อัตราการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีก 7 พันล้านตัน ในปี 2030
การปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เพิ่มขึ้น 7 พันล้านตันนี้ เทียบเท่ากับประมาณ 4% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกในปัจจุบันในแต่ละปี หรือเท่ากับปริมาณการปล่อยก๊าซประจำปีของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนรายใหญ่อันดับ 6 ของโลก
โมเดล REPEAT ยังแสดงให้เห็นว่า นโยบายของทรัมป์จะยิ่งทำให้อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนของสหรัฐฯ ในปี 2030 ลดลงเพียง 3% จากระดับปัจจุบัน หมายความว่าการปล่อยก๊าซจะคงที่ แทนที่จะลดลง 40% ตามที่กำหนดไว้ในเป้าหมายเดิมที่สหรัฐฯ เคยให้คำมั่นไว้ภายใต้ความตกลงปารีส (แต่ปัจจุบันทรัมป์ ได้ถอนสหรัฐฯออกจากข้อตกลงปารีสแล้ว) โดยจะส่งผลให้สหรัฐฯ พลาดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในปีนั้นประมาณ 2 พันล้านตัน คิดเป็นประมาณ 4% ของปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกในแต่ละปี
ขณะที่คาดว่า การยกเลิกเครดิตภาษีดังกล่าวจะทำให้สหรัฐฯ เข้าสู่วิกฤตระยะสั้นเรื่องการแก้ไขปัญหาภาวะโลกรวน โดยกฎหมายฉบับนี้อาจส่งผลให้ราคาพลังงานสูงขึ้น และนำไปสู่การสูญเสียการจ้างงาน ซึ่งค่าใช้จ่ายพลังงานของแต่ละครัวเรือนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 165 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 และมากกว่า 280 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2035
ส่วนหนึ่งของการเพิ่มราคาพลังงานนี้มาจากการยกเลิกเครดิตภาษีรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งอาจส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้าขายได้น้อยลงหลายสิบล้านคัน ในขณะที่รถยนต์สันดาปมีการใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาก็สูงขึ้นตาม
ขณะที่การชะลอการก่อสร้างโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และลมในขณะที่ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้น ก็จะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าเช่นกัน ซึ่งการไม่มีเครดิตภาษีเพื่อกระตุ้นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ คาดว่าราคาไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัยทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้น 7% หรือราว 110 ดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2026 ซึ่งบางรัฐ เช่น รัฐไวโอมิง คาดว่าราคาไฟฟ้าอาจสูงขึ้นถึง 30% ในปีหน้า
ทั้งนี้ แม้บางโครงการพลังงานหมุนเวียนอาจถูกสร้างขึ้นโดยไม่มีการสนับสนุน แต่ผู้พัฒนาจะต้องเผชิญกับนโยบายอื่นๆ ของรัฐบาลทรัมป์ เช่น การหยุดอนุมัติโครงการฟาร์มกังหันลมของรัฐบาลกลาง
กำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่สูญเสียไป มีแนวโน้มที่จะไม่ถูกแทนที่ด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด เนื่องจากปัญหาการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ค้างมานานหลายปี
อย่างไรก็ตาม เครดิตภาษีสำหรับพลังงานนิวเคลียร์และพลังงานความร้อนใต้พิภพยังคงอยู่ต่อไปจนถึงปี 2036 ซึ่งแม้ว่าโครงการเหล่านี้จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด แต่การก่อสร้างก็ใช้เวลานาน
สหรัฐฯ หันหลังให้โลกรวน นานาชาติทำอย่างไร?
ในขณะที่สหรัฐอเมริกากำลังเดินหน้านโยบายที่สวนทางกับการแก้ไขปัญหาโลกร้อน รศ. ดร.บัณฑิต ชี้ให้เห็นถึงท่าทีที่แตกต่างกันของประเทศอื่นๆ โดยสหภาพยุโรป (EU) แสดงความมุ่งมั่นอย่างชัดเจน ด้วยการประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 90% ภายในปี 2040 นับตั้งแต่ปีฐานที่ UN กำหนดไว้ คือปี 1990
ขณะที่ญี่ปุ่นก็ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะยังคงมุ่งมั่นสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 ถึงแม้สหรัฐฯ จะถอนตัวจากความตกลงปารีส และไม่ดำเนินนโยบายลดก๊าซคาร์บอนตามเป้าหมายที่เคยให้คำมั่นไว้ ซึ่ง รศ. ดร.บัณฑิต มองว่าผู้นำของ EU อังกฤษ และญี่ปุ่น ไม่มีใครทำตามแนวทางของทรัมป์ และมั่นใจว่าทุกประเทศเหล่านี้เข้าใจสถานการณ์เป็นอย่างดี
รศ. ดร.บัณฑิต ยังมองว่า หากสหรัฐฯ ไม่ดำเนินนโยบายตามเป้าหมายลดก๊าซคาร์บอน จะยิ่งส่งผลให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เดินหน้าได้ยาก
“ยิ่งโลกใบนี้กำลังมีการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกใหม่ ยิ่งทำให้ทรัมป์ไม่มีทางเลือกอื่น และถ้ายังทำแบบนี้สหรัฐอเมริกาก็อาจจะเจ๊ง”
ภัยพิบัติทางธรรมชาติ สวนทางนโยบายวอชิงตัน
อย่างไรก็ตาม ทิศทางของสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติในสหรัฐฯ ณ ปัจจุบันดูย้อนแย้งกับสิ่งที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญอยู่
รศ. ดร.บัณฑิต ชี้ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยโลกตอนนี้ เฉพาะในอากาศได้ทะลุระดับ 2 องศาเซลเซียสไปแล้ว เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งหากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นแค่ครึ่งถึง 1 องศา ก็จะส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งรุนแรงและรวดเร็วขึ้น และทำให้น้ำระเหยมากขึ้นด้วย โดยวัฏจักรของน้ำ เมื่อระเหยแล้วจะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ และควบแน่นกลายเป็นฝน ทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วม
ช่วงที่ผ่านมาหลายพื้นที่ของสหรัฐฯ ก็เผชิญภัยพิบัติธรรมชาติที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์ เช่น กรณีไฟป่าในลอสแอนเจลิส หรือภาวะน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรัฐเท็กซัสเมื่อไม่นานนี้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า เป็นผลจากภาวะการแปรปรวนของสภาพอากาศ
รศ. ดร.บัณฑิต มองว่า ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นและเงินที่ต้องใช้ในการฟื้นฟูและเยียวยาที่สูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อชาวอเมริกันจนอาจจะมีกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินนโยบายเพื่อลดปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน หรือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน แต่เชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยในสหรัฐฯ จะทำให้ทรัมป์สามารถดำเนินนโยบายตามที่เขาตั้งใจไว้ต่อไปได้ แต่ภาระในการรับมือกับผลกระทบจากโลกรวน จะตกไปอยู่ที่ประธานาธิบดีคนถัดไป
สิ่งที่ไทยควรเรียนรู้จากสหรัฐฯ ในนโยบายพลังงาน
สำหรับคำถามว่าประเทศไทยควรเรียนรู้อะไรจากกรณีของสหรัฐฯ ในเรื่องนโยบายพลังงานที่ถอยห่างจากเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน
โดย รศ. ดร.บัณฑิต มองว่า การเมืองไทยกับแผนนโยบายพลังงานนั้นมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องมากพอสมควร แต่หากไทยเรียนรู้จากประเทศพัฒนาแล้ว เช่น EU ญี่ปุ่น หรือออสเตรเลีย จะเห็นว่าคนที่ปรับตัวช้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือ Net Zero ในปี 2050 จะต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
รศ. ดร.บัณฑิต ยกตัวอย่างการตัดสินใจที่ผิด เช่น การต่ออายุโรงไฟฟ้าถ่านหินที่หมดอายุแล้ว ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้า Net Zero 2050 ได้
ขณะที่การตัดสินใจที่ล่าช้าจะทำให้เกิดปัญหา ‘คอขวด’ และท้ายที่สุดหากไม่มีการแก้ไขหรือรับมืออย่างถูกต้อง จะทำให้ต้นทุนในการปรับเปลี่ยนสูงขึ้นมาก และอาจจะเผชิญกับผลกระทบที่รุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจนกระทั่ง ‘อยู่ไม่ไหว’
โดย รศ. ดร.บัณฑิต ย้ำว่า หน้าที่ของไทยตอนนี้คือการปรับตัวและแก้ไขเพื่อให้สามารถอยู่กับโลกร้อนได้ และต้องพยายามเดินหน้าสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามทำให้อุณหภูมิโลกลดลง 1 จุดจากปัจจุบันนี้ภายในสิ้นทศวรรษนี้
“แม้ว่าเราจะหยุดการใช้ฟอสซิลและหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทันที อุณหภูมิก็ยังคงไม่ลดลง แต่อาจจะสูงขึ้นในอัตราที่ช้าลง” รศ. ดร.บัณฑิต
อ้างอิง: