วันนี้ (18 กรกฎาคม) ที่ ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลนัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568 กรณีตรวจสอบข้อเท็จจริงการบังคับโทษคดีถึงที่สุด ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
โดยในวันนี้เป็นการไต่สวนพยาน 6 ปาก ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริหารโรงพยาบาลตำรวจ และ แพทย์ผู้ทำการรักษาทักษิณ ก่อนได้รับการพักโทษ
พยานรายที่ 1 พล.ต.ท. โสภณรัชต์ สิงหจารุ อดีตนายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ใช้เวลาเบิกความ 1 ชั่วโมง
โดยศาลได้สอบถามถึงรายละเอียด การเข้ารักษาตัวตั้งแต่วันแรกของจำเลย คืนวันที่ 22 สิงหาคม 2566 และที่มาเหตุผลของการเลือกใช้ห้องพักชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจระหว่างการพักรักษาตัว
นอกจากนี้ศาลได้มีการสอบถามถึงรายละเอียดใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล ,ค่ายา และ ค่าห้องพักของจำเลย ในส่วนนี้ศาลสอบถามไปถึงการใช้ยานอกบัญชีโรงพยาบาลของจำเลยเพื่อใช้รักษาอาการป่วย
โดยพยานรายที่ 1 สามารถให้ข้อมูลต่อศาลได้บางส่วน เนื่องจากดำรงตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่ ในช่วงเริ่มต้นของการรักษาตัวของจำเลยแต่ไม่ได้อยู่ในช่วงท้ายจนถึงการพักโทษของจำเลย
ทั้งนี้ศาลได้แจ้งให้พยานรายที่ 1 ส่งเอกสารเพิ่มเติมต่อศาลได้แก่ ข้อมูลของผู้ป่วยที่เคยพักรักษาที่ห้องพักชั้น 14 ก่อนหน้าที่จำเลยจะเข้าพักห้องดังกล่าว และ รายชื่อผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้ต้องขังที่เคยเข้าพักชั้น 14 หลังจากที่จำเลยออกจากโรงพยาบาลตำรวจ
นอกจากนี้ให้แผนกรับส่งตัวผู้ป่วยของโรงพยาบาลส่งเอกสารชี้แจงถึงการ เลือกห้องพักชั้น 14 ให้จำเลยเข้าพักรักษาตัวในวันที่ 22 สิงหาคม
พยานรายที่ 1 ได้ให้การยืนยันต่อศาลว่าห้องพักที่จำเลยอาศัยตลอดระยะเวลาการรักษาตัวเรียกว่าห้องแยก ขนาดปกติ
พยานรายที่ 2 พล.ต.ท. ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ คนปัจจุบัน เข้ามาดำรงตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่ต่อจากพยานรายที่ 1 ศาลยังคงสอบถามถึงเหตุผลในการเลือกใช้ห้องพักชั้น 14 ของจำเลย
สำหรับพยานรายนี้มีความสัมพันธ์ในส่วนของการเป็นผู้เขียนใบความเห็นแพทย์กรณีการรักษาตัวเกินกว่าระยะเวลา 30 วัน และเป็นผู้ให้ความเห็นในการผ่าตัดรักษาโรคของจำเลย ซึ่งต่อมาจำเลยปฏิเสธการผ่าตัดตามความเห็นที่โรงพยาบาลตำรวจ
ทั้งนี้ศาลได้ถามถึงการใช้ยานอกโรงพยาบาลของจำเลย ซึ่งพยานรายดังกล่าวสามารถให้ข้อมูลได้ว่าจำเลยมีการใช้ยานอกโรงพยาบาลซึ่งสอดคล้องกับบิลค่ารักษาพยาบาลที่ไม่ปรากฏรายชื่อยาที่จำเลยมีการใช้ระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ
ทั้งนี้เหตุผลในการเลือกห้องพักชั้น 14 ของจำเลย ที่พยานรายที่ 2 มีการเบิกความต่อศาลได้ให้เหตุผลหลักใน 2 ข้อคือเพื่อการแยกตัวจำเลยออกมากักโรคในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เนื่องจากจำเลยเพิ่งกลับมาจากต่างประเทศ และ อีกเหตุผลเพื่อควบคุมความปลอดภัยในฐานะผู้ต้องขังของเรือนจำ
ในส่วนรายละเอียดห้องพักรักษาตัวของจำเลยตลอดระยะเวลาการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ พยานรายที่ 2 เบิกความต่อศาลว่า จำเลยอยู่ในห้องพักพิเศษ ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่จำเลยจะต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง
พยานรายที่ 3 เป็นแพทย์คนแรกที่ทำการตรวจรักษาจำเลยในคืนที่ไปถึงโรงพยาบาลตำรวจ 22 สิงหาคม เป็นแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมสมองและไขสันหลัง
พยานยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดห้องพักให้จำเลย แต่ยอมรับว่า ห้องพักชั้น 14 ถือว่าเป็นห้องพักพิเศษ
ศาลได้สอบถามพยานถึงอาการที่ได้ตรวจรักษา ตามบันทึกในเอกสารของโรงพยาบาลตำรวจ โดยมีการถามด้วยว่าลักษณะอาการแต่ละช่วงอยู่ในภาวะวิกฤตหรือฉุกเฉินหรือไม่ และสามารถที่จะให้ออกจากโรงพยาบาลตำรวจได้หรือไม่ ศาลยังมีการถามด้วยว่า ทางกรมราชทัณฑ์ มีการประสานมาเพื่อขอรับตัวจำเลยกลับเรือนจำบ้างหรือไม่
จังหวะหนึ่ง ศาลได้ถามพยานว่า ในการรักษาจำเลย พยานได้มีการคำนึงถึงเรื่องข้อกฎหมายด้วยหรือไม่ ซึ่งพยานก็ตอบด้วยเสียงสั่นเครือว่า “หน้าที่ของตนเองคือการดูแลผู้ป่วย ตามจรรยาบรรณของแพทย์ ไม่ได้คิดว่าจะต้องมาขึ้นศาลแบบนี้”
หลังจากนั้นผู้สื่อข่าวสังเกตว่า พยานมีการปาดน้ำตา และบางช่วงหลังจากนั้นที่ศาลถามคำถามต่อ พยานก็มีจังหวะที่ขอหยุดพัก และขอดื่มน้ำก่อนตอบคำถาม สรุปเวลาที่ศาลเบิกความพยานรายนี้รวม 1 ชั่วโมง 40 นาที
หลังพยานเบิกความเสร็จได้มีการเดินเข้าไปพูดคุยกับพยานรายที่ 1 คือ อดีตนายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งอดีตนายแพทย์ใหญ่ได้มีการลูบหลัง
จากนั้นศาลได้พักการไต่สวนในช่วงเช้า ผู้สื่อข่าวมีโอกาสเข้าไปสอบถามกับพยานรายนี้นอกห้องพิจารณาคดี ซึ่งยอมรับว่าร้องไห้จริง เพราะรู้สึกว่าทำตามหน้าที่ของแพทย์ แต่กลับต้องมาขึ้นศาล
ในช่วงบ่าย ศาลเริ่มเบิกความพยานรายที่ 4 เป็นนายแพทย์ศัลยศาสตร์ออร์โทพีดิกส์ โรงพยาบาลตำรวจ เวลาประมาณ 13.30 น. โดยบรรยากาศในห้องพิจารณาคดีไม่คึกคักเท่าช่วงเช้า ผู้ร่วมสังเกตการณ์น้อยลงและ พยานรายที่ 1 และ 2 ไม่ได้ร่วมฟังการเบิกความ ต่างจากช่วงการเบิกความพยานรายที่ 3 ที่ อดีตนายแพทย์ใหญ่ พยานรายที่ 1 ร่วมฟังจนเสร็จสิ้น
สำหรับพยานรายที่ 4 เป็นแพทย์ผู้ช่วยผ่าตัดอาการบาดเจ็บที่ไหล่ของจำเลย และควบคุมดูแลการพักรักษาหลังการผ่าตัด โดยจำเลยได้รับการผ่าตัดช่วงเดือนตุลาคม
ศาลได้ซักถามพยานรายที่ 4 มุ่งไปที่ใบรับรองของแพทย์เนื่องจากตามหลักฐานพยานรายดังกล่าวเป็นผู้ลงชื่อกำกับใบรับรองแพทย์ของจำเลย ซึ่งพยานให้การต่อศาลยืนยันในสองส่วนคือ ใบรับรองแพทย์เป็นการใส่รายละเอียดการป่วยโดยทั่วไปของจำเลยตามจริงเท่านั้น
อีกทั้งตนเองไม่ทราบว่าจุดประสงค์ที่พยาบาลให้ลงชื่อรับรองใบรับรองแพทย์เพื่ออะไร โดยศาลใช้เวลาเบิกความพยานรายที่ 4 เป็นเวลา 45 นาที
พยานรายที่ 5 นายแพทย์อายุรกรรมเชี่ยวชาญด้านหัวใจ โรงพยาบาลตำรวจ ได้ทำการเบิกความต่อศาลว่าทำการดูแล และ ให้คำปรึกษาจำเลยที่เกี่ยวข้องกับโรคประจำตัวเดิมที่มีประวัติการรักษาจากต่างประเทศ และ ดูแลอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น
โดยพยานได้ตรวจติดตามอาการป่วยจำเลยหลังเข้ารักษาตัวอีกครั้งในวันที่ 24 สิงหาคม ซึ่งบางอาการของจำเลยไม่ได้ปรากฏแล้ว อย่างไรก็ตามได้ให้คำปรึกษาอีกครั้งถึงความเสี่ยงระดับกลางของจำเลยที่อาจส่งผลต่อโรคทางหัวใจในตอนที่จำเลยต้องรับการผ่าตัดอาการบาดเจ็บของไหล่
พยานรายนี้ได้ให้ความเห็นต่อศาลถึงความจำเป็นในการพักรักษาตัว หรือ ไม่พักรักษาตัวต่อของจำเลยที่โรงพยาบาลตำรวจและให้ข้อสังเกตต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจของจำเลยต่อศาล ศาลใช้เวลาเบิกความพยานรายที่ 5 เป็นเวลา 20 นาที
พยานรายที่ 6 เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการผ่าตัดส่องกล้อง และได้รับการประสานให้มาดูอาการบาดเจ็บของจำเลยระหว่างพักรักษาตัว โดยได้ทำการผ่าตัด รวม 2 ครั้ง ซึ่งศาลได้สอบถามถึงขั้นตอนในการรักษา และวางแผนผ่าตัด จนถึงการดูแลรักษาต่อเนื่องหลังการผ่าตัด
โดยถามย้ำว่า หากเป็นผู้ป่วยทั่วไป การผ่าตัดลักษณะเดียวกันนี้จะต้องใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาลเท่าใด และจะสามารถให้กลับบ้านได้หรือไม่ ซึ่งพยานตอบคำถามมั่นใจ ชัดเจน ศาลใช้เวลาสอบถามประมาณ 20 นาที และพยานได้ขอส่งเอกสารสรุปการผ่าตัดให้ศาลเพิ่มเติม
ศาลมีคำสั่งเลื่อนไปไต่สวนพยานบุคคลต่อไปในวันที่ 25 กรกฎาคมเวลา 09.00 นตามที่นัดไว้เดิมและอนุญาตให้จำเลยนำ ศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองามเข้าไต่สวนในวันที่ 30 กรกฎาคม 2568