ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าของ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ประกาศเตรียมเดินหน้าเก็บภาษี Reciprocal Tariff กับประเทศคู่ค้าทั่วโลก จนมีผลกระทบตลาดหุ้นโลกยังคงเผชิญความผันผวน คำถามคือ ตลาดหุ้นไปต่อได้แค่ไหน
เกษรี อายุตตะกะ, CFP SVP, Head of Investment Research, SCB CIO ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ให้มุมมองว่าปัจจัยหลักที่นักลงทุนควรจับตาในช่วงครึ่งปีหลัง จะมี 3 ปัจจัยสำคัญคือ
- นโยบายการค้าของสหรัฐฯ
- นโยบายการคลังของสหรัฐฯ
- นโยบายการเงินของธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่
โดยประเมินว่าทั้ง 3 ปัจจัยนี้จะยังคงส่งอิทธิพลต่อทิศทางการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ
นโยบายการค้า สงครามภาษีที่ยังไม่จบ
ทรัมป์ได้ส่งสัญญาณเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากหลายประเทศ รวมถึงไทย โดยมีอัตราภาษี Proricical Tariff ที่ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 20-50% และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้
นอกจากนี้ ยังมีการเสนอขึ้นภาษีเฉพาะสินค้าบางประเภท เช่น ทองแดง 50% และผลิตภัณฑ์ยา 200% โดยให้ระยะเวลาปรับตัว 1-2 ปี และจะเริ่มต้นด้วยอัตราที่ต่ำก่อน
อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยที่สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดอย่างมากคือการเตรียมขึ้นภาษีสินค้าเซมิคอนดักเตอร์
แม้จะมีการประกาศขู่ขึ้นภาษีที่ดูรุนแรง แต่ SCB CIO มองว่าการที่ทรัมป์ยืดเส้นตายออกไปถึงวันที่ 1 สิงหาคม แสดงให้เห็นว่าเป็นการเปิดทางเพื่อเร่งการเจรจา และคาดการณ์ว่าอัตราภาษีนำเข้าสุดท้ายที่ถูกเก็บจริง (Effective Tariff Rate) น่าจะต่ำกว่าที่เคยประกาศไว้ในช่วง Liberation Day เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา โดยในปลายเดือนมิถุนายน อัตราภาษีเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15% และแม้การประกาศขึ้นภาษีเฉพาะบางสินค้าอาจทำให้อัตราภาษีโดยรวมปรับเพิ่มขึ้น แต่ก็น่าจะผ่านจุดสูงสุดที่เคยเสนอไว้แล้ว
สำหรับเหตุผลที่ SCB CIO ประเมินออกมาดังกล่าว แม้ทรัมป์จะประกาศนโยบาย ‘Make America Great Again’ จะสนับสนุนให้บริษัทกลับมาผลิตในสหรัฐฯ แต่ข้อจำกัดด้านห่วงโซ่อุปทานทำให้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ในระยะสั้น หากขึ้นภาษีสูงเกินไปจะกระทบต่อเศรษฐกิจและทำให้เกิดการเทขายสินทรัพย์ของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 2 เมษายน ดังนั้น ทรัมป์น่าจะเรียนรู้จากบทเรียนดังกล่าวและพยายามเจรจาเพื่อให้ได้ข้อตกลงที่ดี (Good Deal) มากกว่าการเร่งขึ้นภาษีให้สูง
ยุโรปและญี่ปุ่น สองภูมิภาคที่ต้องจับตา
ก่อนหน้านี้ ทรัมป์เคยเสนอเก็บภาษีนำเข้าจากยุโรป 20% ก่อนจะลดเหลือ 10% และล่าสุดได้ส่งจดหมายเสนอเก็บภาษีสูงสุดถึง 50% เพื่อเร่งการเจรจา และล่าสุดคือ 30% ยังไม่รวมภาษีเฉพาะกลุ่มรถยนต์และเหล็ก ยุโรปมีแผนตอบโต้ แต่กำลังพยายามเจรจาก่อน โดย SCB CIO เชื่อว่ายุโรปจะสามารถเจรจาได้ทันเส้นตาย 1 สิงหาคม
เนื่องจากผลกระทบจากการไม่เจรจาจะรุนแรงกว่าสำหรับยุโรปมาก เพราะยุโรปส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ คิดเป็น 3% ของ GDP และเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ถึง 148,000 ล้านดอลลาร์ สินค้าที่น่าจะได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยา, อุปกรณ์ทางการแพทย์, รถยนต์ และเหล็ก
ขณะที่ ญี่ปุ่นอาจต้องเผชิญภาษีนำเข้า 25% หากเจรจาไม่ได้ ซึ่งจะกระทบต่อภาคยานยนต์และชิ้นส่วน อย่างไรก็ตาม การเจรจาของญี่ปุ่นอาจมีความซับซ้อนขึ้นเนื่องจากมีการเลือกตั้งสภาสูงในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ ซึ่งผลการเลือกตั้งอาจส่งผลต่อความไม่แน่นอนของรัฐบาลญี่ปุ่น และอาจทำให้สหรัฐฯ ลดความสำคัญของการเจรจาครั้งนี้ หากญี่ปุ่นต้องเผชิญภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อขาลง ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นอาจต้องคงอัตราดอกเบี้ยต่ำและออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
ห่วงปัญหาหนี้สาธารณะโจทย์ใหญ่ที่รอการแก้ไข
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ระยะยาว 10 ปีของสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ต่างปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่ง SCB CIO แนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของทั้งสามประเทศนี้ สหรัฐฯ เพิ่งผ่านร่างงบประมาณ 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เพดานหนี้เพิ่มขึ้นอีก 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คาดการณ์ว่าหนี้สาธารณะต่อ GDP จะเพิ่มขึ้นจาก 100% ในปัจจุบันเป็น 130% ในปี 2034
ขณะที่ ยุโรปก็มีแผนออกพันธบัตรเพิ่มเติมเพื่อใช้จ่ายด้านกลาโหมและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงอาจมีมาตรการลดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้บอนด์ยีลด์ในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะเยอรมนีสูงขึ้น สำหรับญี่ปุ่น หากพรรคฝ่ายค้านมีคะแนนนำในการเลือกตั้ง อาจนำไปสู่การใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจและลดภาษี ซึ่งจะทำให้การขาดดุลสูงขึ้นไปอีก จากเดิมที่มีหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงที่สุดอยู่ที่ 250%
ส่วนการดำเนินนโยบายการเงิน คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มลดดอกเบี้ย 1 ครั้งในปีนี้ไปอยู่ที่ 4-4 25% แม้แรงกดดันจากเงินเฟ้อยังไม่ส่งผลกระทบมากนักจากประเด็นภาษี แต่หลังจากการเจรจาและปรับขึ้นภาษี อาจเริ่มเห็นผลกระทบมากขึ้น
ด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) เชื่อว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคม แต่หากการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ไม่สำเร็จ อาจมีการลดอัตราดอกเบี้ยได้ โดยคาดว่าการลดดอกเบี้ยครั้งต่อไปของ ECB จะเป็นช่วงเดือนกันยายนนี้
ส่วนธนาคารญี่ปุ่น (BOJ) ประเมินว่าหากพรรคฝ่ายค้านมีคะแนนนำ มีโอกาสน้อยลงที่ BOJ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ โดยยังคงต้องติดตามพัฒนาการเจรจาการค้าและผลการเลือกตั้งของญี่ปุ่น
ผลประกอบการ บจ.สหรัฐฯ ต่ำกว่าคาดหรือเซอร์ไพรส์เชิงบวก
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ได้ประเมินผลกระทบจากมาตรการภาษีต่อผลประกอบการไตรมาส 2/2025 ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไว้ค่อนข้างแย่ โดยเฉพาะในตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว
อย่างไรก็ตาม SCB CIO มองว่ามีโอกาสที่ผลประกอบการไตรมาส 2/2025 ที่ออกมาจริงจะออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ (Positive Earning Surprise)
สำหรับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตลาดคาดการณ์ว่ากำไรต่อหุ้น (EPS) ของ S&P 500 ในไตรมาส 2 จะเติบโตเพียง 3% ซึ่งลดลงอย่างมากจากไตรมาส 3 และ 4 ของปีที่แล้ว อยู่ 12% และ 15% ตามลำดับ สาเหตุหลักมาจากการปรับลดประมาณการกำไรของนักวิเคราะห์ตั้งแต่เดือนเมษายน และผลกระทบจากภาษีที่เริ่มมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ในไตรมาส 2 จะช่วยสนับสนุนกำไรของบริษัทได้ โดยรวมแล้วคาดว่ากลุ่ม IT, Infotech และ Communication Services จะยังคงมีผลประกอบการที่ดี
ส่วนตลาดหุ้นยุโรป นักลงทุนมองว่ากำไรของบริษัทในยุโรปปีนี้จะไม่เติบโต และอาจติดลบด้วยซ้ำ เนื่องจากกังวลเรื่องภาษีและค่าเงินยูโรที่แข็งค่า แต่ SCB CIO มองว่าตลาดอาจประเมินแย่เกินไป โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์และเหล็ก-อะลูมิเนียมที่ส่งออกน่าจะออกมาดีกว่าคาด
ด้านตลาดหุ้นญี่ปุ่น นักลงทุนปรับลดคาดการณ์กำไรก่อนการประกาศผลประกอบการจริง โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ ลดลง 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเหล็ก ลดลง 40% YoY ทำให้คาดการณ์กำไรในไตรมาส 2 นี้ จะเติบโตเพียง 0.2% อย่างไรก็ตาม SCB CIO มองว่ามีโอกาสที่ผลประกอบการจริงจะติดลบน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เช่นกัน
แนะนำจัดพอร์ตการลงทุนรับมือความไม่แน่นอน
SCB CIO ยังคงเน้นการลงทุนในตลาดหุ้นมากกว่าตลาดพันธบัตร โดยแบ่งเป็นพอร์ตหลัก (Core Portfolio) สำหรับการลงทุนระยะยาวมากกว่า 1 ปี ยังคงแนะนำให้ลงทุนในตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น โดยให้น้ำหนักส่วนใหญ่ในการลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ
เนื่องจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้ Valuation จะปรับขึ้นมามาก โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี แต่ SCB CIO มองว่ากำไรต่อหุ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยรวมยังมีโอกาสเติบโตได้ทั้งปีนี้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือ
- ความเสี่ยงขาลงของ GDP ลดลง ซึ่งหลังจากการเจรจาการค้าเริ่มส่งผลดีขึ้น และคาดว่าอัตราภาษีสุดท้ายจะต่ำกว่าที่เคยประกาศไว้ ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อห่วงโซ่อุปทานโลกและเศรษฐกิจสหรัฐฯ
- งบประมาณการคลัง (OBBA) โดยร่างงบประมาณใหม่ของสหรัฐฯ น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก จากการขยายการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างถาวร การเพิ่มค่าลดหย่อน และการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ โดย consensus คาดการณ์ว่ากำไรของ S&P 500 จะขยายตัว 7% ในปีนี้ และ 14% ในปีหน้า
สำหรับตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังให้น้ำหนักกับการปฏิรูปธรรมาภิบาลของตลาดทุน เช่น การซื้อหุ้นคืน (Share Buyback) และการจ่ายเงินปันผล ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนตลาดได้ แต่ในระยะสั้นยังคงมีความผันผวนจากความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าและสถานการณ์การเมืองภายในประเทศที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
ภาพ: mark reinstein / Shutterstock