เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (15 กรกฎาคม) ที่ผ่านมา กองทัพรัฐบาลซีเรียเข้าควบคุมเมืองซูเวย์ดา (Suwayda) ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของชาวดรูซ (Druze) หลังเกิดการปะทะรุนแรงระหว่างกองกำลังติดอาวุธของดรูซกับกลุ่มเบดูอิน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 30 คน และบาดเจ็บอีกหลายสิบคน
สถานการณ์ทวีความรุนแรงเมื่อมีกลุ่มนักรบอิสลามิสต์ที่จงรักภักดีต่อรัฐบาลเข้าร่วมการสู้รบ สร้างความหวาดกลัวให้กับชุมชนดรูซ และนำไปสู่คำเรียกร้องจากผู้นำทางศาสนาดรูซต่อประชาคมโลกให้เข้าแทรกแซงเพื่อปกป้องพลเรือน
อิสราเอลจึงตอบโต้ด้วยการเปิดฉากโจมตีทางอากาศต่อฐานที่มั่นของรัฐบาลซีเรียในพื้นที่ โดยระบุว่าเป็นการปกป้องชาวดรูซที่มีความเกี่ยวพันเชื้อสายและวัฒนธรรมกับพลเมืองชาวดรูซในอิสราเอล
ต่อมา อิสราเอล แคตซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอิสราเอล ประกาศชัดว่า หากกองกำลังรัฐบาลซีเรียไม่ถอนตัวจากพื้นที่ “อิสราเอลจะยกระดับการโจมตี”
ก่อนที่เมื่อวานนี้ (16 กรกฎาคม) อิสราเอลได้โจมตีหนักขึ้นโดยพุ่งเป้าไปที่กระทรวงกลาโหมและพื้นที่ใกล้ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงดามัสกัส
สุดท้าย ภายหลังการหารือกับสหรัฐ รัฐบาลซีเรียภายใต้ผู้นำคนใหม่ อาห์เหม็ด อัล-ชารา ตกลงถอนกำลังออกจากซูเวย์ดาและประกาศหยุดยิงกับกองกำลังดรูซ แต่ข้อตกลงนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีผลจริงหรือไม่ เนื่องจากผู้นำทางศาสนาดรูซบางฝ่ายยังปฏิเสธข้อตกลง
ดรูซคือใคร?
“ดรูซ” (Druze) เป็นชนกลุ่มน้อยเชื้อสายอาหรับที่มีศาสนาเป็นของตนเอง แตกแขนงจากศาสนาอิสลามในศตวรรษที่ 11 โดยไม่มีการรับคนเข้าใหม่หรือเปลี่ยนศาสนา และห้ามแต่งงานข้ามศาสนา
ปัจจุบัน ดรูซมีประชากรราว 1 ล้านคน กระจายอยู่ในซีเรีย เลบานอน และอิสราเอล โดยเฉพาะในซีเรีย ดรูซอาศัยอยู่หนาแน่นในจังหวัดซูเวย์ดา ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเขตที่ราบสูงโกลัน (Golan Heights) ที่อิสราเอลยึดครองจากซีเรียในปี 1967
ในฝั่งอิสราเอล ชาวดรูซราว 130,000 คนมีสถานะเป็นพลเมืองและถูกเกณฑ์ทหารเทียบเท่าชาวยิว โดยมีบทบาทอย่างมากในกองทัพและหน่วยงานความมั่นคง
ในทางตรงกันข้าม ดรูซที่อาศัยอยู่ในเขตโกลันยังคงยึดมั่นในอัตลักษณ์ซีเรีย โดยปฏิเสธการถือสัญชาติอิสราเอล และถือเพียงสถานะ “ผู้พำนักถาวร”
เหตุใดกองทัพซีเรียจึงปะทะกับดรูซ?
แม้ประธานาธิบดีคนใหม่ของซีเรีย อาห์เหม็ด อัล-ชารา จะประกาศนโยบายรวมชาติและเคารพความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่ในความเป็นจริง กลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์ที่จงรักภักดีต่อเขากลับสร้างความหวาดกลัวให้กับชนกลุ่มน้อย รวมถึงดรูซ
ความตึงเครียดเพิ่มขึ้นจากความพยายามของรัฐบาลในการบังคับปลดอาวุธกองกำลังดรูซ และรวมเข้ากับกองทัพแห่งชาติ ซึ่งถูกต่อต้านจากฝ่ายดรูซที่ต้องการรักษาอำนาจควบคุมตนเอง โดยเฉพาะเมื่อพวกเขารู้สึกว่าถูกกีดกันจากเวทีการเจรจาระดับประเทศ และมีตัวแทนเพียงคนเดียวในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
เหตุใดอิสราเอลจึงแทรกแซง?
รัฐบาลอิสราเอลภายใต้การนำของ เบนจามิน เนทันยาฮู ออกแถลงการณ์ว่า การโจมตีเป็นไปเพื่อ “ป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อชาวดรูซในซีเรีย” โดยอ้างถึงสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับพลเมืองดรูซในอิสราเอล ทั้งทางสายเลือด ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม
อิสราเอลยังได้กำหนด “เขตปลอดอาวุธ” ฝั่งซีเรียใกล้พรมแดนโกลัน พร้อมเตือนว่า จะไม่ยอมให้กองกำลังใดเข้ามาในพื้นที่นี้
ในอีกด้านหนึ่ง ผู้นำดรูซในซีเรียมีจุดยืนไม่เป็นเอกภาพ บางส่วนเรียกร้องให้รัฐซีเรียเข้ามาจัดการความมั่นคงในซูเวย์ดาและยุติการใช้อาวุธของกองกำลังท้องถิ่น แต่บางกลุ่มยังยืนยันที่จะสู้ต่อไป และปฏิเสธข้อตกลงหยุดยิงล่าสุด
สถานการณ์จะไปทางไหนต่อ?
แม้รัฐบาลซีเรียจะประกาศถอนทหารและเริ่มเจรจา แต่ความร้าวลึกในหมู่ชาวดรูซ และการยกระดับโจมตีของอิสราเอล ชี้ว่าความขัดแย้งนี้อาจยังไม่จบลงในเร็ววัน โดยเฉพาะเมื่อประชาคมโลกยังคงแบ่งขั้ว และไม่มีท่าทีจะเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยอย่างชัดเจน
ภาพ: REUTERS / Ayal Margolin TPX IMAGES OF THE DAY
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2025/07/15/middleeast/israel-strikes-syria-sectarian-clashes-druze-intl?cid
- https://www.reuters.com/world/middle-east/clashes-resume-syrias-druze-city-sweida-after-ceasefire-announcement-2025-07-16/
- https://www.aljazeera.com/news/2025/7/16/why-did-israel-bomb-syria-a-look-at-the-druze-and-the-violence-in-suwayda