×

หนี้ครัวเรือนไทยไตรมาสแรกปี 2025 ลดลงครั้งแรกในประวัติการณ์! ดีจริงหรือไม่?

16.07.2025
  • LOADING...
กราฟหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ไตรมาส 1/2025 – แสดงการลดลงของสัดส่วนหนี้ครั้งแรกในประวัติการณ์

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ในไตรมาสแรกปี 2025 ปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 87.4% จากการหดตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือน โดย SCB EIC ประเมินภาคครัวเรือนไทยจะยังมีแนวโน้มอยู่ในช่วง Deleveraging ต่อเนื่องซึ่งจะกดดันการใช้จ่ายภาคเอกชนในระยะข้างหน้า

 

กราฟหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ไตรมาส 1/2025 – แสดงการลดลงของสัดส่วนหนี้ครั้งแรกในประวัติการณ์

 

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยไตรมาส 1 ปี 2025 ลดลงต่อเนื่องตามวัฏจักร Deleveraging โดยมูลค่ายอดคงค้างหนี้ครัวเรือนหดตัวครั้งแรกตั้งแต่มีการเปิดเผยข้อมูล

 

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ Nominal GDP ของไทยไตรมาสแรกปี 2025 ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 87.4% ซึ่งเป็นผลจากยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนขยายตัวต่ำในช่วงที่ผ่านมา จนหดตัวในไตรมาส 1 ปี 2025 ที่ -0.1%YOY นับเป็นการหดตัวครั้งแรกตั้งแต่มีการเปิดเผยข้อมูลหนี้ครัวเรือนไทยตามความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ท่ามกลางคุณภาพสินเชื่อครัวเรือนที่ทยอยปรับด้อยลง ขณะที่เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าช่วงก่อน COVID-19 

 

 

มาตรการแก้หนี้ที่ออกมาเพิ่มเติมโดยเฉพาะ ‘คุณสู้ เราช่วย’ อาจช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการชำระหนี้ในระยะสั้น และอาจทำให้ NPL ชะลอตัวลงบ้าง แต่ในระยะข้างหน้าต้องติดตามการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือน ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดความสามารถในการชำระหนี้ที่แท้จริง

 

โครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ เฟส 2 ที่ออกมาอาจช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้เพิ่มเติม จากเงื่อนไขที่ผ่อนปรนขึ้นกว่าเดิม และมาตรการที่เพิ่มความครอบคลุมลูกหนี้ที่มีปัญหาทางการเงินได้มากขึ้น รวมทั้งการขยายระยะเวลาการเข้าร่วมโครงการ อย่างไรก็ดี ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการในระยะต่อไปยังต้องขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของภาคครัวเรือน ซึ่งสถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าอาจไม่ได้สนับสนุนการฟื้นตัวของครัวเรือนมากนัก

 

 

SCB EIC มองว่า ครัวเรือนไทยจะอยู่ในช่วง Deleveraging ต่อไปในระยะข้างหน้า โดยสินเชื่อรายย่อยที่โตต่ำ และความระมัดระวังในการใช้จ่ายและก่อหนี้ใหม่ของครัวเรือนจะสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่ออุปสงค์ในประเทศ

 

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไทยมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่อง จากยอดคงค้างสินเชื่อที่มีแนวโน้มลดลง ขณะที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่ำตามปัจจัยภายนอกที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ 

 

และจากความเปราะบางทางเศรษฐกิจจากแผลเป็น COVID-19 การเข้าถึงสินเชื่อจะยังเผชิญความเข้มงวดของสถาบันการเงินอยู่ โดยประเมินสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ณ สิ้นปี 2025 จะลดลงต่อเนื่องไปอยู่ที่ช่วง 85.5-86.5% อย่างไรก็ดี กระบวนการลดหนี้ที่เห็นในลักษณะนี้อาจสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านการบริโภคภาคเอกชนซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจ

 

อ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็มได้ที่: https://www.scbeic.com/th/detail/product/Household-Debt-150725?utm_source=Influencer&utm_medium=Link&utm_campaign=INFOCUS_Household_Debt_JUL_2025

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising