วันนี้ (12 กรกฎาคม) เวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) และโฆษกกระทรวงดีอี เปิดเผยผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 4-10 กรกฎาคม 2568
พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 1,039,175 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องตรวจสอบ 638 ข้อความ และจากทั้งหมด 209 เรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 87 เรื่อง
กระทรวงดีอีได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจออกเป็น 5 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1: นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 98 เรื่อง
กลุ่มที่ 2: ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย จำนวน 31 เรื่อง
กลุ่มที่ 3: ภัยพิบัติ จำนวน 14 เรื่อง
กลุ่มที่ 4: เศรษฐกิจ จำนวน 7 เรื่อง
กลุ่มที่ 5: อาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 59 เรื่อง
เวทางค์กล่าวว่า ข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจสูงสุดในสัปดาห์นี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องภัย พิบัติ ความมั่นคง และการให้บริการของหน่วยงานรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคม ทำให้เกิดความตื่นตระหนกและเข้าใจผิด โดย 10 อันดับแรก
อันดับ 1: ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ เฝ้าระวังสึนามิ และแผ่นดินไหวรุนแรง ที่ภูเขาไฟใต้น้ำ
อันดับ 2: รัฐบาลใช้ฝนเทียม เพื่อสลายการชุมนุม
อันดับ 3: เดือนกรกฎาคม 68 จะมีคนชุมพรและนราธิวาส เสียชีวิตเพราะสึนามิเป็นแสนคน
อันดับ 4: เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.1 แมกนิจูด ลึก 10 กม. ในแนววงแหวนแห่งไฟบริเวณทะเลอันดามัน
อันดับ 5: แจ้งผู้ว่าฯ 7 จังหวัด ชายแดนไทย-กัมพูชา เตรียมแผนอพยพประชาชน
อันดับ 6: เกิดแผ่นดินไหวล้อมไทย ภาคเหนือ-อีสาน-ใต้ ต้องเฝ้าระวัง
อันดับ 7: คนต่างด้าวทำบัตรประชาชนคนไทยได้แล้ว
อันดับ 8: กัมพูชาสั่งห้ามไทย ส่งยาให้ผู้ป่วยผ่านด่านช่องจอม
อันดับ 9: ธนาคารออมสิน เปิดโครงการใหม่ กู้ออนไลน์ ได้ทุกอาชีพ วงเงิน 70,000 บาท
อันดับ 10: เผยคลิปลับ เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นเพื่อนกับเจ้าของร้านอาหารชาวจีน
สำหรับข่าวปลอมอันดับ 1 เรื่อง ‘ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ เฝ้าระวังสึนามิ และแผ่นดินไหวรุนแรง ที่ภูเขาไฟใต้น้ำ’ กระทรวงดีอี โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยชี้แจงว่าในช่วง 10 วันที่ผ่านมา (นับจากวันที่ 3 กรกฎาคม 2568) ไม่พบรายงานการปะทุของภูเขาไฟบนเกาะนิโคบาร์ หรือบริเวณหมู่เกาะอันดามัน และจากแหล่งข้อมูลภูเขาไฟสำคัญ เช่น Global Volcanism Program ก็ไม่พบบันทึกเหตุการณ์เชิงลึกหรือแผนที่ความร้อนใหม่ใด ๆ อย่างไรก็ตาม กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเฝ้าระวังแผ่นดินไหวและสึนามิอย่างต่อเนื่อง
ส่วนข่าวปลอมอันดับ 2 เรื่อง ‘รัฐบาลใช้ฝนเทียม เพื่อสลายการชุมนุม’ กระทรวงดีอี ได้ประสานงานร่วมกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นข้อมูลเท็จ ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อปลุกปั่นยุยง โดยชี้แจงว่ามีการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน 2568 เพียง 1 หน่วยปฏิบัติการ ที่จังหวัดลพบุรี และมีฝนตกในพื้นที่การเกษตรจังหวัดลพบุรี นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์ ซึ่งไม่มีผลกระทบกับพื้นที่กรุงเทพมหานครแต่อย่างใด
กระทรวงดีอีมีความห่วงใยประชาชนเรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่แพร่กระจายบนสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย โดยย้ำเตือนว่าหากขาดความรู้เท่าทันและส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด วิตกกังวล หรือสร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัดก่อนเชื่อหรือแชร์ต่อ