กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เปิดเผยรายงานงบประมาณประจำเดือนมิถุนายนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (11 กรกฎาคม) ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารายได้จากการจัดเก็บอากรศุลกากร (Customs Duties) หรือภาษีนำเข้า ได้พุ่งสูงเกิน 1 แสนล้านดอลลาร์ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ภายในรอบปีงบประมาณเดียว ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากมาตรการกำแพงภาษีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ทวีความเข้มข้นขึ้น
รายได้จากภาษีที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดช่วยให้งบประมาณในเดือนมิถุนายนพลิกกลับมาเกินดุลถึง 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะยิ่งเสริมความเชื่อมั่นของทรัมป์ในการใช้กำแพงภาษีเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจและนโยบายต่างประเทศต่อไป
ภาษีนำเข้ากลายเป็นแหล่งรายได้อันดับ 4 ของรัฐบาลสหรัฐฯ
ข้อมูลจากกระทรวงการคลังชี้ว่า ภาษีนำเข้ากำลังกลายเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลกลางสหรัฐฯ
ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา การจัดเก็บอากรศุลกากรทำสถิติสูงสุดใหม่ โดยเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าตัว แตะระดับ 2.72 หมื่นล้านดอลลาร์ ก่อนหักลบกับส่วนที่ต้องคืนภาษี โดยรายได้ภาษีสุทธิอยู่ที่ 2.66 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังหักเงินคืน
รายได้จากภาษีนำเข้าสุทธิ 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 ตั้งแต่ตุลาคม 2567 – มิถุนายน 2568 จัดเก็บได้ถึง 1.08 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
จากผลลัพธ์ดังกล่าวทำให้ปัจจุบันภาษีนำเข้าได้กลายเป็นแหล่งรายได้ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ตามหลังเพียงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประเภทหัก ณ ที่จ่าย จัดเก็บได้ 2.683 ล้านล้านดอลลาร์, ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประเภทยื่นชำระเอง จัดเก็บได้ 9.65 แสนล้านดอลลาร์ และภาษีเงินได้นิติบุคคล จัดเก็บได้ 3.92 แสนล้านดอลลาร์
และในเวลาเพียง 4 เดือน สัดส่วนรายได้จากภาษีนำเข้าต่อรายได้ทั้งหมดของรัฐบาลเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากประมาณ 2% ในอดีต มาอยู่ที่ราว 5%
สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม X ว่า ผลลัพธ์ที่ออกมาแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ กำลังเก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากนโยบายภาษีของทรัมป์ “ในขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์ทำงานอย่างหนักเพื่อทวงคืนอธิปไตยทางเศรษฐกิจของชาติ รายงานงบประมาณรายเดือนในวันนี้ได้แสดงให้เห็นถึงรายได้จากอากรศุลกากรที่ทำสถิติสูงสุด โดยที่ไม่มีภาวะเงินเฟ้อ”
ขาดดุลงบประมาณโดยรวมยังคงพุ่งสูง
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเกินดุลงบประมาณในเดือนมิถุนายนส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเลื่อนปฏิทินของรายรับและรายจ่ายบางรายการ หากปรับผลกระทบดังกล่าวออกไป คาดว่าในเดือนมิถุนายนจะยังคงขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ 7 หมื่นล้านดอลลาร์
ที่สำคัญกว่านั้นคือ ยอดขาดดุลงบประมาณโดยรวมในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ กลับเพิ่มสูงขึ้น 5% หรือ 6.4 หมื่นล้านดอลลาร์ แตะระดับ 1.337 ล้านล้านดอลลาร์ เนื่องจากรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นในโครงการสุขภาพ, ประกันสังคม, กลาโหม, กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยของหนี้สาธารณะที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณนี้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยสูงถึง 9.21 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อน และสูงกว่ารายจ่ายหมวดอื่นๆ ทั้งหมด
เบสเซนต์ได้เคยส่งสัญญาณก่อนหน้านี้ว่ารายได้จากภาษีอาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่านี้ โดยคาดว่ายอดจัดเก็บสำหรับปีปฏิทิน 2568 อาจสูงถึง 3 แสนล้านดอลลาร์ภายในสิ้นเดือนธันวาคม
ด้านเออร์นี เทเดสชี ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐศาสตร์ของ Budget Lab แห่งมหาวิทยาลัยเยล และอดีตที่ปรึกษาเศรษฐกิจของทำเนียบขาวในสมัยรัฐบาลไบเดน ให้ความเห็นว่า อาจต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่ารายได้จากภาษีจะเพิ่มขึ้นเต็มที่ เนื่องจากภาคธุรกิจและผู้บริโภคได้รีบนำเข้าสินค้าล่วงหน้าเพื่อหนีภาษี แต่เมื่อผลกระทบดังกล่าวจางลง และทรัมป์เริ่มใช้ภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ในอัตราที่สูงขึ้นหลังวันที่ 1 สิงหาคมนี้ กระทรวงการคลังอาจเก็บภาษีเพิ่มได้อีกเดือนละ 1 หมื่นล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม เทเดสชีได้เตือนถึงความเสี่ยงสำคัญ “ผมคิดว่ามีความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญที่เราจะเสพติดรายได้จากภาษีนำเข้า” พร้อมบอกว่ารายได้จากภาษีอาจลดลงได้ในอนาคตเมื่อภาคธุรกิจและผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น หาแหล่งผลิตใหม่ หรือลดการบริโภค
อย่างไรก็ดี ในสัปดาห์ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากหลายประเทศเพิ่มขึ้น อาทิ ภาษี 50% ต่อการนำเข้าทองแดงและสินค้าจากบราซิล และภาษี 35% ต่อสินค้าจากแคนาดา ซึ่งทั้งหมดจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม นอกจากนี้รัฐบาลทรัมป์ยังอยู่ระหว่างการเตรียมมาตรการภาษีที่เจาะจงรายอุตสาหกรรมเพิ่มเติมสำหรับเซมิคอนดักเตอร์และยา
อ้างอิง: