ในห้วงเวลาที่พุทธศาสนากำลังเผชิญกับแรงสั่นสะเทือนจากกรณี ‘สีกากอล์ฟ’ หญิงสาวผู้ตกเป็นข่าวฉาวพัวพันกับพระสงฆ์ระดับสูงหลายรูป เรื่องราวที่ถูกเผยแพร่ต่อเนื่องบนโซเชียลมีเดียได้เปิดโปงพฤติกรรมของพระซึ่งตามมาด้วยคำถามถึงศีลธรรมและความเหมาะสม
ภายใต้บรรยากาศศาสนาที่เต็มไปด้วยความเปราะบางนี้ ประชาชนต่างคาดหวังให้รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาแสดงบทบาทในการปกป้องวิกฤตศรัทธาของศาสนาพุทธให้มากกว่านี้
โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับความรวดเร็วและเด็ดขาดในการจัดการกับประเด็น ‘คุกกี้รูปพระเครื่อง’ และ ‘พวงกุญแจหลวงเจ๊’
จากกล่องสุ่ม หลวงเจ๊ ถึงคุกกี้รูปพระเครื่อง
“ไม่เหมาะโดยประการทั้งปวง” ความเห็นนี้มาจาก บุญเชิด กิตติธรางกูร รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เตือนร้านค้าที่จำหน่ายพวงกุญแจ หลวงเจ๊ หรือ Amitofo ซึ่งมีลักษณะคล้ายเศียรพระพุทธเจ้า
สินค้าเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นการลดทอนคุณค่าของพระพุทธศาสนาให้กลายเป็นวัตถุของเล่นในเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะการนำมาห้อยกระเป๋า แขวนโทรศัพท์ หรือขายในกล่องสุ่ม พร้อมคำโฆษณาแฝงความน่ารัก เสียดสี หรือแม้แต่เรียกขานพระว่า ‘เจ๊’ ด้วยอารมณ์ขันแบบป๊อปคัลเจอร์
เช่นเดียวกับกรณีขนมเบเกอรี่ที่ทำเป็นคุกกี้พระเครื่องหรืออาลัวพระธรรมซึ่งพระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว เคยเตือนว่า “อย่าหาทำ” เพราะมองว่าเป็นการลบหลู่ศาสนาอย่างรุนแรง เซาะกร่อนศรัทธาของผู้คน
สำนักงานพระพุทธศาสนาเองยังส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบร้านค้าดังกล่าว จนทำให้ผู้ผลิตต้องออกมาขอโทษและหยุดจำหน่ายโดยสมัครใจ แม้ไม่มีบทลงโทษทางกฎหมายโดยตรง
ตัดฉากกลับมาที่ ‘สีกากอล์ฟ’
ขณะที่สินค้าเหล่านั้นถูกตำหนิว่าเป็นภัยต่อความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธศาสนา ภาพข่าวอีกฟากหนึ่งกลับเผยให้เห็นพฤติกรรมของพระชั้นผู้ใหญ่ ที่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับสีกา ไปจนถึงคลิปหลุด ภาพลับ ซึ่งกลายเป็นหัวข้อวิพากษ์ทั่วบ้านทั่วเมือง
ความเคลื่อนไหวอ้อยอิ่งจากหน่วยงานรัฐ และความคลุมเครือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกรณีเช่นนี้ ถูกตั้งคำถามอย่างหนักจากประชาชนว่า เหตุใดสิ่งที่เป็นพฤติกรรมล่วงละเมิดศีลธรรมอย่างโจ่งแจ้งกลับไม่ได้รับการท้วงติงอย่างแข็งขัน เท่ากับคุกกี้รูปพระเครื่อง หรือพวงกุญแจในกล่องสุ่ม
หรือแท้จริงแล้วความเหมาะสม ถูกตีความภายใต้เลนส์ที่ต่างกันระหว่างพฤติกรรมกับสัญลักษณ์?
ศตวรรษที่ 21 ระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับความสร้างสรรค์
สินค้าอย่างคุกกี้พระเครื่อง หรือพวงกุญแจหลวงเจ๊ แม้จะทำด้วยความตั้งใจให้ดูขำขัน หรือ แหวกแนว ในสายตาคนรุ่นใหม่ แต่ก็เผยให้เห็นข้อขัดแย้งที่ฝังลึกในศาสนจักรไทยระหว่างความเคร่งครัด กับ การตีความใหม่
ในโลกที่ศาสนาเผชิญการท้าทายจากเทคโนโลยี วัฒนธรรมป๊อป และความเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ การเลือกที่จะใช้ทรัพยากรและน้ำเสียงของรัฐเพื่อจัดการกับสินค้าบางชิ้น แทนที่จะจัดการกับพฤติกรรมที่ทำลายศาสนาจากภายใน
อาจสะท้อนความลำเอียงของระบบศีลธรรมที่เน้น ‘เปลือก’ มากกว่า ‘แก่น’
รัฐบาลกำลังจับตาวิกฤตวงการสงฆ์
เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สุชาติ ตันเจริญ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับพระสงฆ์ในขณะนี้ หลังจากได้หารือร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)
มีข้อเสนอให้มีมาตรการดูแลรักษาศาสนสมบัติของวัดให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น สำหรับแนวคิดการจัดตั้งธนาคารพระพุทธศาสนานั้นยังคงมีข้อจำกัดทางกฎหมาย จึงอาจพิจารณาเชิญ ธนาคารของรัฐบาลเข้ามาร่วมดำเนินงาน หรือจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อรองรับภารกิจดังกล่าว แทนการจัดตั้งธนาคารใหม่
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังเสนอให้มีการคุ้มครองพระภิกษุผู้ประพฤติดี และจัดการกับพระภิกษุผู้ประพฤติมิชอบ ทว่าในปัจจุบันยังมี ช่องว่างทางกฎหมายและข้อจำกัดด้านอำนาจหน้าที่ของ พศ. ทำให้การดำเนินการในบางกรณียังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
นอกจากนี้ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพระพุทธศาสนาก็จำเป็นต้องมีการทบทวนให้ครอบคลุมกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น กรณีที่มีสตรีเข้ามาสร้างปัญหา หรือพระภิกษุบางรูปประพฤติตนไม่เหมาะสมแต่ปกปิดข้อมูลไว้ ควรมีการพิจารณาแก้ไขกฎระเบียบและข้อกฎหมายบางประการ และในบางกรณีก็อาจถึงขั้นต้องพิจารณาให้รับผิดทางอาญาด้วยหรือไม่
สุชาติย้ำว่า การปรับโครงสร้างสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ควรดำเนินการควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาของสงฆ์และพระพุทธศาสนา โดยจะต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมพัฒนาองค์กรด้วย
“ขณะนี้เกิดวิกฤตวงการสงฆ์ เป็นเรื่องที่ทำให้พุทธศาสนิกชนมีความไม่สบายใจและผมเองก็มีความห่วงใยเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ดังนั้นในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะนำข้อเสนอไปพิจารณา โดยเฉพาะเรื่องข้อกฎหมาย และระเบียบต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน” สุชาติกล่าวทิ้งท้าย
การหารือและข้อเสนอแนะเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาที่กัดกร่อนศรัทธาในวงการสงฆ์ไทย ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: