×

หมูไทยแพ้สหรัฐฯ ทุกทาง KResearch เตือน อาจเสียหายกว่า 112,330 ล้านบาท หากไทยเปิดทางให้หมูสหรัฐฯ ตีตลาด

11.07.2025
  • LOADING...
us-pork-threat-thailand

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) เตือนว่า ตลาดหมูไทยอาจเสียหายกว่า 112,330 ล้านบาท หากเปิดให้หมูราคาถูกจากสหรัฐฯ เข้ามาตีตลาดในประเทศ เนื่องจากศักยภาพในการแข่งขันของหมูไทยแพ้ทางหมูสหรัฐฯ ในทุกมิติ ขณะที่ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) มีแนวโน้มกดดันให้ไทยต้องยอมนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในราคาถูกแลกกับต้องโดนภาษี 36%

 

วันนี้ (11 กรกฎาคม) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) คาดว่าตลาดเนื้อหมูไทยอาจเสียมูลค่ามากถึง 112,330 ล้านบาท หากโดนหมูสหรัฐฯ ตีตลาด เนื่องจากอุตสาหกรรมหมูไทยที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) เป็นหลัก ซึ่งจะกระทบต่อผู้เล่นทุกรายในห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ

 

เกษตรกร โรงชำแหละเสี่ยงเลิกกิจการมากขึ้น

 

เนื่องจากไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจำนวน 1.49 แสนราย แต่เป็นเกษตรกรรายย่อยสูงถึง 97% ของจำนวนทั้งหมด หากเนื้อหมูและเครื่องในจากสหรัฐฯ ไหลทะลักเข้ามาเพิ่ม ก็อาจซ้ำเติมให้เกษตรกรเหล่านี้ขาดทุนรุนแรงจนต้องเลิกกิจการมากขึ้น จากเดิมที่ผู้เลี้ยงลดลงไปแล้วกว่า 21% ในช่วงปี 2564-2567

 

เช่นเดียวกันกับเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์อย่างรำสด ข้าวโพด และปลายข้าว ซึ่งมีจำนวนรวมกันราว 5 ล้านครัวเรือน กลุ่มนี้จะได้รับความเสียหายด้านรายได้โดยตรง เนื่องจากจะมีผลผลิตเหลือมากขึ้น จนกดดันราคาให้ต่ำลง

 

ไม่เพียงเท่านั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังประเมินว่า โรงชำแหละจะต้องเลิกกิจการทั้งหมด เนื่องจากถูกตัดออกจากวงจรการผลิต ขณะที่เขียงหมูอาจสูญเสียรายได้บางส่วน เป็นเพราะเนื้อหมูและเครื่องในของสหรัฐฯ มีการแยกชิ้นส่วนสำเร็จพร้อมบริโภคบ้างแล้วบางส่วน

 

ทั้งนี้ มูลค่าความเสียหาย 112,330 ล้านบาท อิงจากกรณีที่ไทยเปิดตลาดให้เนื้อหมูสหรัฐฯ เข้ามาอย่างเสรี 100% และยังไม่นำเครื่องในหมูเข้ามานับรวมด้วย

 

สารเร่งเนื้อแดงเสี่ยงกระทบสุขภาพผู้บริโภค

 

ด้านผู้บริโภคที่อาจสามารถเข้าถึงเนื้อหมูและเครื่องในได้ในราคาที่ถูกลง ซึ่งอาจช่วยลดต้นทุนค่าครองชีพได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สารเร่งเนื้อแดงในหมูสหรัฐฯ อาจส่งผลข้างเคียงทางสุขภาพต่อผู้บริโภคได้

 

ตามข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ เนื่องจากไทยมีการห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในหมู ซึ่งเป็นสารที่อาจส่งผลต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ตามข้อมูลจากกรมอนามัย และอาจทำให้มีอาการมือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก ปวดหัว วิงเวียนศีรษะ หัวใจเต้นผิดปกติ

 

นอกจากนี้ สารเร่งเนื้อแดงยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกในระบบสืบพันธุ์สตรี และในบางกรณีอาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง โดยกลุ่มเสี่ยงที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ และผู้ป่วยโรคหัวใจและเบาหวาน

 

USTR จ่อกดดันเนื้อหมู

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สหรัฐฯ มีแนวโน้มกดดันให้ไทยนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในที่ผลิตในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เนื่องจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) พิจารณาว่าไทยเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้จากสหรัฐฯ ค่อนข้างสูง ขณะที่ไทยนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่น้อย

 

เพื่อให้ไทยต้องเปิดตลาด และเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น เนื้อหมูและเครื่องในจึงเป็นหนึ่งในรายการสินค้าเกษตรอันดับต้นๆ ที่ถูกนำมาใช้ต่อรองเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ หลังจากในวันที่ 7 ก.ค. 2568 สหรัฐฯ ได้ประกาศใช้อัตราภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ฉบับใหม่ โดยไทยโดนเก็บ 36% มีผลบังคับใช้ 1 ส.ค. 2568

 

ศักยภาพหมูไทย แพ้ทุกทาง

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยว่า สหรัฐฯ มีศักยภาพในการผลิตหมูที่แข็งแกร่ง และมีต้นทุนที่ต่ำจากการผลิตแบบฟาร์มอุตสาหกรรม (Factory Farm) ขนาดใหญ่ ที่มีการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง ต่างจากไทยที่ดำเนินการเลี้ยงในฟาร์มขนาดเล็กแบบดั้งเดิม

 

ไม่เพียงเท่านั้น หมูไทยยังมีความเสียเปรียบต่อหมูสหรัฐฯ ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุน ขนาด หรือแม้แต่ราคา โดยในช่วงปี 2563-2567 ที่ผ่านมา ราคาเนื้อหมูไทยแพงกว่าหมูสหรัฐฯ สูงถึง 1.3 เท่า โดยหมูสหรัฐฯ มีราคาขายเฉลี่ยที่ 1.7 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ขณะที่หมูไทยมีราคาเฉลี่ยที่ 2.3 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม

 

หมูสหรัฐ:

  • ผลิตมากเป็นอันดับ 3 ของโลก คิดเป็น 12.6 ล้านตัน หรือ 11% ของผลผลิตหมูทั่วโลก
  • ส่งออกอันดับ 1 ของโลก คิดเป็น 3.2 ล้านตัน หรือ 31% ของปริมาณการส่งออกหมูทั่วโลก
  • มีความพร้อมด้านวัตถุดิบเลี้ยงสัตว์ เพราะมีข้าวโพดและถั่วเหลืองที่สหรัฐฯ สามารถผลิตเองได้มาก
  • มีขนาดฟาร์มที่ใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นฟาร์มอุตสาหกรรม และเลี้ยงหมูได้มากกว่า 5,000 ตัวต่อฟาร์ม
  • ผลผลิตหมูกว่า 90% มาจากฟาร์มขนาดใหญ่
  • มีการผลิตมากกว่าความต้องการบริโภค 1.27 เท่า
  • มีต้นทุนการผลิตต่ำ เพราะมี Economy of Scale จากฟาร์มขนาดใหญ่

 

หมูไทย:

  • ผลิตได้น้อยกว่าสหรัฐฯ 8 เท่า หรือราว 1.6 ล้านตัน
  • ส่งออกน้อยมาก ใช้ในประเทศเป็นหลัก
  • ต้องพึ่งพาวัตถุดิบเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพดและถั่วเหลือง
  • มีฟาร์มขนาดเล็ก ส่วนใหญ่เป็นฟาร์มแบบดั้งเดิม และมีหมูไม่น้อยกว่า 50 ตัวต่อฟาร์ม
  • ผลผลิตหมูกว่า 75% มาจากฟาร์มขนาดกลาง-ใหญ่
  • มีผลผลิตเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ พึ่งพาตัวเองได้ดี
  • มีต้นทุนการผลิตสูง เนื่องจากเต็มไปด้วยฟาร์มขนาดเล็ก
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising