×

ดร.กอบศักดิ์เชื่อ ‘ทรัมป์’ ไม่ถอยขึ้นภาษีนำเข้า เหตุแรงกดดันลดฮวบ

10.07.2025
  • LOADING...
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล วิเคราะห์นโยบายภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

วันนี้ (10 กรกฎาคม) ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว วิเคราะห์สถานการณ์การปรับขึ้นภาษีนำเข้า (Tariffs) ของสหรัฐฯ โดยระบุว่า ‘ครั้งนี้ของจริง’ และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะไม่ถอยเรื่องการขึ้นภาษีที่ประกาศออกมา เนื่องจากปัจจัยกดดันให้เปลี่ยนใจลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ โดย ดร.กอบศักดิ์ ชี้แจงถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทรัมป์ไม่มีความจำเป็นต้องถอยเรื่องภาษีนำเข้า ดังนี้

 

  1. ตลาดทุนแทบไม่มีอาการเข่าอ่อนเหมือนช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

 

ดัชนีหลักอย่าง Dow Jones, S&P 500, Nasdaq รวมถึงตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ค่าเงินสหรัฐฯ VIX และราคาทองคำ ปรับตัวน้อยมาก แม้ว่าตัวเลขภาษีนำเข้าที่ออกมาสำหรับประเทศส่วนใหญ่จะไม่แตกต่างจากวันที่ 2 เมษายนมากนัก

 

สาเหตุหลักมาจากตลาดได้รับข่าวไปมากแล้ว และสำหรับจีนซึ่งเป็นคู่กรณีสำคัญ สหรัฐฯ น่าจะได้รับบทเรียนและมีช่องทางสายตรงในการเจรจากับทีมจีนโดยเฉพาะ การที่ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ อยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงเดือนเมษายนมาก ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์สามารถประกาศภาษีต่างๆ ได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องกังวลใจเหมือนรอบที่แล้ว

 

  1. ผู้ประกอบการสหรัฐฯ มีเวลาปรับตัวและตุนสต็อก

 

การที่สหรัฐฯ ยอมชะลอการเก็บภาษี 90 วัน และยอมเก็บในอัตรา 10% ได้ช่วยเปิดช่องให้ภาคธุรกิจสหรัฐฯ ได้หายใจ จากเดิมที่ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างกะทันหันและอัตราภาษีสูง ทำให้หลายธุรกิจปรับตัวไม่ทัน แต่ช่วงเวลา 90 วันที่ชะลอออกไป ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเร่งนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าต่างๆ รวมถึงหา Suppliers ใหม่ที่ไม่ใช่ผู้ผลิตจีน

 

เนื่องจากทุกคนทราบดีว่าหากรอผลเจรจา ก็คงไม่ได้ภาษีที่ดีกว่า 10% และจีนก็จะโดนภาษีสูงกว่าประเทศอื่นๆ การนำเข้าในช่วง 90 วันจึงน่าจะเป็นช่วงที่ได้ราคาถูกที่สุด ส่งผลให้ปัจจุบันผู้ประกอบการสหรัฐฯ น่าจะมีสต๊อกวัตถุดิบและสินค้าเพียงพอที่จะใช้ไปจนถึงปลายปีนี้ และมีเวลา 5-6 เดือนในการเลือก Suppliers ที่ถูกที่สุดสำหรับปี 2569 ความจำเป็นที่ต้องออกมากดดันประธานาธิบดีจากกลุ่มนี้จึงลดลงมาก

 

นอกจากนี้ การมีวัตถุดิบที่มีต้นทุนภาษีเพิ่มเพียง 10% ยังหมายความว่าแรงกดดันต่อเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะยังไม่มากจนกระทั่งต้นปีหน้า

 

  1. ประชาชนสหรัฐฯ ได้รับการชดเชยจากมาตรการรัฐบาล

 

การที่กฎหมาย One Big Beautiful Bill (OBBB) ผ่านสภาเรียบร้อยแล้ว ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ เพราะเมื่อช่วงเดือนเมษายน ประชาชนมีแต่ด้านลบจากภาษีนำเข้าที่ปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่มาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลด้วยการลดภาษี เช่น No tax on tips, No tax on overtime, No tax on Social Security benefits รวมถึงความช่วยเหลืออื่นๆ ที่จัดไว้ใน OBBB (รวมถึงการช่วยเหลือ SMEs และธุรกิจสหรัฐฯ) ซึ่งต้องใช้เวลาผ่านสภาได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว

 

สำหรับประชาชนสหรัฐฯ จะมีทั้งสองด้าน คือต้องจ่ายเงินเพิ่มจากสินค้าที่แพงขึ้น แต่อีกด้านก็มีเงินในกระเป๋ามากขึ้น ทำให้ผลกระทบต่อประชาชนลดลง ความยอมรับและการรับได้จึงเพิ่มขึ้น แรงกดดันต่อประธานาธิบดีในส่วนนี้ก็ลดลงตามไปด้วย

 

  1. การเมืองสหรัฐฯ – นอกจากการที่ภาคประชาชนเริ่มนิ่งขึ้น

 

ล่าสุดรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ สก็อตต์ เบสเซนต์ ได้เปิดเผยว่าตั้งแต่ต้นปีนี้ สหรัฐฯ จัดเก็บภาษีจากการนำเข้าได้แล้วประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์ และคาดการณ์ว่าทั้งปี 2568 จะสามารถจัดเก็บภาษีจากการนำเข้าได้มากกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งจะช่วยปิดช่องว่างการขาดดุลการคลังและนำไปใช้ในการลดภาษีให้กับคนสหรัฐฯ ยิ่งเห็นเงินจำนวนมากเช่นนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ก็คงยากที่จะถอยในเรื่องนี้ นอกจากนี้ ข้อตกลงต่างๆ ที่สหรัฐฯ ได้มา ซึ่งเป็น ‘Good Deals’ ก็จะทำให้ความยอมรับเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

 

จากปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา ดร.กอบศักดิ์ สรุปว่า ทั้งหมดรวมกันแล้ว นำไปสู่ข้อสรุปเดียว ‘ครั้งนี้ของจริง’ โดยระบุว่า วันที่ 1 สิงหาคม จะเป็นจุดเริ่มต้นของอัตราภาษีนำเข้าใหม่สำหรับทุกประเทศ และโอกาสที่จะชะลอในรอบนี้น้อยมาก

 

ในช่วงสัปดาห์ข้างหน้า เราจะได้เห็นตัวเลขภาษีนำเข้าครบทุกประเทศ ซึ่งจะมากำหนด New Trade Landscape หรือโครงสร้างการค้าโลกใหม่ ว่าใครมีแต้มต่อ ใครจะได้เปรียบ ใครจะแข่งขันได้ดี และใครจะอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ ซึ่งมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบการค้าโลก ภาคส่งออก และภาคอุตสาหกรรมไทย และยังไม่นับรวมภาษีนำเข้าอื่นๆ ที่ประธานาธิบดีทรัมป์อาจจะพิจารณาเพิ่มเติมสำหรับกลุ่ม BRICS ในบางอุตสาหกรรมที่สำคัญในอนาคต

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising