ทองคำกลายเป็นสินทรัพย์ที่ทำผลตอบแทนได้ดีที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2025 ด้วยการปรับตัวขึ้นกว่า 25% ภายในเวลาเพียง 6 เดือน กลายเป็นครึ่งปีแรกของปีที่ดีที่สุดอันดับสองในรอบ 50 ปี เป็นรองเพียงช่วงปลาย Gold Supercycle ยุค 1980 หลังการล่มสลายของระบบ Bretton Woods
แม้นักวิเคราะห์และนักลงทุนส่วนใหญ่จะประเมินไว้แล้วว่าทองคำมีแนวโน้มปรับขึ้น แต่คงไม่มีใครคาดว่าทองคำจะพุ่งแรงและเร็วขนาดนี้
สภาพแวดล้อมที่มีทั้งความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจ ความเสี่ยงจากสงครามตะวันออกกลาง และเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง สร้าง Perfect Scenario ให้กับทองคำในครึ่งแรกปี 2025
แม้ครึ่งหลัง ทุกอย่างจะไม่ได้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ผมมองว่าการประเมินราคาทองคำต่อจากนี้จะมีความซับซ้อนมากขึ้นเมื่อปัจจัยหนุนเริ่มลดน้อยลง และราคาทองคำแพงขึ้น นักลงทุนจำเป็นต้องรู้ให้ทันว่าทองคำควรจะไปต่อแบบไหน
กรณี Bull G-O-L-D คาดว่าจะเกิดจากความเชื่อของตลาดว่าขาขึ้นรอบนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง
โอกาสที่ดีที่สุดในครึ่งหลัง จะเกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง 4 เรื่องใหญ่ ประกอบด้วย G = Geopolitics O = Official Reserves L =Long-Term Rates และ D = De-dollarization
ข้อมูลจาก IMF และ World Gold Council ระบุว่าสัดส่วนทองคำในทุนสำรองของธนาคารกลางทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 15% ในปี 2023 มาแตะเกือบ 20% ในปีนี้ สะท้อนภาพที่ชัดเจนว่า Central Banks เลือกทองคำเป็นสินทรัพย์หลักในการเปลี่ยนแปลงระบบทุนสำรองรอบนี้
ในระยะยาว เมื่อกระแสการลดการพึ่งพาดอลลาร์ (de-dollarization) แค่เริ่มต้น ขณะที่สัดส่วนของเงินดอลลาร์ในทุนสำรองของหลายประเทศยังอยู่สูงกว่า 60% การลดดอลลาร์หันไปสะสมทองคำเพื่อกระจายความเสี่ยงจึงจะดำเนินต่อไปอีกหลายปีแน่
ส่วนช่วงครึ่งปีหลัง หาก Fed ลดดอกเบี้ยลงเพราะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทองคำจะได้รับแรงหนุนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ราคาทองคำจึงอาจทะลุระดับ 3,500 ดอลลาร์ และเคลื่อนไปสู่กรอบบนใกล้ 4,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ คิดเป็นการปรับตัวขึ้นสูงสุดในประวัติศาสตร์การเงินสมัยใหม่
ส่วนกรณี Bear Case จะเกิดขึ้นเมื่อนักลงทุนขายทำกำไรทองคำด้วยความเชื่อว่าราคาวิ่งเกินพื้นฐานไปแล้ว
จากข้อมูลในอดีต 50ปีที่ผ่านมา ทองคำปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 2% ช่วงครึ่งปีแรกและ 6% ครึ่งปีหลัง การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำที่สูงกว่า 25% ในครึ่งปีแรก เคยเกิดขึ้นเพียงปี 1980 และ 2016 ตามด้วยการปรับฐาน 10–15% ในครึ่งปีหลังทั้งคู่
ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด เราอาจเห็นภาพซ้ำรอยปี 1980 เมื่อราคาทองคำขึ้นมาจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามโซเวียต-อัฟกานิสถาน และความไร้เสถียรภาพของเงินดอลลาร์ ก่อนจะไปจบที่การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed
สำหรับปีนี้ หาก Fed คงอัตราดอกเบี้ยไว้ตลอดปี ขณะที่เงินเฟ้อไม่ลดลงจากผลของภาษีการค้า การขายทำกำไรมีโอกาสเกิดขึ้นเช่นกัน
แรงขายดูจะเกิดขึ้นไปบ้างแล้ว เมื่อ World Gold Council เริ่มพบแรงขายทองคำผ่าน ETF ในปลายไตรมาสที่ 2 พร้อมกับที่ธนาคารกลางสิงคโปร์ก็ขายสุทธิทองคำ 5 ตันในเดือนพฤษภาคม
แม้จะเป็นเพียงสัญญาณเบื้องต้น แต่หากแนวโน้มนี้ขยายวงกว้าง ราคาทองคำอาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม ระดับราคาจะเข้าสู่โหมดปรับฐานในกรอบ 2,800–3,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งถือว่าเป็นการปรับตัวขึ้น 7-20% ในปีนี้อยู่
กรณีที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุดในมุมมองของผม คือจุดสมดุลใหม่ในครึ่งหลังปี 2025 ที่ 3,300 ดอลลาร์
เพราะเมื่อพิจารณาทุกปัจจัยร่วมกัน ทั้งเชิงโครงสร้าง วัฏจักร และพฤติกรรมของผู้ค้าในตลาด ผมเชื่อว่าเราไม่ได้ประเมินแรงซื้อของธนาคารกลางสูงเกินไป แต่ระดับราคาที่สูงจะส่งผลให้เกิดแรงขายทำกำไรด้วย
เช่น ธนาคารกลางต้องการเปลี่ยนทุนสำรองจากเงินดอลลาร์เป็นทองคำ แต่การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ สวนทางกับดอลลาร์ที่อ่อนค่า ทำให้สัดส่วนเปลี่ยนไป จนปริมาณการซื้อลดลงหรืออาจถึงขั้นต้องขาย
ส่วนนโยบายการเงิน แม้ Fed ตรึงดอกเบี้ย รอดูเศรษฐกิจ กดดันทองคำระยะสั้น แต่ความไม่แน่นอนด้านการคลังสหรัฐ และเศรษฐกิจที่จะชะลอตัวลงในที่สุด ยังคงเป็นแนวโน้มที่หนุนทองคำได้อยู่
ทุกอย่างเปรียบเสมือนคานงัดคนละข้างที่น้ำหนักใกล้เคียงกัน ในเชิงกลยุทธ์ ระดับ 3,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ใกล้เคียงปัจจุบันจึงเป็นจุดโอกาสและความเสี่ยงใกล้เคียงมากที่สุดจุดหนึ่ง
ทองคำในครึ่งหลังปี 2025 ไม่ใช่แค่เรื่องจะขึ้นหรือจะลง แต่คือคำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้า Safe Haven มีราคาสูงจนถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์เก็งกำไรนั่นเองครับ
ภาพ: KanawatTH/Getty Images