ต่างชาติ ‘ขายสุทธิ’ บอนด์ไทย 2 เดือนติด รวม 34,921 ล้านบาทในพฤษภาคม – มิถุนายน ThaiBMA มองมาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก ปัจจัยในประเทศมีผลบางส่วน พร้อมปรับคาดการณ์ยอดการออกหุ้นกู้ปี 2568 ลงเหลือ 800,000 ล้านบาท (จาก 850,000 – 900,000 ล้านบาท) หลังจากในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 มูลค่าการออกหุ้นกู้ระยะยาวลดลง 19.3% YoY มั่นใจตลาดหุ้นกู้ไทยยังไม่วาย
ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 นักลงทุนต่างชาติยัง ‘ซื้อสุทธิ’ ตราสารหนี้ไทยอยู่ที่ 32,331 ล้านบาท โดยเป็นการเข้าซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่องในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายนรวม 79,240 ล้านบาท ก่อนจะพลิกกลับเป็นการ ‘ขายสุทธิ’ ตราสารหนี้ไทยในเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน รวม 34,921 ล้านบาท
โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2568 นักลงทุนต่างชาติมีการถือครองตราสารหนี้ไทยเท่ากับ 9 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.2% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย
อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ในช่วงพฤษภาคม – มิถุนายน ที่นักลงทุนต่างชาติ ‘ขายสุทธิ’ บอนด์ไทย เป็นผลมาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก ส่วนปัจจัยการเมืองภายในประเทศมองว่า อาจมีผลบ้างเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยต่างประเทศมากกว่า
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Bond Yield) ปรับตัวต่ำลงทั้งเส้น ตามการปรับลดของอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทย 2 ครั้งในเดือนกุมภาพันธ์และเมษายน ส่งผลให้ Bond yield ไทยรุ่นอายุ 2 ปี 5 ปี และ10 ปี ปรับตัวลดลง 62-70 bps. จากสิ้นปี 2567 มาอยู่ที่ระดับ 1.40%, 1.40% และ 1.60% ตามลำดับ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2568
ส่งผลให้เส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนปรับตัวต่ำลงในทิศทางเดียวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล โดยในช่วงครึ่งแรกปี 2568 อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้รุ่นอายุ 5 ปี ของหุ้นกู้กลุ่ม AAA, AA, A และ BBB+ ปรับตัวลดลง 52-93 bps. มาอยู่ที่ระดับ 1.88% 2.29% 2.75% และ 3.91% ตามลำดับ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2568
สำหรับช่วงที่เหลือของปี ดร.สมจินต์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตา ซึ่งอาจจะส่งผลต่อกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund Flow) ได้แก่ ความชัดเจนของนโยบายภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อกระแสเงินและอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนต่าง (Gap) อัตราดอกเบี้ยและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ของไทย เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อของแต่ละประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อดอกเบี้ยนโยบายและอัตราผลตอบแทนอีกที
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดดอกเบี้ยลงไป 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% สู่ระดับ 1.75% ส่วนคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ระดับเดิมตั้งแต่ต้นปีที่ระดับ 4.25-4.5% สะท้อนว่า ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ กว้างขึ้น
นอกจากนี้ ThaiBMA ยังเปิดเผยผลสำรวจจากผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่ ซึ่งคาดว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ราว 1 ครั้ง รวม 0.25% ลงมาอยู่ที่ 1.50% (จากปัจจุบันที่ 1.75%)
สำหรับการคาดการณ์ Bond yield ไทย ผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่า Bond yield ไทยรุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี ในช่วงที่เหลือของปี 2568 จะขยับตัวลดลงเฉลี่ยราว 5-10 bps. จากสิ้นไตรมาส 2 ปี 2568 จากปัจจัยเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ภาวะเศรษฐกิจโลกและทิศทางอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ
ThaiBMA หั่นเป้ายอดการออกหุ้นกู้ปีนี้เหลือ 800,000 ล้านบาท
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ยังปรับคาดการณ์ยอดการออกหุ้นกู้ปี 2568 ลงเหลือประมาณ 800,000 ล้านบาท จากประมาณการก่อนหน้าที่ 850,000 – 900,000 ล้านบาท หลังจาก ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 มูลค่าการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้ระยะยาว) เท่ากับ 398,820 ล้านบาท ลดลง 19.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการลดลงของทั้งกลุ่ม Investment Grade และกลุ่ม High Yield
โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2568 มูลค่าคงค้าง ตลาดตราสารหนี้ไทยเท่ากับ 17.3 ล้านล้านบาท (คิดเป็น 93% ของ GDP) เพิ่มขึ้น 1.1% จาก สิ้นปี 2567 จากการเพิ่มขึ้นของตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลเป็นสำคัญ ขณะที่มูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนลดลงเล็กน้อยจากสิ้นปีที่ผ่านมา
อริยากล่าวว่า การออกตราสารหนี้ของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น สะท้อนถึงความจำเป็นในการกู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ท่ามกลางยอดขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในแต่ละปี
โดยอริยายังมองว่า การที่รัฐบาลกู้เงินผ่านพันธบัตร ดีกว่าการกู้เงินนอกประเทศ เนื่องจากการกู้เงินตลาดในประเทศ ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ สภาพคล่องในประเทศมีอยู่แล้ว ตลาดรองรับได้ ทำให้รัฐบาลได้ประโยชน์ด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่น ตอนนี้พันธบัตรอายุ 10 ปี อัตราผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 1.6% ด้วยซ้ำ
อริยาอธิบายอีกว่า ส่วนหนึ่งที่การออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนที่ลดลงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทรายใหญ่ หันไปขอสินเชื่อจากธนาคารแทน หลังจากธนาคารต้องการหันปล่อยสินเช่ือให้กับบริษัทรายใหญ่มากขึ้น เนื่องจากความเสี่ยงที่ต่ำกว่า ท่ามกลางยอดปล่อยสินเชื่อที่หดตัวต่อเนื่อง
เปิดตัวเลขหุ้นกู้ผิดนัดหรือเลื่อนกำหนดชำระในช่วง 2 ไตรมาสแรกปี 2025
ThaiBMA ยังเปิดเผยอีกว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 มีหุ้นกู้ผิดนัดชำระ รวม 2,337 ล้านบาท จากผู้ออก 4 ราย เทียบกับในปี 2566 มีหุ้นกู้ผิดนัดชำระจากผู้ออก 5 ราย มูลค่ารวม 16,363 ล้านบาท ในปี 2567 มีหุ้นกู้ผิดนัดชำระจากผู้ออก 5 ราย มูลค่ารวม 3,172 ล้านบาท
ส่วนหุ้นกู้เลื่อนกำหนดชำระ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 มีมูลค่ารวม 17,540 ล้านบาท จากผู้ออก 14 ราย โดยจำนวนนี้ ผู้ออก 11 ราย เพิ่งเคยเลื่อนกำหนดชำระเป็นครั้งแรก
ทั้งนี้ ในปี 2566 มีหุ้นกู้เลื่อนกำหนดชำระจากผู้ออก 14 ราย มูลค่ารวม 12,443 ล้านบาท ในปี 2567 มีหุ้นกู้เลื่อนกำหนดชำระจากผู้ออก 17 ราย มูลค่า 37,963 ล้านบาท
ยืนยัน ตลาดหุ้นกู้ไทย ‘ยังไม่วาย’
ดร.สมจินต์ ยังยืนยันว่า ตลาดหุ้นกู้ยังไม่วาย โดยอธิบายว่า ถ้าคำว่า ‘ตลาดวาย’ หมายถึง พ่อค้าแม่ค้าหายไปหมด ซื้อของไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็มองว่า ตลาดหุ้นกู้ไทยไม่ได้วาย แม้ตัวพอร์ตอาจจะลดลง เนื่องมาจากผู้ลงทุนมีความรอบคอบมากขึ้น (More Selective) นอกจากนี้ ยังเกิดการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวของการลงทุน (Concentration Risk) ด้วย ซึ่งหมายความว่า ความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนในสินทรัพย์หรือกลุ่มสินทรัพย์ที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงมากเกินไป
อย่างไรก็ตาม ดร.สมจินต์ ก็มองว่า การระดมทุนช่วงนี้คงมีความท้าทายขึ้น เพราะฉะนั้น ในมุมของผู้ออกหุ้นกู้การทำการบ้านที่ดีว่า จะใช้เงินไปทำอะไร แล้ว แผนการคืนเงินจะเป็นอย่างไร จึงกำลังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ
เช่นเดียวกับ อริยาที่ยืนยันเช่นกันว่า ตลาดหุ้นกู้ไม่วายแน่นอนและจะแข็งแกร่งขึ้นด้วยซ้ำ หลังจากผ่านความท้าทายต่างๆ เนื่องจากจะเห็นได้ว่า มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ พยายามจะยกระดับมาตรการต่างๆ ขึ้น