World Bank คาดปรับเพิ่ม GDP ไทยปีนี้โต 1.8% ชี้ยังไม่ได้รวม ‘การเมือง’ ในกรณีฐาน แต่เตือน ‘ความไม่แน่นอนการเมือง’ อาจส่งผลให้งบประมาณ-การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานล่าช้า ซึ่งอาจฉุดการลงทุนภาคเอกชนและเศรษฐกิจโดยรวมอีกที
วันนี้ (3 กรกฎาคม) ธนาคารโลก (World Bank) เปิดตัวรายงาน Thailand Economic Monitor ฉบับกรกฎาคม 2025 โดยคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของ GDP ของไทยจะชะลอลงมาอยู่ที่ 1.8% ในปี 2568 และ 1.7% ในปี 2569 สะท้อนถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าโลกในช่วงที่ผ่านมา การส่งออกที่อ่อนแอการบริโภคที่ชะลอตัว และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในระดับปานกลาง
ทั้งนี้ ในประมาณการที่ 1.8% ของธนาคารโลก มีสมมุติฐานว่า สหรัฐฯ จะเก็บภาษีไทยในระดับมากกว่า 10% แต่ไม่ถึง 18% โดยประมาณการล่าสุดนี้ นับว่า ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 1.6% ในรายงาน East Asia and Pacific Economic Update ของธนาคารโลก ฉบับเดือนเมษายน 2025
หากงบประมาณล่าช้า อาจฉุด GDP ลงอีกได้
ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกประจำประเทศไทย ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเพิ่มเติมว่า ประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่โต 1.8% ยังไม่ได้รวมความไม่แน่นอนทางการเมืองลงไปในกรณีฐาน (Baseline)
โดยในกรณีฐานนี้ World Bank มองว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2569 จะสามารถผ่านได้ ทำให้นโยบายการคลังยังสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งโครงการใหญ่และเล็ก เช่น ถนน น้ำ และรถไฟ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ดร.เกียรติพงศ์ มองว่า หากกระบวนการงบประมาณปี 2569 ล่าช้าไป การเติบโตทางเศรษฐกิจก็อาจลดลงอีกได้ อย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อช่วง 2 ปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ในรายงานระบุว่า ประมาณการดังกล่าวยังมีความเสี่ยงขาบวก (Upside)และขาลบ (Downside) โดย GDP อาจเติบโตได้เป็น 2.2% ในปี 2568 และ 1.8% ในปี 2569 หากความตึงเครียดด้านการค้าคลี่คลายลง ความเชื่อมั่นด้านการลงทุนปรับตัวดีขึ้น การดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิผล และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมีคุณภาพสูง
ชี้ ‘การเมืองไทย’ เป็นความเสี่ยงขาลง
ส่วนความเสี่ยงขาลบ (Downside) มีสาเหตุมาจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน โดยปัจจัยภายนอก ได้แก่ ความตึงเครียดด้านการค้าโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น การฟื้นตัวที่ช้ากว่าที่คาดไว้ของการท่องเที่ยว การส่งออกและการบริการที่ชะลอตัวลง
ส่วนปัจจัยในประเทศ ได้แก่ ความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งอาจส่งผลให้งบประมาณและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะเกิดความล่าช้าได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการลงทุนภาคเอกชนและการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมด้วย
World Bank แนะวิธีเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจ
ดร.เกียรติพงศ์ กล่าวอีกว่า ศักยภาพเศรษฐกิจไทยปัจจุบันอยู่ที่ราว 2.6-2.7% เท่านับว่าลดลงจากช่วง 10 ปีก่อนที่ระดับราว 3% อย่างไรก็ตาม ศักยภาพเศรษฐกิจไทยสามารถเพิ่มขึ้นได้ไปอยู่ประมาณ 3-4 % หากมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ปรับปรุงการศึกษาและระบบสาธารณสุข การปฏิรูปตลาดแรงงานและสังคม และการเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้าง
ไทยควรคว้าโอกาสโชว์ศักยภาพดิจิทัลในงาน Annual Meeting 2025
เมลินดา กู้ด ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยและเมียนมา กล่าวว่า “ขณะที่ประเทศไทยเตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของกลุ่มธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศในปี 2569 การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลจะเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการหารือ การประชุมระดับโลกครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญในการนำเสนอศักยภาพอุตสาหกรรมหลักต่างๆ อาทิ บริการดิจิทัล การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจการเกษตร และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งล้วนมีส่วนกำหนดอนาคตของประเทศไทย”
เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยคาดว่ามีมูลค่าราว 6% ของ GDP และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาคอาเซียน อุตสาหกรรมบริการการเงิน การชำระเงินดิจิทัล ฟินเทค ซอฟต์แวร์ และวิศวกรรม ถือเป็นกลุ่มที่มีอัตราการจ้างงานเติบโตเร็วที่สุดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
นอกจากนี้ รายงานยังชี้ว่า เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถเป็นตัวเร่งการเติบโตและสร้างงาน ยกระดับคุณภาพการให้บริการ และเพิ่มผลิตภาพของประเทศได้ ในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน
โดยประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตบนมือถือที่ครอบคลุมเกือบทั่วประเทศ และโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะด้านดิจิทัล ที่นับว่าทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค การใช้ดิจิทัล ID และระบบการชำระเงินดิจิทัลอย่างแพร่หลาย (เช่น ThaID และ PromptPay ) ได้วางรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการเข้าถึงบริการทางการเงินและการขยายตัวของรัฐบาลดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ โดยอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปีตั้งแต่เกิดการระบาดของ COVID-19
จีอึน ชอย นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้านดิจิทัลของธนาคารโลก กล่าวว่า เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถเปิดประตูสู่ตลาดใหม่ ขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันและสนับสนุนการกระจายตัวทางเศรษฐกิจ โดยประเทศไทยสามารถปลดล็อกศักยภาพนี้ได้ โดยการปิดช่องว่างด้านข้อมูลคุณภาพสูงและโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผล ตลอดจนการส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัล
รายงานฉบับนี้นำเสนอแนวทางการดำเนินการที่สำคัญเพื่อเร่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทุกภาคส่วน ตั้งแต่ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) และอีคอมเมิร์ซ ไปจนถึงด้านสุขภาพและการเงิน พร้อมเน้นย้ำถึงความจำเป็นของนโยบายที่มีความสอดประสานกัน เพื่อขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ คุ้มครองข้อมูล และส่งเสริมนวัตกรรม