×

DSI บุก 4 จุด จับแก๊งรีดหัวคิวต่อใบอนุญาตแรงงานต่างชาติ พบเงินสะพัดร้อยล้านโยงเจ้าหน้าที่กัมพูชา คาดเจ้าหน้าที่ 2 ชาติเอี่ยว

โดย THE STANDARD TEAM
03.07.2025
  • LOADING...

วันนี้ (3 กรกฎาคม) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดปฏิบัติการบุกเข้าตรวจค้น 4 จุดเป้าหมาย ซึ่งเป็นบริษัทรับต่อหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต), วีซ่า และให้บริการด้านเอกสารสำหรับแรงงานต่างชาติ หลังจากการสืบสวนพบว่าบริษัทเหล่านี้มีส่วนพัวพันกับขบวนการเรียกเก็บค่าหัวคิวในการต่อใบอนุญาตแรงงานต่างชาติผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งเป็นระบบใหม่ของกระทรวงแรงงาน 

 

หนึ่งในจุดที่ถูกตรวจค้นคือบริษัทที่เปิดดำเนินการอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งย่านคลองสามวา มีลักษณะเป็นอาคารทาวน์โฮม 2 ชั้น โดยด้านหน้าบริษัทติดป้ายประกาศ 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาเมียนมา และภาษากัมพูชา ระบุว่ารับปรึกษาปัญหาเอกสารครบวงจรเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นการทำพาสปอร์ต การต่อ MOU การต่อบัตรชมพู การเปลี่ยนนายจ้าง และการทำประกันสังคม เป็นต้น

 

พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า การเข้าตรวจค้นในครั้งนี้สืบเนื่องจาก DSI ได้รับเรื่องร้องเรียนจากบริษัทจัดหางานและผู้ประกอบการที่มีแรงงานต่างชาติ หลังกระทรวงแรงงานเปลี่ยนมาใช้ระบบต่อใบอนุญาตออนไลน์เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 โดยเฉพาะแรงงานกัมพูชาที่เริ่มใช้ระบบนี้ มักพบปัญหาว่าสามารถกรอกข้อมูลออนไลน์ในเบื้องต้นได้ แต่ไม่สามารถดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้

 

หลังจากนั้นไม่นาน ได้มีบริษัทนายหน้าติดต่อเข้ามาเรียกเก็บค่าหัวคิว อ้างว่าเป็นค่าดำเนินการให้กับแรงงานต่างชาติ หัวละ 2,500 บาท เมื่อมีการจ่ายเงินดังกล่าว แรงงานก็สามารถคลิกดำเนินการในขั้นตอนต่อไปของระบบออนไลน์และต่อใบอนุญาตทำงานได้สำเร็จ

 

จากการสืบสวนของ DSI พบว่าเงินค่าหัวคิวที่เรียกเก็บนี้มีการจ่ายผ่านบัญชีม้า ซึ่งมีทั้งชื่อบัญชีของชาวไทยและชาวประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันมีแรงงานต่างชาติชาวกัมพูชาในประเทศไทยประมาณ 2.8 แสนคน และมีผู้ต่อใบอนุญาตไปแล้วประมาณ 1.8 แสนคน ทำให้มูลค่าของเงินหัวคิวที่ถูกเรียกเก็บไปแล้วมีประมาณ 300-400 ล้านบาท และหากแรงงานทั้งหมดดำเนินการต่อใบอนุญาต คาดว่าจะมีเงินสะพัดสูงถึง 600-700 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ DSI ยังพบเส้นทางของเงินค่าหัวคิวจำนวนหนึ่งประมาณ 100 ล้านบาท ที่เชื่อมโยงต่อไปยังเจ้าหน้าที่ระดับค่อนข้างสูงของประเทศกัมพูชาประมาณ 2-3 คน ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นเพียงการแอบอ้างชื่อ หรือเป็นบุคคลที่รับเงินจริงหรือไม่ และยังมีเงินอีกบางส่วนที่วนกลับเข้ามายังประเทศไทย เข้าบัญชีของบุคคลชาวไทย ซึ่งเบื้องต้นยังพบว่าเป็นบัญชีของภาคเอกชน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ โดยอยู่ระหว่างการขยายผลต่อไป

 

อธิบดี DSI มองว่าขบวนการนี้อาจเป็นการร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของทั้งฝั่งไทยและฝั่งกัมพูชา เนื่องจากเรื่องการต่อใบอนุญาตอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกระทรวงแรงงานของทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ตาม DSI จะยังไม่ปรักปรำใคร และจะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน

 

จากการเข้าตรวจค้นทั้ง 4 จุดในวันนี้ พบว่ามีทั้งชาวไทยและแรงงานต่างชาติทำงานอยู่ โดยเบื้องต้นพบเจ้าของบริษัทเพียง 1 แห่ง ซึ่งจะต้องเชิญตัวมาสอบปากคำเพื่อขยายผลต่อไป ขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนของการแสวงหาข้อมูลและรวบรวมพยานหลักฐานก่อนที่จะรับเป็นคดี แต่เบื้องต้นจากพฤติการณ์อาจเข้าข่ายความผิดมูลฐานการฟอกเงิน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising