มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาขณะนี้ว่า ปัจจุบันสถานการณ์ความตึงเครียดลดลงในระดับหนึ่ง ไม่มีการปะทะกัน แต่มีบ้างจากการคงกำลัง และอาวุธบริเวณชายแดน ซึ่งรัฐบาลไทยอยากเห็นการปรับลดกำลังในแนวต่างๆ ให้กลับไปอยู่ในช่วงที่ไทย-กัมพูชา มีความสัมพันธ์กันอย่างปกติในช่วงปี 2567 เนื่องจาก รัฐบาลไทยกังวลถึงความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่
มาริษยังย้ำถึงการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศ ตามที่มีประชาชนอยากให้ฝ่ายไทยดำเนินการแบบตาต่อตาฟันต่อฟันกับอีกฝ่ายว่า กระทรวงการต่างประเทศมีบทบาททางการ การสื่อสารต่างๆ จะต้องใช้ช่องทางทางการ หรือช่องทางการทูตในการเจรจา หากไปติดตามจากช่องทางที่ไม่เป็นทางการ โอกาสที่จะมีความไม่เข้าใจกัน ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงจะต้องพูดคุยในช่องทางทางการกับฝ่ายกัมพูชา พร้อมยอมรับว่า ปัจจุบันโซเชียลมีเดียมีบทบาทมาก และมีหลายมุมมองซึ่งอาจจะถูกต้องบ้าง หรือผิดบ้าง แต่กระทรวงการต่างประเทศมีความเข้าใจ และมอบหมายว่า ใครจะออกมาตอบโต้ประเด็นใด หรือถ้าเป็นประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับการทูต ก็อาจจะต้องให้หน่วยงานอื่นเป็นผู้ดำเนินการ พร้อมย้ำว่า ประเทศไทย และรัฐบาลไทย ไม่ต้องการตอบโต้ฝ่ายใดผ่านโซเชียลมีเดีย เพราะไม่ใช่ช่องทางทางการ และจะชี้แจงผ่านช่องทางทางการเท่านั้น และขอให้ใช้วิจารณญาณด้วยว่า เมื่อมีการพูด หรือสื่อสารไปแล้ว จะเกิดผลกระทบอย่างไร ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบ และจริยธรรมของแต่ละคน
ส่วนฝ่ายไทยสื่อสารกับเวทีโลกน้อย จนทำให้ไทยดูเป็นรองในหลายๆ เรื่องหรือไม่นั้น มาริษย้ำว่า กระทรวงการต่างประเทศ ทั้งตนและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศได้สื่อสารกับประชาคมโลก สังคมไทย และทุกฝ่ายในช่องทางการทูตมาอย่างต่อเนื่อง ถึงจุดยืน ความประสงค์ และความถูกต้อง ตามที่ประเทศทั้งสองมีพันธกรณีที่จะต้องมาแก้ไขปัญหาโดยการเจรจาสองฝ่าย จึงเรียกร้องให้กัมพูชาให้ความสำคัญกับการเจรจาในกรอบทวิภาคีโดยเร็วต่อไป แต่การใช้โซเชียลมีเดีย เป็นสิทธิของแต่ละคน แต่ถ้าเกิดผลกระทบ ก็ควรรับผิดชอบในสิ่งที่จะเกิดขึ้น และต้องพิจารณาว่า จะต้องตอบโต้ในขั้นใด รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศ จะต้องรักษาช่องทางทางการ และเลือกประเด็นการตอบโต้ เพื่อไม่ให้ลำบากต่อการเจรจาในอนาคต
มาริษยังกล่าวถึงการเจรจาเส้นเขตแดนว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่มีใครต้องการให้ประเทศสูญเสียอธิปไตย จึงเป็นการยาก และต้องใช้เวลาในการถกเถียง พร้อมตอกย้ำและยืนยันว่า ไทยจะปกป้องอธิปไตยแน่นอน จึงขอให้สังคมมั่นใจ และแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีก็ไม่ต้องการให้เกิดการสูญเสียใดทั้งสิ้น ดังนั้น จะต้องหลีกเลี่ยงการเกิดความสูญเสีย และทำให้ประชาชนบริเวณชายแดนได้ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสันติ และสงบสุข หลีกเลี่ยงผลกระทบจากความตึงเครียด
ส่วนกรณีที่ฝ่ายกัมพูชายังคงพยายามนำข้อพิพาทพื้นที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลโลกนั้น มาริษย้ำว่า ประเทศไทย และหลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศมหาอำนาจไม่ได้รับเขตอำนาจศาลโลกมาตั้งแต่ปี 2503 ดังนั้น ศาลโลกจึงไม่มีอำนาจพิจารณาในเรื่องนี้ และด้านอื่นๆ อย่างแน่นอน จึงไม่ได้กังวลใดๆ แต่กระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาติดตามเพื่อเตรียมความพร้อม พร้อมย้ำว่า การประชุมคณะกรรมาธิการ JBC เมื่อวันที่ 14-15 มิถุนายนที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จในการวางกรอบการทำงานด้านเทคนิคของเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่ายในการจัดทำหลักเขตแดนร่วมกันต่อไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กลไกทวิภาคียังสามารถทำงานต่อไปได้ และสร้างความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาเขตแดน
ส่วนกรณีที่ผู้นำกัมพูชา ได้กล่าวในลักษณะเรียกร้อง และอยากจะเห็นการเปลี่ยนผู้นำรัฐบาลไทย กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า การแสดงความเห็นของผู้นำกัมพูชาในเรื่องนี้ ที่กระทำผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ มีเนื้อหาแทรกแซงกิจการภายในของไทย อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎบัตรอาเซียน กฎบัตรสหประชาชาติ และกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ไม่เป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ จึงได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศ มุ่งสื่อสารกับประชาคมโลกในช่องทางที่เหมาะสมถึงการกระทำดังกล่าวที่ไม่ถูกต้อง และไม่ปรารถนาให้ตอบโต้กันในสื่อสังคมออนไลน์ตามที่เป็นกระแส เนื่องจาก ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาระหว่างกัน
ขณะที่ เบญจมินทร์ สุกาญจนัจที อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงถึงกรณีที่มีผู้ที่มอง MOU43 ทำให้ไทยเสียเปรียบในการเจรจา เสี่ยงเสียดินแดน และอธิปไตยว่า MOU43 ยังเป็นกลไกทวิภาคี ที่ยังได้ใช้ และเป็นพันธะกรณีต่อทั้ง 2 ฝ่ายที่ต้องดำเนินการ เนื่องจาก เป็นสนธิสัญญาอย่างหนึ่ง ที่ทำขึ้นระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งคู่สัญญาจะต้องปฏิบัติตามที่สัญญาไว้ และย้ำว่า ใน MOU43 กำหนดให้มีคณะกรรมาธิการ JBC ไทย-กัมพูชา ซึ่ง JBC สามารถกำหนดประเด็นเร่งด่วนในการเจรจาได้ และหากฝ่ายกัมพูชาเห็นว่า 4 พื้นที่เป็นข้อกังวล ก็สามารถนำมาเร่งกระบวนการปักปันเขตแดนได้ ซึ่งผลการประชุม JBC เมื่อ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา ฝ่ายไทยก็สามารถดำเนินการได้สำเร็จในระดับหนึ่ง ทำให้ขณะนี้ ทราบว่า หลักเขตแดน 73 หลักที่ได้ดำเนินการมากว่า 100 ปี อยู่ในจุดใดบ้าง และมีจุดใดที่เห็นตรงกัน หรือขัดแย้งกัน พร้อมยังตกลงที่จะใช้โดรนในการจัดทำแผนที่ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการปักปันเขตแดน และทั้ง 2 ฝ่ายจะงดเว้นการดำเนินการใดๆ ที่จะไปเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิประเทศ รวมถึงการระงับข้อพิพาท-ความตึงเครียดต่างๆ ก็จะต้องดำเนินการอย่างสันติผ่านการเจรจาทวิภาคี 2 ฝ่าย
อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ยังย้ำว่า MOU43 เป็นการตีกรอบการเจรจา และการดำเนินการเพื่อให้เกิดแผนที่ที่มีความชัดเจน ไม่ได้ทำให้เสียดินแดนใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งแผนที่ที่ได้ ก็จะต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีจะต้องเสนอต่อรัฐสภาพิจารณา
ส่วนกระแสข่าวก่อนหน้านี้ที่ระบุฝ่ายไทยยอมรับแผนที่ 1 : 200,000 ของกัมพูชานั้น อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ย้ำว่า การประชุม JBC ไม่มีประเด็นดังกล่าวในการหารือ ซึ่งฝ่ายไทยก็แปลกใจ เหตุใดจึงมีการสื่อสารในลักษณะนี้ออกมา แต่ก็มองเป็นเทคนิกของฝ่ายหนึ่ง ในการส่งสัญญาณผิดๆ ต่อมวลชนภายในของอีกฝ่าย พร้อมย้ำว่า เป้าหมายสุดท้ายคือการเกิดแผนที่ร่วมของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งจากการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีไทย และประธานาธิบดีฝรั่งเศส ทางฝรั่งเศสก็พร้อมสนับสนุนเอกสารเพิ่มเติม
ภาพ: กระทรวงการต่างประเทศ
อ้างอิง:
- กระทรวงการต่างประเทศ