วันนี้ (3 กรกฎาคม) ที่ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมายังห้องพิจารณา 902 ตามนัดสืบพยานโจทก์นัดสุดท้ายในคดีหมิ่นสถาบันฯ หมายเลขคดีดำ อ.1860/2567
ซึ่งพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องทักษิณในความผิดฐานดูหมิ่นสถาบันฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณีให้สัมภาษณ์สื่อโทรทัศน์ต่างประเทศที่ประเทศเกาหลีใต้เมื่อปี 2558 โดยทักษิณให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้รับการประกันตัวไปก่อนหน้านี้
ทักษิณเดินทางมาถึงศาลในเวลาประมาณ 09.15 น. ด้วยรถยนต์ส่วนตัว โดยรถได้ขับเข้าส่งทักษิณบริเวณด้านข้างอาคารศาลอาญา และทักษิณไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนแต่อย่างใด นอกจากนี้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ได้เดินทางมายังศาลเช่นกัน
วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความส่วนตัวของทักษิณ เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการนัดสืบพยานโจทก์ครั้งที่ 3 และคาดว่าจะเป็นการสืบพยานครั้งสุดท้ายตามแผนที่โจทก์วางไว้ อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถสืบพยานให้แล้วเสร็จภายในวันนี้ โจทก์อาจขอนัดเพิ่มเพื่อไปใช้นัดเดียวกับพยานจำเลย
แต่ทนายความคาดว่าการสืบพยานฝั่งโจทก์จะเสร็จสิ้นภายในวันนี้ โดยในวันนี้จะมีการสืบพยานฝั่งโจทก์ทั้งหมด 3 ปาก ซึ่งทักษิณเดินทางมาศาลด้วยตนเองเช่นเดิม เนื่องจากมีความประสงค์ที่จะเข้ารับฟังการสืบพยานอยู่แล้ว และถือเป็นหน้าที่ที่จำเลยจะต้องเข้ารับฟังการพิจารณา
เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่ทักษิณจะปรากฏตัวและให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน วิญญัติระบุว่าไม่ทราบว่าทักษิณจะให้สัมภาษณ์หรือไม่ หรือมีความคิดเห็นประการใด ส่วนเรื่องเส้นทางการเข้าออกศาลก็เป็นเรื่องของการบริหารจัดการด้านความเรียบร้อย ซึ่งตนไม่สามารถก้าวล่วงได้
ส่วนภาพรวมของคดีและประเด็นความหนักใจ วิญญัติกล่าวว่า คดียังคงมีกระบวนการที่จำเลยจะต้องนำพยานเข้าสืบอีกหลายปาก เมื่อถามว่ามีความหนักใจอะไรหรือไม่ วิญญัติกล่าวว่า “เรื่องนี้ยังเหลือกระบวนการที่ทางจำเลยจะต้องนำพยานเข้าสืบ โดยมีอยู่หลายปาก ถามว่ามีความหนักใจอะไรหรือไม่ ในเรื่องของข้อกล่าวหาเป็นเรื่องที่ชวนสังเกตว่า ข้อกล่าวหานี้เป็นข้อกล่าวหาที่ใช้ในเชิงทางการเมืองไปแล้ว และยืนยันว่าท่านทักษิณเป็นเหยื่อทางการเมือง ไม่ได้รับความเป็นธรรมตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐาน การสอบสวน”
วิญญัติ ยืนยันว่า ในมุมมองของผู้ทำคดี เมื่อได้เห็นหลักฐานและสืบสร้างพิสูจน์บางอย่าง ก็ขอตอบว่า ไม่รู้สึกหนักใจ แต่อย่างไรก็ตาม ผลการพิจารณาก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลว่าจะวินิจฉัยหรือชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานอย่างไร รวมถึงโจทก์มีพยานหลักฐานเพียงพอหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งในอนาคต