×

ทางเลือก ‘แพทองธาร’ ก่อน-หลัง ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย

โดย THE STANDARD TEAM
03.07.2025
  • LOADING...
แพทองธาร คำวินิจฉัย

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ พล.อ. สวัสดิ์ ทัศนา และสมาชิกวุฒิสภา รวม 36 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบ มาตรา 160 (4) และ (5) ซึ่งเป็นประเด็นความซื่อสัตย์สุจริต และมาตรฐานทางจริยธรรม 

 

ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติเสียงข้างมากสั่งให้ แพทองธาร หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราว กรณีคลิปเสียงสนทนากับ สมเด็จ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาด

 

เส้นทางของแพทองธารในฐานะนายกรัฐมนตรีจากนี้จะเป็นอย่างไร นอกจากจะต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 1-3 เดือน แต่ระหว่างนี้จะต้องติดตามการเคลื่อนไหวของหลายกลุ่ม 

 

ทั้งเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาล เสียงที่จะสนับสนุนหากเกิดเหตุต้องเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่เพียงพอหรือไม่ กลุ่มผู้ชุมนุมที่เตรียมยกระดับการชุมนุมในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 

 

การเสนอกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569, ร่าง พ.ร.บ. สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ซึ่งมีเสียงต่อต้านจากหลายฝ่าย กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาเป็นคิวแรกของการประชุมสภาในวันพุธที่ 9 กรกฎาคม ล้วนแล้วแต่เป็นบททดสอบของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยต่อเสียงสนับสนุนที่มี

 

นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์ภายนอกที่สอดแทรกเป็นปัจจัยเพิ่มเติม ทั้งปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา การเจรจาตกลงมาตรการภาษีสหรัฐฯ ซึ่งใกล้ครบกำหนด 90 วันของการผ่อนผันมากขึ้นทุกขณะ 

 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากนี้คงต้องจับตาเกมจากทุกฝ่ายว่าจะพลิกสถานการณ์ของแพทองธาร ให้เปลี่ยนไปในทางใด และจะมีทางเลือกไหนที่ทำให้การเมืองไทยคลี่คลาย

 

 

แพทองธารหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราว แต่ยังคงทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมต่อไป จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จะมีผลเฉพาะตำแหน่งที่ถูกร้องเรียนเท่านั้น

 

*คาดศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาวินิจฉัยในคดีคลิปเสียงสนทนา 1-3 เดือน 

 

 

หากศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้แพทองธาร พ้นจากข้อกล่าวหา จะทำให้สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีปฎิบัติหน้าที่ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้ต่อไป

 

แต่อย่างไรก็ตาม อาจต้องเผชิญกับปัจจัยทางการเมืองอื่น ที่อาจจะมีผลต่อการทำงานในตำแหน่งนายกฯ เช่น การชุมนุมต่อต้าน การเข้าชื่อถอดถอน การอภิปรายไม่ไว้วางใจ นับว่าเป็นหนทางที่ไม่ง่ายนัก อาจนำมาซึ่งการตัดสินใจอนาคตทางการเมือง อย่างหนึ่งอย่างใด ในเวลาต่อมา

 

 

-ยุบสภาก่อน: หากคาดการณ์ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้แพทองธารพ้น จากตำแหน่งนายกฯ จากกรณีคลิปเสียงสนทนา กับ สมเด็จ ฮุน เซน รวมถึงไม่สามารถดีลกับพรรคร่วมรัฐบาลในการทำงาน ทั้งการออกกฎหมาย หรือนโยบายต่างๆ จะส่งผลให้นายกรัฐมนตรีเหลือเพียงทางเลือกเดียว คือ ‘ยุบสภา’ โดยจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ภายใน 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันพระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ

เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งแล้ว ความเป็นนายกรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงทันที ณ ขณะนั้น ทำให้ไม่มีอำนาจในการยุบสภาอีกต่อไป 

 

หรือการตัดสินใจยุบสภา จะไปอยู่ที่ผู้รักษาราชการแทนนายกฯ ก็เป็นได้ หากภายหลังศาลตัดสินให้พ้นตำแหน่งนายกฯ

 

-ยุบสภาหลัง: หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แพทองธาร พ้นจากข้อกล่าวหา จะทำให้สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีปฎิบัติหน้าที่ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้ต่อไป

 

แต่อย่างไรก็ตาม อาจต้องเผชิญกับปัจจัยทางการเมืองอื่นที่อาจจะมีผลต่อการทำงานในตำแหน่งนายกฯ เช่น การชุมนุมต่อต้าน การเข้าชื่อถอดถอน การอภิปรายไม่ไว้วางใจ นับว่าเป็นหนทางที่ไม่ง่ายนัก จนอาจทำให้ตัดสินใจยุบสภา เนื่องจากพรรคร่วมไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง

 

 

 

-ลาออกก่อน: หากแพทองธาร ตัดสินใจลาออกจากนายกรัฐมนตรีก่อนการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในคดีคลิปเสียงสนทนา จะสามารถรักษาสภาชุดนี้ไว้จนจบวาระที่เหลือเกือบ 2 ปี โดยไม่ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่

 

เพียงแต่เลือกนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ภายใต้แกนนำของพรรคเพื่อไทยจากแคนดิเดตที่เหลืออยู่เพียงหนึ่งเดียว คือ ‘ชัยเกษม นิติสิริ’

 

-ลาออกหลัง: หากศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้แพทองธาร พ้นจากข้อกล่าวหา จะทำให้สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีปฎิบัติหน้าที่ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้ต่อไป

 

แต่อย่างไรก็ตาม อาจต้องเผชิญกับปัจจัยทางการเมืองอื่น ที่อาจจะมีผลต่อการทำงานในตำแหน่งนายกฯ เช่น การชุมนุมต่อต้าน การเข้าชื่อถอดถอน การอภิปรายไม่ไว้วางใจ นับว่าเป็นหนทางที่ไม่ง่ายนัก จนอาจทำให้ตัดสินใจลาออก เพื่อเปิดทางให้มีนายกฯ คนใหม่ รักษาอำนาจในขั้วตัวเองไว้

 

*เงื่อนไข: พรรคร่วมเป็นเอกภาพ พร้อมหนุนพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising