×

นวัตกรรมและความร่วมมือ: กลยุทธ์การเติบโตของอาเซียน

03.07.2025
  • LOADING...
กลยุทธ์การเติบโตของอาเซียน

ความตึงเครียดทางการค้าโลก ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย และการชะลอตัวของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ได้สร้างสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ท้าทายต่อประเทศตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากความพยายามในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ การสร้างงาน และการลดความยากจนต่างได้รับผลกระทบจากปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลให้หลายประเทศต้องปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจลง – และอาเซียนก็ไม่มีข้อยกเว้น

 

หลายประเทศทั่วทั้งภูมิภาค ตั้งแต่ไทย เวียดนาม ไปจนถึงอินโดนีเซียและมาเลเซีย ต่างก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ท้าทายทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ท่ามกลางอุปสรรคเหล่านี้ ความสามารถในการฟื้นตัวและรับมือของอาเซียนขึ้นอยู่กับการลงทุนในนวัตกรรม การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง ตลอดจนการกระชับความร่วมมือระดับภูมิภาคให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

 

การลงทุนด้านเทคโนโลยี

 

เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ซับซ้อนนี้ เศรษฐกิจของอาเซียนต้องสร้างความสามารถในการปรับตัว หัวใจสำคัญของการบรรลุเป้าหมายนี้คือ ความร่วมมือในการลงทุนด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้ภูมิภาคมีความพร้อมมากขึ้นในการรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างขีดความสามารถของภาคการผลิตขั้นสูง

 

อาเซียนได้เดินหน้าอย่างก้าวกระโดดในการยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี หนึ่งในพัฒนาการสำคัญที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนคือ การเจรจากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล (DEFA) ซึ่งคาดว่าจะบรรลุข้อตกลงในปี 2025 ภายใต้การนำของมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียน DEFA จะทำหน้าที่เป็นโรดแมปเชิงกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล โดยเป็นข้อตกลงด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระดับภูมิภาคฉบับแรกของโลก มีเป้าหมายเพื่อบูรณาการกฎเกณฑ์การค้าดิจิทัลและปลดล็อกศักยภาพของเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสองเท่าเป็น 2 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2030

 

รัฐบาลมาเลเซียยังเป็นผู้นำในการเข้าร่วม เครือข่ายศูนย์การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ (C4IR) ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มของ World Economic Forum ที่มีเป้าหมายเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเทคโนโลยีและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั่วโลก เพื่อผลักดันและขยายโครงการผ่านศูนย์อิสระในแต่ละประเทศ โดยศูนย์ C4IR แห่งแรกของอาเซียนก่อตั้งขึ้นในมาเลเซียเมื่อปี 2023 และในปี 2024 เวียดนามได้ก่อตั้ง ศูนย์ C4IR แห่งที่สอง ในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค นครโฮจิมินห์ (Saigon Hi-Tech Park) โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค

 

เปลี่ยนจากกลยุทธ์ผู้ตามที่รวดเร็ว สู่การก้าวขึ้นสู่ห่วงโซ่คุณค่าเซมิคอนดักเตอร์

 

เพื่อต่อยอดแรงขับเคลื่อนนี้ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมารัฐบาลเวียดนามได้ประกาศสองนโยบายเชิงรุกที่สำคัญ นโยบายแรกคือ มติ 57 ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การสนับสนุนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัลผ่านโครงการที่ครอบคลุมทั้งการปรับปรุงกฎระเบียบ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาบุคลากร และนโยบายที่สองคือ มติ 68 เป็นนโยบายสำคัญที่ตั้งเป้าให้ภาคเอกชนมีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก โดยการส่งเสริมการเติบโตของ 20 บริษัทขนาดใหญ่ภายในปี 2030

 

ขณะเดียวกันประเทศไทยผู้ผลิตข้าวส่งออกประมาณ 15% ของตลาดโลก กำลังเดินหน้ายกระดับบทบาทในตลาดอาหารโลก ด้วยการเปลี่ยนผ่านจากฐานะผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ สู่การเป็นผู้นำด้านการแปรรูปสินค้าเกษตร (agro-processing) การทำเช่นนี้จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นสู่ห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตรได้อย่างมีกลยุทธ์ (agriculture value chain) เสริมสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกร และส่งเสริมการปฏิบัติทางการเกษตรที่ยั่งยืนและมีความยืดหยุ่น ในโครงการนำร่องหนึ่งซึ่งตั้งอยู่พื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของไทย ชุมชนท้องถิ่นกำลังร่วมมือกันบรรเทาผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศสุดขั้วที่ทวีความรุนแรงขึ้น ผ่านการบริหารจัดการน้ำท่วมและการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

 

อาเซียนกำลังวางตำแหน่งตนเองให้เป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลก โดยมุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมที่จีนเสียเปรียบจากความตึงเครียดทางการค้าในช่วงที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ โดยปัจจุบันอาเซียนมีส่วนร่วมจำกัดแค่ปลายน้ำของห่วงโซ่คุณค่าในกระบวนการประกอบ ตรวจสอบ และบรรจุภัณฑ์ ทว่าด้วยความก้าวหน้าของ AI อาเซียนจึงมีโอกาสทองที่จะก้าวขึ้นสู่ห่วงโซ่คุณค่าที่สูงขึ้น โดยประเทศสมาชิกต่างเสนอมาตรการจูงใจเพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น

 

ความสำคัญของความร่วมมือในระดับภูมิภาค

 

ศักยภาพที่แท้จริงของอาเซียนจะปลดล็อกได้อย่างเต็มที่ก็ต่อเมื่อประเทศสมาชิกทำงานร่วมกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นในฐานะตลาดรวมขนาดใหญ่ การดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ได้มากขึ้น การรับมือกับแรงกระแทกทางเศรษฐกิจจากภายนอก การบูรณาการด้านดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ หรือการเสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน

 

ภูมิภาคอาเซียนตระหนักถึงความสำคัญนี้เป็นอย่างดี จึงได้ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะสร้าง ‘อาเซียนที่ยืดหยุ่น สร้างสรรค์ มีพลวัต และยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง’ ผ่านการรับรอง วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2045 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สิงคโปร์ได้ก้าวไปอีกขั้นด้วยความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ที่จะสร้าง ระบบการค้าระหว่างประเทศ ที่ยึดกฎเกณฑ์ที่จะเป็นประโยชน์ต่ออาเซียนโดยรวม

 

ความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นจะทำให้ภูมิภาคสามารถใช้ประโยชน์จากความหลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ หนึ่งในโครงการริเริ่มระดับภูมิภาคที่สำคัญอย่างโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid: APG) ซึ่งปัจจุบันได้นำทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนในอาเซียนมาใช้ประโยชน์แล้ว ด้วยการอำนวยความสะดวกในการส่งออกพลังงานสะอาดส่วนเกินจากประเทศ สปป.ลาว ไปยังศูนย์กลางที่มีความต้องการสูง เช่น สิงคโปร์ APG ได้ใช้ประโยชน์จากโครงข่ายที่ใหญ่ขึ้นและบูรณาการมากขึ้น เพื่อรักษาสมดุลของอุปทานพลังงานและสนับสนุนการค้าไฟฟ้าข้ามพรมแดน

 

การขยายความร่วมมือในระดับภูมิภาคเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียนและเป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์รายสำคัญ ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาค รวมถึง ไทย เวียดนาม และมาเลเซีย เป็นผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ การใช้ศักยภาพและอิทธิพลของอินโดนีเซียอย่างเหมาะสมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในฐานะที่อินโดนีเซียเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่เป็นสมาชิก G20 อีกทั้งยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุสำคัญ โดยเฉพาะ นิกเกิล ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน

 

การประชุมประจำปีครั้งที่ 16 ของ World Economic Forum Annual Meeting of the New Champions 2025 เมื่อวันที่ 24 – 26 มิถุนายน ที่เทียนจิน ประเทศจีน ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับความร่วมมือทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค ท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลจะต้องมีบทบาทนำในการผลักดันให้ภูมิภาคมีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความร่วมมือที่มีประสิทธิผลสูงสุด

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising