ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการทะเบียนราษฎรและสถิติชีพในเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 3 (Third Ministerial Conference on Civil Registration and Vital Statistics in Asia and the Pacific) ซึ่งจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ (United Nations Conference Center) กรุงเทพมหานคร โดยปฏิญญารัฐมนตรีในที่ประชุมสหประชาชาติให้คำมั่น “ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” ทุกการเกิด-การตาย ต้องถูกบันทึกอยู่ในทะเบียนราษฎร ตามหลักสิทธิพลเมือง ภายในปี 2030
“ทุกการเกิด การแต่งงาน และการเสียชีวิต ไม่ใช่แค่บันทึกในทะเบียนราษฎรเท่านั้น แต่กลับเป็นเรื่องราว และเป็นเกราะสู่การเข้าถึงสิทธิพลเมืองที่ควรได้รับ นำไปสู่แผนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสาธารณสุข อย่างยั่งยืนในอนาคต ระบบ CRVS (Civil Registration and Vital Statistics) หรือ ‘ระบบทะเบียนราษฎรและสถิติชีพ’ เพื่อกระตุ้นให้ประเทศเอเชีย-แปซิฟิก พัฒนาระบบการลงทะเบียนให้ครอบคลุม เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนควรได้รับการคุ้มครอง ไม่ตกหล่น และไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”
การประชุมครั้งนี้ได้จัดเวทีการหารือระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและการประชุมระดับรัฐมนตรีประเทศเอเชีย-แปซิฟิกถึงการทบทวนและติดตามความคืบหน้าระบบ CRVS หรือ ‘ระบบทะเบียนราษฎรและสถิติชีพ’ เน้นย้ำถึงความสำคัญของทะเบียนประชากรที่เป็นระบบ แม่นยำ และเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น ทั้งการเกิด การแต่งงาน การตาย การเคลื่อนย้าย ฯลฯ โดยเฉพาะกลุ่มผู้เปราะบาง ผู้อยู่ค่ายผู้ลี้ภัย กลุ่มชาติพันธุ์ และบุคคลไร้รัฐไม่ได้รับการพิสูจน์สถานะ เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิในการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของภาครัฐ สิทธิได้รับการปกป้องคุ้มครอง ตามสิทธิพลเมืองของรัฐ
วาระสำคัญการประชุมคือ ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านระบบ CRVS จากการบันทึกในรูปแบบเอกสารกระดาษเข้าสู่ระบบดิจิทัลที่มีความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานและมีความปลอดภัยมากขึ้น ตามเป้าประสงค์ของการจัดเก็บข้อมูลที่สำคัญ เช่น การเกิด หากได้รับการบันทึกในระบบทะเบียนราษฎร จะได้รับการพิสูจน์สิทธิความเป็นพลเมือง การวางแผนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของการวางแผนพัฒนาพื้นที่ในอนาคต ทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล หรือระบบบริการและโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่การบันทึกข้อมูลด้านการตาย จะเป็นข้อมูลการเสียชีวิต หรืออุบัติการณ์ต่างๆ เพื่อเป็นสถิติวิเคราะห์การจัดการทางสาธารณสุขของประเทศ ขณะเดียวกันข้อมูลด้านการตาย จะนำไปสู่การดำเนินการเชิงรุกเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์ถึงแนวทางการดูแลความเป็นอยู่ของคนที่เหลือในครอบครัว โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เปราะบาง กลุ่มผู้ยากไร้
ปฏิญญารัฐมนตรีเน้นย้ำคำมั่นที่จะ “ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” (No One is Left Behind) ตอกย้ำการดำเนินการเชิงรุก เพื่อการพิสูจน์ความเป็นพลเมืองของรัฐ (Identification) ต่อประชากรโลก ออกมาตรการเพื่อสิทธิเท่าเทียม และขจัดปัญหาอุปสรรคของระบบ CRVS ทุกการเกิด-การตายต้องได้รับการบันทึกในระบบภายในปี 2030 เพราะจากข้อมูลของ UNHCR ( สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ) มีการประมาณการณ์ว่ามีผู้คนอย่างน้อย 10 ล้านคนทั่วโลกที่เป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ พวกเขาไม่ได้รับการพิจารณาโดยกฎหมายของรัฐใดๆ ว่าเป็นพลเมืองของรัฐนั้นๆ รวมถึงผู้ที่อยู่ในภาวะ ‘ไร้รัฐโดยพฤตินัย (De Facto Stateless) ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่มีเอกสารยืนยันตัวตนทางกฎหมายหรือไม่มีการรับรองสัญชาติอย่างเป็นทางการ แม้ว่าตามกฎหมายแล้วอาจจะมีสัญชาติอยู่ก็ตาม ตัวเลขนี้เป็นเพียงการประมาณการณ์ และคาดการณ์ว่าน่าจะมีจำนวนมากกว่านี้ที่ไม่ได้รับการพิสูจน์เอกลักษณ์ตามกฎหมาย หรือการพิสูจน์ความเป็นพลเมืองของรัฐ (Legal Identity) ไร้สิทธิ ไร้เสียง และขาดโอกาสการเข้าถึงบริการทางสังคม รวมถึงความเป็นอยู่ที่เหมาะสม
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่น่าทึ่ง จำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนลดลงจาก 135 ล้านคนในปี 2012 เหลือเพียง 51 ล้านคนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการลดลงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ปัจจุบันมี 29 ประเทศที่สามารถจดทะเบียนการเกิดได้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ภายในหนึ่งปี และ 30 ประเทศก็ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกันในการจดทะเบียนการเสียชีวิต คุณภาพของการรายงานสาเหตุการเสียชีวิตก็ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน ด้วยความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเสริมสร้างระบบการทะเบียนราษฎรและระบบสุขภาพ
แม้จะมีความก้าวหน้าเหล่านี้ แต่ก็ยังมีเด็กประมาณ 14 ล้านคนทั่วทั้งภูมิภาคที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนเกิดภายในวันเกิดปีแรก และในแต่ละปี มีการเสียชีวิตประมาณ 6.9 ล้านรายที่ยังไม่ถูกบันทึก ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นนอกสถานพยาบาลหรือในชุมชนห่างไกล
อาร์มิดา ซัลเซียะห์ อลิสชาบานา รองเลขาธิการสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) กล่าวว่า “ตัวเลขเหล่านี้เป็นมากกว่าสถิติ พวกเขาเป็นตัวแทนของชีวิตที่ไม่มีสถานะทางกฎหมายและครอบครัวที่ขาดการสนับสนุน” และเสริมว่า “สัปดาห์นี้เป็นเสียงเรียกร้องให้ดำเนินการอย่างแข็งขัน เราได้เห็นตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจจากประเทศต่างๆ ที่เข้าถึงกลุ่มคนที่ถูกทอดทิ้งมากที่สุด นำนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้ และเสริมสร้างกรอบกฎหมายและสถาบัน”
ปฏิญญาฉบับนี้ได้กำหนด แผนงานยุทธศาสตร์นี้ภายในปี 2030 โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีการเรียกร้องให้มีการส่งมอบบริการที่ครอบคลุมและเข้าถึงได้ บูรณาการความเป็นดิจิทัล เสริมสร้างรากฐานทางกฎหมาย และสร้างระบบข้อมูลที่บูรณาการและทำงานร่วมกันได้ รัฐบาลทั่วทั้งภูมิภาคยังได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะปรับปรุงความเท่าเทียมทางเพศในกระบวนการจดทะเบียน การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัว และการรับรองความต่อเนื่องของบริการ CRVS แม้ในยามวิกฤต
ความมุ่งมั่นที่ได้รับการต่ออายุนี้เป็นคำมั่นสัญญาในระดับภูมิภาคที่ทรงพลังว่าจะไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นการส่งสัญญาณถึงการขับเคลื่อนร่วมกันเพื่อลดช่องว่างที่เหลืออยู่ สร้างระบบ CRVS ที่ยืดหยุ่นและครอบคลุม และทำให้แน่ใจว่าทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเพศใด สถานที่ใด หรือสถานการณ์ใด จะได้รับการการคุ้มครอง และไม่ตกหล่นในนโยบายสาธารณะตามสิทธิพลเมือง
ผลจากกลยุทธ์การจดทะเบียนการเกิดและการเสียชีวิต
ข้อมูล CRVS ได้เสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างระบบสุขภาพและการทะเบียนราษฎร ในบังกลาเทศและกัมพูชา รวมถึงบรรลุเป้าหมายการทำงานร่วมกันของระบบทะเบียนราษฎรและสุขภาพในประเทศไทยและเวียดนาม ซึ่งช่วยให้การจดทะเบียนการเกิดและการเสียชีวิตรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น เพิ่มการจดทะเบียนการเกิดและการเสียชีวิตในบังกลาเทศ จาก 12% และ 13% ในปี 2016 เป็น 49% และ 47% ในปี 2024 ตามลำดับ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการพิสูจน์อัตลักษณ์ตามกฎหมายและบริการสาธารณะ บังคับใช้การรายงานการตายในสถานพยาบาลของรัฐทุกแห่งในประเทศไทย เพื่อสร้างระบบการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบสำหรับนำไปใช้ วิเคราะห์เหตุแห่งการตาย
นานาชาติให้คำมั่น พัฒนาระบบ CRVS พิสูจน์สิทธิพลเมืองของรัฐ “ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”
ผู้แทนระดับสูงจากนานาชาติได้ร่วมการประชุมครั้งนี้ ต่างดำเนินตามปฏิญญารัฐมนตรี ถึงการดำเนินการเชิงรุกของระบบ CRVS ในพิธีปิดการปิดประชุมเพื่อให้คำมั่นถึงสิทธิพลเมืองที่ทุกคนควรได้รับและไม่ควรมีใครถูกทิ้งข้างหลัง
- ผู้แทนจากปาปัวนิวกินี ย้ำว่าดิจิทัลโซลูชันเพิ่มความน่าเชื่อถือของข้อมูล ปาปัวนิวกินีมีหลายอย่างที่ต้องเริ่มวาง CRVS ให้คำมั่นด้านสิทธิมนุษยชนในการระบุสัญชาติพลเมือง นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
- ผู้แทนคิริบาส ย้ำว่า CRVS ได้ผลสำเร็จ 2050 ตั้งเป้า 85 เปอร์เซ็ฯต์ สร้างระบบการออนไลน์เข้าถึงการลงทะเบียนและระบุตัวตน โดยเฉพาะระบบไอดีการ์ด การระบุการเกิด พิสูจน์บุคคล พิสูจน์สัญชาติพลเมืองให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย
- ผู้แทนจากวานูอาตู ย้ำว่าการพิสูจน์ตัวตน จะมีส่วนช่วยให้เด็ก ๆ เข้าถึงสิทธิพลเมือง ดำเนินการเพื่อให้ข้อมูล Data ชัดเจนที่สุด สร้างระบบเครือข่ายเชื่อมโยงกัน เพื่อประโยชน์การพิสูจน์ตัวตน ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงข้อมูลส่วนบุคคล ตามสิทธิมนุษยชน ตามหลักการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่จะต้อง “ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”
- ขณะที่ผู้แทนจากปากีสถาน ย้ำว่าการบันทึกการเกิด แต่งงาน เพื่อเป็นตามสิทธิของการเป็นพลเมือง ขณะนี้ได้คำนึงถึงวิกฤติการไม่ลงทะเบียน คำนึงถึงฮิวเมนไรท์ และยืนยันจะตอบสนอง ระบบ CRVS
- ผู้แทนจากเนปาล ย้ำหลัก Universal และความรับผิดชอบ ระบบทะเบียนราษฎรคือการเคารพในสิทธิศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นแกนกลาง ( Back Bone ) ของข้อมูลประชากร และเกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นสถาบันขั้นพื้นฐานทางด้านสิทธิของเนปาล จากนี้เนปาลจะพัฒนาความเป็นดิจิทัล และโปรดติดตามความก้าวหน้าของเนปาลในเร็ว ๆ นี้ หลังจากดำเนินการเชิงรุกตั้งแต่ปีที่แล้ว ย้ำว่าในปี 2028 -2029 จะเข้าถึงทุกระดับของประชาชน เพื่อความยั่งยืน รับผิดชอบ ตอบสนอง ครอบจักรวาล และยินดีที่ได้เห็นประชาชนเข้าระบบ ซึ่งถือเป็นความท้าทายใหม่
- ส่วนผู้แทนจากติมอร์เลสเตระบุว่า ตั้งแต่ปี 2021 ได้เริ่มเห็นความสำคัญของระบบและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง คำนึงถึงสิทธิพลเมือง และจะดำเนินการให้ครอบคลุม เพื่อผลประโยชน์ประชาชนตามเป้าหมายของสหประชาชาติและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
- ผู้แทนจากบังคลาเทศ ย้ำถึงการสร้างกรอบทางกฎหมาย คือ บริการ เตรียมระบบโครงสร้างพื้นฐานการลงทะเบียน ขยายข้อริเริ่มการลงทะเบียน จัดวางกลไก ระบบการรายงาน ผู้แทนมาเลเซีย ให้คำมั่นการพัฒนาระบบของ CRVS “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ใช้ปฏิบัติการที่ทันสมัย ตามยุทธศาสตร์ เป็นระบบการทำงานภาครัฐ ที่อัพเดท ครอบลคลุม เพื่อมั่นใจว่าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ยินดีสนับสนุน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ มุมมองกับ ESCAP และ CRVS
- ทางด้านผู้แทนจากภูฏาน ย้ำถึงการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เตรียมออกนโยบายเชิงรุก พัฒนาระบบดิจิทัล บูรณาการกับระบบต่าง ๆ เชื่อมข้อมูลสารสนเทศ ขยายแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เกี่ยวข้อง เน้นความเป็นดิจิทัล ตามยุทธศาสตร์ชาติ ปี 2024-2029 ระบบการลงทะเบียนต่าง ๆ จะจัดวางการพัฒนาในระบบ อย่างยั่งยืนในอนาคต
- ผู้แทนจากฟิจิ ระบุการลงทะเบียนการเกิด การแต่งงาน การสำรวจสำมมะโนประชากร ให้มองเห็นทุกคน ภาครัฐจะเดินหน้าเตรียมพร้อมนโยบายควบคู่การวางแผนระบบสาธารสุข
- ผู้แทนกัมพูชา สนับสนุนเชิงลึกถึงวาระการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์การพิสูจน์ตัวตนด้วยการใช้เทคโนโลยี
- ผู้แทนจากไทย ย้ำเห็นถึงความสำคัญการวางแผนระบบสาธารณสุข สุขภาพประชาชน สิทธิเข้าถึงโครงการสร้างพื้นฐาน การพัฒนาระบบทางไกล เพื่อบูรณาการจัดการณ์ในสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งการเกิดโรคระบาด ภัยพิบัติ ยินดีเดินหน้าสนับสนุนดิจิทัลแพลตฟอร์มตามยุทธศาสตร์ชาติ ในการลงทะเบียนราษฎรที่จะไม่มีใครตกหล่นหรือถูกละเลย
- ผู้แทนจากอินโดนีเซีย ย้ำถึงระบบบริการสาธาณณสุขที่ห่างไกล ต้องได้รับการเชื่อมโยงระบบอย่างทั่วถึง
- ผู้แทนจากญี่ปุ่น ย้ำการพัฒนาระบบการลงทะเบียนการแจ้งเกิด ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม
- ผู้แทนจากนีวเว นิวซีแลนด์ ย้ำว่าระบบการลงทะเบียนดิจิทัลต้องมีความปลอดภัย บันทึกทุกสิ่งให้เชื่อมโยงกัน เน้นย้ำขอให้ทุกชาติตระหนักถึง Digital CRVS ขณะที่ทางผู้แทนองค์การอนามัยโลก หรือ WHO เน้นย้ำทุกการบันทึกต้องปลอดภัยและมีความเป็นส่วนตัว
ความสำเร็จของ CRVS ในเอเชียและแปซิฟิก
พบว่า มี 27 ประเทศและแนวโน้มตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเห็นผลพัฒนาระบบ CRVS ประชากร 13 ล้านรายการบันทึกการเกิด ได้รับการปรับปรุงหรือจดทะเบียนใหม่ ประชากรกว่า 5 ล้านรายการบันทึกการเสียชีวิตได้รับการปรับปรุงหรือจดทะเบียนใหม่ เจ้าหน้าที่กว่า 61,000 คนได้รับการฝึกอบรมในการปรับปรุงการแจ้งและการจดทะเบียนการเกิดและการเสียชีวิต รวมถึงการปรับปรุงการระบุสาเหตุการเสียชีวิต การรายงาน การประเมินคุณภาพ และการวิเคราะห์ ข้อมูล CRVS ถูกนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายสำคัญด้านสุขภาพหรือสังคม เกี่ยวกับความรุนแรงตามเพศ โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน และอนามัยการเจริญพันธุ์ใน 7 ประเทศ ให้การสนับสนุนทางเทคนิคสำหรับการประกาศใช้และการบังคับใช้กฎหมาย CRVSID ฉบับใหม่ในกัมพูชา ซึ่งรับประกันอัตลักษณ์ทางกฎหมายแก่ประชาชน 17 ล้านคนผ่านการจดทะเบียนราษฎรแบบถ้วนหน้า นอกจากนี้ยังเกิดการสร้างความร่วมมืออันแข็งแกร่งกับรัฐบาลในหลายประเทศ
ขณะเดียวกันได้หารือหน่วยงานภายใต้ระบบสหประชาชาติ โดยเฉพาะในมิติของการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และการส่งเสริมบทบาทสหประชาชาติให้เข้มแข็ง ให้สอดคล้องกับบริบทโลกปัจจุบันมากยิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับสถานการณ์ความท้าทายต่างๆ ในปัจจุบัน
ภาพ: ESCAP
อ้างอิง:
- ESCAP