วุฒิสภาสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ ที่รู้จักกันในชื่อ ‘One Big, Beautiful Bill Act’ (OBBBA) ด้วยคะแนนฉิวเฉียด 51 ต่อ 50 เสียง ไปในคืนวันอังคารที่ผ่านมา (1 กรกฎาคม)
โดยร่างดังกล่าวจะถูกส่งไปลงคะแนนเสียงยังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาอีกครั้ง ในวันที่ 2 กรกฎาคม ซึ่งเหลืออีกเพียงขั้นตอนเดียวก็จะสามารถเสนอร่างให้ประธานาธิบดีลงนามได้ทันก่อนเส้นตายวันที่ 4 กรกฎาคมนี้
ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นไปเพื่อสานต่อนโยบาย ‘American First’ ซึ่งจะทำให้การลดภาษีจาก Tax Cut Jobs Act ในปี 2017 ที่กำลังจะหมดอายุในปลายปีนี้ กลายเป็นมีผลถาวร และมีสาระสำคัญที่น่าจับตา ดังนี้
สหรัฐฯ เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น
ก่อนหน้านี้ ร่างดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับการเพิ่มภาระงบประมาณ และเพิ่มหนี้สาธารณะจนเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งสก็อต เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ คาดการณ์ไว้ว่าหนี้สาธารณะสหรัฐฯ อาจแตะเพดานหนี้ในเดือนสิงหาคมนี้
ด้านสำนักงบประมาณแห่งสภาคองเกรส (CBO) คาดการณ์ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะทำให้งบประมาณสหรัฐขาดดุลขึ้นอีก 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ภายในระยะเวลา 10 ปี และมองว่า สหรัฐฯ อาจผิดนัดชำระหนี้ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมและเดือนกันยายนปีนี้ได้
ล่าสุด วุฒิสภาได้อนุมัติขยายเพดานหนี้เพิ่มอีก 5 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อเพิ่มอำนาจในการกู้ยืมของรัฐบาลกลาง ซึ่งสูงกว่าสภาล่างที่เสนอให้ขยายเพียง 4 ล้านล้านดอลลาร์เท่านั้น โดยปัจจุบัน สหรัฐฯ มีหนี้สาธารณะอยู่ที่ 36.2 ล้านล้านดอลลาร์
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ Head of Global Investment Strategy บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส มองว่า ร่างกฎหมาย ‘One Big, Beautiful Bill’ จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มากนัก เพราะเป็นการชดเชยกันระหว่างการลดรายจ่ายบางส่วน เพื่อนำไปเพิ่มรายจ่ายอีกส่วน ทำให้จะยังไม่มีผลกระทบสำคัญให้เห็นภายใน 1-2 ปีนี้
ทั้งนี้ ดร.จิติพล ชี้ว่า ผลกระทบส่วนใหญ่จะตกอยู่กับผู้ที่ต้องพึ่งพาโครงการคุ้มครองทางสังคมแทน รวมถึงภาคธุรกิจยานยนต์ที่อาจต้องปรับทิศทางกิจการต่อไป หลังถูกตัดลดสิทธิประโยชน์ทางภาษี
‘หนี้สาธารณะ’ เรื่องเล็ก ‘เครดิตเรตติ้ง’ เรื่องใหญ่
แม้ร่างกฎหมายดังกล่าว อาจทำให้สหรัฐขาดดุลเพิ่มขึ้นอีก 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ และมีหนี้สาธารณะเพิ่มอีก 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ ตลอดทศวรรษข้างหน้า แต่ ดร.จิติพล มองว่า “ไม่เป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากสหรัฐฯ สามารถพิมพ์เงินเองได้ แต่สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือความน่าเชื่อถือของสกุลเงินดอลลาร์มากกว่า”
เมื่อพิจารณาระดับหนี้ที่จะสูงขึ้น ดร.จิติพล ชี้ว่า สหรัฐจำเป็นต้องมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูงถึง 5%-6% จึงจะสามารถรักษาระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีได้ เพื่อคงอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ให้อยู่ในระดับ AA
อย่างไรก็ตาม ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปัจจุบันอยู่เพียง 2% เท่านั้น ซึ่งประเมินเครดิตเรตติ้งได้แค่ระดับ BBB เท่านั้น
ด้วยแนวโน้มเรตติ้งเช่นนี้ สกุลเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงในที่สุด และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ จะต้องสูงขึ้นเพื่อดึงดูดนักลงทุนให้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลต่อไป ฉะนั้นแล้ว โจทย์สำคัญของสหรัฐฯ จึงอยู่ที่เครดิตเรตติ้ง และความเชื่อมั่นของนักลงทุนเป็นหลัก
ปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ ไล่ตั้งแต่ลดภาษีบุคคลธรรมดาเพิ่มเกือบ 2 เท่า
นอกจากผลกระทบต่อเรื่องการคลังสหรัฐฯ แล้ว หาก One Big, Beautiful Bill ผ่านเป็นกฎหมายและมีผลบังคับใช้จริง สิ่งที่จะตามมาคือการปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ ซึ่งจะครอบคลุมหลายด้าน
เริ่มจากขยายการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาเพิ่มเป็น 1,000 ดอลลาร์ และเพิ่มเป็น 1,500 ให้กับหัวหน้าครอบครัว ส่วนคู่สมรสจะได้รับการลดหย่อนเป็นจำนวน 2,000 ดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วได้รับการขยายเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2017
โดยร่างกฎหมายของวุฒิสภา ได้ปรับเพิ่มการลดหย่อนให้กับผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปเป็น 6,000 ดอลลาร์ จากเดิมที่ 4,000 ดอลลาร์ แต่รายได้รวมจะต้องไม่เกิน 75,000 ดอลลาร์ หากยื่นแบบโสด และไม่เกิน 150,000 ดอลลาร์ หากยื่นแบบสมรส ซึ่งมาตรการทั้งหมดกล่าวมาจะมีผลชั่วคราวถึงปี 2028 เท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีการช่วยเหลือพนักงานในภาคบริการและความงาม โดยจะยกเลิกภาษีทั้งหมดที่เรียกเก็บจากทิป และค่าล่วงเวลา (OT) รวมถึงหักลดหย่อนดอกเบี้ยสินเชื่อ สำหรับการซื้อรถยนต์ที่ประกอบในอเมริกา ซึ่งมีผลถึงปี 2028 เช่นกัน
ไม่เพียงเท่านั้น ยังหักลดหย่อนภาษีระดับมลรัฐและภาษีระดับท้องถิ่น (SALT) เพิ่มจาก 10,000 ดอลลาร์ เป็น 40,000 ดอลลาร์ ซึ่งวุฒิสภาคงมาตรการดังกล่าวให้มีผลถึงปี 2028 เท่านั้น
ทั้งนี้ วุฒิสภาเห็นชอบให้หักภาษีลดหย่อนบุตรเพิ่มเป็น 2,200 ดอลลาร์ จากเดิมที่ 2,000 ดอลลาร์ แต่ยังต่ำกว่าที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอไว้ 300 ดอลลาร์ และวุฒิสภาปรับให้ลดหย่อนแค่ฝ่ายเดียว ต่างจากสภาล่างที่อนุมัติให้ลดหย่อนได้ทั้งพ่อและแม่
ลดสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้านพลังงานทดแทน
ร่างกฎหมายฉบับใหม่จะมีการปรับยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีหลายประการที่เคยใช้สมัยรัฐบาลโจ ไบเดน เพื่อดึงดูดภาคธุรกิจและผู้บริโภคให้เข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยจะสิ้นสุดลงปลายปีนี้ เช่นเดียวกับเงินอุดหนุนการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาด
อย่างไรก็ตาม วุฒิสภาเลือกลงมติถอนภาษีสรรพสามิตที่จะเรียกเก็บต่ออุตสาหกรรมพลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ออกไปในนาทีสุดท้าย โดยยังคงสิทธิประโยชน์ทางภาษีไว้ แต่จะลดอัตราลดหย่อนเหลือเพียง 60% หากเริ่มดำเนินการในปี 2026 ก่อนจะเหลือ 20% หากเริ่มในปี 2027 และจะมีผลถึงปี 2028 เท่านั้น
ตัดงบโครงการคุ้มครองทางสังคม
เพื่อชดเชยงบประมาณที่ลดลงจากการลดหย่อนภาษี พรรครีพับลิกันจำเป็นต้องตัดงบโครงการคุ้มครองทางสังคม (Social Safety Net) ขนาดใหญ่ทั้ง 2 โครงการ ได้แก่ Medicaid ซึ่งเป็นโครงการประกันสุขภาพของรัฐที่คุ้มครองผู้มีรายได้ต่ำ และผู้ทุพพลภาพ และโครงการแสตมป์อาหาร (SNAP)
ทางวุฒิสภาได้เพิ่มข้อจำกัดในการใช้สิทธิ์ Medicaid มากขึ้น โดยกำหนดให้ผู้ขอใช้สิทธิ์ จำเป็นต้องทำงานหรือเป็นอาสาสมัครอย่างน้อย 80 ชั่วโมงต่อเดือน เริ่มในเดือนธันวาคมปี 2026 และกำหนดให้มีการลงทะเบียนใหม่จากเดิมปีละครั้ง เป็นทุก 6 เดือน ซึ่งผู้ลงทะเบียนจะต้องแสดงหลักฐานยืนยันรายได้และที่พำนักอีกด้วย
นอกจากนี้ วุฒิสภายังมีการเสนอให้ลดภาษีผู้ให้บริการ Medicaid ลงเหลือ 3.5% จาก 6% เริ่มในปี 2032 ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับสมาชิกรีพับลิกันบางส่วนในรัฐที่ได้รับประโยชน์จากภาษีส่วนนี้ โดยเฉพาะโรงพยาบาลในชนบท ทำให้วุฒิสภาต้องชะลอการลดภาษี และเพิ่มเงินทุนให้กับโรงพยาบาลในชนบทอีก 50,000 ล้านดอลลาร์
ส่วนโครงการแสตมป์อาหาร รัฐบาลกลางต้องการให้รัฐต่าง ๆ มีส่วนร่วมมากขึ้น โดยจะให้เงินสนับสนุนรัฐที่มีอัตราการจ่ายเงินผิดพลาดน้อยกว่า 6% ต่อไป แต่รัฐที่เหลือจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 5% ถึง 15% ของค่าใช้จ่าย และมีผลในปี 2028
เพิ่มความมั่นคงชายแดน
เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร (ICE) จะได้รับงบประมาณ 45,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับสถานที่กักกัน และอีก 14,000 ล้านดอลลาร์ ในการดำเนินการเนรเทศ รวมถึงเพิ่มงบสำหรับจ้างเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมอีก 10,000 คนภายในปี 2029
ทั้งนี้ จะมีการจัดสรรเงินกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สำหรับการก่อสร้างป้อมชายแดนใหม่ ซึ่งรวมถึงการสร้างกำแพงกั้นชายแดนที่ติดกับเม็กซิโกด้วย
อ้างอิง: