วันนี้ (2 กรกฎาคม) ที่อาคารรัฐสภา นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เข้ายื่นหนังสือต่อ มงคล สุรัจสัจจะ ประธานวุฒิสภา ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ แพทองธาร ชินวัตร สิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ หลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมอีกตำแหน่งหนึ่ง
นพ.ตุลย์กล่าวว่า ตามที่ประธานวุฒิสภาได้ยื่นคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 36 คน ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยถอดถอนแพทองธาร จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 160 (4) และ (5) กล่าวคือ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยในวันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณารับคำร้องดังกล่าว และมีคำสั่งให้แพทองธาร หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
นพ.ตุลย์กล่าวว่า บัดนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแพทองธาร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จึงเป็นกรณีที่ต้องวินิจฉัยว่าแพทองธารขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และไม่สามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้หรือไม่
นพ.ตุลย์เสนอให้ สว. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ร่วมกันลงชื่อให้ประธานวุฒิสภา ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของแพทองธารสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา160 (4) และ (5) หรือไม่ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้แพทองธาร หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
นพ.ตุลย์ยังขอบคุณ สว.ทั้ง 36 คนก่อนหน้านี้ ที่ได้มีการยื่นหนังสือผ่านคำร้องผ่านประธานวุฒิสภาไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ในเรื่องกรณีคลิปเสียง ซึ่งแสดงถึงความไม่ซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ และขัดรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า ก่อนมีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญออกมา แต่นายกรัฐมนตรียังเสนอชื่อทูลเกล้าฯ ตัวเอง ทั้งที่อาจจะถูกข้อกล่าวหาทั้งการผิดจริยธรรมและความไม่ซื่อสัตย์สุจริต จนคนไทยทั้งประเทศตั้งข้อสงสัยว่า อย่างนี้แล้ว จะสามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมตามได้อย่างไร
“เนื่องจากตามกลไกแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญสามารถพิจารณาเรื่องนี้ได้ เพราะผมมองแล้วว่า พรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ก็คงไม่ยื่น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเขาทำอะไรกันอยู่ ดังนั้น ผมจึงขอเสนอให้ สว.ทำหน้าที่ในการพิจารณาเข้าชื่อเพื่อยื่นคำร้องจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน หากจะได้เท่าเดิม 36 คน ก็ยิ่งดี”
ส่วนข้อสงสัยว่า สว. ชุดนี้อาจมีการเกี่ยวโยงกับพรรคการเมือง และยังมีคดีฮั้ว สว. ที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญนั้น นพ.ตุลย์ระบุว่า ไม่เพียงที่ สว. จะทำหน้าที่ แต่ยังตรงกับใจของประชาชนทั้งประเทศ เขาจะมีความเกี่ยวโยงอะไรก็ว่าไปอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กำลังสอบสวนอยู่ ซึ่ง สว. เขาก็ทำหน้าที่มาครั้งหนึ่งแล้ว
นพ.ตุลย์ยืนยันว่า กระบวนการนี้ ทำในนามส่วนตัว ไม่ใช่ในนามของกลุ่มรวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตย
ส่วนการประเมินความเป็นไปได้ถึงแนวโน้มคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น หากดูจากการรับคำร้องด้วยเสียงเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 และการสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่มีเสียง 7 ต่อ 2 ซึ่ง 2 เสียงนั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ให้พักบางส่วนของอำนาจหน้าที่ ซึ่งคล้ายกับกรณีของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กรณีที่กำกับดูแล DSI
นพ.ตุลย์ ย้ำว่า คำสั่งเช่นนี้เป็นไปเพื่อป้องกันสิ่งที่อาจทำให้ส่งผลเสียต่อการบริหารราชการแผ่นดิน จึงให้รักษาการนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ ดำเนินการแทน เว้นแต่การยุบสภา หรือการแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่ อย่างไรก็ดี ในการพิจารณา ขอไม่ก้าวล่วง แต่คาดว่า ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมองเช่นนี้ และคาดว่าในสุดท้ายแล้วน่าจะมีการพิจารณาถอดถอน
ส่วนหากแพทองธารตัดสินใจลาออก จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป นพ.ตุลย์ กล่าวว่า ให้เป็นไปตามวิถีการประชาธิปไตย เพราะในส่วนของสภาเองยังสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ยังเหลืออยู่ หรือสามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกได้
ส่วนหากมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากพรรคเพื่อไทยตามเดิม ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามวิถีทาง แต่บังเอิญว่าพรรคฝ่ายค้านหรือพรรคประชาชนไม่ได้อยู่ในรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแล้ว เพราะมีการเสนอมาเพียงชื่อเดียว แต่หากสุดท้ายเป็นเหมือนกรณีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เมื่อบริหารราชการไปแล้วมีปัญหา ประชาชนก็จะใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ
นพ.ตุลย์ชี้ว่า ตอนนี้จะเห็นว่าหลายคนจากพรรคฝ่ายค้านและผู้เกี่ยวข้อง ทั้งแกนนำคณะก้าวหน้า เช่น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล, พรรณิการ์ วานิช หรือ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน, รังสิมันต์ โรม รองหัวหน้าพรรคประชาชน ออกมาพูดคำว่านิติสงครามกันมาก ส่วนตัวจึงคิดว่า นิติสงครามเป็นเครื่องมือของภาคประชาชน ที่จะดำเนินการกับนักการเมืองที่ทำไม่ถูกต้อง เราก็เหลือแต่เครื่องมืออย่างนี้
“ขอบอกว่าหากนักการเมืองหรือรัฐบาลทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง ก็ไม่ต้องกลัวนิติสงครามใดๆ ไม่มีอะไรระคายผิวคุณได้ ถึงยื่นไป ศาล คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), กกต. เขาก็ไม่ลงโทษคุณ เพราะฉะนั้น รัฐบาลหรือนักการเมืองท่านใดก็ตาม กรุณาอย่าห่วงเรื่องนิติสงคราม กรุณาทำหน้าที่ตามที่ท่านได้อาสาเข้ามา รับใช้ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง ตามที่คุณกล่าวอ้างตอนหาเสียง คุณไม่ต้องห่วงการที่ประชาชนจะใช้นิติสงครามได้ มีอยู่กรณีเดียวคือคุณทำหน้าที่ไม่ถูกต้องอย่างร้ายแรง” นพ.ตุลย์ ทิ้งท้าย