วันนี้ (2 กรกฎาคม) ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาว่า ขณะนี้สถานการณ์ยังทรงอยู่ แต่เราได้ใช้กลไกในทุกระดับของกองทัพ ในการประสานงานกับกัมพูชา และพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการพูดคุยแบบ ทวิภาคี
สิ่งที่กระทรวงกลาโหมคาดหวัง คือ กลไก GBC ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ในขณะเดียวกันระดับรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศ ก็มีการพูดคุย ซึ่งมีสัญญาณที่ดีขึ้นเล็กน้อย คือทางกัมพูชาเริ่มคุยด้วยจากก่อนหน้านี้ที่ไม่คุยเลย แต่ยอมรับว่ายังมีการต่อรองกันอยู่ ซึ่งฝ่ายไทยยึดถือศักดิ์ศรีของ 2 ประเทศ ไม่มีคำว่าประเทศใหญ่หรือเล็ก เพราะถือเป็นประเทศเท่ากัน อยากให้คนไทยคำนึงเรื่องนี้
รัฐบาลเป็นห่วงความเดือดร้อนของประชาชน ตามแนวชายแดน สำหรับความคืบหน้าการประชุม RBC นั้น คงไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด เพราะมีพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 1 รวมถึงกองทัพเรือ ในขณะที่การประชุม RBC จะครอบคลุมเฉพาะพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 ดังนั้นพื้นที่อื่นจะไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา
เมื่อถามว่าทาง พล.อ.เตีย เซ็ยฮา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา มีท่าทีที่ดีขึ้นใช่หรือไม่ พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า เขายอมคุยด้วย แต่ยังมีการต่อรองเรื่องเงื่อนไขที่ยังไม่ลงตัว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงเงื่อนไขคือการให้เราเปิดด่านก่อนใช่หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในระหว่างการต่อรอง เราต้องเคารพศักดิ์ศรีซึ่งกันและกันโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีของประเทศไทย รวมถึงของกัมพูชาด้วย เราถือว่าศักดิ์ศรีเท่ากัน เป็นประเทศเหมือนกัน แต่ยืนยันว่าเรายังคงมาตรการเปิดด่านแบบจำกัดเวลาเหมือนเดิม แต่ยืนยันว่าไม่ได้ปิดด่าน แต่เป็นฝ่ายกัมพูชาที่ปิดเอง ซึ่งคาดว่าทางรัฐบาลกัมพูชาคงมองว่า ลักษณะเช่นนี้คือการปิดด่านแล้ว เพราะหากเราปิด จะไม่มีการผ่านเข้าออกเลย
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีโอกาสลงไปทำความเข้าใจกับคนในกองทัพหรือไม่ เพราะสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในขณะที่นายกรัฐมนตรี ถูกรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ พล.อ.ณัฐพล ระบุว่า คงจะค่อยๆ ทำไปตามขั้นตอน ต้องยอมรับว่าไม่ได้มีการเตรียมการมาตั้งแต่ต้น ในส่วนของตนที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้แจ้งให้ทราบ ว่าสามารถรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ทันที โดยให้ยึด พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 มาตรา 24 ซึ่งความรับผิดชอบจะเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวาน หากมีอะไรเสียหาย ก็อยู่ในความรับผิดชอบของตน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าในส่วนของกระทรวงกลาโหม แม้จะไม่มีเจ้ากระทรวง จะไม่เกิดสุญญากาศใช่หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า จะไม่เกิดสุญญากาศอย่างแน่นอน รวมถึงการแก้ไขปัญหาชายแดนไทยกัมพูชา มติสภาความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อ 27 มิถุนายน 2568 ได้มอบอำนาจให้ศูนย์เฉพาะกิจบริหารชายแดนไทย-กัมพูชา หรือ ศบ.ทก. ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับความเข้มข้นหรือผ่อนคลายมาตรการ ขอยืนยันกับประชาชนว่า งานด้านความมั่นคงในทุกด้านจะไม่เกิดสุญญากาศ ยังคงเดินหน้าต่อไป
พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ตนต้องขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้ความเชื่อมั่นว่าตนจะทำหน้าที่ตรงนี้ได้ แต่ยอมรับว่าไม่รู้สึกกดดัน ภาระงานยังคงเหมือนเดิม ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ยังคงเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการเหมือนเดิม แต่หากเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็อาจจะกดดัน แต่ตนก็ห่วงอยากให้ปัญหาแก้ไขได้เร็วขึ้น เพราะจากที่ลงพื้นที่กับนายกรัฐมนตรี ตามแนวชายแดนไทย- กัมพูชา ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอยากให้ปัญหานี้คลี่คลายโดยเร็ว โดยจะคำนึงถึงอธิปไตยและศักดิ์ศรีของประเทศ ซึ่งจะต้องเป็นไปอย่างสง่างาม
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ได้มีการพูดคุยกับกระทรวงการต่างประเทศหรือไม่ หลัง ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มีการเคลื่อนไหวนำ 3 ปราสาทและ 1 พื้นที่ขึ้นศาลระหว่างประเทศ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า มีการพูดคุยกันตลอด ซึ่งในส่วนของทีมไทยแลนด์ เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
ส่วนงานระยะยาว ก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเขาก็เดินหน้าอยู่ ในงานที่จะต้องใช้ความประณีต และมีเรื่องข้อกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง การเตรียมการในเรื่องต่างๆ หากกัมพูชานำประเด็นดังกล่าวเข้าสู่ศาลโลก ซึ่งในส่วนของ ศบ.ทก.จะไม่เข้าไปก้าวก่ายเรื่องนี้ แต่ทั้งในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ และ ศบ.ทก. ต่างฝ่ายต่างรับทราบการทำงานซึ่งกันและกัน