เราเป็นรัฐบาลผสม และสิ่งนี้จำกัดทางเลือกของเราในทางหนึ่งทางใดเสมอ
Manmohan Singh
นายกรัฐมนตรีอินเดีย
(พฤษภาคม 2004 – พฤษภาคม 2014)
การสมคบคิดคือ อีกชื่อหนึ่งของรัฐบาลผสม
Robert Anton Wilson
นักเขียน นักจิตวิทยา และนักอนาคตวิทยาชาวอเมริกัน
ทุกรัฐบาลผสมมีความยุ่งยากของตัวเองเสมอ ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องที่ผู้ชายทุกคนที่แต่งงานแล้วย่อมรู้ดี
Arthur Hays Sulzberger
ผู้จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ New York Times
ในที่สุด บัญชีรายชื่อคณะรัฐมนตรีใหม่ หรือ ‘โผ ครม.’ ที่ปรากฏขึ้นในสื่อต่างๆ ก่อนหน้านี้ ก็ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการในตอนตี 3 ของวันอังคารที่ 1 กรกฎาคม จากปรากฏการณ์โผที่เกิดขึ้นตามที่เป็นข่าวในสื่อครั้งนี้ เราจึงอาจพอตั้งข้อสังเกตได้บางประการ รวมถึงมีประเด็นเป็นข้อสังเกตที่เกี่ยวโยงกับปัญหาความมั่นคงด้วย ดังต่อไปนี้
ข้อสังเกตทางการเมือง
1. คณะรัฐมนตรีชุดนี้ ไม่น่าจะเรียกว่า ‘แพทองธาร 2’ แต่น่าจะเรียกว่า ‘แพทองธาร 1.5’ มากกว่า เพราะแทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลในทางการเมืองมากนัก และเชื่อว่า ก็จะไม่มีความเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายด้วย
2. การจัดคนลงตำแหน่งรัฐมนตรี ยังมีสภาวะเป็น ‘โต๊ะหมุนทางการเมือง’ หรือ ‘Political Round-Table’ ที่หมุนไปมากับกลุ่มนักการเมือง หรือมุ้งการเมือง ที่ต้องหาตำแหน่งลงให้ได้ บางคนอาจเปรียบเทียบสภาวะเช่นนี้เป็นดัง ‘เก้าอี้ดนตรีทางการเมือง’ ที่มีนักการเมืองวิ่งหมุนไปมาเพื่อชิงเก้าอี้ให้ได้เท่านั้นเอง
3. การจัดบุคลากรทางการเมือง ถูกกำหนดจากการเมืองในแบบ ‘โควตาพรรค’ เพื่อให้เกิดการประนีประนอมทางการเมืองต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาลผสม ซึ่งจะเป็นความยากลำบากสำหรับพรรคที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ที่จะต้องประคองไม่ให้ความเป็นรัฐบาลผสมเช่นนี้ เกิดความแตกแยก จนอยู่ร่วมกันไม่ได้
4. ในอีกส่วน เห็นได้ชัดว่า การนำคนลงในตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่า กระบวนการ ‘ต่อรองทางการเมือง’ ของผู้นำทางการเมืองในแต่ละพรรค หรือบุคคลแต่ละ ‘มุ้ง’ ที่อยู่ในพรรค การจัดรายชื่อจึงต้องดำเนินการเพื่อลดแรงเสียดทานให้ได้มากที่สุด และเพื่อไม่ให้รัฐบาลผสมแตกแยก จนสิ้นสุดลง
5. ในสภาวะที่ประเทศไทยมีปัญหาต่างๆ รุมเร้าทุกด้าน สังคมอยากเห็นคณะรัฐมนตรีที่จะเป็น ‘ประกายความหวัง’ ของการพาประเทศไปสู่อนาคต แต่ด้วยความเป็นจริงของการเมืองตามโควตาพรรคของรัฐบาลผสมนั้น คำว่า ‘ดรีมทีม’ เป็นเพียง ‘ฝันกลางวัน’ ที่ไม่เป็นจริง เพราะการจัดรายชื่อไม่ได้มีกระบวนการคัดสรรคุณสมบัติตามความเหมาะสมของบุคคลที่จะลงในตำแหน่งต่างๆ แต่คัดจากอำนาจและเส้นสายของบุคคลในทางการเมืองมากกว่า และคัดสรรด้วยวัตถุประสงค์หลักที่ต้องการให้รัฐบาลผสมอยู่รอดได้
ข้อสังเกตด้านความมั่นคง
6. น่าสนใจว่าในขณะที่ประเทศมีปัญหาความมั่นคงด้านกัมพูชาอย่างมากนั้น ในบัญชีรายชื่อ ครม. กลับไม่มีการตั้งตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” ซึ่งต้องถือว่าการปล่อยให้ตำแหน่งนี้ว่าง เป็นประเด็นที่น่าสนใจทั้งในทางการเมืองและการทหาร ซึ่งอาจถูกตีความได้ว่า เป็นการเกลี่ยตำแหน่งในระดับรัฐมนตรีไปใช้สำหรับกระทรวงอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองเฉพาะหน้าของรัฐบาลผสม
7. ในกรณีของกระทรวงกลาโหมนั้น น่าสนใจที่เห็นถึงการสลับไปมาของรายชื่ออดีตนายทหารชั้นผู้ใหญ่ 2 นาย ที่สลับเปลี่ยนไปมาระหว่างนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 20 และ 21 แต่ก็จบลงในแบบ “หักมุม” ด้วยการไม่ตั้งรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง แต่กลับมีรัฐมนตรีช่วยคนเดิมดำรงตำแหน่งต่อไป (รุ่น 20) และคาดได้ว่า จะให้รัฐมนตรีช่วยท่านนี้ทำการแทนรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ซึ่งต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องแปลกในทางการเมือง
8. สภาวะเช่นนี้ น่าจะเป็นผลพวงจากปัญหา “การเมืองสนามไชย” ใน “ครม. แพทองธาร 1” ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีท่าทีชื่นชอบ และต้องการผลักดันให้ รัฐมนตรีช่วยว่าการขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการใน ครม. ใหม่ให้ได้ แต่ก็ดูจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงการทำงานและระดับความสามารถ แรงสนับสนุนดังกล่าวจึงทำได้เพียงช่วยให้รัฐมนตรีช่วยท่านนั้น อยู่ที่เดิม
9. น่าสนใจว่า บุคคลที่รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมนั้น มาจากโควตาของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เพราะกระทรวงนี้เป็นโควตาของพรรคเพื่อไทย แต่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงกลับมีท่าที “ผลักดัน-สนับสนุน” อย่างเต็มที่เพื่อให้รัฐมนตรีช่วยท่านนั้น บรรลุความฝันในการเป็นรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง จนดูเสมือนกับการยกเก้าอี้นี้ให้พรรคการเมืองอื่น ทั้งที่เป็นกระทรวงสำคัญของความเป็นรัฐบาล เว้นแต่มีเหตุผลทางการเมืองของ “ผู้มีอำนาจสูงสุด” ของพรรคเพื่อไทย รวมทั้งการผลักดันของรัฐมนตรีที่เป็นปัจจัยสำคัญ
10. การไม่มีตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทำให้เกิดข่าวลือต่างต่างนานา อันอาจตีความได้ว่าเป็นภาพสะท้อนถึงความไม่ความสนใจงานด้านความมั่นคงของประเทศของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ดังเช่นที่ปรากฏให้เห็นในช่วงที่ผ่านมา จนกลายเป็นข้อวิจารณ์ในทางการเมืองเสมอว่า พรรคเพื่อไทยสอบตกวิชา “ความมั่นคงศึกษา”
11. แต่ในอีกด้านสำหรับปัญหาในเชิงตัวบุคคล การไม่ปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ก็อาจทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในหลายส่วน มีความเห็นตรงกันว่า การให้อยู่ในตำแหน่งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่เพียงพอแล้ว และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขยับขึ้นไปมากกว่านี้
12. ในอีกด้านก็ปรากฏข้อมูลว่า ที่ไม่มีการตั้งรัฐมนตรีว่าการกลาโหมนั้น ก็หวังว่าจะรอให้อดีตนายทหารชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งพ้นจากข้อห้ามในเรื่องของการดำรงตำแหน่ง สว. มาก่อน และมาดำรงตำแหน่งนี้ในช่วงข้างหน้า ข้อมูลชุดนี้ดูจะน่าตื่นเต้น แต่ดูจะไร้ความเป็นไปได้อย่างมาก เหมือนเป็นการ “ปั่นกระแส” ในโลกออนไลน์เสียมากกว่า เพราะทิศทางการเมืองในอีก 3 เดือนข้างหน้านั้น ยังไม่ใช่สิ่งที่จะคาดเดาได้ง่ายๆ
13. แต่การหารายชื่อของรัฐมนตรีกลาโหมใน ครม. ครั้งนี้ ก็กลายเป็น “ความสนุกสนาน” ทางการเมืองอีกแบบ เพราะปรากฏให้เห็นถึง “ปฏิบัติการข่าวสาร” ที่ดึงเอาส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันทหารเข้ามาเพื่อทำให้การคาดเดาที่เกิดขึ้นของสื่อและบรรดานักวิเคราะห์ทั้งหลาย มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด แต่ก็ไม่สามารถระบุได้ชัดว่า ข้อมูลเหล่านี้มีความจริงเพียงใด
14. น่ามองในอีกทางว่า ปกติแล้วในทางการเมือง การไม่แต่งตั้งรัฐมนตรีกลาโหมเป็นประเด็นสำคัญ เพราะไม่ชัดเจนว่า อะไรคือเหตุผลหลักของผู้มีอำนาจของพรรคเพื่อไทยในเรื่องนี้ ถ้าไม่ตั้งเพียงเพราะต้องรอใครบางคนอย่างที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อ ก็ไม่น่าจะเป็นคำอธิบายที่ดี เพราะในสภาวะที่ประเทศมีปัญหาความมั่นคงเช่นปัจจุบัน ตำแหน่งนี้มีนัยสำคัญอย่างปฏิเสธไม่ได้
หรือในอดีตของการเมืองไทย ถ้ามีปัญหาในกระทรวงที่มีความสำคัญเช่นนี้ ก็อาจใช้วิธีให้นายกฯ ลงมารักษาการ แต่การกระทำเช่นนั้น (คือเป็น “ยิ่งลักษณ์โมเดล”) ก็ไม่น่าเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับนายกฯ คนปัจจุบัน เว้นแต่ที่ไม่ตั้งนั้น คิดเหตุผลแบบบ้านๆ คือ “หาคนถูกใจไม่ได้ … ที่มีอยู่ก็ไม่ใช่ … ให้เลือกใหม่ก็ไม่เอา” เลยจบลงแบบ “คาราคาซัง” เช่นนี้ไปก่อน
ข้อสังเกตการประเมินผลงาน
15. ในช่วงที่ไทยต้องเผชิญกับปัญหาความตึงเครียดเรื่องกัมพูชานั้น กระทรวงความมั่นคงที่สำคัญ 2 ส่วน ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงความล่าช้า และความอ่อนแอในการรับมือกับปัญหากัมพูชา คือ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งดูเหมือนว่า รัฐบาลอาจจะไม่ได้มีการพิจารณาประเด็นนี้ในการปรับ ครม. กล่าวคือ ไม่ว่าจะมีเสียงวิจารณ์เพียงใด ฝ่ายการเมืองทั้ง 3 คน ก็จะต้องได้อยู่ตำแหน่งกันต่อไป เพราะเป็นคนที่ได้รับความไว้วางใจจาก ‘ผู้มีอำนาจที่แท้จริง’ ของพรรคเพื่อไทย
16. แม้จะมีเสียงวิจารณ์อย่างมากต่อบทบาทของ 3 บุคคลากรทางการเมืองหลัก คือ “รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม-รัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหม-รัฐมนตรีต่างประเทศ” แต่การปรับ ครม. ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลเหล่านี้ หลุดออกไปจาก ครม. แต่อย่างใด เพราะ รัฐมนตรี 3 ท่านนี้ คือ ‘3 ทหารเอก’ ด้านความมั่นคงของนายกฯ แพทองธาร เพราะความใกล้ชิด/ความเชื่อใจในทางการเมือง (ส่วนทหารเอก จะรบได้เป็นเอกหรือไม่ สังคมและสื่ออาจต้องเป็นผู้ที่ช่วยตอบคำถามนี้ในอีกทางหนึ่งด้วย)
17. การดำรงอยู่ของตัวบุคคลในมิติความมั่นคงเช่นนี้ ไม่ได้เป็นสัญญาณเชิงบวกอะไรกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งไทย-กัมพูชาแต่อย่างใด ดังจะเห็นถึงทิศทางการแก้ปัญหา ที่เป็นไปในแบบ ‘โควิดโมเดล’ ด้วยการอาศัยการแถลงข่าวไปวันๆ เป็นภาพโฆษณาสำหรับการแก้ไขปัญหา หรือเป็นการใช้งาน ‘PR’ เพื่อสร้างภาพของการแก้ปัญหา
18. ในขณะที่ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ปัจจุบัน เริ่มทวีความเข้มข้นมากขึ้น การก่อเหตุรุนแรงมีมากขึ้นนั้น การปรับ ครม. ครั้งนี้ ไม่ได้เป็นสัญญาณเชิงบวกกับแนวทางการแก้ไขปัญหาภาคใต้แต่อย่างใด และในระหว่างที่กำลังมีการจัดทำโผ ครม. ใหม่นั้น ก็เห็นถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเป็นเสมือนการ ‘โชว์ความรุนแรง’ ให้ฝ่ายการเมืองชุดใหม่ได้เห็น หรืออาจเรียกได้ว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนติดอาวุธในภาคใต้กำลังแสดง ‘การข่มขู่’ ทางการเมืองต่อรัฐบาลใหม่อย่างชัดเจน
ข้อสังเกตด้านจิตวิทยาการเมือง
19. น่าสนใจในอีกส่วนที่นายกรัฐมนตรี “สวมหมวก 2 ใบ” หรืออาจเป็นการนำเอา ‘ประยุทธ์โมเดล’ เข้ามาเตรียมการรองรับ หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับนายกฯ เพราะหากเกิดเช่นนั้นจริงแล้ว ก็จะยังมีกระทรวงวัฒนธรรมรองรับบทบาทของนายกฯ โดยไม่ต้องหลุดออกไปหมดจากเวทีการเมือง (เช่นในกรณีของ พล. อ. ประยุทธ์ ในอดีต ที่ต้องถอยจากทำเนียบรัฐบาลไปอยู่ที่กระทรวงกลาโหม)
20. ปัญหาสำคัญอีกส่วนเป็นเรื่องของคดีในทางการเมือง ที่โยงกับอนาคตของ ครม. ใหม่ 3 ประการ คือ
1.นายกฯ จะถูกคำตัดสินให้ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ และหยุดแล้วในที่สุด จะถูกถอดถอนหรือไม่?
2.จะมีรัฐมนตรีคนใดในรัฐบาล ถูกฟ้องร้องในทางกฏหมาย และมีผลกระทบต่อสถานะของตัวนายกด้วยหรือไม่?
3.ตัวรัฐบาลเองมีคดีที่ถูกร้องเรียนอยู่ จะถูกสั่งให้พ้นสภาพจากกรณีนี้หรือไม่?
ปัญหาคดีการเมือง 3 เรื่องนี้ เป็นเดิมพันความอยู่รอดของรัฐบาลอย่างมีนัยสำคัญกับความเป็นไปของการเมืองไทยในอนาคต
21. คนที่ติดตามการเมืองหลายคน อาจจะรู้สึกว่า การปรับ ครม. มีจุดหมายหลักอีกส่วนคือ การดำรงเสียงในสภาไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันสภาวะของการเป็นรัฐบาลผสมในแบบเสียงข้างน้อยในสภา ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผิดในทางการเมือง เพราะทุกรัฐบาลล้วนต้องการความอยู่รอดในรัฐสภาทั้งสิ้น แต่ก็จะต้องระมัดระวังไม่ให้การกระทำเช่นนี้ ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่า รัฐบาลโดยเฉพาะตัวนายกฯ สนใจแต่ความอยู่รอดของตนเอง จนละเลยสิ่งที่เป็นปัญหาวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศ
22. รัฐบาลโดยตัวนายกรัฐมนตรี ต้องระวังผลในเชิงจิตวิทยาการเมือง ที่คนในสังคมอาจจะไม่ตอบรับกับการปรับ ครม. เช่นนี้ อันอาจส่งผลโดยตรงต่อสถานะของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งต้องยอมรับว่า การจัด ครม. ครั้งนี้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างมาก จนอาจกลายเป็นโอกาสให้พรรคฝ่ายค้านนั่ง ‘เก็บแต้ม-ตีกิน’ ทางการเมืองอย่างสบายๆ แต่ถ้าจะบอกให้รอดูผลงานของ ครม. ใหม่นี้ เป็นเครื่องตัดสินในอนาคต ก็เกรงว่า คนจะตัดสินด้วยความรู้สึกทางการเมืองในภาวะปัจจุบันไปก่อนแล้ว
23. ต้องยอมรับว่า การปรับ ครม. ครั้งนี้ เป็นความยากลำบากที่สุดที่พรรคเพื่อไทยเคยเผชิญมาทั้งหมด เพราะรัฐบาลมีปัญหาและ/หรือวิกฤตรุมเร้าอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากปัจจัยต่างๆ วิกฤตกำแพงภาษีทรัมป์ และวิกฤตความมั่นคงในภาคใต้ ทั้งยังถาโถมด้วยวิกฤตศรัทธาที่กำลังเกิดกับตัวนายกฯ วิกฤตรัฐบาลผสม และยังตามมาด้วยปัญหาคำแถลงของรัฐบาลเรื่อง “ตึก สตง. ถล่ม” … ตกลงปัญหาคุณภาพเหล็กเส้นเกี่ยวข้องกับการถล่มของตึกหรือไม่
คำตอบของนายกฯ ดูจะขัดใจกับความรู้สึกของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง จนทำให้เกิดการตีความว่า รัฐบาลไม่กล้าเผชิญหน้าที่จะจัดการปัญหาเรื่องความไร้คุณภาพเหล็กเส้นจีน หรือ ‘เหล็กเส้น’ กำลังกลายเป็น ‘เด็กเส้น’ ในกรณีนี้
24. การปรับ ครม. ครั้งนี้ ต้องระมัดระวังอย่าให้กลายเป็นความ ‘อึดอัดในใจ’ ของประชาชน ที่วันนี้ ผู้คนในสังคมต้องเผชิญปัญหาต่างๆ รอบด้าน ในแบบที่แทบจะไม่มีทางออกในชีวิตเท่าใดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหาค่าครองชีพ กระนั้น ประชาชนหลายส่วนก็ยังมีความหวังอยู่สักหน่อยว่า การเมืองจะเป็นปัจจัยในการแก้ปัญหาชีวิตของพวกเขาได้บ้าง และไม่ใช่การใช้นโยบายในแบบของการแจกสตางค์เป็นครั้งคราวเท่านั้น ว่าที่จริง สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นนโยบายทางเศรษฐกิจที่ช่วยสร้างความมั่นคงในชีวิตของพวกเขาต่างหาก
25. การปรับ ครม. เกิดในภาวะที่ไทยกำลังมีปัญหากัมพูชา พร้อมกับมีการจัดการชุมชนขนาดใหญ่ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก อันเป็นผลจากการปล่อยคลิปเสียงสนทนาของผู้นำ 2 ฝ่าย และปัญหานี้กำลังมีลักษณะเป็น ‘วิกฤตศรัทธา’ ที่เกิดกับตัวนายกฯ อย่างมาก และอาจกลายเป็นอาการ ‘วิกฤตยืดเยื้อ’ กับสถานะของตัวรัฐบาลอีกด้วย เพราะฝ่ายต่อต้านจะนำมาเป็นประเด็นโจมตีไม่หยุด
ดังนั้น ครม. ใหม่จึงต้องเผชิญหน้ากับการประท้วงของกลุ่มชาตินิยม ที่อาจจะเน้นโจมตีตัวนายกฯ และครอบครัวเป็นเป้าหมายหลัก ส่วนจะเกิด ‘สงครามยืดเยื้อ’ บนถนนอีกหรือไม่ อาจต้องติดตามดูในอนาคต
ระวังน้ำผึ้งขม !
ในอีกด้าน ความเป็นจริงของธรรมชาติการเมืองไทยที่มีความเป็นรัฐบาลผสมเป็นสภาวะพื้นฐานนั้น ทำให้การปรับ ครม. มีความยุ่งยากในตัวเอง เพราะธรรมชาติของรัฐบาลผสมไทยคือ การต่อรองตำแหน่ง และความอยู่รอดของรัฐบาลผสมคือ การประนีประนอมในเรื่องของตำแหน่ง และการต่อรองในเชิงตัวบุคคล ดังเช่นที่เราเห็นการปรากฏตัวของนักการเมืองหน้าใหม่ ที่ไม่ได้มีชื่อหลุดออกมาในช่วงทำโผแต่อย่างใด
แต่กระบวนการปรับ ครม. เช่นนี้ ก็เป็นเหมือนกับการเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในสังคม ที่มีความคาดหวังเป็นพื้นฐานว่า รัฐบาลจะเป็นปัจจัยในการแก้ไขปัญหาชีวิตของพวกเขา แต่ความหวังเช่นนี้ในความรู้สึกของพวกเขา กำลังถูกทำลายลงจากสภาวะของการจัด ครม. ที่เกิดขึ้นในความเป็นรัฐบาลผสม และจะส่งผลอย่างมากกับแกนนำรัฐบาลคือ พรรคเพื่อไทยเอง ซึ่งน่าคิดว่า พรรคเพื่อไทยจัดวางอนาคตของตนเองอย่างไร หรือในความเป็นรัฐบาลผสมนั้น ทำให้มีคำตอบประการเดียว คือ ‘ขอให้อยู่รอดในวันนี้ไปก่อน’
ขณะที่ปีกพรรคฝ่ายค้าน ก็เหมือนกับการ ‘เก็บแต้ม-ตีกิน’ เพื่อรอให้ถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า และเปิด ‘ยุทธการขย่มรัฐบาล’ ไปเรื่อยๆ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ฉะนั้น ทางออกของพรรคเพื่อไทยและอนาคตของรัฐบาลผสมคือ ในระยะเวลา 6 เดือนสุดท้ายของปี 2568 จึงมีคำถามสำคัญ ได้แก่
- รัฐบาลจะมีอะไรเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรม?
- จะมีอะไรที่เป็นผลงานที่โดนใจประชาชน?
- จะมีอะไรเป็นผลงานที่สร้างศรัทธากับประชาชน?
ซึ่งรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยคงต้องตอบคำถามนี้ให้ได้
อย่างไรก็ตาม เราอาจต้องยอมรับความเป็นจริง … ที่จริงที่สุดในการเมืองปัจจุบัน คือ สำหรับรัฐบาลแล้ว คำถามทางการเมืองเฉพาะหน้ามีเพียงว่า ทำอย่างไรก็ได้ที่รัฐบาลผสมจะต้องอยู่ต่อไป และเดินต่อไปให้ได้นานที่สุด แต่ปัญหาในสถานการณ์ปัจจุบันคือ ความเป็นรัฐบาลผสมเช่นนี้จะไปต่อได้อีกนานเท่าใด และจะสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมอย่างไรในเวลาที่เหลือน้อยเช่นนี้
สุดท้ายนี้ จากปัญหาและประสบการณ์ในทางรัฐศาสตร์ เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า รัฐบาลผสมคือ ‘การสมรส’ ของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ตกลงจะอยู่ร่วมรัฐบาลกัน (ภายใต้ชายคาเดียวกัน) จะด้วยมีคำสัญญาหรือปฏิญญาใดๆ (เสมือนเป็นทะเบียนสมรส) หรือไม่ก็แล้วแต่ … หากกลับพบว่า ปีที่ 3 ของรัฐบาลผสมนั้น มักจะเป็น ‘ปีของการหย่าร้าง’ มากกว่าจะเป็น ‘ปีของน้ำผึ้งพระจันทร์’ เสมอ
ดังนั้น แม้การจัดตั้ง ครม. ใหม่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นทางการ แต่ก็คงต้องระวังภาวะ ‘น้ำผึ้งขม’ ในทางการเมือง เพราะเงื่อนไขของความเป็นรัฐบาลผสม ที่มีปัญหาในตัวเองอยู่แล้วนั้น ยังมีภาวะวิกฤตต่างๆ รุมเร้า ที่แม้จะมีรัฐบาลใหม่ ก็มิได้ทำให้ภาวะวิกฤตดังกล่าวหมดไปแต่อย่างใด!