×

ปริศนา 12 ล้านข้างถังขยะ โยงใยถึงเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง

โดย THE STANDARD TEAM
10.06.2025
  • LOADING...

การพบลังเงินสดมูลค่ากว่า 12 ล้านบาท ถูกทิ้งไว้ข้างถังขยะในคอนโดมิเนียมย่านเมืองทองธานี กลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมจับตา เมื่อชายผู้แสดงตนเป็นเจ้าของเงินคืออดีตทนายความที่ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานรัฐระดับสูง

 

ความสงสัยต่อที่มาของทรัพย์สินมหาศาลนี้นำไปสู่การเข้าตรวจสอบอย่างเข้มข้นจาก 3 หน่วยงานหลักด้านปราบปรามการทุจริต ทั้ง ป.ป.ช., ป.ป.ท. และ ปปป.

 

ลังเงินสดข้างถังขยะ จุดเริ่มต้นปริศนา

 

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 5 มิถุนายน 2568 เมื่อ อุษา และเพื่อน ได้พบ ลังพลาสติกสีเทา วางอยู่ข้างถังขยะบริเวณจุดทิ้งขยะหน้าลิฟต์ ชั้น 4 ตึก P2 คอนโดเมืองทองธานี ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เมื่อเปิดออก จึงพบธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จำนวนมาก รวมเป็นเงิน 12 ล้านบาท บรรจุอยู่ภายใน

 

นอกจากนี้ยังพบเอกสารสำคัญหลายอย่าง เช่น หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และซองจดหมายที่เกี่ยวข้องกับสำนักงาน กสทช. ซึ่งมีชื่อ ทวีวัฒน์ เส้งแก้ว ระบุอยู่ ซึ่งกลายเป็นเบาะแสสำคัญในการตามหาเจ้าของเงิน

 

พลเมืองดีไม่รอช้า รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปากเกร็ด เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุทันที

 

อดีตทนาย ในเงาอนุกรรมการ ป.ป.ช.

 

หลังจากข่าวการพบเงินแพร่ออกไปวันต่อมา 6 มิถุนายน 2568 ทวีวัฒน์ เส้งแก้ว ซึ่งปรากฏชื่อบนเอกสารในกล่องเงิน ได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.ปากเกร็ด เพื่อแสดงตนเป็นเจ้าของเงิน 12 ล้านบาทดังกล่าว

 

ทวีวัฒน์ ชี้แจงเบื้องต้นว่าเงินจำนวนนี้เป็น เงินเก็บสะสมที่ได้มาจากการทำงานเป็นทนายความและที่ปรึกษาให้กับบริษัทเอกชนหลายแห่งมานานกว่า 15 ปี โดยเงินได้ถูกเบิกมาจากธนาคารตั้งแต่ปี 2563 ส่วนสาเหตุที่นำเงินไปทิ้งไว้ ทวีวัฒน์ระบุว่า ‘ห้องพักเกิดน้ำรั่วซึม’ ทำให้ต้องรีบขนของออกจากห้อง รวมถึงกล่องใส่เงินสดนี้ด้วย ซึ่งตนเองลืมทิ้งไว้ที่จุดทิ้งขยะ

 

อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ทวีวัฒน์ ไม่ใช่แค่เพียงอดีตทนายความ แต่ยังมีตำแหน่งเป็น คณะอนุกรรมการในสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หลายคณะ ตั้งแต่ปี 2565 และที่สำคัญยังเป็น อนุกรรมการไต่สวนในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วย

 

ทำให้เกิดคำถามและข้อสงสัยถึงที่มาของเงิน และความโปร่งใสในการดำเนินงานของบุคคลที่มีตำแหน่งในหน่วยงานรัฐ

 

3 หน่วยงานรัฐจับมือคลี่คลายปม เงิน 12 ล้าน

 

วันที่ 9 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา สุขสันต์ ประสาระเอ ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), อรณิช สุขบาล ผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และ พล.ต.ต. ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผบก.ปปป.) ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อติดตามที่มาของเงิน 12 ล้านบาท

 

ภายหลังการประชุมกว่า 1 ชั่วโมง สุขสันต์ เปิดเผยว่า ป.ป.ช. จะแบ่งการตรวจสอบออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือการเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ เพื่อให้มีมติในการตรวจสอบการยื่นบัญชีทรัพย์สินของภรรยาของทวีวัฒน์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการในหน่วยงาน ป.ป.ช. เอง

 

โดยตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กำหนดให้ต้องยื่นแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินทั้งของตัวเอง คู่สมรส และครอบครัวทุก 3 ปี หากพบว่ามีการปกปิดบัญชีทรัพย์สิน จะมีโทษทั้งทางอาญาและทางวินัย คาดว่าจะมีมติภายใน 1-2 วันนี้

 

อีกส่วนหนึ่งคือการร่วมตรวจสอบที่มาที่ไปของเงิน 12 ล้านบาท โดยทั้ง 3 หน่วยงานจะรอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเจ้าของพื้นที่ (สภ.ปากเกร็ด) พิสูจน์ทราบก่อนว่าเงินดังกล่าวเป็นของผู้ใด และมีที่มาที่ไปอย่างไร ซึ่งขณะนี้ตำรวจได้ส่งหลักฐานไปยังกองพิสูจน์หลักฐานแล้ว หากได้ข้อสรุปเรื่องเงินแล้ว จึงจะเป็นอำนาจหน้าที่ของ 3 หน่วยงาน ในการพิสูจน์ว่าเป็นเงินอะไร และได้มาจากอาชีพสุจริตหรือไม่

 

หากเป็นเงินที่ได้มาโดยมิชอบ ก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป สุขสันต์ย้ำว่า ตอนนี้ยังต้องรอผลสอบของตำรวจในพื้นที่ก่อน

 

ด้าน พล.ต.ต. ประสงค์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 11 มิถุนายน ทั้ง 3 หน่วยงานจะเดินทางไปประสานและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ซึ่งเป็นผู้ดูแลพื้นที่ สภ.ปากเกร็ด เพื่อกำหนดแนวทางการสอบสวนต่อไป ส่วน อรณิช ตั้งข้อสังเกตว่า เส้นทางการเงินอาจไม่ได้มีแค่ 12 ล้านบาท แต่จะต้องร่วมประชุมกับตำรวจพื้นที่อีกครั้งเพื่อรวบรวมข้อมูล

 

ตำรวจยังไม่ปักใจเชื่อ ป.ป.ช. เตรียมสอบลึกบัญชีทรัพย์สิน

 

คดีนี้ได้ยกระดับการสอบสวนให้เข้มข้นขึ้น โดย พล.ต.ต. กิตติ์ธเนศ ธนนันท์ทวีสิน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี (ผบก.ภ.จว.นนทบุรี) ได้เข้ามาควบคุมการสอบสวนอย่างใกล้ชิด และล่าสุด (10 มิถุนายน) ตำรวจยังคง ไม่ปักใจเชื่อคำให้การทั้งหมดของทวีวัฒน์

 

และกำลังเร่งรวบรวมหลักฐาน ตรวจสอบเส้นทางการเงินอย่างละเอียด เพื่อยืนยันที่มาของเงิน และความเกี่ยวข้องกับเรื่องผิดกฎหมายหรือการฟอกเงินหรือไม่ รวมถึงการตรวจสอบลายนิ้วมือแฝงที่พบในลังพลาสติกด้วย

 

คดีนี้ยังคงเป็นประเด็นที่สาธารณชนให้ความสนใจอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเกี่ยวข้องกับเงินจำนวนมาก และบุคคลที่มีตำแหน่งในหน่วยงานรัฐ ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความโปร่งใสและธรรมาภิบาล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising