หนึ่งในผลลัพธ์ที่สำคัญที่สุดของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 46 ที่มาเลเซียคือ การที่ผู้นำทุกชาติสมาชิกต่างร่วมลงนามรับรองและประกาศใช้ ‘ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์’ ว่าด้วยอาเซียน 2045: อนาคตร่วมกันของเรา (Kuala Lumpur Declaration on ASEAN 2045: Our Shared Future) เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์และแนวทางการพัฒนาประชาคมอาเซียนในระยะยาวจนถึงปี 2045 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งอาเซียน
‘ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์’ ว่าด้วยอาเซียน 2045 คืออะไร
ปฏิญญานี้เป็นกรอบนโยบายสำคัญที่จะนำอาเซียนไปสู่ความก้าวหน้าและความมั่นคงในอนาคตในช่วง 20 ปีข้างหน้า โดยกำหนดทิศทางและกลยุทธ์ระยะยาวสำหรับอาเซียน พร้อมสร้างภูมิภาคที่พร้อมรับมือกับความท้าทายทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในบริบทของโลกยุคใหม่
ทั้งยังเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ในการยึดมั่นและส่งเสริมหลักการ วัตถุประสงค์ ค่านิยม และบรรทัดฐานร่วมกันที่กำหนดไว้ในกฎบัตรอาเซียน กฎบัตรสหประชาชาติ ตราสารอื่นๆ ของอาเซียน และกฎหมายระหว่างประเทศ
พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความยืดหยุ่นของอาเซียน และส่งเสริมการตอบสนองเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพและนวัตกรรมต่อความท้าทายระดับภูมิภาคและโลก รวมถึงเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้มั่นใจถึงอนาคตของอาเซียนและประชาชน โดยตระหนักถึงโอกาสที่เกิดจากแนวโน้มใหญ่ของโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนอาเซียนในช่วง 20 ปีนับจากนี้
ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ฉบับนี้มุ่งมั่นที่จะทำให้อาเซียนภายในปี 2045 เป็นประชาคมที่ยืดหยุ่น มีนวัตกรรม มีพลวัต และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยประเทศสมาชิกอาเซียนยึดมั่นในความเป็นเอกภาพและการร่วมมือระดับภูมิภาค พร้อมมุ่งหวังให้อาเซียนที่พัฒนาแล้วเป็นศูนย์กลางการเติบโตในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ทั้งยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของอัตลักษณ์ร่วมและความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันของประชาชนอาเซียน และส่งเสริมการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง มีส่วนร่วม และเป็นธรรม ตลอดจนบรรลุความยั่งยืนในทุกมิติ โดยยอมรับความสำเร็จและบทเรียนจากการดำเนินงานตามอาเซียน 2025: ก้าวไปด้วยกัน (ASEAN 2025: Forging Ahead Together) ซึ่งประกอบด้วยแผนแม่บทประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน, ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน, ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน รวมถึงแผนแม่บทการเชื่อมโยงอาเซียน 2025 และแผนงานริเริ่มบูรณาการอาเซียน (IAI) ระยะที่ 3 และ 4 ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2045 และแผนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
ทำไม ‘วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2045’ ถึงสำคัญ
หนึ่งในการตัดสินใจสำคัญภายใต้ปฏิญญานี้คือ การรับรอง ‘วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2045’ (ASEAN Community Vision: ACV 2045) และแผนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการใน 4 เสาหลัก ได้แก่ ด้านการเมืองและความมั่นคง (Political-Security), เศรษฐกิจ (Economic), สังคมและวัฒนธรรม (Socio-Cultural) และการเชื่อมโยง (Connectivity)
วิสัยทัศน์นี้มีขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการร่วมมือในด้านต่างๆ ที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนของภูมิภาค ช่วยบูรณาการอาเซียนให้มีเอกภาพ, เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ การสร้างนวัตกรรม และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่, ตอบสนองความท้าทายใหม่ๆ เช่น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และปัญหาด้านสุขภาพ รวมถึงมุ่งมั่นผลักดันประชาคมอาเซียนสู่ความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ทำให้วิสัยทัศน์นี้มีความสำคัญอย่างมากในฐานะเครื่องมือรับมือกับความท้าทายระดับโลก พร้อมพัฒนาอาเซียนให้ยั่งยืน และบูรณาการอาเซียนอย่างแท้จริง
แนวทางปฏิบัติจากที่ประชุมอาเซียน
- ที่ประชุมมติ ‘รับรอง’ วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2045: ยืดหยุ่น มีนวัตกรรม มีพลวัต และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง พร้อมกับแผนยุทธศาสตร์ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน แผนยุทธศาสตร์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แผนยุทธศาสตร์ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน และแผนยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงอาเซียน
- ‘เห็นพ้อง’ ให้ประกาศฉบับนี้ พร้อมกับวิสัยทัศน์และแผนยุทธศาสตร์ประชาคมอาเซียน 2045 เป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน 2045: อนาคตร่วมกันของเรา
- ‘ตัดสินใจ’ ให้อาเซียน 2045: อนาคตร่วมกันของเรา เป็นการสืบทอดต่อจากอาเซียน 2025: ก้าวไปด้วยกัน
- ‘เห็นพ้อง’ ให้แผนงานริเริ่มบูรณาการอาเซียน (IAI) ระยะที่ 5 (2026-2030) ซึ่งจะรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 47 เป็นส่วนสำคัญของอาเซียน 2045: อนาคตร่วมกันของเรา
- ‘มุ่งมั่น’ ให้ประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินการตามอาเซียน 2045: อนาคตร่วมกันของเรา ผ่านกลไกและองค์กรของอาเซียนอย่างทันเวลาและมีประสิทธิภาพ และให้มีการประสานงานอย่างราบรื่นระหว่างเสาหลักและภาคส่วนต่างๆ
- ‘ผลักดัน’ ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนและมีส่วนร่วมในการดำเนินงานตามอาเซียน 2045: อนาคตร่วมกันของเรา
- ‘เห็นพ้อง’ ให้เสริมสร้างศักยภาพและประสิทธิภาพของสถาบันอาเซียน และเพิ่มความเข้มแข็งให้สำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามอาเซียน 2045: อนาคตร่วมกันของเรา
- ‘มอบหมาย’ ให้รัฐมนตรีอาเซียนและองค์กรอาเซียนที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับการสนับสนุนจากเลขาธิการอาเซียนและสำนักเลขาธิการอาเซียน ดำเนินการระดมทรัพยากรจากประเทศสมาชิกอาเซียนและแหล่งภายนอกเพื่อดำเนินการตามอาเซียน 2045: อนาคตร่วมกันของเรา
- ‘มอบหมายเพิ่มเติม’ ให้รัฐมนตรีอาเซียนและองค์กรอาเซียนที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับการสนับสนุนจากเลขาธิการอาเซียนและสำนักเลขาธิการอาเซียน ดำเนินกิจกรรมสื่อสารเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินงานตามอาเซียน 2045: อนาคตร่วมกันของเรา
- ‘มอบหมาย’ ให้เลขาธิการอาเซียนติดตามและรายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานตามอาเซียน 2045: อนาคตร่วมกันของเรา ให้การประชุมสุดยอดอาเซียนทราบทุกปี ผ่านคณะมนตรีประสานงานอาเซียนและคณะมนตรีประชาคมอาเซียนที่เกี่ยวข้อง
- ‘เห็นพ้อง’ ให้มีการทบทวนกลางเทอมสำหรับอาเซียน 2045: อนาคตร่วมกันของเรา รวมถึงเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเสนอการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงตามความจำเป็น เพื่อให้มั่นใจว่ามีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อโอกาสและความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงไป
- ‘ตัดสินใจ’ ให้การทบทวนและปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์อาเซียน 2045: อนาคตร่วมกันของเรา ดำเนินการโดยคณะมนตรีประชาคมอาเซียนและคณะมนตรีประสานงานอาเซียนตามกระบวนการที่เห็นพ้อง เพื่อให้มั่นใจว่ามีความเกี่ยวข้องและตอบสนองต่อพัฒนาการระดับภูมิภาคและระดับโลก
เสียงสะท้อนจากผู้นำอาเซียน
อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน 2025 ระบุว่า ปฏิญญาฉบับนี้ จะเปิดทางให้กับทิศทางในอนาคตของกลุ่มอาเซียน โดยคำนึงถึงความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุมเป็นหลัก โดยพิมพ์เขียวนี้จะให้แนวทางแก่ความเชื่อนั้น ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่ยึดมั่นในความเป็นจริง มีแรงผลักดันจากความตั้งใจ และเป็นไปได้ด้วยความเชื่อใจกัน
ขณะที่ เกากิมฮวน เลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบัน ระบุว่า ปฏิญญานี้รวมถึงวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2045 (ACV 2045) จะเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่ใช้ได้จริงในช่วง 20 ปี เพื่อชี้นำการพัฒนาของภูมิภาคท่ามกลางความไม่แน่นอนในระดับโลก โดยแผนยุทธศาสตร์เหล่านี้ได้รับการออกแบบเพื่อชี้นำอาเซียนในการกำหนดลำดับความสำคัญของการทำงาน ขณะเดียวกันก็รักษาความเป็นหนึ่งเดียว ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว และความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน” เขากล่าว พร้อมเสริมว่าแผนนี้ยังตระหนักถึงความจำเป็นในการทำงานร่วมกับพันธมิตรภายนอก รวมถึงพันธมิตรทางการเจรจาและพันธมิตรระดับโลก
ด้าน แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ได้ร่วมลงนามปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อรับรองวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2045 สำหรับการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนในอีก 20 ปีข้างหน้า พร้อมเน้นย้ำความร่วมมือ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าภายในอาเซียนและเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค บูรณาการเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งผลักดันความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาค ทั้งยังได้แลกเปลี่ยนทัศนะกับผู้นำประเทศอื่นๆ ถึงการดำเนินความร่วมมือภายในอาเซียนและกับภาคีภายนอก โดยเฉพาะคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ท่ามกลางความไม่แน่นอนของโลกในปัจจุบันอีกด้วย
ภาพ: Hasnoor Hussain / Reuters
อ้างอิง:
- https://asean.org/wp-content/uploads/2025/05/ASEAN-2045-Our-Shared-Future.pdf
- https://asean.org/wp-content/uploads/2025/05/04.-Kuala-Lumpur-Declaration-on-ASEAN-2045-Our-Shared-Future_adopted.pdf
- https://english.news.cn/20250527/72ef9b7b03db40718b9fe53f8b94f746/c.html
- https://www.facebook.com/share/p/1C82XNLNpk/