เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2568 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สถาบันสังคมประชาธิปไตย และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย จัดเวทีประชาชนถกแถลงและอภิปราย ‘ฮั้ว สว. จะจบลงอย่างไร’ โดยผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย
- นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.)
- ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw
- ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย
- เยี่ยมยอด ศรีมันตะ อดีตผู้สมัคร สว. จังหวัดยโสธร
- เมธา มาสขาว ผู้อำนวยการสถาบันสังคมประชาธิปไตย
- อุทัย อัตถาพร สว. ในบัญชีรายชื่อสำรอง กลุ่ม 7
การเมืองไม่เห็นหัวหลักการ
ลัดดาวัลย์กล่าวว่า พฤติกรรมของนักการเมืองที่ลุ่มหลงและแย่งชิงอำนาจกันในลักษณะที่ไม่เห็นหัวประชาชนเริ่มปรากฏมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงไม่เห็นต่อหลักการ ความเป็นธรรม และความชอบธรรมถูกครอบงำอยู่ในสภาวะ ‘ช่างหัวมัน’ ทำให้วุฒิสภาซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาติกำลังถูกท้าทายและทำลาย
ลัดดาวัลย์ชี้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนองค์ประกอบและที่มาของ สว. อย่างคลุมเครือ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ก็เขียนไว้ให้ตีความได้อย่างกว้างขวางจนถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการจงใจเปิดช่องหรือไม่ อีกทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมทำหน้าที่ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ที่ต้องการสืบทอดอำนาจ
“ต้องแสดงความชื่นชมว่าในท่ามกลางความมืดมัว เราก็มีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ถ้าไม่มี DSI กกต. ก็คงยังเฉยเมย เป็นจ่าเฉยตามสี่แยก แต่จ่าก็ยังสูงไป ถ้าไม่มี DSI ก็คงไม่สามารถเปิดโปงมหากาพย์การฮั้วของ สว. ที่เข้ามาแสวงอำนาจแบบนี้ และขอชื่นชม พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แม้จะถูกยุติปฏิบัติหน้าที่บางส่วน ซึ่งก็ถือเป็นมาตรฐานใหม่” ลัดดาวัลย์กล่าว
ระบบโกงการเลือก สว.
ด้านยิ่งชีพกล่าวว่า ในปี 2567 เราได้ประกาศเชิญชวนให้ประชาชนไปช่วยกันสมัคร สว. เพราะเราเดาว่าคงมีกระบวนการจัดตั้งโดยบ้านใหญ่ทางการเมือง จึงอยากให้มีเสียงอิสระเข้าไปในระบบให้มากที่สุด คาดว่าน่าจะมีประมาณ 2,000-3,000 คน ที่เป็นอิสระ ไม่ได้ถูกจัดตั้ง เดินไปสมัครเองและไม่ทราบว่าจะเลือกใครไปทำการบ้านเอาข้างหน้า และโหวตไปตามแนวคิดของตัวเอง แต่สุดท้ายตกรอบ
“ระบบนี้ออกแบบมาเพื่อให้มีการฮั้วอย่างถูกกฎหมาย สิ่งที่เป็นคดีอยู่ ผมอยากเรียกว่า ‘การโกงการเลือก สว.’ หลักฐานที่ชัดเจนว่า การเลือก สว. ที่ผ่านมาไม่ใช่การลงคะแนนอย่างอิสระ คือทุกกลุ่มจะมีผู้สมัครที่มีคะแนนล้นกระดาน จำนวน 6 คนทุกกลุ่ม รวมถึงมีรูปแบบการโหวตในรอบแรกสามารถเลือกได้ 10 หมายเลขจาก 154 หมายเลข แต่ปรากฏว่ามีการเขียนหมายเลขเรียงแบบเดียวกันเป็นชุดทุกกลุ่ม ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้สมัคร สว. ใส่เสื้อสีเหลืองแบบที่เพิ่งแกะออกจากซอง ใส่สูทสีดำทับและถือแฟ้มขนาดเดียวกัน เดินทางมาและกลับด้วยกันจำนวนหลายร้อยคน หากข้อเท็จจริงค้นพบเพียงว่า มีคนช่วยกันจัดซื้อแล้วนำมาให้ใส่เป็นทีมก็ถือว่าผิดแล้ว เพราะเป็นการรับผลประโยชน์
“สว. กลุ่มนี้เราเรียกว่า สว. สีน้ำเงิน แต่ตอนนี้เราสามารถพูดกันอย่างตรงไปตรงมาได้มากขึ้นโดยที่ไม่จำเป็นต้องอ้อมค้อมไปถึงเรื่องสี เพราะ สว. กลุ่มหลักมีความเกี่ยวพันกับพรรคการเมืองที่ชื่อพรรคภูมิใจไทย เพราะทุกอย่างเปิดเผยชัดเจน” ยิ่งชีพกล่าว
ยิ่งชีพกล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันยังมีโอกาสน้อยที่ สว. กลุ่มใหญ่จะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และออกจากตำแหน่งภายในระยะเวลาอันใกล้ ขณะที่การตรวจสอบในกระบวนการปัจจุบันก็ไม่สามารถทำได้เร็ว ส่วนตัวคิดว่า สว. ชุดนี้หมดวาระแล้ว ก็ยังไม่เสร็จสิ้น แต่สิ่งที่น่ากลัวมากคือ สว. กำลังจะลงมติให้ความเห็นชอบ กกต. ชุดใหม่ หากกลุ่มนี้ยังทำงานอยู่ก็จะต้องเลือกคนที่มาตรวจสอบตัวเอง ซึ่งเป็นวัฏจักรอำนาจการเมืองที่เลวร้ายมากในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และหากในปี 2572 ต้องเลือก สว. ชุดต่อไปด้วยระบบปัจจุบัน คนที่เคยเดินเกมในปี 67 จะทราบแล้วว่าจะต้องทำอย่างไร และคนที่อยากเป็นจะวิ่งไปหาทั้งหมด และเชื่อว่าเขาจะได้ สว. ทั้ง 200 คน หากไม่อยากให้เกิดขึ้นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงก่อนหน้านั้น คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
รวมชื่อสกัดวุฒิสภาเลือกองค์กรอิสระ
ขณะที่นันทนากล่าวว่า คำถามว่า ฮั้ว สว. จะจบอย่างไรนั้น เชื่อว่าคนไทยหลายคนอยากรู้ ซึ่งสะท้อนความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และองค์กรอิสระ ทั้งที่เห็นคนทำผิดแต่ต้องมาสงสัยว่าจะจบอย่างไร ซึ่งส่วนตัวคิดเอาไว้หลายทาง เช่น
ก. จบแบบมวยล้มต้มคนดู อ้างว่าหลักฐานไม่พอเอาผิด ที่หลายคนคิดว่าจะเป็นไปได้
ข. กลุ่มสีน้ำเงินถูกดำเนินคดีเล็กๆ น้อยๆ ไม่กี่คน สาวไม่ถึงตัวใหญ่
ค. จบแบบสมใจมวลมหาประชาชน คนฮั้วถูกตัดสิทธิทางการเมือง พรรคที่เกี่ยวข้องโดนยุบ
ง. จบแบบหักมุม คือผู้ร้องให้ยุบพรรค รวมถึง DSI ถูกฟ้องกลับ แพ้คดีทั้งหมด
จ. จบแบบล้มกระดาน เกิดรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง โดยไม่สนใจว่าจะทำให้ประเทศชาติล้มเหลวอย่างไร
และ ฉ.จบแบบเกี๊ยะเซี้ยะกันได้ Happy Ending
นันทนามองว่ามีความเป็นไปได้ตั้งแต่ข้อ ก. ถึง ฉ. แต่ถ้ากระบวนการยุติธรรมเป็นปกติจะไม่มีตัวเลือกแบบนี้แน่นอน และการฮั้วมีที่มาจากรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา และเป็นต้นตอของปัญหาทั้งปวงจึงต้องเร่งแก้ไข
“กล่องดวงใจของรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ที่องค์กรอิสระ ซึ่งขยายอำนาจไปเรื่อยๆ คำวินิจฉัยผูกพันทุกองค์กร อำนาจเหล่านี้มาจาก สว. ซึ่งไม่ได้มาจากประชาชน แต่เลือกกันเอง แทนที่จะให้อำนาจกับ สส. ที่มาจากการเลือกของประชาชน จึงเป็นแรงจูงใจให้พรรคการเมืองอยากเป็นเจ้าของ สว. ทำให้องค์กรอิสระไม่เป็นอิสระ แต่เป็นไปตามกำกับของพรรคการเมือง พรรคนั้นจะเป็นเจ้าของประเทศ และเปลี่ยนแปลงทุกอย่างให้บิดเบี้ยวไปได้” นันทนากล่าว
นันทนากล่าวว่า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างรวมรายชื่อ สว. 20 คน เพื่อยื่นถอดถอน สว. ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาก็ทำได้ยาก เพราะ สว. ฝ่ายเสียงข้างมากสามารถรวมรายชื่อได้อย่างง่ายดาย และอีกฝ่ายก็กลัวการถูกสวนกลับ เหมือนที่ DSI โดนอยู่ขณะนี้ แต่เราก็มีแผน 2 คือยื่นญัตติให้ชะลอวาระการลงมติเห็นชอบบุคคลเข้าสู่องค์กรอิสระในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้อยู่ ซึ่งยื่นเข้าไปแล้ว ขึ้นอยู่กับประธานวุฒิสภาว่าจะบรรจุหรือไม่
เตือน กกต. เสี่ยงเข้าคุก
ฟากเมธาระบุว่า ข้อมูลเชิงประจักษ์เริ่มชัดเจน จากการสอบสวนของ DSI และ กกต. รวมถึงการร้องเรียนของอดีตผู้สมัคร สว. จำนวนมาก พบข้อพิรุธอย่างโจ่งแจ้งหลายประเด็น แต่กว่า 1 ปีที่ผ่านมา กกต. ไม่ได้ดำเนินการอย่างโปร่งใส ถูกต้อง จึงนำมาสู่การร้องเรียน หลายเรื่องอาจนำมาสู่ความเสื่อมทรามของกระบวนการนิติรัฐ และเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองหนึ่งเป็นอย่างน้อย ตามที่ กุสุมาลวตี ศิริโกมุท อดีตผู้สมัคร สว. ยื่นยุบพรรคภูมิใจไทย
ปัจจุบันนี้ประจักษ์ชัดแล้วว่าต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ในเมื่อข้อมูลชัดขนาดนี้แล้ว ควรวินิจฉัยกล่าวโทษว่ามีผู้กระทำผิดจริง และดำเนินการเลือก สว. ใหม่ทั้งหมด รวมถึงการยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องตามหลักฐานที่ปรากฏ หรืออีกทางเลือก คือหากตัดสิทธิ สว. ทั้งหมด บุคคลที่ได้เป็น สว. โดยชอบก็จะเสียหายไปด้วย สามารถตัดสิทธิเฉพาะกลุ่มที่กระทำความผิดได้หรือไม่ อาจจะนำบุคคลในบัญชีรายชื่อสำรองขึ้นมาเป็น สว. แทน หรือหากไม่พอ ก็เลือกเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะมีความยุ่งยาก
นอกจากนี้ ผู้ครองอำนาจในรัฐบาลก็อาจไม่อยากให้มีการยุบสภา หวยจึงอาจไปออกที่ กกต. ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่หรือไม่ เพราะประเมินดูแล้ว กกต. ไม่ได้ทำหน้าที่จนปล่อยให้ 1 ปีผ่านพ้นไป กกต. อาจจะต้องติดคุก รับผิดในคดีที่ตนเองไม่ยอมดำเนินการ หรือมีการรับอามิสสินจ้างหรือไม่ กระทั่งว่าท่านอาจจะรู้อยู่แล้วว่ามีการฮั้วเกิดขึ้น และพร้อมจะติดคุกหรือไม่ สำหรับภาคประชาชนมีข้อเสนอ คือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องถูกเอาผิดจะลอยนวลไม่ได้เพราะข้อมูลชัดเจนขนาดนี้แล้ว และทางออก มีทั้งการแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. พร้อมผลักดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ไปด้วย